จัตวา กลิ่นสุนทร : ฟื้นฝอยเรื่องการบินไทย

ฟื้นฝอยกันบ้าง (1)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พ.ศ.2525) อธิบายคำ “ฟื้นฝอย” ว่า “คุ้ยเขี่ยหาความที่สงบแล้วให้กลับเป็นเรื่องขึ้นมาอีก”

แต่ขอเรียนว่าไม่ได้คิดอย่างนั้น เพียงแค่จะเก็บประสบการณ์ที่เคยได้เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของการบินไทยมาบอกกล่าวเล่าสู่กันฟังบ้าง

เพราะมันเป็นตำนานยิ่งใหญ่ หวือหวาอหังการมายาวนานแทบจะลืมกันไม่ลงสำหรับสายการบินสูงส่งโด่งดังระดับดีที่เรียกกันว่า “สายการบินแห่งชาติ”

ขออนุญาตแก้ไขข้อผิดพลาดคอลัมน์นี้ของฉบับประจำวันที่ 22-28 พฤษภาคม 2563 ที่บอกว่า การบินไทยจดทะเบียนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2503 ด้วยเงินทุน 2 ล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ ในฐานะ “สายการบินแห่งชาติ” ของประเทศไทย ถึงวันนี้นับเป็นเวลา 50 ปี–

ที่ถูกต้องคือ “60 ปีครับ”

 

ก่อนอื่นต้องขออวยพรให้แผนฟื้นฟูสายการบินแห่งนี้ประสบความสำเร็จสามารถฟื้นคืนกลับมาเติบโตยิ่งใหญ่สง่างาม เหมือนสายการบินใหญ่ๆ ในโลกที่เคยผ่านจุดวิกฤตต้องฟื้นฟูแบบนี้

เพื่อกลับมาสร้างกำไรในอีก 1-2-3-4 หรือ 5 ปีข้างหน้า เอาเป็นว่าอย่าพังพาบล้มเหลวไปเป็นอันใช้ได้

เชื่อว่าด้วยความโปร่งใสไร้การทุจริตแอบแฝงไม่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย หยิ่งผยองผสมกับความสามารถของกรรมการชุดใหม่ที่ต้องเฟ้นหาคัดเลือกเข้าไปดำเนินการให้การฟื้นฟูเดินไปตามแผนอย่างประหยัดรัดกุม

ปราศจากเสียงนินทาว่าร้ายว่าองค์กรแห่งนี้เป็นสถานที่สำหรับทำมาหากินของผู้มีอำนาจ

หมายรวมถึงจะต้องมีเส้นสายมากกว่าความสามารถด้วยซ้ำไป อย่างที่ผ่านๆ มาจากอดีตหลายทศวรรษ

เมื่อการบินไทยประสบปัญหาตกต่ำกลับมีแต่การเหยียบย่ำซ้ำเติมมากกว่าความเห็นอกเห็นใจ สังคมได้แต่ประณามหยามเหยียดพร้อมกล่าวถึงการเบียดบังคอร์รัปชั่นในองค์กร

กระทั่งมีผู้ขีดเขียนถึงคนของการบินไทยไว้มากมาย ซึ่งขออนุญาตเจ้าของข้อเขียน (บางชิ้น) คัดลอกบางตอนมาเสนอต่อไปอีก ว่า–

 

“พนักงานการบินไทยแสดงตัวตนอยู่ตรงข้ามกับประชาชนมาโดยตลอดด้วยชนชั้นฐานะทางสังคม และพฤติกรรมเหยียบหัวคนไทยเสพสุขอยู่บนเงินภาษีของประชาชนท่ามกลางระบอบอุปถัมภ์ และการคอร์รัปชั่นแบบมโหฬารจนถึงขั้นกิจการล้มละลาย มีการแสดงออกทางการเมืองที่เลือกข้างแบบชัดเจนไม่เหมาะสมต่อการเป็นข้าของแผ่นดิน (รัฐวิสาหกิจ)

ตั้งแต่การขับไล่รัฐบาล สนับสนุนชื่นชมนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร ด้วยถ้อยคำน่าพะอืดพะอม การลงโทษพนักงานที่ถ่ายรูปคู่กับ “ธนาธร” ไปจนถึงกรณีล่าสุดอย่างโหนชื่อ “ทักษิณ” เพื่อขอความเห็นใจจากพวกสลิ่ม–”

