อนุสรณ์ ติปยานนท์ : รสอูมามิ

ปากะศิลป์ฉบับอ่านใหม่ (59)

อุทยานรส (5)

“บุตรชายของเจ้าของโรงสีชาวอิตาเลียนนาม จูเลียส แม็กกี้ ผู้ที่บริษัทแม็กกี้ของเขาที่ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งใกล้เมืองซูริก

ในตอนแรกบริษัทของเขาผลิตแป้งสาลี แต่เขาเชื่อว่าอนาคตของอาหารจะต้องเปลี่ยนไป
ทำไมนะหรือ เพราะพวกผู้หญิงอย่างไรเล่า

อีกไม่นานโดยเฉพาะในศตวรรษหน้าจะไม่มีหญิงสาวคนใดยอมเสียเวลาเป็นวันๆ ในครัวอีกต่อไปแล้ว
พวกหล่อนน่ะจะพากันไปสมัครใจทำงานในโรงงานที่มีรายได้แทนที่จะต้องมาเฝ้ารอเศษเงินจากบรรดาสามี

แต่แม้ว่าผู้หญิงจะไม่อยากเสียเวลาในครัวอีกต่อไป การต้องทำอาหารที่มีรสชาติที่ดีให้ครอบครัวก็ยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

จูเลียส แม็กกี้ พยายามคิดค้นหาสิ่งที่จะช่วยเสริมรสชาติให้กับอาหาร สิ่งนั้นจะต้องให้ผู้กินกินอาหารได้มากขึ้น อิ่มเอมในรส และที่สำคัญมันต้องมีคุณค่าทางโภชนาการด้วย

ข้อแม้ที่ว่านี้ ยากเย็นเข็ญใจเอาทีเดียว แต่โชคดีเป็นของเขา นายแพทย์ฟริโดลิน ชูเลอร์ ผู้ที่เขาได้พบและคบหาด้วยได้จุดประกายแนวทางในการสรรค์สร้างอาหารยุคใหม่ให้กับเขา

ท่านนายแพทย์ฟริโดลินนั้นเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอหรือไม่ดีพอ หรือไม่มีคุณค่าพอจะส่งผลต่อโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมากโดยเฉพาะในความตายของพวกเด็กๆ

อาศัยความร่วมมือและคำแนะนำจากนายแพทย์ฟริโดลิน นักธุรกิจชาวสวิส จูเลียส แม็กกี้ ได้ผลิตแป้งจากถั่วสำเร็จ

ก่อนจะตามมาด้วยซอสปรุงรสในปี 1886 มันน่าจะเป็นซอสปรุงรสขวดแรกที่ใครๆ ก็อยากเยาะใส่ซุป ใส่อาหาร ใส่ไข่ที่ทอดจนได้ที่และนำออกจากเตา สีแดง เหลือง ดำ บนขวดซอสแม็กกี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเอร็ดอร่อยไปเสียแล้ว

แต่จูเลียส แม็กกี้ ไม่ได้หยุดที่ตรงนั้น แม้ซอสของเขาจะทำเงินได้มหาศาลจนแม็กกี้เปิดสาขาทั้งในฝรั่งเศส อิตาลี เกาะอังกฤษ ข้ามไปจนถึงสหรัฐ ความตั้งใจที่จะครอบครองหัวใจของผู้บริโภคและแม่บ้านและคนรักอาหารทุกคน จูเลียส แม็กกี้ ได้ผลิตซุปก้อนเล็กๆ สีเหลี่ยมในชื่อซุปคับ-Kub Cube เจ้าซุปคับนี่เองที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งผ่านการโฆษณา

จูเลียส แม็กกี้ เชื่อมั่นในการโฆษณา

เขาติดโปสเตอร์แนะนำมันไปตามสถานีรถราง สถานีรถไฟ ตามที่สาธารณะ พร้อมกับคำขวัญที่ว่า ‘จงเรียกหา K!’ ที่ใช้รูปเด็กเป็นผู้ตะโกนคำขวัญนั้น

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความสำเร็จของบริษัทแม็กกี้นั้นมาจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์และงานโฆษณาอันชาญฉลาด”

ซาบุโร่ซูเกะ หยิบรายงานข่าวชิ้นนี้ขึ้นอ่านอีกครั้ง ในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาหยิบรายงานข่าวชิ้นนี้ขึ้นอ่านจนนับครั้งไม่ถ้วน หลังการไปเยือนห้องทดลองของศาสตราจารย์อิเคดะ คิคูนาเอะ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เขาก็มีเรื่องให้ขบคิดมากมายเหลือเกิน การค้นหารสชาติใหม่ของอาจารย์อิเคดะนั้นเป็นความจริงแล้ว รอเพียงวันเวลาที่จะตีพิมพ์รายงานการค้นพบในวารสารวิชาการเท่านั้น

อาจารย์อิเคดะบอกเขาว่า ตั้งใจที่จะเรียกรสชาติใหม่นั้นว่า “อูมามิ”

โดยคำว่า “อูมามิ” นั้นมีความหมายว่า “รสอันเลิศ” สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่เขามอบหมายให้อาจารย์อิเคดะตัดสินใจทั้งการตั้งชื่อและการตีพิมพ์รายงานการค้นพบ

สิ่งที่เขาตัดสินใจนั้นคือปัญหาและอุปสรรคทางธุรกิจต่างหาก

เขาจำเป็นต้องหาชื่อของผลิตภัณฑ์ ชื่อ “อูมามิ” นั้นไม่เหมาะสมในทางการตลาดแน่ๆ
มันควรเป็นชื่อที่เป็นมิตรกว่านี้ และสิ่งที่สำคัญคือเขาต้องวางแผนงานโฆษณาอีกด้วย

