วรศักดิ์ มหัทธโนบล : ฝรั่งตาน้ำข้าว

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ผมเป็นคนที่เกิดและเติบโตในช่วงที่ไทยเราอยู่ในยุคพัฒนา ตอนนั้นผมไม่รู้หรอกว่ายุคที่ว่านี้เป็นยังไง ผมมารู้เอาตอนที่โตแล้ว และยังรู้อีกว่า ก่อนที่เราจะเข้าสู่ยุคนี้ในปีแรกเมื่อ พ.ศ.2504 นั้น เราไม่เคยมีแผนพัฒนาอะไรมาก่อน

แล้วก็พาลสงสัยว่า แล้วเราอยู่กันมาได้อย่างไรหว่า…?

แต่เราก็อยู่กันมาได้ จนวันหนึ่งฝรั่งมาบอกว่า เรายังไม่พัฒนา เราก็เลยมีแผนพัฒนาขึ้นตามที่ฝรั่งบอก จากเหตุนี้ จึงมีนักวิชาการไทยบางท่านชี้ว่า การที่ไทยเราอยู่กันมาได้ก่อนที่จะมีแผนพัฒนานั้น ในด้านหนึ่งก็เท่ากับว่า คำว่าพัฒนา เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เรายอมรับ

พอเรายอมรับแล้วก็เท่ากับว่า การที่เรายังไม่พัฒนาก่อนที่จะมีแผนพัฒนาแสดงว่าเรายังป่าเถื่อนอยู่

แต่ที่แสบไส้ก็คือ ตอนที่เรามีแผนพัฒนาใหม่ๆ นั้น ฝรั่งยังชี้ว่าไทยจัดอยู่ในประเทศด้อยพัฒนา

จนเมื่อเราผ่านแผนพัฒนาไปแล้วไม่กี่ฉบับ ฝรั่งก็ทำให้เราสบายใจขึ้นและดูดีขึ้นด้วยการชี้ว่าไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา และเราก็เป็นประเทศกำลังพัฒนานับแต่นั้นมาจนทุกวันนี้ก็ยังกำลังพัฒนา

ผมไม่แน่ใจว่าชั่วชีวิตของผมจะทันได้เห็นไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่

 

ที่ว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนั้น คือเป็นแบบไหน? ฝรั่งก็ชี้ให้ดูตัวเองแล้วบอกว่า ก็เป็นแบบไอไงล่ะยู

ก็เพราะเหตุนี้แหละที่ทำให้ชีวิตวัยเด็กของผมเห็นฝรั่งดีไปเสียทุกอย่าง ไม่ว่าจะการแต่งกาย การกินการอยู่ ความสะดวกสบาย ความบันเทิงเริงรมย์ การศึกษา ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือการมีชีวิตที่อิสรเสรี ฯลฯ

คือดีไปหมดทุกอย่างทุกด้าน และดีเสียจนอยากจะมีชีวิตแบบนั้นบ้าง

เช่น เวลาจะอธิษฐานขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะขอว่า ถ้าชาติหน้ามีจริงก็ขอให้ได้เกิดที่สหรัฐอเมริกาหรือยุโรป

เวลาอากาศเย็นเพราะฝนตกก็ใส่เสื้อหนาวแบบฝรั่งให้ดูเหมือนอยู่เมืองฝรั่ง

เวลาดูหนังฝรั่งย้อนยุคหรือยุคปัจจุบันก็จะรู้สึกว่าฝรั่งแต่งตัวเท่และมีอาหารที่น่ากิน เวลาหนังฉายให้เห็นภาพหิมะจนขาวโพลนก็อยากมีชีวิตอยู่ที่นั้นบ้าง

ตอนที่โตเป็นหนุ่มความรู้สึกนึกคิดเช่นนั้นแม้ยังคงหลงเหลืออยู่ แต่ก็เจือจางไปมาก

ซึ่งส่วนหนึ่งคงมาจากการเรียนรู้ที่ทำให้เราอยู่กับโลกของความเป็นจริงมากขึ้น

ยิ่งพอโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยิ่งพบความจริงอีกด้านหนึ่งของฝรั่งมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าไม่ได้ดีอย่างที่เราเคยเข้าใจ บางเรื่องเราคิดไปเองแล้วเข้าใจไปผิดๆ

อย่างหน้าหนาวที่ผมอยากจะไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยนั้น จริงๆ แล้วไม่น่าอยู่เลย

ผมเคยไปอยู่ที่จีนและญี่ปุ่นตอนหน้าหนาวจนต้องบอกกับตัวเองว่า ถ้าให้ต้องเลือกระหว่างร้อนตายกับหนาวตายแล้ว ผมเลือกเอาร้อนตายดีกว่า

