ย่าง 99 ปี ชาลี อินทรวิจิตร ครูเพลงอมตะ เตือนมหันตภัย “การพนัน”

ลูกศิษย์ลูกหาเพิ่งจัดงานฉลองอายุครบ 98 ปีเต็ม ย่างปีที่ 99 ของ “ชาลี อินทรวิจิตร” (เดิมชื่อ สง่า อินทรวิจิตร) เมื่อ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีภรรยา “ธิดา อินทรวิจิตร” อยู่เคียงข้างในบรรยากาศอบอุ่น

วันนี้ครูชาลีอยู่กับภรรยาที่บ้านย่านลาดพร้าว 71 ต้องไปหาหมอบ้างเป็นครั้งคราวด้วยอายุที่มากแล้วเพราะมีโรคประจำตัวทั้งโรคหัวใจ และเบาหวาน แต่ยังสามารถพูดคุยได้รู้เรื่องดี เสียงดังฟังชัด

โดยเฉพาะเรื่องแต่งเพลง และพิษภัยของการเล่นพนัน

หากเป็นเรื่องอื่นๆ อาจต้องใช้เวลาคิดสักพัก อย่างเช่นช่วงที่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และบางคำถามขอให้ไปถามภรรยาดีกว่าเพราะจำไม่ค่อยได้

บทเพลงฝีมือการแต่งของศิลปินแห่งชาติผู้นี้มีนับพัน และมีบทเพลงอมตะนับร้อย ไม่ว่าจะเป็นเพลงมนต์รักดอกคำใต้, แสนแสบ, หยาดเพชร, เรือนแพ, ท่าฉลอม, ทุ่งรวงทอง และเท่านี้ก็ตรม

แต่บทเพลงที่เจ้าตัวภาคภูมิใจมากที่สุดคือเพลงสดุดีมหาราชา

ส่วนงานเพลงที่ได้รับรางวัลพระราชทานแผ่นเสียงทองคำ มี เพลงอาลัยรัก, น้ำตานกขมิ้น และสตรีหมายเลขศูนย์

“ผมเขียนเพลงไว้เยอะมาก เขียนตามอารมณ์ที่อ่อนไหว เช่น ถ้าเรารู้สึกว่าอะไรที่มันกระทบหัวใจ หรือว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ เราก็เขียนไม่ควรจะเป็นอย่างที่เรานึก ส่วนมากผมไม่ค่อยคิดเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ผมจะทำเพื่อประโยชน์ของสังคมมากกว่า”

“พอนักร้องรู้ว่าผมแต่งก็อยากจะร้องทุกคน ลูกศิษย์ลูกหาผมไม่ค่อยมี ผมมีแต่คนที่อยากจะร้องเพลง ผมเห็นว่าคนนี้เหมาะที่จะร้องเพลง ผมก็เขียนให้ ส่วนใหญ่เพลงที่แต่ง สุเทพ วงศ์กำแหง จะร้องมากสุด (เสียชีวิตแล้ว) แต่ตอนหลังกลายเป็นชรินทร์ นันทนาคร คือชีวิตเขาฝากไว้ที่ผม เขาบอกว่าไม่ให้ลืมเขาอะไรแบบนี้ ถ้าเกิดผมแต่งเพลงเขาอยากจะร้องทุกเพลง”

อย่างเพลง “หยาดเพชร” ผมเขียนประมาณชั่วโมงกว่าๆ ก็เสร็จ ส่วนเพลง “กล่อมแผ่นดิน” ทำไมถึงชื่อ “กล่อมแผ่นดิน” เพราะช่วงนั้นแผ่นดินยังรบเป็นไฟก็กล่อมแผ่นดินให้อยู่ด้วยความสงบ ความหมายของเพลงเป็นอย่างนั้น

