จรัญ มะลูลีม : ความเป็นมุสลิมในไทยและก่อนมาเป็น ‘มัสยิดกุฎีช่อฟ้า’

จรัญ มะลูลีม

มัสญิด (มัสยิด) หรือศาสนสถานเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพภักดีพระเจ้าประจำวันที่เรียกว่าการละหมาดและกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม รวมไปถึงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อนหรือการกิจกรรมอื่นๆ สำหรับชาวมุสลิมแล้วพวกเขาจะมีศูนย์รวมอยู่ที่มัสญิด

ในส่วนนิยามและความหมายของมัสญิดนั้น ผศ.ดร.วิศรุต เลาะวิถี อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ สาขาอิสลามศึกษา และภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานกรรมการกลางอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า มัสญิดเป็นองค์กรสำคัญในอิสลาม โดยมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์และพัฒนามุสลิมให้เป็น “มุอ์มิน” หรือศรัทธาชนที่สมบูรณ์

นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน มัสญิดได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่บ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองและความเสื่อมถอยของชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับมัสญิดในฐานะองค์กรแห่งการพัฒนาอย่างครบวงจร มิใช่ในฐานะเป็นเพียงสถานที่ละหมาดหรือการแสดงการภักดีเท่านั้น

เพราะมัสญิดยังเป็นองค์กรที่ต้องฉายภาพแห่งบทบาทในการพัฒนาประชาคมมุสลิมอย่างครบมิติตามศาสนบัญญัติอิสลามอีกด้วย

 

ยิ่งกว่านั้น เมื่อพิจารณาถึงสถานภาพของมัสญิดตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี 2540 แล้ว มาตรา 4 ระบุว่า มัสญิด หมายถึงสถานที่ซึ่งมุสลิมใช้ประกอบศาสนกิจ โดยจะต้องมีการละหมาดวันศุกร์เป็นปกติ และเป็นสถานที่สอนศาสนาอิสลาม

กล่าวคือ เป็นสถานที่ทั้งเพื่อการประกอบศาสนกิจทุกรูปแบบและการจัดการเรียนการสอนวิทยาการอิสลามแก่มุสลิมทุกเพศและวัยอีกด้วย

โดยถือเป็นการสั่งสมความรู้ ความเข้าใจในสารัตถะอิสลามและเตรียมความพร้อมมุสลิมสู่การปฏิบัติศาสนกิจและการดำเนินชีวิตในฐาน “มุสลิม” และ “มุอ์มิน” หรือ “ศาสนิกชน” ที่ดีของสังคมประเทศชาตินั่นเอง

ตามนัยแห่งคัมภีร์กุรอาน ได้กล่าวถึงการบริหารกิจการมัสญิดสู่เป้าหมาย ซึ่งจะต้องผ่านกระบวนการพัฒนาประชาคมมุสลิม ทั้งด้านกายภาพและจิตภาพดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน

ดังนี้

 

ความว่า “แท้จริง ผู้ที่จะพัฒนาบรรดามัสญิดของอัลลอฮ์นั้นคือผู้ที่มีศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์ (วันสิ้นโลก) ผู้ดำรงการละหมาด ผู้จ่ายซะกาต (การให้ทานตามหลักศาสนบัญญัติ) และผู้ไม่มีความยำเกรงบุคคลใด นอกจากอัลลอฮ์ ดังนั้น จึงเป็นที่หวังได้ว่าชนเหล่านี้ จะเป็นผู้ได้รับทางนำอย่างแท้จริง” (อัตเตาบะฮ์ : 18)

ส่วนนัยแห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ปี 2540 มัสญิดถือเป็นองค์กรศาสนาอิสลามมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมีคณะกรรมการอิสลามประจำมัสญิด ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากปวงสับบุรุษประจำมัสญิดให้ปฏิบัติหน้าที่ รวม 12 ข้อ

และส่วนหนึ่งจากอำนาจหน้าที่ดังกล่าวคือการสนับสนุนสับบุรุษในการปฏิบัติศาสนกิจ ส่งเสริมให้เกิดความสามัคคี และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางที่ชอบ รวมทั้งส่งเสริมการศึกษา ตลอดจนการจัดกิจกรรมที่ไม่ขัดต่อบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคำว่ากุฎีช่อฟ้าที่กล่าวถึงในบทความนี้นอกจากจะเป็นชื่อของมัสญิดที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีความผูกพันไปถึงพี่น้องมุสลิม พี่น้องร่วมศาสนิกและจังหวัดอยุธยาอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ในสมัยกุรงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ถือเป็นหนึ่งในยุคที่การต่างประเทศรุ่งเรืองมากยุคหนึ่ง นานาอารยประเทศต่างนิยมหลั่งไหลมาติดต่อการค้าและเจริญสัมพันธไมตรี และในบรรดาชาวต่างชาติเหล่านี้ก็มีมุสลิมทั้งจากอาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย และมลายูได้เข้ามาทำการค้า ตั้งรากฐานบนแผ่นดินไทย

ประชากรมุสลิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระมหากษัตริย์ในการค้าขายและนับถือศาสนา ตลอดจนบางส่วนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้รับราชการบ้านเมืองในตำแหน่งสำคัญโดยไม่นำเรื่องศาสนามาเป็นเครื่องกีดกัน

เช่น เจ้าพระยาเฉคอะห์หมัดรัตนาราชเศรษฐี ว่าที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือ ในสมัยของพระเจ้าทรงธรรม และดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาบวรราชนายก ตำแหน่งจางวางมหาดไทย ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และยังได้โปรดพระราชทานที่ดินให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในบริเวณเกาะเมือง

ชาวมุสลิมส่วนอื่นๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณรอบเกาะเมือง เช่น ปทาคูจาม ลุมพลี และรวมถึงบริเวณคลองเทศและคลองขุนละครไชย (คลองตะเคียน) อีกด้วย

คลองถัดจากแม่น้ำเจ้าพระยามาออกในทางทิศเหนือข้างวัดนักบุญยอเซฟในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่าคลองขุนละครไชย แต่ชาวบ้านจะเรียกขานกันว่าคลองตะเคียน ตามเอกลักษณ์ของคลองที่มีต้นตะเคียนใหญ่ขึ้นงดงามตระหง่านอยู่บริเวณปากคลอง บริเวณนี้เองที่เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมุสลิมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

เมื่อย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามาเป็นกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ มุสลิมส่วนใหญ่ได้อพยพตามไป เหลือเพียงส่วนน้อยที่ยังตั้งรกรากอยู่ที่อยุธยาตามเดิม โดยเฉพาะในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการอพยพมุสลิมจากภาคใต้ขึ้นมาสู่ภาคกลางเป็นจำนวนมาก รวมถึงขึ้นมาอาศัยอยู่ในบริเวณคลองตะเคียนด้วย

จึงมีการบูรณะมัสญิดตามมาในภายหลัง

 

รูปทรงมัสญิดในยุคนั้นเป็นอาคารไม้ ไม่มีลักษณะเด่นตามสถาปัตยกรรมอิสลามแต่อย่างใด

โดยมีโต๊ะกี (เป็นคำเรียกผู้อาวุโสที่เป็นชาย) แย้ม (ไม่มีนามสกุล) เป็นผู้นำในการซ่อมสร้างมัสญิดและได้รับการยอมรับให้เป็นอิหม่าม ในขณะนั้นมัสญิดยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่ชาวบ้านมักเรียกขานกันว่า “สุเหร่าต้นโพธิ์” ตามเอกลักษณ์ของมัสญิดที่มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่หน้ามัสญิด

ครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แห่งราชวงศ์จักรีได้เสด็จประพาสทางชลมารคเยี่ยมพสกนิกรและผ่านมาถึงคลองตะเคียน โต๊ะกีแย้มได้ทูลขอให้ทรงตั้งชื่อมัสญิด และเนื่องจากรูปทรงของมัสญิดในสมัยนั้นเป็นรูปลักษณ์ของอาคารที่มีการผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทยคล้ายช่อฟ้า

จึงได้พระราชทานนามว่า “มัสญิดกุฎีช่อฟ้า”

 

มัสญิดที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือได้พระราชทานนามมักจะมีคำว่า “กุฎี” นำหน้า เช่น มัสญิดกุฎีหลวง มัสญิดกุฎีขาว ครั้งหนึ่งเคยมีการใช้ชื่อมัสญิดเพียงแค่มัสญิดช่อฟ้า จนกระทั่งในช่วงฉลอง 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ คณะกรรมการมัสญิดฯ จึงได้มีมติให้กลับมาใช้ชื่อมัสญิดกุฎีช่อฟ้าตามเดิมจนถึงปัจจุบัน

ในปี 2470 โต๊ะกียะอ์ฟัด ตะเคียนคาม (บุตรโต๊ะกีแย้ม) ทำหน้าที่อิหม่ามมีการบูรณะมัสญิดให้เป็นอาคารมัสญิดที่มั่นคงขึ้น ขนาดกว้าง 6 วา ยาว 24 วา และมีอาคารไม้ใช้จัดเลี้ยงขนาดกว้าง 4 วา ยาว 30 วา

