หนุ่มเมืองจันท์ | กระดานโต้คลื่น

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ได้รับคำเชิญจาก “ไทยพีบีเอส” ไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

เขาตั้งชื่อหัวข้อว่า “Tomorrow”s Thai PBS : ความเห็นของคุณต่ออนาคตสื่อเพื่อสาธารณะ”

ตอนที่ได้รับการติดต่อ ผมรีบบอกว่าอย่าเชิญผมเลย เพราะไม่ได้ดูโทรทัศน์มานานมากแล้ว

ไม่ได้ดูจริงๆ นะครับ

ผมดูโทรทัศน์เฉพาะฟุตบอลกับเน็ตฟลิกซ์เท่านั้น

ถ้าจะดูรายการต่างๆ บ้างก็ผ่านทางไอแพด

เป็นการดูย้อนหลัง

หรือดูคลิปรายการที่เขาตัดสั้นๆ

ผมไม่ยอมให้โทรทัศน์กำหนดเวลาของผม

ต้องดูรายการนี้ตอนกี่โมง

แต่ผมจะกำหนดเวลาเองว่าจะดูรายการต่างๆ เมื่อไร

ในฐานะนักข่าวเก่า ผมยังหิวข่าวเหมือนเดิม

ยังกระหายความรู้ใหม่ๆ

แต่วิธีการรับข่าวของผมเปลี่ยนไป

หันไปดูข่าวทางออนไลน์เป็นหลัก

เมื่อไม่ได้ดูทีวีเลยจะไปนำเสนอความเห็นก็คงแปลกๆ

แต่ทีมงานของไทยพีบีเอสก็บอกว่า เขาอยากได้มุมมองของคนไม่ดูทีวีแบบนี้ด้วย

ผมจึงมีโอกาสได้ร่วมวงสนทนาในเรื่องนี้แบบคนไม่ดูทีวี

“ไทยพีบีเอส” แบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็น 4 กลุ่ม

ดูรายชื่อแล้วใช้ได้เลย

หลากหลายมาก

กลุ่มผมมีคุณสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทวันเดอร์เวิลด์ โปรดักส์ คุณไตรรุจน์ นวมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อประเทศไทย

และอีก 3 คนที่รู้จักกันอยู่แล้ว

“เอ็ม” ขจร เจียรนัยพานิชย์ แมงโกซีโร และแม็คไทย “ตุ๋ม” นฑาห์ มหันตพล รายการซูเปอร์จิ๋ว และ “เอ๋” นิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์

ส่วนคนดำเนินรายการ คือ คุณสุทธิชัย หยุ่น

คุณสุทธิชัยยิงคำถามแรกที่นักข่าวเรียกกันว่า “คำถามวงแตก”

“วันนี้สังคมไทยยังจำเป็นต้องมีไทยพีบีเอสไหม”

แล้วบอกว่าถ้าทุกคนตอบว่าไม่จำเป็น

“เราจะได้เลิกคุยกัน กลับบ้าน”

“ไทยพีบีเอส” เป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก “ภาษีบาป” ประมาณปีละ 1,700 ล้านบาท

เป็นงบฯ บริหารและผลิตรายการต่างๆ

แต่ไม่มีสิทธิ์หารายได้จากการโฆษณาเหมือนทีวีช่องอื่น

ในอดีต ทีวีช่องอื่นจะไม่รู้สึกอะไร เพราะรายได้จากโฆษณาดีกว่าเยอะ

แต่วันนี้ วันที่มีทีวีดิจิตอล และภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป

โฆษณาหาได้ยาก

1,700 ล้านบาทจึงกลายเป็นความได้เปรียบของไทยพีบีเอส

ประเด็นก็คือ เมื่อภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไป คนหันไปเสพสื่อจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น

ดูโทรทัศน์น้อยลง

เราควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไร

ทุกคนยังยอมรับว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดของไทยพีบีเอส คือ “ความน่าเชื่อถือ”

ในขณะที่ข่าวสารในโลกนี้มากมายและง่ายที่จะไขว่คว้า

แต่ผู้เสพยากที่จะรู้ว่าข่าวไหนจริงหรือไม่จริง

หรือแต่ละเรื่องมีที่มาและเบื้องหลังอย่างไร

“ความน่าเชื่อถือ” จึงมีความสำคัญ

มีรายการอีกหลายรายการที่เราไม่มีทางหาดูจากสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ได้เลย