ผมเคยได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับองค์กรแห่งนี้ในฐานะสื่อสิ่งพิมพ์มาบ้าง

ขณะเดียวกันในช่วงท้ายๆ ของการยึดอาชีพดังกล่าวยังได้เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับระดับผู้นำองค์กรหลายคนโดยผ่านผู้ทรงอิทธิพลบางท่านของกองทัพอากาศ ซึ่งท่านมีตำแหน่งใหญ่ๆ ในสายการบินแห่งชาตินี้ด้วย

กว่าสี่ทศวรรษสื่อมวลชนรุ่นๆ ผมซึ่งนับปีเกิดปัจจุบัน อายุย่อมเกินกว่าเลข 7 ทั้งสิ้น บางคนได้ลาโลกไปแล้ว ได้รับเชิญจากการบินไทยให้เดินทางเปิดเส้นทางบินสำหรับเครื่องที่เพิ่งได้รับมาใหม่ยังฮ่องกง เป็นเที่ยวปฐมฤกษ์

จำได้ว่ายังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องของสายการบินอะไรนัก แต่ก็ตื่นเต้นเพราะได้รู้จักแต่ประชาสัมพันธ์ของสายการบินแห่งนี้ เป็นสุภาพสตรีผู้คล่องแคล่วทรงอิทธิพลไม่น้อย

และคนใหญ่คนโตระดับหัวแถวของสายการบินชื่อ พล.อ.อ.บัญชา สุขานุศาสตร์

 

ผมเองยังเป็นคนหนุ่มวัยเลข 3 ต้นๆ มีโอกาสได้รับเชิญจึงตามแห่เขาไปแบบไม่รู้ประสีประสาเกี่ยวข้องกับการบิน การเมืองอะไร? โดยเฉพาะเรื่องการสั่งซื้อเครื่องบินแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นสตอรี่เล่าขานต่อๆ กันมาเป็นเรื่องยาวตราบกระทั่งทุกวันนี้ว่าเต็มไปด้วยผลประโยชน์จำนวนมาก

ครั้งหนึ่งได้เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับโครงการของสภาศิลปกรรมไทยในสหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งที่ยังเริ่มเตาะแตะก่อตัวโดยกมล ทัศนาญชลี ซึ่งได้รับทุนไปศึกษาเล่าเรียน และสร้างงาน สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ (Los Angeles ,California.,USA.) เป็นผู้ริเริ่ม ต่อมาได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นคนคิดโครงการพาอาจารย์ นักศึกษาศิลปะ ศิลปินร่วมสมัยของไทยให้ได้เดินทางไปศึกษาดูงานพร้อมเผยแพร่ผลงานในสหรัฐ และเขาเป็นเพื่อนรักของผม ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ในความดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม

ผมเดินทางไปเยือนสหรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ.2527-2528 ได้รับรู้โครงการอันมุ่งมั่นด้วยจิตใจบริสุทธิ์นี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่อยากจะมีส่วนร่วม จึงพยายามจะช่วยสนับสนุนโครงการอย่างน้อยที่สุดก็เพื่อวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย ที่ผมเองก็รักและผูกพันแบบฝังลึกติดแน่นในความรู้สึก

เกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าสภาศิลปกรรมไทยในสหรัฐได้รับการสนับสนุนจากการบินไทย เรื่องค่าโดยสาร (ขณะนั้นการบินไทยบินไปลงยังเมืองซีแอตเติล สหรัฐ)-(Seattle Washington., USA.) สำหรับศิลปินไทยที่เดินทางไปเปิดนิทรรศการและศึกษาดูงานเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการเรียนการสอนจะได้กลับมาพัฒนาวงการศึกษาศิลปะของประเทศไทย

จึงพยายามใช้ความเป็นสื่อมวลชนเพื่อขอพบกับดีดีของการบินไทยขณะนั้นคือท่าน พล.อ.อ.จรรยา สุคนธทรัพย์ (2527-2529) เพื่อขอการสนับสนุนดังกล่าว

ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยท่านส่งเรื่องถึงเจ้าหน้าที่เพื่อทำการลดราคาตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางไปสหรัฐอเมริกาให้กับกลุ่มอาจารย์ผู้สอนศิลปะ ศิลปินร่วมสมัยไทย

เพียงแต่ว่าเป็นการลดจากราคาเต็มอันสูงลิ่ว ผลที่ออกมาคือราคาไม่ได้แตกต่างกับการที่เราจะไปซื้อหาจากเอเย่นต์แต่อย่างใด

แปลว่าเหมือนกับการไม่ได้ลด ไม่ได้ช่วยเหลืออะไร?

