วิรัตน์ แสงทองคำ : ธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี อิทธิพลอเมริกา

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดนี้ถือเป็นเนื้อหา “ทางเลือก” ของเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับซีพีและธนินท์ เจียรวนนท์ จะทยอยนำเสนอเป็นระยะๆ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน

สายสัมพันธ์อันคลาสสิค
มาจากยุคสงครามเวียดนาม
และอิทธิพลสหรัฐอเมริกา

“ในปี พ.ศ.2513 เครือเจริญโภคภัณฑ์กับบริษัทอาร์เบอร์ เอเคอร์ส ร่วมกันตั้งบริษัทร่วมทุนและพัฒนาธุรกิจไก่พันธุ์ในประเทศไทย ซึ่งบริษัทอาร์เบอร์ เอเคอร์ส ก็มีกิจการไก่เนื้อที่ประเทศอินเดียอยู่ด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงใช้วิธีนำเข้าไก่พันธุ์มาจากอินเดีย ผมกับครอบครัว Rockefeller ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันจนมาถึงวันนี้ การร่วมมือทำธุรกิจกับธนาคารเชสแมนฮัตตันและครอบครัว Rockefeller เป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในชีวิตของผม” (“บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือ My Personal History : Dhanin Chearavanont – NIKKEI แห่งญี่ปุ่น 2559)

เรื่องราวตอนสำคัญมากๆ ต้นยุคธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี ซึ่งกำลังจะโลดแล่น มากับยุคอเมริกาเปิดฉากขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง เงินดอลลาร์สหรัฐมีบทบาทสำคัญยิ่งใน Bretton Woods”s system (ปี 2488) ขณะบริษัทยักษ์ใหญ่อเมริกันเริ่มขยายอิทธิพลทั่วโลก เฉพาะในภูมิภาคเอเชีย จุดเริ่มต้นในช่วงสงครามเกาหลี (2493) และค่อยๆ ย่างก้าวมายังประเทศไทย จนมามีอิทธิพลอย่างล้นเหลือในยุคสงครามเวียดนาม (2498-2518)

“ปี 2497 สหรัฐเข้ามามีบทบาทโดยตรงในสงครามอินโดจีน และเตรียมประเทศไทยเป็นฐานปฏิบัติการทางทหาร สหรัฐให้เงินสร้างเครือข่ายถนนระหว่างกรุงเทพฯ และจุดยุทธศาสตร์ในภาคอีสาน” (ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ เศรษฐกิจการเมืองสมัยกรุงเทพฯ 2539)

 

มิติเกี่ยวข้องสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยค่อยๆ กระชับบทบาทมาเป็นลำดับ

ตั้งแต่องค์การอาหารเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization : FAO) แนะนำให้รัฐบาลไทยลงทุนในโครงการชลประทานในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา (2490) ระบบชลประทานที่ว่า เป็นโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการส่งออกข้าวไทย จนเป็นสินค้าทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง มีวงจรสำคัญจากพื้นฐานเกษตรกรรม สู่ระบบโรงสี คลังสินค้า ไปจนถึงบริการธนาคารเพื่อการส่งออก ถือเป็นวงจรที่ใหญ่มากของระบบเศรษฐกิจไทยเวลานั้น

สหรัฐอเมริกาขยายอิทธิพลมากขึ้น เมื่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดตั้งขึ้น (ปี 2502) เพื่อการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ โดยธนาคารโลกผู้ให้การสนับสนุน ทั้งยังเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญในการดำเนินแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างปี 2493-2518 ธนาคารโลกให้เงินกู้แก่ประเทศไทยถึง 440 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในการสร้างถนน ระบบชลประทาน ไฟฟ้าพลังน้ำ และการศึกษา

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรก (2504-2509) ประกาศใช้ในปี 2503 สาระสำคัญ พลิกโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจไทยซึ่งเคยครอบงำโดยรัฐ สู่บทบาทของภาคธุรกิจเอกชน ตามด้วยแผนอันแยบยลได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (2503) ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีกับนักลงทุนซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแรงจูงใจเชื่อมโยงกับธุรกิจอเมริกัน

กระแสการลงทุนของธุรกิจอเมริกันพาเหรดเข้ามาไทยอย่างคึกคัก

ภาพที่น่าสนใจวงกว้างโฟกัสที่สินค้าคอนซูเมอร์ “สะท้อนอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและรสนิยมตั้งแต่ตอนนั้น จนฝังลึกในวัฒนธรรมการกิน-อยู่ของสังคมไทยต่อเนื่องมา” ผมเองเคยอรรถาธิบายไว้ อ้างอิงการมาถึงสินค้าและแบรนด์สำคัญๆ Pepsi (2499) Coca-Cola (2500) Colgate-Palmolive (2501) American Standard (2512) Levi Strauss (2515) เป็นต้น

กระแสสำคัญเป็นไปอย่างซับซ้อน คือสถาบันการเงิน เปิดฉากตั้งแต่อิทธิพลสหรัฐผ่านหน่วยงานระดับโลก อย่างกรณีธนาคารโลกซึ่งกล่าวถึงแล้ว จนมาถึง International Finance Corporation (IFC) เป็นสถาบันการเงินในเครือข่ายของธนาคารโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 2499 มีนโยบายให้กู้เงินที่มีลักษณะเฉพาะ มีดีลครั้งใหญ่กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ในปี 2512

