วิกฤติศตวรรษที่ 21 : ลัทธิทรัมป์กับทุนนิยมเชื้อชาติ

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (15)

ลัทธิทรัมป์กับทุนนิยมเชื้อชาติ

ลัทธิทรัมป์ประกอบด้วยสองคำขวัญ

คำขวัญแรกคือ “ทำให้อเมริกากลับมาเป็นใหญ่อีกครั้ง” (เรียกย่อเป็นภาษาอังกฤษว่า MAGA)

คำขวัญที่สองคือ “อเมริกันเหนือชาติอื่นใด”

คำขวัญแรก “ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ได้เคยใช้มาแล้วในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของโรนัลด์ เรแกน ในปี 1980 และทรัมป์นำมาใช้ในการหาเสียงปี 2016

การนำคำขวัญดังกล่าวมาใช้ มองด้านหนึ่ง แสดงถึงความถดถอยของสหรัฐต้องปลุกใจชาวอเมริกันเพื่อให้ขวนขวายลุกขึ้นมาสร้างชาติอีกครั้ง

ย้อนไปช่วงปลายสมัยประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ต่อกับเรแกน ได้เกิดวิกฤติใหญ่จำนวนมาก ได้แก่ การลุกขึ้นมาท้าทายสหรัฐของประเทศในตะวันออกกลาง

การกำเริบเสิบสานของสหภาพโซเวียตที่ส่งกองทัพเข้ายึดครองอัฟกานิสถาน สร้างความรู้สึกว่าสหรัฐกำลังควบคุมสถานการณ์ในตะวันออกกลางไม่อยู่และอาจต้องสูญเสียอำนาจการควบคุมน้ำมันในตะวันออกกลางไป

นอกจากนี้ ทางการเมืองภายในประเทศ เกิดวิกฤติการนำชาวสหรัฐโดยเฉพาะคนหนุ่ม-สาวขาดความเชื่อถือในรัฐบาลและสถาบันนำของชาติ ทางเศรษฐกิจเกิดภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อพร้อมกัน ก่อความเดือดร้อน และความไม่พึงพอใจแก่ชาวอเมริกันจำนวนมาก

ทั้งๆ ที่เมื่อมองย้อนหลังแล้ว เศรษฐกิจสมัยประธานาธิบดีคาร์เตอร์ครั้งนั้น โดยทั่วไปยังสามารถจัดการได้ดีพอสมควร

(ดูบทความของ Rex Nutting ชื่อ Jimmy Carter deserves our thanks, not our scorn ใน marketwatch.com 20/08/2015 เป็นต้น)

เรแกนมีปฏิบัติการใหญ่เพื่อทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ในด้านต่างประเทศที่ควรกล่าวถึง ได้แก่

ก) ทำข้อตกลงลับกับอิหร่านเกี่ยวกับตัวประกันสหรัฐ จนเกิดเป็นกรณี “อิหร่าน-คอนทรา” ที่อื้อฉาว สามารถปลดปล่อยตัวประกันได้ พร้อมกับต่อต้านคอมมิวนิสต์ในละตินอเมริกาไปด้วย สร้างภาพเหมือนกับว่าสามารถควบคุมทั้งสองภูมิภาคนี้ได้เหมือนเดิม

ข) ดำเนินการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียต สร้างโครงการ “สตาร์วอร์” ทำให้สหภาพโซเวียตที่ติดหล่มสงครามในอัฟกานิสถาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกินตัว มีส่วนให้ต้องล่มสลายลง

ค) ทำข้อตกลงลับกับซาอุดีอาระเบียในการทำสงครามราคาน้ำมันกับสหภาพโซเวียต ถือกันว่าเรแกนมีบทบาทสำคัญทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลายลงได้ และได้รับการยกย่องจนถึงทุกวันนี้

ในทางเศรษฐกิจ เรแกนเดินหน้านโยบายเสรีนิยมใหม่เต็มตัว (สมัยคาร์เตอร์ก็เริ่มทำบ้างแล้ว) ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ถือว่าเป็นความสำเร็จใหญ่อย่างหนึ่ง

