วงค์ ตาวัน | บทเรียนราคาแพงที่สุด

วงค์ ตาวัน

กลายเป็นคำพูดที่เริ่มได้ยินบ่อยๆ เริ่มพูดกันไปทั่วว่า กลัวอดตายมากกว่ากลัวโควิด เพราะผลจากมาตรการปิดเมืองปิดกิจการห้างร้านต่างๆ หยุดการเดินทาง ทำให้ประชาชนจำนวนมากเริ่มอยู่ในภาวะตกงาน ไม่มีเงิน ไม่มีรายได้

ขณะที่รัฐบาลและ ศบค.ก็ปลาบปลื้มดีใจกับตัวเลขคนติดเชื้อ คนเสียชีวิตที่ลดลง แถมภาคภูมิใจกับมาตรการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เคอร์ฟิว ควบคุมผู้คนให้อยู่แต่ภายในบ้านได้ ส่งผลให้ภาพรวมของการสกัดกั้นโควิดออกมาดี

“แต่ไม่ค่อยพูดถึงคนที่ไม่ป่วย แต่ไม่มีรายได้ ว่าจะกินอยู่กันอย่างไร!?”

ด้านหนึ่งมาตรการจ่ายเงินเยียวยาก็เริ่มขยายกว้างไปสู่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น แผ่ไปยังหลายแวดวงมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่มาอย่างล่าช้า รวมทั้งต้องมีการแสดงความไม่พึงพอใจให้ได้ยินก่อน จึงจะรีบทำตามในภายหลัง

มาตรการลดค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่ามือถือ ก็ต้องมาคิดมาทำหลังจากที่ผู้คนร้องตะโกนโวยวาย ร้องจ๊ากกันไปทั้งเมือง นั่นแหละฝ่ายรัฐบาลจึงเริ่มคิด เริ่มนั่งไม่ติด แล้วจึงค่อยหาทางออก

ขณะเดียวกันในอีกด้าน ตราบใดที่ระบบเศรษฐกิจยังถูกล็อกอยู่เช่นนี้ ก็หมายถึงคนอีกจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเผชิญปัญหาหนักขึ้นๆ จากถูกลดเงินเดือน หักเงินเดือน กำลังจะกลายเป็นผู้ตกงานเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

“เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการ ก็จะเริ่มกลายเป็นคนหมดเนื้อหมดตัว”

เมื่อมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลและ ศบค. อย่ามองแต่ตัวเลขคนป่วย คนติดเชื้อที่ลดลงแล้วดีอกดีใจ แต่ควรมองถึงคนที่ไม่ป่วยแต่กำลังจะอดตายด้วย

มักจะได้คำตอบว่า ยังไม่ถึงเวลา ยังประมาทไม่ได้ ขืนปลดล็อก จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะพุ่งพรวดขึ้นมาอีก

“เป็นคำตอบที่ทำให้มองไม่เห็นอนาคตว่า จะเก็บตัวกันเฉยๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อหยุดการแพร่เชื้อ แล้วปากท้องความเป็นอยู่เล่า”

ภาพที่ผู้คนมายืนออ ยืนรอเข้าแถวยาวเหยียด เพื่อรับข้าวปลาอาหาร รับของแจกจากคนใจบุญ เป็นเรื่องน่าเศร้าสลด แล้วไปๆ มาๆ ก็กลายเป็นเรื่องผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คนใจบุญจะโดนดำเนินคดีกันอีก โดยที่รัฐไม่รู้สึกเลยว่า ภาพเหล่านี้มันสะท้อนความอ่อนด้อยในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนของรัฐบาล จนชาวบ้านต้องลุกออกมาช่วยเหลือกันเอง แน่นอนต้องเกิดสภาพไร้ระเบียบ สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

แต่กลายเป็นเครื่องตอกย้ำว่า รัฐบาลและ ศบค.คิดเป็นอยู่เรื่องเดียวคือ ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คนติดเชื้อเพิ่ม แต่คนจะอดตายเห็นๆ อยู่ กลับไม่เป็นเรื่องใหญ่!

ไม่เพียงแค่กรณีประชาชนออกมาเบียดเสียดกัน ต่อแถวยาวเหยียดเพื่อขอรับอาหารฟรี น้ำดื่มฟรี ซึ่งสะท้อนภาวะทุกข์ยากที่แผ่กว้างไปทั่วเท่านั้น แต่ยังมีปรากฏการณ์ที่ประชาชนช่วยเหลือกันในวงเล็กๆ ไม่เป็นข่าวคราว แต่เกิดขึ้นมากมาย

เช่น จัดอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่ม 20-30 ชุด แล้วขับรถไปแจกจ่ายในย่านคนจรจัด คนตกงาน

การช่วยเหลือทั้งวงเล็กวงใหญ่ เกิดทั่วทุกมุมเมือง เพราะคนอดอยากหิวโหยมีมากมายจริงๆ ในวันนี้

ที่หนักหนากว่านั้นคือ เหตุการณ์ที่เริ่มมีคนฆ่าตัวตาย เพราะมองไม่เห็นทางออกในภาวะที่ไม่มีงานทำ แล้วโดนกดดันด้วยหนี้สิน ขณะที่มองไม่เห็นอนาคตว่าจะมีการงานกลับมาให้หารายได้อีกเมื่อไร

