ไซเบอร์ วอชเมน : ทำไมจีนถูกกล่าวหา เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์

นับตั้งแต่ทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา จีนกลายเป็นชาติในเอเชียที่พัฒนาประเทศตัวเองให้กลายเป็นมหาอำนาจทั้งการเมือง เศรษฐกิจ แม้แต่ด้านเทคโนโลยี ทั้งการแพทย์ โทรคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกไปจนถึงโลกออนไลน์

การดำเนินนโยบายของจีน มีเป้าหมายเดียวคือความใฝ่ฝันของการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจของโลกที่ทัดเทียมหรือเหนือกว่าชาติคู่แข่งอย่างสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ความทะเยอทะยานของการเป็นมหาอำนาจระดับโลกก็ดึงดูดการท้าทายต่างๆ เข้าใส่จีน ทั้งจากภายในอย่างในซินเจียงและฮ่องกงที่ทำให้เกิดการต่อต้าน ไปจนถึงการวางตัวเผชิญหน้ากับหลายประเทศอย่างไต้หวันหรือชาติอาเซียนในพื้นที่พิพาททะเลจีนใต้

แม้บนโลกปกติที่ยังคงมีความตึงเครียดแต่ยังไม่ลุกลามกลายเป็นการปะทะกันด้วยอาวุธก็ตาม แต่บนโลกไซเบอร์ จีนโรมรันในสงครามเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเหนือชาติอื่น และสกัดกั้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศตัวเองอย่างหนักด้วย

การรุกคืบด้านไซเบอร์สเปซนี้ จีนจึงตกเป็นเป้าสายตาว่ากำลังเป็นภัยคุกคามต่อหลายประเทศหรือไม่?

 

เมื่อไม่นานมานี้ มีความเคลื่อนไหวในการแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองกันระหว่าง 5 ชาติ คือ สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ หากไม่นับสหรัฐ 4 ชาติที่เหลือต่างเคยมีความร่วมมือระดับทวิภาคีกับจีน แต่ตอนนี้มีท่าทีเปลี่ยนไป หลังจากจีนผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงและบังคับใช้เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา นำไปสู่การประกาศของออสเตรเลียและอังกฤษในการเป็นที่พักพิงให้กับชาวฮ่องกงที่ต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์จนถูกคุกคามได้ลี้ภัย รวมถึงที่แคนาดาและนิวซีแลนด์ ได้ระงับข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกงด้วย

ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศคู่กรณีเลวร้ายลง และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นกับประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับจีน

อย่างไรก็ตาม จีนถูกมองจากหลายประเทศว่า อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์มาอย่างต่อเนื่อง

ออสเตรเลียก็เป็นประเทศหนึ่งที่ตกเป็นเป้าโจมตี โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้กล่าวว่า พบการคุกคามทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่องและมากขึ้นจากจีน ทั้งการแทรกซึม การบั่นทอนระบบในรัฐบาล โครงสร้างพื้นฐานในวงกว้างและอุตสาหกรรมที่สำคัญ

ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มกรอบงบประมาณกลาโหมถึง 10 ปี เป็นจำนวน 930 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการยกระดับระบบเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์จากจีน

ก่อนหน้านี้ จีนก็มีปัญหากับหลายชาติกรณีหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นบริษัทในการกำกับของรัฐบาลจีน ถูกแบนจากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ต 5 จี ซึ่งสหรัฐเป็นชาติแรกที่สั่งแบนก่อน เพราะไม่เชื่อมั่นต่อความปลอดภัยว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยอาจมีโปรแกรมเพื่อจารกรรมข้อมูล ตามด้วยฝรั่งเศสที่สั่งห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์จากหัวเว่ย

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวเว่ยคือ การจับกุมเม่ง หว่าน โจว รองประธานบริหาร ลูกสาวของเหลิน เจิ้ง เฟย ซีอีโอหัวเว่ยโดยแคนาดาในข้อหาฉ้อโกงตามหมายจับของสหรัฐ และกำลังส่งตัวไปดำเนินคดีตามข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดน

จีนใช้เกมการทูตและการเมืองกดดันทั้งแคนาดาและสหรัฐเพื่อไม่ให้ส่งตัวเม่งไปขึ้นศาลที่สหรัฐให้ได้ รวมถึงการที่จีนจับกุมชาวแคนาดาในข้อหาเป็นสายลับ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่าเป็นการเอาคืน

 

ด้านโจ โรบินสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคล ได้ออกมาเปิดเผยจากการตรวจสอบการโจมตีทางไซเบอร์ระหว่างปี 2009-2018 พบว่า การโจมตี 500 ครั้ง มีที่มาจากจีน โดยทีมแฮ็กเกอร์ที่จีนสนับสนุนได้ทำการโจมตีทางไซเบอร์มากถึง 20 ประเทศ

ขณะที่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อังกฤษได้จัดตั้งกลุ่มความร่วมมือเฉพาะกิจที่เรียกว่า “ดี 10” โดยยึดตามสมาชิกกลุ่ม จี 7 และเพิ่มอีก 3 ประเทศคือ อินเดีย ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อเป็นกลุ่มความร่วมมือของชาติชั้นนำด้านประชาธิปไตย ในการสร้างความร่วมมือกันทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะโครงข่าย 5 จี และหลีกเลี่ยงการพึ่งพาทางเทคโนโลยีจากจีน

ในท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 และจีนตกเป็นเป้าหมายของความไม่โปร่งใสในการรับมือวิกฤตสาธารณสุขระดับโลก ภาวะเช่นนี้ทำให้หลายชาติต่างจับมือร่วมกันสู้อิทธิพลของจีนที่กำลังกระทำราวเป็นชาติจักรวรรดินิยม

 

สําหรับจีนถูกมองจากชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีทางไซเบอร์หลายครั้ง ยกตัวอย่าง กลุ่มแฮ็กเกอร์ที่ใช้รหัสว่า “เอพีที 10” ได้โจมตีสาธารณูปโภคของสหรัฐเมื่อปลายกรกฎาคมปีที่แล้วด้วยวิธีการสเปียร์-ฟิชชิ่ง (Spear-Phising) ไปยังอีเมลของพนักงานบริษัทที่เป็นเป้าหมาย โดยอีเมลมีการใส่ตัวมัลแวร์ในไฟล์แนบของไมโครซอฟต์เวิร์ด

หรืออีกกรณีคือ การโจมตีทางไซเบอร์ในลักษณะพยายามจารกรรมข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยวัคซีนโควิดจากบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนหลายแห่ง พบมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มแฮ็กเกอร์ที่สนับสนุนโดยจีน

นั้นทำให้ต้องจับตาดูว่า จะมีการโจมตีทางไซเบอร์กับการเลือกตั้งของสหรัฐในปลายปีนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งไม่ต้องทำเช่นนั้น เพราะการโจมตีได้เริ่มขึ้นแล้ว

 


กว่า 12 ปี ของการจัดงาน Healthcare เครือมติชนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ส่งต่อความรู้และให้บริการสุขภาพแก่คนไทยในทุกมิติ ทั้งการป้องกัน ดูแล และรักษา โดยเฉพาะการบริการตรวจสุขภาพฟรีจากสถานพยาบาลชั้นนำ เวิร์กชอป ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพ รวมถึงการยกระดับเวทีเสวนาให้เป็น “Health Forum” เปิดเวทีให้แพทย์ และ Speaker ระดับประเทศ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการป้องกัน การรักษา และนำเสนอนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงเรื่องราวสุขภาพในแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่จะมาให้อัปเดตตลอด 4 วันของการจัดงาน เดินทางสะดวกโดยทางด่วนและ MRT ลงสถานีสามย่าน ทางออกที่ 2