คำสั่งเด็ดขาดรัฐมนตรี “อนุทิน” ล้างบางหน่วยบริการทุจริต “บัตรทอง”

การตรวจพบพฤติกรรมการทุจริตของ “หน่วยบริการ” ที่ปั้นแต่งตัวเลข-ข้อมูลอันเป็นเท็จ เพื่อขอเบิกงบประมาณจากกองทุนบัตรทองนั้น ในแง่หนึ่งสะท้อนถึงระบบการตรวจสอบที่ “เข้มงวด” ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทว่าในอีกแง่หนึ่ง ถือเป็นการยืนยันการมีอยู่จริงของ “ขบวนการโกงเงินแผ่นดิน” ที่พร้อมจะก่อการทุกเมื่อ โดยไม่สนใจหรือเกรงต่อหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ

แน่นอน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ และจำเป็นต้องลากคอผู้กระทำผิดมารับโทษอย่างถึงที่สุด โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเปิดปฏิบัติการปูพรมบุกค้นพื้นที่เป้าหมาย 4 แห่ง เพื่ออายัดเอกสาร ใบเสร็จ เวชระเบียน และเครื่องคอมพิวเตอร์ ไว้เป็นหลักฐานประกอบการทำสำนวนคดี

ปฏิบัติการเชิงรุกดังกล่าว นำโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อสั่งการของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ประกาศไว้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ต้องล้างบางทุจริตทั้งขบวนการ

“ผมยอมรับไม่ได้ที่จะมีใครมาปู้ยี่ปู้ยำเงินภาษีประชาชนซึ่งรัฐจัดสรรไว้สำหรับให้บริการด้านสุขภาพแก่ทุกคน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก จึงได้สั่งการให้ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันตรวจสอบและขยายผล เพื่อนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งหมดมารับโทษอย่างรุนแรงและเฉียบขาด” นายอนุทิน สั่งการในที่ประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม และวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

นายอนุทินยืนยันหนักแน่นว่า เรื่องนี้จะเอาผิดเต็มที่ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา เพิกถอนการเป็นสถานพยาบาล และหากพบแพทย์พยาบาลเกี่ยวข้องก็จะเอาด้วย โดยเฉพาะทางจรรยาบรรณที่มีโทษรุนแรงถึงการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ

สำหรับความเป็นมาของพฤติกรรมการทุจริตในครั้งนี้ โดยหลักการแล้ว การป้องกันไม่ให้คนป่วยมี ต้นทุนที่ต่ำกว่า การรักษาพยาบาลหลังจากที่คนล้มป่วยไปแล้ว กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงมีงบประมาณที่เรียกว่า งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จ่ายให้กับหน่วยบริการไปจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้คนป่วย เช่น ตรวจคัดกรองภาวะโรคต่างๆ

เมื่อหน่วยบริการใดจัดบริการตามคุณภาพและมาตรฐานที่กำหนด ก็ให้บันทึกข้อมูลการให้บริการเข้ามาในระบบ จากนั้น สปสช.จะจ่ายชดเชยค่าบริการเหล่านั้นให้ แต่ปรากฏว่ามีหน่วยบริการที่ ทำเอกสารเท็จ หลอกว่าให้บริการประชาชนไปแล้ว ทั้งที่ไม่ได้ให้บริการจริง

ในกรณี 18 คลินิกเอกชนที่ปรากฏเป็นข่าวในตอนแรก ครอบคลุมประชาชนผู้ใช้สิทธิ 2 แสนราย แต่คลินิกเหล่านั้นส่งหลักฐานมาว่าได้ตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงไปถึง 1.7-1.8 แสนราย มันมากจนพิรุธเกินไป

ผลพวงจากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการ สธ. นำไปสู่การขยายผลการตรวจสอบอย่างละเอียดและเด็ดขาด โดย สปสช. รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานกับบอร์ด สปสช.ว่า ได้ระดมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชี (Audit) จากทั่วประเทศเกือบ 300 ชีวิต มาตรวจเอกสารกว่า 1.2 ล้านฉบับ จนทำให้พบหน่วยบริการที่ทุจริตรวมเป็น 86 แห่งแล้ว

สำหรับการตรวจสอบแบ่งออกเป็น 2 ล็อตใหญ่ๆ ได้แก่ ล็อตแรก ตรวจพบหน่วยบริการ 20 แห่ง ที่จงใจทุจริต แบ่งเป็นคลินิกเอกชน 18 แห่ง และหน่วยบริการทันตกรรม 2 แห่ง ตรงนี้นายอนุทินได้สั่งการให้ สปสช.ดำเนินการเอาผิดในทุกช่องทางด้วยกฎหมายถึง 6 ฉบับ ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษจำคุก ต้องจ่ายชดเชยทางแพ่ง มีโทษทางปกครอง มีสิทธิถูกเพิกถอนการเป็นสถานพยาบาล และมีโอกาสถูกเพิกถอนใบอนุญาต