แต่ความสำเร็จนี้ได้ก่อความอ่อนแอแก่สหรัฐ ที่เห็นชัดขึ้นเรื่อยจนถึงสมัยทรัมป์ 4 เรื่อง คือ

ก) เกิดการย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนา เช่นจีน

ข) เกิดการเสียเปรียบดุลการค้าอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นตั้งแต่กลางทศวรรษ 1980

ค) ช่องว่างทางรายได้ขยายตัวอย่างรุนแรง ระหว่างคนงานกับนายทุนและผู้บริหารระดับสูง และระหว่างคนงานผิวดำกับผิวขาว ก่อให้เกิดความแตกแยกภายในชาติอย่างปรองดองได้ยาก

ง) งบประมาณขาดดุลจากการใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้น

เมื่อถึงสมัยทรัมป์ ความเข้มแข็งในทุกด้านของสหรัฐอ่อนแอลงเป็นอันมาก

แต่ยังมองด้านดีหรือด้านการโยนความผิดให้ผู้อื่นว่า สหรัฐยังคงเข้มแข็งโดยเฉพาะด้านการเงินและการทหารเหนือกว่าชาติอื่นมาก

ที่อ่อนแอต้องฟื้นคืน คือฐานอุตสาหกรรรมที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมจากจีนและชาติอื่น ซึ่งถ้าแก้ไขได้ก็จะแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าและขาดดุลงบประมาณได้พร้อมกัน

การทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการทำสงครามการค้ากับจีนเป็นเบื้องต้น ตามด้วยสงครามเทคโนโลยีขั้นสูง ปิดท้ายด้วยสงครามการเงินทำให้ธุรกรรมทั้งหลายของจีนต้องอยู่นอกสกุลเงินดอลลาร์

ขณะนี้สงครามอยู่ขั้นที่สอง ถ้าถึงขั้นสามจะก่อผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่านี้อีกมาก ผลจากโควิด-19 ทำให้สหรัฐต้องพะวงแก้ปัญหาในประเทศมากขึ้น

คําขวัญที่สอง “อเมริกันเหนือชาติอื่นใด” มีความหมายในทางปฏิบัติคือ

ก) อเมริกันเป็นชาติพิเศษ ต่างกับชาติอื่น มีชะตาที่จะเป็นผู้นำโลกให้เสรีและเป็นระเบียบ ดังนั้น เป็นชาติที่ขาดไม่ได้ กฎข้อบังคับของสหรัฐสามารถบังคับใช้ทั่วโลก

ข) การปฏิบัติการได้ตามลำพัง สหรัฐจะไม่ถูกผูกมัดด้วยกฎระเบียบหรือข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ สหรัฐต้องยกเลิกข้อตกลงหรือลาออกจากองค์กรใดที่ผูกมัดหรือไม่ปฏิบัติตามแนวของสหรัฐ กฎทั่วโลกไม่สามารถบังคับใช้กับสหรัฐได้

ค) ผลประโยชน์จากการฟื้นฐานอุตสาหกรรม การมีงานทำของคนงานสหรัฐ การกีดกันผู้อพยพในการเข้ามาแย่งงานหรือแย่งผลประโยชน์จากการพำนักในสหรัฐ อยู่เหนือกลุ่มผู้อพยพที่ผิดกฎหมาย กลุ่มก่อการร้าย ไปจนถึงพวกมุสลิมโดยทั่วไป

ง) กีดกันชาติต่างๆ ไม่ให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง แทรกแซงและแซงก์ชั่นชาติต่างๆ ที่วางตัวเป็นอริ