ทั้งๆ ที่การดำเนินงานของสายการบินเป็นไปด้วยความสุรุ่ยสุร่าย ตกหล่นสูญหายรั่วไหลมากมายทั้งๆ ที่เป็นเงินของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ

แต่เราไม่มีทางเลือกอะไร ต้องบากหน้าไปขอความช่วยเหลือเขาเอง

ถ้าเป็นในระยะหลังๆ เมื่อเข้าใจเรื่องของสายการบินมากกว่าเวลานั้น เราอาจได้รับความช่วยเหลือจากสายการบินอื่นๆ มีทางออกที่ดีกว่าที่ผ่านมา

นับแต่นั้นมาผมมีความรู้สึกว่าสายการบินไทยค่อนข้างจะสูงส่งกระทั่งประชาชนคนไทยธรรมดาๆ ไม่มีโอกาสได้รับการต้อนรับจากสายการบินแห่งนี้ เหมือนอย่างที่ใครๆ ต่างก่นด่าเป็นเสียงเดียวกันว่าประชาชนผู้ยากไร้คงไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับสายการบินแห่งชาติ ทั้งที่ก่อตั้งมาอย่างไรก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่

อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นเป็นเพียงอดีต

และแน่นอนที่สุดเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในสายตาของคนทำงานในการบินไทย

 

แต่เมื่อเติบโตขึ้นทั้งคุณวุฒิวัยวุฒิมีศักยภาพทางด้านการงานกว้างขวางมากขึ้นตามช่วงระยะเวลา สะสมประสบการณ์ทางสังคมเพิ่มพูนมากขึ้น ได้รู้จักมักคุ้นกับผู้ใหญ่ นายตำรวจ นายทหารใหญ่ ซึ่งมีตำแหน่งใหญ่โตในสายการบินแห่งนี้ย่อมได้รับการสนใจ ได้รับการต้อนรับจากคนใหญ่คนโตของการบินไทยมากขึ้น

บังเอิญเป็นอย่างยิ่ง ผมมีวันเกิดวันเดียวกันกับนายทหารใหญ่ระดับบิ๊กที่สื่อมวลชนรุ่นแก่เฒ่าช่วยกันบัญญัติไว้ให้ ใกล้ชิดกันพอสมควรจนกล้าเรียกท่านว่าพี่ได้อย่างสนิทสนม ในขณะที่นายทหารระดับนายพลถึงพลเอกต้องเรียกท่านว่า “นาย” รวมทั้งคนใหญ่คนโตในการบินไทยก็ยังเรียกตามนั้น

เป็นที่เข้าใจกันว่านายทหารผู้กว้างขวางท่านนี้ไม่เคยจัดงานวันเกิดอย่างเป็นทางการ นอกจากมีงานประจำปี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นงานใหญ่ของชาวกองทัพอากาศ เรียกว่างาน “วันรวมน้ำใจ” ให้ได้สนุกสนานกินดื่มฟรีติดต่อกันมายาวนาน

ผมมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศร่วมคณะท่านเสมอๆ โดยเฉพาะเส้นทางประเทศแถบถิ่นยุโรป ได้รู้จักกับคนของการบินไทยที่มาอำนวยความสะดวกทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกรุงปารีส ฝรั่งเศส ลอนดอน อังกฤษ และ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นระดับหัวหน้ามีตำแหน่งใหญ่ รายได้สูง ที่บอกอย่างนี้ก็เพราะได้เห็นว่าเขามือหนักเวลาเสี่ยงโชคในกาสิโน

เมื่อเฉียด 20 ปีก่อนในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ (Amsterdam Netherlands) คนระดับหัวแถวของการบินไทยเดินทางไปพบเจอกับนายทหารระดับบิ๊กเพื่ออวยพรวันเกิดในงานเลี้ยงอาหารค่ำยังต่างแดน ผมจึงมีโอกาสได้เป่าเทียนวันเกิดด้วย ที่แอบดีใจนิดหน่อยเพราะเป็นคนใหญ่โตของการบินไทย

มีเรื่องเก่าๆ มาเล่าต่ออีกในสัปดาห์ถัดไป

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่