ขนาดหน้าหนาวที่ยังไม่มีหิมะตกก็หนาวเหมือนมีเข็มมาทิ่มแทงจนเจ็บไปทั้งร่าง ถ้าหิมะตกจะขนาดไหน

ยิ่งการใส่เสื้อหนาวที่เคยเห็นว่าดูเท่นั้น จริงๆ แล้วมันรุ่มร่ามและทำให้ทำอะไรไม่สะดวกเอามากๆ โดยเฉพาะเวลาเข้าห้องน้ำ ส่วนการแต่งตัวแบบฝรั่งตามปกติที่ไม่ใช้เสื้อหนาวนั้น บางครั้งก็เป็นเสื้อผ้าที่ไม่ได้ซักนานหลายวันจนเหม็น

ผมเคยได้กลิ่นตัวฝรั่งที่ไม่ได้อาบน้ำมาหลายวันจนทนไม่ไหว มันเหม็นเหมือนกลิ่นกระเทียมเน่ายังไงยังงั้น

 

ส่วนชีวิตในเมืองที่พัฒนาแล้วของฝรั่ง เอาเข้าจริงก็เป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและการแข่งขัน ในขณะที่อาหารการกินที่ผมเห็นน่ากินนั้น พอได้กินจริงจะรู้สึกอร่อยในคำแรกๆ หลังจากนั้นจะรู้สึกเลี่ยน หากนานๆ กินทีก็คงจะได้ แต่ถ้าทุกวันก็คงไม่ไหว

ที่สำคัญ ดินแดนฝรั่งที่มากด้วยอิสรภาพและเสรีภาพนั้น แท้จริงแล้วยังมีการกดขี่ขูดรีดและการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิวดำรงอยู่ ดังจะเห็นได้จากข่าวการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ

ครั้งหนึ่งเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ผมได้อ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับหนึ่งในเมืองไทย แล้วพบเข้ากับจดหมายจากผู้อ่านคนหนึ่งที่เป็นฝรั่ง จดหมายฉบับนั้นเขียนตอบโต้ใครสักคนหนึ่งก่อนหน้านี้ (ซึ่งผมไม่ได้อ่าน) เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

จดหมายของฝรั่งคนนี้ไม่เชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ โดยมีความตอนหนึ่งที่ถามเจ้าของจดหมายฉบับก่อนหน้าว่า อะไรทำให้คุณคิดว่าคนเอเชียอย่างคุณเท่าเทียมกับฝรั่งอย่างผม

ผมอ่านแล้วก็ให้สงสัยว่า ยังมีฝรั่งคิดอย่างนี้อยู่อีกหรือ จนหลายปีผ่านไปจึงรู้ว่าฝรั่งที่คิดอย่างนี้มีอยู่โดยทั่วไป

 

ไม่เพียงเท่านั้น เวลาที่อ่านเรื่องราวของฝรั่งบางคนที่มีความรู้ความสามารถจนเป็นที่ยกย่องเขาก็เล่าไม่หมด เรารู้จักฝรั่งพวกนี้ในตำราเรียนแล้วก็ยกย่องตามไปด้วย บางทีก็ผ่านการทำข้อสอบในชั้นเรียน

อย่างเช่น เซอร์ไอแซ็ก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่ค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกนั้น เรารู้จักเขาตั้งแต่เด็กผ่านตำราเรียน และให้รู้สึกทึ่งและสนุกไปกับเรื่องที่เขาค้นพบจากการสังเกตเห็นผลแอปเปิลร่วงลงจากต้น

แต่เรื่องที่ไม่ได้อยู่ตำราเรียนก็คือ นิวตันมีหุ้นอยู่บริษัทค้าทาส ซึ่งนอกจากนิวตันแล้วก็ยังมีเชื้อพระวงศ์ ส.ส.ในสภา มหาวิทยาลัยคิง”ส คอลเลจ และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อีกด้วย

 

หรืออย่างคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ค้นพบทวีปอเมริกาที่ได้รับการยกย่องประดุจวีรบุรุษนั้น เอาเข้าจริงแล้วหลังจากที่เขาค้นพบ เขาก็ปฏิบัติต่อชนพื้นเมืองที่เขาเรียกว่าอินเดียน ด้วยความป่าเถื่อน และที่ทำเช่นนั้นก็เพราะต้องการทองคำ