ลัทธิทรัมป์ที่ว่านี้ กล่าวในทางทฤษฎีแล้ว มีรากฐานทางความคิดจาก “ระบบทุนนิยมเชื้อชาติ” ที่มีลักษณะเฉพาะของอเมริกา เป็นกรอบความคิดที่เชื่อมระบบทุนนิยมกับลัทธิเชื้อชาติเข้าด้วยกัน เป็นผลงานของนักวิชาการฝ่ายซ้ายก้าวหน้า นักลัทธิมาร์กซ์ผิวดำ (Black Marxist) รวมทั้งนักคิดผิวดำต่อต้านทุนนิยมจำนวนมาก

พบว่าในระยะสองสามปีมานี้ แนวคิดเรื่องทุนนิยมเชื้อชาติ ได้เป็นที่สนใจเพิ่มขึ้นในทั้งสาขามนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์

ในฐานะที่เป็นกรอบหรือเครื่องมือในการเข้าใจความรุนแรงและการขูดรีดจากทุนในขอบเขตทั่วโลก ในพื้นที่และช่วงประวัติศาสตร์ที่แน่นอน ในยุคของการแปรเป็นแบบเสรีนิยมใหม่และสงครามไม่รู้จบ

สรุปความทุนนิยมเชื้อชาติ มีลักษณะดังต่อไปนี้คือ ทุนนิยมเชื้อชาติสมัยใหม่ในสหรัฐเริ่มต้นที่ปี 1914 ปีที่เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเป็นการรบกันครั้งใหญ่ของมหาอำนาจในยุโรป ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ที่ลามไปทั่วยุโรปและทั่วโลก ญี่ปุ่นก็ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทการเมืองโลกเป็นครั้งแรกโดยร่วมกับอังกฤษ ฝรั่งเศส

ในช่วงปี 1914 สหรัฐอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 1913-1921) ดังนั้น ทุนนิยมเชื้อชาติสมัยใหม่จึงมีต้นธารที่วิลสันและชนชั้นนำสหรัฐขณะนั้น ส่วนทรัมป์และคณะเป็นกลุ่มปลายน้ำ

ทุนนิยมเชื้อชาติเป็นระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบมีระดับชั้นที่ชัดเจน ใฝ่ในการทำสงคราม และลัทธิทหาร ก่อสงครามอย่างไม่สิ้นสุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน มีการสะสมทุนแบบจักรวรรดินิยม มีการขูดรีดและการริบทรัพย์โดยเข้าครอบงำและขูดรีดแรงงานขั้นสูงสุด ลักษณะทางเชื้อชาติแสดงออกที่การมีคนผิวดำ ได้แก่ ผู้ที่สืบเชื้อสายจากคนแอฟริกันที่ถูกนำมาเป็นทาสในระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่นี่ ความเป็นคนดำทำให้นายทุนสามารถขูดรีดหรือสร้างมูลค่าส่วนเกิน (กำไร) ได้สูงกว่าอัตราทั่วไป

ดังนั้น ทุนนิยมเชื้อชาติจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ดังจะเห็นได้จากการต่อสู้ของคนผิวดำที่ดำเนินมาตลอดหลายร้อยปี โดยชนชั้นนำสหรัฐก็ใช้วิธีต่อต้านคนผิวดำอย่างรุนแรงเช่นกัน

มีคำบรรยายเกี่ยวกับทุนนิยมเชื้อชาติสมัยใหม่ว่า

“เมื่อถึงปี 1914 สหรัฐได้นำทรัพยากรธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมมาใช้อย่างเข้มข้น โดยการกระตุ้นช่องทางการค้าระหว่างประเทศของตน อุดหนุนประเทศทุนนิยมเก่า (ในยุโรป) สร้างระบบการคุ้มครองทางภาษีศุลกากรอย่างยืดหยุ่น พัฒนาระบบการขนส่งและโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งเปิดทางให้การเหมืองแร่ โรงงานอุตสาหกรรม และการเกษตร มีการบูรณาการสร้างเป็นองคาพยพที่มุ่งสู่ท่าเรือทั้งหลาย… (ดังนั้น) การขยายตัวภายในประเทศจึงขึ้นอยู่กับการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น…วิสาหกิจใหญ่ของสหรัฐได้เร่งการขยายตัวไปยังต่างประเทศ สงครามช่วยให้การขยายตัวนี้เร็วขึ้น และช่วยการขยายตัวของระบบทุนนิยม (ทุนนิยมเชื้อชาติสมัยใหม่) ที่จำเป็นสำหรับตลาดนอกประเทศ”