จากความสำเร็จของจูเลียส แม็กกี้ เขาพบว่าสิ่งที่เขามีคล้ายคลึงกันคือทั้งเขาและจูเลียส แม็กกี้ มาจากครอบครัวที่ทำการค้ามาก่อน

อีกทั้งเขาและจูเลียส แม็กกี้ ยังมีความเชื่อมั่นในอนาคตของอาหาร อีกหน่อยจะไม่มีใครมีเวลามากพอที่จะมานั่งประดิดประดอยในสิ่งต่างๆ แล้ว หากต้องการความประณีต เราสามารถไปที่ร้านอาหารชั้นนำทั่วเมืองได้ ความฉับไว ใช้เวลาให้น้อย แต่มีรสชาติที่รับประทานได้อย่างสบายใจต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ

อีกไม่นานกาแฟก็ต้องสำเร็จรูป ชาด้วย พิธีชงชานั้นเป็นพิธีกรรม แต่การกินชาคือความรื่นรมย์และไม่มีใครยอมเสียเวลาชงชาเป็นชั่วโมงเพื่อชาแก้วเดียวแน่ๆ เอาเวลาไปนั่งฟังเพลงหรืออ่านหนังสือดีกว่าเป็นไหนๆ

พฤติกรรมยามพักผ่อนของคนนั้นเขาพอเดาได้ แต่พฤติกรรมของแม่บ้านญี่ปุ่นนี่สิที่ทำให้เขาลังเลและหนักใจ

อาหารจากรสมือแม่และภรรยาชาวญี่ปุ่นนั้นไม่ใช่อาหาร แต่เป็นเสมือนดังลายมือสำคัญของแต่ละครอบครัว

และนึกดูว่าหากมีใครสักคนบอกแม่บ้านเหล่านั้นว่า “เงยหน้าจากเตาและหันมาสนใจความเพลิดเพลินอื่นบ้าง เพียงเติมสิ่งนี้ลงในอาหารของคุณแม่บ้าน ทุกอย่างก็จะอร่อยจนใครๆ ติดใจ”

เขาเชื่อว่าคำแนะนำนี้คงถูกปิดประตูใส่หน้าเป็นแน่

แค่คิดเพียงเท่านี้ เขาก็อดอิจฉาจูเลียส แม็กกี้ ไม่ได้ ก็แม่บ้านญี่ปุ่นนั้นมีเวลาเหลือเฟือ และพวกหล่อนก็ไม่ชอบทำงานในโรงงานเสียด้วย ไม่นับว่างานอย่างอื่นที่ดูว่าคงอีกนาน อาชีพแม่บ้านในญี่ปุ่นนั้นคืออาชีพจริงๆ อาชีพที่แท้จริง

ซาบุโร่ซูเกะลุกออกจากโต๊ะทำงานของเขา เขาสวมเสื้อคลุมยูกาตะแล้วเดินออกจากห้องทำงาน เขารู้สึกราวกับว่ามันควรมีคำตอบที่อยู่นอกเหนือห้องอันอุดอู้นั่น

ระหว่างการเดินไปยังสวนสาธารณะโยโยกิ เขาก็รู้สึกขบขันในตนเอง ในขณะที่เขากำลังเร่งสร้างความเจริญให้กับประเทศ ตัวของเขาเองกลับพอใจที่จะอยู่ในอดีต จนบัดนี้เขาก็ยังไม่อาจละทิ้งนิสัยที่ชอบแต่งกายในชุดดั้งเดิมไม่ได้

โลกนี้มันช่างอัศจรรย์เสียจริง เราเติบโตไปข้างหน้าแต่ก็ไม่อาจละทิ้งวิญญาณเบื้องหลังได้

ชินจิ นากามูระ กลับถึงที่พักในค่ายทหารของเขาในช่วงเย็น เขารู้สึกสดชื่นหลังการปีนป่ายไปตามเนินต่างๆ บนยอดเขา อันที่จริงแล้ว เขามีความสุขจากการที่ได้มัตซึตาเกะมาอยู่ในอุ้งมือ ของขวัญล้ำค่าที่ไม่ใช่เงินตราจะซื้อหาได้ เขาจุดเตาถ่าน ล้างเห็ดอย่างนุ่มนวลและเมื่อไฟในเตาติดดีแล้ว เขาก็ลงมือย่างมัน

ระหว่างที่กลิ่นหอมของเห็ดมัตซึตาเกะรวยรินออกมาเขาก็นึกถึงบทเพลงกล่อมเด็กที่แม่ของเขาร้องให้เขาฟังในวัยเยาว์ เขาหลับตาลง ทวนคำของมันทีละคำอย่างช้าๆ เขาดำดิ่งไปในความทรงจำ ลึกลงไป ลึกลงไป

“เมื่อฉันกลายร่างเป็นเห็ด
ในวันหนึ่ง
ฉันก็พบว่า
ฉันไม่อาจเคลื่อนที่ได้อีกต่อไป
เจ้าเห็ดน้อย
ช่างน่าเศร้าเหลือเกิน
เจ้ามีชีวิตอันแสนสั้น
และไม่อาจเคลี่อนที่ได้
แต่ใครเล่า
ที่ไม่มีชีวิตอันแสนสั้น
มนุษย์พวกนั้นหาได้มีชีวิตยืนยาว
เจ้าเห็ดน้อย
เจ้าไม่อาจเคลื่อนที่ได้
แต่กลิ่นหอมของเจ้านั้น
จะยืนยงกว่าชีวิตใครๆ”

ชินจิ นากามูระ ลืมตาขึ้น เขาฉีกเนื้อเห็ดอันอ่อนนุ่มขึ้นกิน รสชาติที่เขาได้รับทำให้เขารู้สึกราวกับกำลังคลานกลับไปในครรภ์ของแม่