“ผมขอย้ำว่า ผมเอาจริง ผมต้องการที่จะถอนรากถอนโคนและทำให้เป็นกรณีตัวอย่าง ผมจะไม่ปล่อยให้คนโกงชาติโกงแผ่นดินมีพื้นที่ยืนในสังคมอีกต่อไป” นายอนุทินระบุ

สำหรับล็อตที่สอง เป็นการขยายผลเพิ่มเติมจนพบว่ามีหน่วยบริการอีก 66 แห่งที่ทุจริต โดยในขั้นตอนนี้ได้พบ ตัวละครสำคัญ นั่นคือห้องปฏิบัติการ (Lab) จำนวน 2 แห่ง ที่มีพฤติกรรม สมรู้ร่วมคิด กับหน่วยบริการจำนวนมาก ด้วยการจัดทำเอกสารผลตรวจเลือดปลอม เพื่อให้หน่วยบริการใช้เป็นหลักฐานนำมาเบิกเงินกับ สปสช.

“แต่ห้องปฏิบัติการเหล่านั้นไม่ได้เป็นหน่วยบริการหรือเป็นคู่สัญญากับ สปสช. นั่นทำให้ สปสช.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใดๆ ตรงนี้ผมจึงได้ประสานความร่วมมือไปยังดีเอสไอ สบส. ป.ป.ท. อัยการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนนำมาสู่การปูพรมบุกค้น เพื่ออายัดเอกสารหลักฐานมาประกอบการดำเนินคดี” นายอนุทินกล่าวในที่ประชุม

รัฐมนตรีว่าการ สธ.กล่าวต่อไปว่า ในอดีตเราไม่เคยพบพฤติกรรมการทุจริตเช่นนี้ จะมีก็เพียงแต่การส่งข้อมูลเบิกจ่ายไม่ถูกต้องโดยไม่เจตนา ซึ่งมีทั้งกรณีหน่วยบริการเบิกจ่ายไม่ครบ ซึ่ง สปสช.มีระบบจ่ายเงินเพิ่ม และกรณีที่เบิกเกิน ซึ่ง สปสช.ก็จะเรียกเงินคืน แต่จากเหตุการณ์โกงโดยเจตนาในครั้งนี้ สปสช.จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังกลับไปอีก 10 ปี หากพบการทุจริตก็ให้ดำเนินการเด็ดขาดเช่นกัน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สปสช.ตรวจพบการทุจริตรวมแล้ว 86 แห่ง แบ่งเป็น โรงพยาบาลเอกชน 8 แห่ง คลินิกเอกชน 73 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง ทั้งหมดจะต้องถูกดำเนินคดีอย่างไม่มีข้อละเว้น

รองนายกฯ รายนี้บอกอีกว่า ในระหว่างที่กระบวนการตรวจสอบเดินหน้า ก็ได้มอบนโยบายเพิ่มเติมให้ สปสช.หาแนวทางอุดช่องโหว่ในระบบการเบิกจ่ายควบคู่กันไป เพราะเดิมจะเป็นการเบิกจ่ายเงินตามข้อมูลที่หน่วยบริการคีย์เข้าระบบ นั่นหมายความว่าหากต้องการทราบว่าประชาชนมาใช้สิทธิจริงหรือไม่นั้น ต้องรอสุ่มตรวจหลังการใช้บริการเท่านั้น

ทว่า หลังจากนี้ สปสช.จะต้องเพิ่มขั้นตอนการยืนยันตัวบุคคลโดยใช้ Smart card reader หรือ Application เพื่อเป็นหลักฐานว่าประชาชนมาใช้บริการจริง ซึ่งถือเป็นการตรวจสอบตั้งแต่ก่อนเริ่มใช้บริการ

“การกวาดล้างทุจริตเป็นนโยบายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้น้ำหนักความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งพรรคฝ่ายค้าน ภาควิชาการ หน่วยงานราชการ ภาคประชาสังคม เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติร่วมกัน และหากใครพบความไม่ชอบมาพากล หรือมีข้อมูลการทุจริตไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด สามารถส่งข้อมูลมาถึงผมได้ทุกช่องทาง ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุข ที่พรรคภูมิใจไทย รวมถึงทางโซเชียลมีเดียด้วย” นายอนุทินกล่าวทิ้งท้าย