โคลัมบัสออกคำสั่งให้คนพื้นเมืองที่มีอายุตั้งแต่ 14 ปีขึ้นไปต้องหาทองคำให้ได้ปริมาณที่เขากำหนดทุกๆ 3 เดือน ใครทำไม่ได้จะถูกตัดมือแล้วปล่อยให้เลือดไหลจนตาย แต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่ได้ทองตามที่ต้องการ เพราะความจริงก็คือว่า ดินแดนแห่งนั้นมีทองคำน้อย

ไม่เพียงเท่านั้น โคลัมบัสยังสร้างความมั่งคั่งจากการค้าทาสอีกด้วย เขาจับคนพื้นเมืองที่เขาบอกเองว่าเป็นคนสุภาพและรักสงบนับพันคน แล้วพาลงเรือเพื่อนำไปขายยังเมืองแม่ของเขาที่สเปน ในบรรดานี้มีคนพื้นเมืองถูกล่ามโซ่กว่า 500 คน และเสียชีวิตระหว่างทาง 200 คน

นอกจากนี้ โคลัมบัสยังตั้งกฎระเบียบขึ้นมาด้วยการอนุญาตให้คนสเปนที่ไปตั้งถิ่นฐานที่นั้นมีทาสได้ ทาสเหล่านี้ถูกบังคับใช้แรงงานให้กับคนสเปนอย่างโหดร้ายทารุณ กล่าวกันว่า การใช้แรงงานทาสในครั้งนั้นได้ทำให้ชาวพื้นเมืองที่มีอยู่กว่า 1 ล้านคนลดเหลือเพียง 200 คน

จำนวนคนพื้นเมืองที่ลดลงนี้ฝรั่งปัจจุบันพยายามแก้ต่างว่าลดเพราะเจอโรคระบาด ซึ่งก็เป็นโรคที่ฝรั่งนำเข้าไปเอง แต่ข้อแก้ตัวที่ทำให้ตัวเองดูดีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับ นักวิชาการส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่ามาจากมาตรการป่าเถื่อนของโคลัมบัสและผู้อพยพสเปนที่ไปตั้งนิคม

เมื่อจำนวนคนพื้นเมืองลดลง การตั้งนิคมของพวกสเปนอพยพก็เริ่มไม่ราบรื่น เพราะในหมู่ผู้อพยพเหล่านี้ยังมีการแบ่งชนชั้นกันเองอีกด้วย และชนชั้นล่างเริ่มรับไม่ได้กับการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นสูง จากนั้นก็เกิดการต่อต้านขึ้นมาครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งก็ถูกโคลัมบัสตอบโต้ด้วยมาตรการที่เขาเคยใช้กับคนพื้นเมือง

สิ่งที่โคลัมบัสทำไปนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อสนองตอบผลประโยชน์ให้กับราชสำนักสเปน เพราะราชสำนักเป็นผู้ลงทุนให้กับการเดินเรือของเขา ความป่าเถื่อนของโคลัมบัสในอีกด้านหนึ่งจึงควรที่ราชสำนักสเปนต้องรับผิดชอบด้วย

 

ความเลวทรามต่ำช้าของโคลัมบัสดังกล่าวไม่ได้ถูกพูดถึงในตำราที่เราเรียน ที่ยังไงเสียก็มีเรื่องในด้านดี ทำให้เราซึ่งเป็นคนต่างชาติไม่ค่อยรู้ประเด็นที่ควรรู้

แต่การประท้วงในสหรัฐ จากกรณีที่จอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวผิวดำถูกตำรวจผิวขาวกดคอจนตายนั้น ได้มีการทำลายอนุสาวรีย์ของบุคคลที่ได้รับการยกย่องแบบเดียวกับโคลัมบัสไปมากมาย

และอนุสาวรีย์ของโคลัมบัสก็ถูกทำลายลงอย่างสมควรแก่เหตุด้วยเช่นกัน

แต่เหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้จะถึงกับทำให้ฝรั่งเปลี่ยนทัศนคติของตนไปทั้งหมดนั้น คงไม่ใช่แน่ ในขณะเดียวกัน เรื่องที่เล่ามานี้เป็นเพียงบางส่วน ไม่ได้เหมารวมฝรั่งทั้งหมด ว่าจะต้องมีทัศนคติที่แย่ๆ แบบนั้น ฝรั่งที่มีทัศนคติดีๆ ก็มีถมไป

ผมเล่าเรื่องที่ว่าก็เพื่อต้องการจะบอกว่า เดี๋ยวนี้ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกรู้จักฝรั่งมากขึ้น คือรู้จักอย่างที่ควรจะเป็น และรู้จักโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่ยกย่องฝรั่งตะพึดตะพือไปเสียทุกเรื่อง

รู้จักแบบหลังนี้จะทำอะไรหรือสู้กับอะไร ไม่มีทางสำเร็จหรอกครับ