เปิดทำการสอนศาสนาอิสลามอย่างจริงจังและเป็นที่สอนสามัญประชาบาลภาคบังคับ ชั้น ป.4 ของทางราชการด้วย เรียกว่า “โรงเรียนมัสญิดกุฎีช่อฟ้า”

ซึ่งในปี 2504 ได้ตั้งเป็นโรงเรียนบ้านคลองตะเคียน หมู่ 2 (วันครู 2504)

 

ในช่วงปลายปี 2480 โต๊ะกีหริ่ม ตะเคียนคาม (บุตรโต๊ะกียะอ์ฟัด ตะเคียนคาม) ทำหน้าที่เป็นอิหม่าม ได้เปิดสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม เรียกชื่อว่าสถาบันกุรอานียะฮ์ เมื่อโต๊ะกีหริ่มถึงแก่กรรม ฮัจยีอุมัร เลาะวิถี (บุตรฮัจยีชุโก๊ร เลาะวิถี) เป็นอิหม่าม และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนรุกียุ้ลมะอาเรฟ” มีท่านอาจารย์มูซา ฮานาฟี บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เป็นบรมครูผู้ถ่ายทอดปลูกฝังวิชาการอิสลามอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

การหลั่งไหลมาศึกษาที่มัสญิดกุฎีช่อฟ้าอย่างล้นหลามจนล้นไปถึงใต้ถุนอาคารจัดเลี้ยงได้จุดประกายแนวคิดให้ตวน ฮัจยีฮาซัน วงศ์การีม กับผู้อาวุโสในคลองตะเคียนคิดจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงก่อตั้งสมาคมอิสลามศรีอยุธยาเพื่อส่งเสริมการศึกษา ซึ่งอยู่ในช่วงภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นจุดกำเนิดของโรงเรียนอิสลามศรีอยุธยาจนถึงทุกวันนี้

สิ่งก่อสร้างที่คู่มากับมัสญิดกุฎีช่อฟ้าคือสะพานเดินเท้าที่ยาวที่สุดในอยุธยา

เดิมสร้างด้วยไม้ ทอดยาวจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านโรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ (อาคารไม้หลังเก่า) มาตามแนวลำคลองจนถึงมัสญิด โดยการเสียสละอุทิศแรงกายของชาวคลองตะเคียน เป็นความภาคภูมิใจยิ่ง ถึงกับมีการฉลองนานเจ็ดวันเจ็ดคืน

ปัจจุบันเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.)

 

ปี2512 มัสญิดกุฎีช่อฟ้ามีการบูรณะครั้งใหญ่ โดยมีการขยายมัสญิดทางด้านซ้ายและด้านขวา และต่อมาอาคารจัดเลี้ยงได้ทรุดโทรมลง

จนในปี 2526 จึงได้ก่อสร้างเป็นอาคารอเนกประสงค์ 3 ชั้น ใช้เวลาก่อสร้างนาน 9 ปีเศษ

จนในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 อ.ประเสริฐ มะหะหมัด จุฬาราชนตรี (ในขณะนั้น) ได้มาเป็นประธานเปิดอาคาร ปัจจุบันขยายถึงชั้น 4 เพื่อรองรับความเติบโตด้านการศึกษาและการฝึกอบรม

ด้วยความพร้อมด้านอาคาร สถานที่และบุคลากร มัสญิดกุฎีช่อฟ้าจึงได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้นให้จัดตั้งเป็น “ศูนย์อบรมศาสนาอิสลามและจริยธรรมประจำมัสญิด” ตามหนังสือที่ อย. 1/2541 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2541 ใช้หลักสูตรการศึกษาภาคศาสนาของสมาคมคุรุสัมพันธ์

ปี 2541 มัสญิดกุฎีช่อฟ้าได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 “มัสญิดพัฒนาตัวอย่าง” จาก 2,500 มัสญิดทั่วประเทศโดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ และมีนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นผู้มอบรางวัล

ปี 2543 อิหม่ามอุมัร (มูฮำหมัด) เลาะวิถี ลาออกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2543 หลังจากทำหน้าที่มา 63 ปี และอาจารย์ฮาซัน ฮานาฟี (บุตร อ.มูซา ฮานาฟี) ได้รับการคัดเลือกจากบรรดาสับบุรุษ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 ให้ทำหน้าที่อิหม่ามมัสญิดกุฎีช่อฟ้าสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

(ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ใน ผศ.วิศรุต เลาะวิถี ประวัติมัสญิดกุฎีช่อฟ้า, จุลสารที่ระลึก 45 ปี ช.ม.ช. ชมรมมุสลิมมัสญิดกุฎีช่อฟ้า, ธันวาคม 2563, หน้า 4-6)