แต่หาดูได้ที่นี่

นี่คือ คุณค่าที่ควรเก็บไว้

แต่ทำอย่างไรจะให้เนื้อหาที่น่าภาคภูมิใจนี้มีคนดูเยอะกว่านี้

เรตติ้งทีวี แม้จะไม่ชอบ แต่ก็เป็นความท้าทาย

ทำอย่างไรเรตติ้งถึงจะอยู่อันดับที่ดีกว่านี้ให้ได้

เรื่อง “คนดู” นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นคนดูผ่านช่องทางโทรทัศน์อย่างเดียว

ต้องกระจายไปทุกช่องทาง

เหมือนที่คุณสุทธิชัยเคยบอกไว้ตอนที่เขาเริ่มเข้าไปใน TikTok

“ที่ไหนมีคน เราจะไปที่นั่น”

ตอนนี้ไทยพีบีเอสมีครบทุกช่องทาง

แม้แต่ TikTok

แต่เนื้อหาเดียวกัน เมื่อเข้าสู่ช่องทางใหม่ก็ต้องปรับให้เข้ากับช่องทางนั้น

จะเอารายการทีวีทั้งก้อนยัดเข้าไปในออนไลน์ไม่ได้

ต้องปรับแต่งให้เหมาะสม

เรื่องนี้คนอื่นๆ ให้ความเห็นได้ดีกว่าผมมาก

ผมมีข้อเสนอไม่กี่เรื่อง

เรื่องแรก เป็นความเชื่อว่าอะไรที่สบายไปจะไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์

ต้องลำบากหน่อย

ดังนั้น ถ้าเรายอมรับว่าคนดูโทรทัศน์น้อยลง

ลองตั้งโจทย์เล่นๆ ว่าเราจะใช้เงินกับทีวีช่องนี้แค่ 1,000 ล้าน

เราจะต้องคิดว่าจะลดหรือเพิ่มอะไร

ที่เหลืออีก 700 เอาไปพัฒนาช่องทางอื่นที่เป็น “อนาคต”

พูดเล่นๆ ว่า ถ้าคิดแบบ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ผู้ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า

700 ล้านบาทเราเอาไปเทกโอเวอร์สื่อใหม่ๆ ที่มาแรงตอนนี้ได้หลายบริษัทเลย

ไม่ต้องเสียเวลาทำเอง

และได้คนเก่งๆ มาร่วมงานด้วย

เรื่องที่สอง อยากให้ลองคิดว่าถ้ามีเงิน 1,700 ล้านบาท

เราอุ้มเงินก้อนนี้เดินออกจากไทยพีบีเอส

แล้วคิดใหม่

เราจะทำสื่ออะไรดีจากเงินก้อนนี้

ทำสถานีโทรทัศน์ด้วยก็ได้

แต่จะทำอย่างไร แบบไหน

ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กติกาที่ค่อนข้างจะเข้มงวดของไทยพีบีเอส

แต่ด้วยวิธีคิดแบบนี้เราอาจเห็นทางที่ชัดกว่าวันนี้

เพราะถ้าคิดภายใต้บริบทที่เป็นอยู่

เราจะติดปัญหาเต็มไปหมด

ลองคิดใหม่แบบไม่มีอะไรเลย

แล้วคิดว่าเราควรทำอะไร

จากนั้นก็นำเอาสิ่งเก่าที่มีอยู่มาใส่ในภาพใหม่ที่เราคิด

บางทีการปรับเปลี่ยนอาจเป็นไปได้เร็วกว่าวันนี้

เพราะตอนนี้แทบทุกธุรกิจเจอกระแสดิสรัปต์

ธุรกิจเก่าจะติดปัญหาเรื่องสัมภาระเดิมๆ

เสียดาย ไม่กล้าทิ้ง

เรื่องนี้เข้าใจได้ เพราะเป็นเรื่องความเคยชิน

และความผูกพันกับคนและงาน

ช่องว่างนี้เองทำให้กลายเป็น “โอกาส” ของ “คนใหม่”

ทุกคนเริ่มต้นใหม่โดยไม่ติดภาระอะไร

เหมือนมีกระดานแผ่นเดียว โต้คลื่นได้สะดวกและคล่องตัวกว่าเรือบรรทุกสินค้า

ยิ่งเจอคลื่นลูกใหญ่ ยิ่งลอยตัวได้สูง

สำหรับคนใหม่ที่ก้าวเข้ามา ยิ่งเจอกระแสดิสรัปต์แรงเท่าไร

เขายิ่งสนุก

การระดมความคิดเห็นครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก

เพราะเมื่อผมกลับถึงบ้าน

สิ่งแรกที่ทำก็คือ เปิดโทรทัศน์

ดูข่าวของไทยพีบีเอส

คืนนั้น เรตติ้งขึ้นแน่นอน