(ดูบทความนักวิชาการก้าวหน้าสตรีผิวดำ Charisse Burden-Stelly ชื่อ Modern U.S. Racial Capitalism ใน monthlyreview.org กรกฎาคม 2020)

วูดโรว์ วิลสัน

นักลัทธิเชื้อชาตินิยมสมัยใหม่ต้นตำรับ

วิลสัน ประธานาธิบดีคนที่ 28 ของสหรัฐ สังกัดปีกขวาของพรรคเดโมแครต มีการศึกษาสูง เป็นประธานาธิบดีคนเดียวที่ได้รับปริญญาเอก และเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน วิลสันนำสหรัฐเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างแยบยล เป็นแกนก่อตั้งสันนิบาตชาติ ทำให้สหรัฐก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

ด้านภายในประเทศ วิลสันปฏิรูปการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า และสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารกลางแห่งสหรัฐ ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของสหรัฐ

แต่ในอีกด้านหนึ่งวิลสันเป็นนักลัทธิเชื้อชาติรุนแรง เขาสนับสนุนกลุ่มคูคลักซ์แคลนที่มีฐานเป็นกลุ่มคริสเตียนผิวขาวถือลัทธิคนขาวสูงส่ง ต่อต้านผู้นำคนอเมริกันผิวดำ พวกคาทอลิกที่อพยพเข้ามารวมทั้งชาวยิว ใช้ความรุนแรงและการข่มขู่สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

ดูหมิ่นคะแนนเสียงของคนผิวดำว่า “โง่เขลาและไม่เป็นมิตร”

นอกจากนี้ ยังเดินนโยบายแบ่งแยกพนักงานรัฐทางเชื้อชาติ

ตัดทางก้าวหน้าของคนผิวดำในระบบราชการ

ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน มีนโยบายไม่รับคนผิวดำเข้าเรียน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเขาอยู่ที่ต้นธารแห่งความรุ่งเรืองของลัทธิเชื้อชาติสมัยใหม่ และพลังการต่อต้านจากขบวนการคนผิวดำยังน้อยอยู่ วิลสันจึงยังคงได้รับการยกย่องต่อมาเป็นเวลานับร้อยปี

มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันได้ตั้งสำนักศึกษาด้านกิจการสาธารณะและกิจการต่างประเทศในปี 1930 และในปี 1948 ได้นำชื่อวูดโรว์ วิลสัน มาใช้นำหน้าสถานศึกษานี้

แต่มนต์ลัทธิเชื้อชาติได้เสื่อมลงโดยลำดับ เมื่อถึงปี 2015 มีกลุ่มนักศึกษา “สันนิบาตความยุติธรรมผิวดำ” เรียกร้องให้ปลดชื่อวิลสันจากโครงการและอาคารทุกหลังในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน แต่ไม่สำเร็จ

จนถึงปี 2020 ทางมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันจึงยอมปลดชื่อวิลสันออกจาก “สำนักศึกษากิจการสาธารณะและการระหว่างประเทศ”

อธิการบดีคนปัจจุบันให้เหตุผลว่า นโยบายเชื้อชาตินิยมที่แบ่งแยกพนักงานรัฐทางเชื้อชาติ ทำให้ “อเมริกาถอยหลังเข้าคลองในการแสวงหาความเป็นธรรม…และทำร้ายประเทศชาติมาจนถึงขณะนี้”

ซึ่งทรัมป์ได้ทวีตคัดค้านด้วยความรู้สึกเหลือเชื่อว่า ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น (ดูรายงานชื่อ Why a top American policy school dropped the name of a past president ใน indianexprees.com 30/06/2020)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึง เค้าความล้มเหลวของลัทธิทรัมป์