ขณะสถาบันการเงินสหรัฐเข้ามาชิมลาง โดยหน่วยงานรัฐในกรณี The Export-Import Bank of the United States (Ex-Im Bank) ก่อตั้งขึ้น (2477) หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และ Great Depression เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ซื้อสินค้าจากสหรัฐ (official export credit agency) ตั้งแต่กรณีให้ปูนซิเมนต์ไทยกู้เงินครั้งแรก (ปี 2498)

จนมาถึงกรณีผลักดันให้ทางการไทยตั้งโรงงานกระดาษคราฟท์โดยใช้เครื่องจักรอเมริกัน (ปี 2508)

 

บทบาทอันคึกคักยุคแรกๆ อยู่ที่ธนาคารอเมริกัน ควรกล่าวถึงอย่างเฉพาะเจาะจงคือ Chase Manhattan Bank

“ผมเป็นลูกค้ารายใหญ่ของธนาคารเชสแมนฮัตตัน (Chase Manhattan Bank) ของสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันคือเจพีมอร์แกนเชส : J.P. Morgan Chase) ธนาคารแห่งนี้เป็นผู้ดูแลงบบัญชีนำเข้าและส่งออกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารเชสแมนฮัตตันแนะนำให้ผมรู้จักกับบริษัทอาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) ซึ่งเป็นบริษัทไก่พันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ อาร์เบอร์ เอเคอร์ส กับธนาคารเชสแมนฮัตตันมีความเกี่ยวข้องกัน

ประธานของธนาคารเชสแมนฮัตตันในสมัยนั้นคือ David Rockefeller ซึ่งเป็นหลานชายของ John D. Rockefeller ราชาค้าน้ำมันรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ส่วนพี่ชายของ David Rockefeller ก็คือ Nelson Rockefeller เป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐ ในสมัยประธานาธิบดี Gerald Ford (สิงหาคม พ.ศ.2517-มกราคม พ.ศ.2520) และเป็นนักธุรกิจ ซึ่ง Nelson Rockefeller ได้เข้าซื้อบริษัทอาร์เบอร์ เอเคอร์ส และด้วยความสัมพันธ์กับธนาคารเชสแมนฮัตตัน ในช่วงประมาณปี พ.ศ.2513…” ธนินท์ เจียรวนนท์ ตั้งใจเล่าไว้ค่อนข้างละเอียด (“บันทึกความทรงจำ ธนินท์ เจียรวนนท์”)

Chase Manhattan Bank เข้ามาเมืองไทย (2507) พร้อมๆ กับธนาคารคอเมริกันสำคัญๆ อย่าง Citibank (2510) และกรณี TISCO (Banker Trust ร่วมทุนกับตระกูลล่ำซำในปี 2512) ซึ่งในระยะต่อมา Chase Manhattan Bank ได้ร่วมทุนกับตระกูลล่ำซำด้วยเช่นกัน ตามแผนก่อตั้ง CMIC (2514)

เรื่องราวเทียบเคียงกับบทบาทบัญชา ล่ำซำ แม้เขามีอายุมากกว่าธนินท์ เจียรวนนท์ ถึง 15 ปี แต่มีบทบาทสำคัญในการบริหารธนาคารกสิกรไทย ในช่วงเดียวกันซีพีเพิ่งตั้งหลักได้ ด้วยบริบทเชื่อมโยงกัน

“2488–ธนาคารกสิกรไทยก่อตั้งขึ้นโดยโชติ ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการอยู่เพียง 3 ปี (2488-2491 ได้เสียชีวิต จากนั้น เกษม ล่ำซำ น้องชายเข้าดำรงตำแหน่งแทน (2491-2505) จนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากเครื่องบินตก

2505–บัญชา ล่ำซำ บุตรคนโตของโชติ ล่ำซำ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นับเป็นช่วงการขยายตัวของธนาคารอย่างมาก เพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 16 ปีตั้งแต่ตั้งกิจการ จาก 5 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท (2505) ขยายสาขาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว (2508-2519) บางปีขยายสาขาถึง 26 สาขา จนมีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 2 รวมทั้งเปิดสาขาต่างประเทศครั้งแรก (2510) พร้อมกัน ณ London (UK), Hamburg (Germany) และ New York (USA)” (ตัดตอนจากข้อเขียนเก่าของผม)

เรื่องราวอิทธิพลและสายสัมพันธ์กับตระกูล Rockefeller อย่างกรณีธนินท์ เจียรวนนท์ อ้างถึงนั้นน่าสนใจ ทั้งมีบทบาทใน Chase Manhattan Bank ซึ่งกลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและในโลกเวลานั้น และเป็นเจ้าของ Arbor Acres (ตั้งแต่ปี 2507) พร้อมกับขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคเอเชียขนานใหญ่ รวมทั้งสัมพันธ์เชื่อมโยงมาถึงบัญชา ล่ำซำ แห่งกสิกรไทย ซึ่งใครๆ ถือว่าเขาเป็น American connection คนหนึ่ง

ธนาคารกสิกรไทยยุคต้น บัญชา ล่ำซำ เดินแผนพัฒนาการบริหารครั้งใหญ่ ไม่เพียงบุกเบิกส่งนักเรียนทุนเรียน MBA ต้นตำรับอเมริกัน ยังได้ร่วมมือ International Executive Service Corps (IESC) ก่อตั้งในปี 2507 โดย David Rockefeller

เฉพาะเรื่องราวอิทธิพลอเมริกันในสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะกรณี Arbor Acres กับซีพี ยังมีอีก