กับคำถามว่ายังฟังเพลงที่แต่งเองอยู่หรือเปล่า ครูชาลีตอบ “ฟังบ้างไม่ได้ฟังบ้าง เราไม่หลงตัวเอง คือเราแต่งอะไรแล้วก็ไม่คิดหวนกลับ ไม่ได้คิดว่าฉันจะต้องเอาเพลงนี้มาเสนอปุถุชน เพลงที่แต่งแล้วมันมีค่าของตัวมันเอง ถ้าไม่มีค่าคนจะไม่ฟัง คนจะไม่เห็น ไม่อยากเก็บไว้จำ”

ในช่วงสนทนากันนั้น คุณธิดาเล่าว่า สมัยก่อนคุณชาลีมีทรัพย์สินเงินทองเยอะแยะ แต่ก็หมดไปเพราะการพนัน

ประเด็นนี้เจ้าตัวถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้ฟังว่า “การพนันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ผมอยากจะบอกกับทุกคนที่ผมรักใคร่ อย่าไปเกี่ยวข้องกับมัน เพราะการพนันทำให้ชีวิตล่มจม ฉิบหาย เพราะฉะนั้น ต้องลืมมันเสีย มีคนบอกผมว่าถ้าผมไม่เล่นการพนัน ส่วนใหญ่ผมเล่นม้า ผมจะเก็บเงิน อัด อัด อัด ใส่โกดังรถ กระทั่งรถคันนั้นจะต้องยางแตก เพราะเงินที่ผมมาอัดกันไว้ เขาพูดให้ผมเจ็บใจตัวเอง”

ครูชาลีจะสนิทสนมเป็นอย่างดีกับผู้กว้างขวาง นามชัชวาลล์ คงอุดม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ชัช เตาปูน” ซึ่งตอนนี้ผันตัวมาเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท

โดยชัช เตาปูน คนนี้แหละที่เป็นเจ้าภาพจัดงานแต่งงานให้กับครูชาลีและคุณธิดา

ในวัยหนุ่มนอกจากครูชาลีจะแต่งเพลงแล้ว ยังเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ดังหลายเรื่อง และได้รับรางวัลมากมายทั้งรางวัลตุ๊กตาทอง (พระสุรัสวดี) รางวัลสุพรรณหงส์ และรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ แต่งานที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ การเขียนบทเพลง และยังทำให้มีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีหลายเพลงที่นำไปร้องประกอบในละครและภาพยนตร์

ก่อนหน้านี้ครูชาลีสมรสกับ “ศรินทิพย์ ศิริวรรณ” นักแสดงหญิงมากฝีมือ แต่หายไประหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ เมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ.2530 จนถึงปัจจุบันยังไม่พบตัว

ช่วงปี 2536 ครูเพลงชื่อดังคนนี้ได้รับการเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ซึ่งถือเป็นบุคคลเดียวของประเทศที่ได้รับเกียรติ 2 ด้าน คือด้านประพันธ์คำร้องและกำกับภาพยนตร์ และยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จากในหลวง รัชกาลที่ 9 ทำให้เจ้าตัวปลาบปลื้มเป็นที่สุด นอกจากนี้ ยังได้รางวัลละครโทรทัศน์ได้แก่ รางวัลเมขลา จากเรื่องทหารเสือพระเจ้าตาก, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และยังได้รับรางวัลกิตติคุณ สังข์เงิน จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5

พูดถึงสิ่งอยากจะทำในอนาคต ครูชาลีตอบว่า “ไม่อยากทำอะไร พอแล้วตอนนี้ เราอิ่มตัวกินใจที่จะทำงานให้กับตัวเอง หลังจากนี้ผมอยากจะทำให้กับสังคมมากกว่า”

สำหรับเคล็ดลับที่ทำให้อายุยืน นักแต่งเพลงขั้นเทพผู้นี้บอกว่า “ส่วนมากผมให้แฟนเป็นคนจัดการทุกอย่าง จะกินอาหาร จะนอน เขาเป็นคนดูแลเราก็ต้องฟัง เพราะเขาทำหน้าที่ภรรยา ซึ่งเขาอายุอ่อนกว่าผม 20 กว่า ปี แต่เกิดวันเดียวกัน”

สังเกตได้ว่าเมื่อพูดถึงภรรยาคนปัจจุบันคราใด ใบหน้าครูชาลีจะเปี่ยมไปด้วยความสุข เพราะเธอเป็นคนดูแลหมดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน และเรื่องสุขภาพ

นับเป็นศิลปินแห่งชาติอีกคนที่สร้างสรรค์ผลงานดีๆ ไว้ให้คนรุ่นหลัง

ธิดา อินทรวิจิตร

ช่วงแต่งงานกันดิฉันอายุ 50 ปี คุณชาลีอายุ 70 ปี ในปี 2540 ดิฉันเกิดวันที่ 6 กรกฎาคม วันเดียวกับคุณชาลี แต่คนละปีกัน ปัจจุบันย่าง 72 ปีแล้ว ก่อนแต่งงานคุณชาลี ดูแล้วน่าสงสารมาก เห็นหอบยาเบ้อเร่อเลย ตอนนั้นเพิ่งไปผ่าตัดเกี่ยวกับเรื่องโรคหัวใจ และเป็นเบาหวานด้วย ดูแลกันมาตลอด ดิฉันเองมีลูก 3 คนกับสามีเก่าที่เสียชีวิตไปแล้ว

เรื่องสุขภาพช่วงนี้ดีขึ้น เช้ามาก็เตรียมไข่ลวก แบรนด์ และนมให้ดื่ม อาบน้ำสระผมให้ทุกวัน พออยู่บ้านครบ 15 วันจะพาไปบ้านเพื่อนเพื่อไปร้องเพลง ส่วนใหญ่จะร้องเพลงที่เขาแต่งเอง เป็นคนที่ชอบร้องเพลงมาก และจำเพลงได้หมดไม่ว่าจะเก่าแค่ไหนก็ตาม บางวันพาไปห้างสรรพสินค้า เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ เดินได้ไม่กี่ก้าวต้องให้คนช่วยพยุง ส่วนใหญ่ไปไหนต้องให้นั่งรถเข็น

ตั้งแต่ปีที่แล้วไม่ได้แต่งเพลงอีกเลยเพราะไม่สบาย ก่อนหน้านี้ต้องพาไปสูดอากาศที่ปราณบุรี และที่ต้องกลับมาอยู่ กทม.เพราะวัยขนาดนี้แล้วต้องใกล้ชิดหมอเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา

ปกติถ้าไม่เกิดโรคโควิด-19 คุณชาลีไม่ค่อยได้อยู่บ้าน มีแต่คนมารับไปกินข้าว ไปร้องเพลงสนุกเฮฮา เขาชอบมาก และมีเพื่อนเยอะ มีเพื่อนฝูงเวียนมาเยี่ยมกันบ่อยๆ ตั้งแต่สมัยเป็นผู้กำกับหนัง เดือนหนึ่งจะสังสรรค์กันกับพวกผู้กำกับฯ และดารารุ่นเก่าๆ อย่างโขมพัสตร์ อรรถยา และแจ๊สสยาม ทำให้แกมีความสุข จริงๆ ชีวิตแกไม่ซีเรียส ไม่คิดอะไร กินได้ หัวถึงหมอนปั๊บก็หลับ

ที่ผ่านมาคุณชาลีเล่นการพนันหนักมาก แต่ก่อนมีโรงถ่าย มีบ้าน มีที่ดิน แต่ทุกอย่างหมดไปกับการพนัน ถึงขั้นต้องไปเช่าห้องอยู่ เพิ่งเลิกเล่นเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง เพราะหมดแล้วทุกอย่าง โดยให้ไปสาบานต่อหน้าองค์พระที่พุทธมณฑล หลังจากนั้นก็เลิกเล่นจริงๆ