“คนเริ่มฆ่าตัวตายในสถานการณ์เช่นนี้ เริ่มมีข่าวไม่เว้นวัน ผูกคอ โดดตึก ดิ่งคอนโดฯ โดดแม่น้ำ”

อันที่จริงสถานการณ์ฆ่าตัวตายของคนไทยมีมากมายตั้งแต่เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาแล้ว

ในช่วงปีที่แล้วปรากฏมีการฆ่าตัวตายด้วยภาวะเศรษฐกิจ เป็นข่าวสลดอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน จนเริ่มมีคำเสียดสีว่า รัฐบาลไม่ต้องแจกเงินผ่านบัตรคนจนรายละพันบาทก็ได้ แจกเตาอั้งโล่ตรงๆ ไปเลยดีกว่า

“เนื่องจากเกิดแฟชั่นเลียนแบบ จุดไฟในเตาอั้งโล่เพื่อรมควันฆ่าตัวตาย ในรถบ้าง ในห้องนอนในบ้านบ้าง”

ในช่วงปีที่แล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำที่สะสมมาตลอดยุครัฐบาลทหารช่วง 5 ปีก่อนนั้น ทำให้ภาวะหนี้สินของชาวบ้านยิ่งรุนแรงมากขึ้น จนสุดท้ายเลือกวิธีคิดสั้นเป็นทางออก

กล่าวกันว่า ผลการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ซึ่งได้รัฐบาลที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลทหาร คสช.นั่นเอง เป็นสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก

“เศรษฐกิจตลอดปี 2562 จึงไม่กระเตื้องขึ้น ลงเอยกลายเป็นปรากฏการณ์สลดเตาอั้งโร่รมควัน”

พอเข้าสู่ปี 2563 ก็ต้องช็อกกันไปทั้งโลกด้วยภัยโรคระบาดรุนแรง โดยเฉพาะบ้านเราที่สภาพเศรษฐกิจไม่ดีอยู่แล้ว

วันนี้จึงเกิดสภาพคนทุกข์ร้อนไร้งานทำและไม่มีกินอย่างน่าตกใจ ถึงขั้นแห่กันออกไปรับข้าวของบริจาค แย่งยื้อกันถึงขนาดชกต่อยกันก็มี

รัฐบาลและ ศบค.มองภาพนี้ว่า ไร้ระเบียบ ไม่ระมัดระวัง จะส่งผลให้การแพร่เชื้อระบาดเพิ่ม

แต่ประชาชนด้วยกันมองว่า คนเราต้องอดอยากไม่มีกินกันขนาดหนักจริงๆ นั่นเอง จึงต้องไปแย่งกันรับของบริจาค และถึงขั้นวิวาทกันเพื่อแย่งชิงอาหาร

“ทั้งที่ประชาชนก็เสียเงินภาษีอากร เพื่อเป็นเงินเดือนค่าจ้างให้กับผู้มาทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน”

แต่วันนี้จัดสรรเงินงบประมาณกันอย่างไร การช่วยเหลือเยียวยาในภาวะที่สั่งปิดบ้านปิดเมืองทำให้ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้เช่นนี้ กลับไม่สามารถเอาเงินของประชาชนมาดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ขณะที่ข่าวเรือยกพลขึ้นบก 6 พันกว่าล้านจ่อเข้า ครม. ข่าวจัดซื้อรถหุ้มเกราะ 4 พันกว่าล้าน ก็ยังโผล่ออกมาเป็นระยะ

จนโดนแฉโดนวิพากษ์วิจารณ์ก็ค่อยๆ ถอนเป็นเรื่องๆ ไป โดยที่ไม่รู้ยังมีอีกกี่โปรเจ็กต์ที่พร้อมจะโผล่ขึ้นมาอีก

ความสามารถของรัฐบาลในการเผชิญภาวะวิกฤตโควิดครั้งนี้ ที่ประชาชนคนไทยสัมผัสได้ตรงๆ เต็มๆ เมื่อประกอบเข้ากับวันเวลาที่ใกล้จะถึงวันก่อรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในเดือนหน้า จึงเริ่มเกิดคำถามกับการเมืองไทยเราว่า เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

เพราะรัฐบาลชุดนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557 นั่นเอง

เป็นรัฐบาลทหาร คสช.มาถึง 5 ปี แล้วปรับโฉมใส่เสื้อคลุมรัฐบาลเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีนักการเมืองเป็นตัวประกอบ แวดล้อมแกนนำนายพลเอก

“ทำให้หลายคนนึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ม็อบนกหวีด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่การได้รัฐบาลทหาร!”

แน่นอน รัฐบาลยิ่งลักษณ์เกิดความผิดพลาด กรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่เมื่อรัฐบาลนั้นยอมรับ ยอมถอย ตัดสินใจเลือกทางออกยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งในต้นปี 2557 แต่แกนนำนกหวีดบอกว่าไม่เอาเลือกตั้ง อ้างว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ลงเอยก็คือทำให้รถถังต้องออกมา

“นับวันยิ่งประจักษ์ชัดว่าการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไม่มีอยู่จริง มีแต่เกมชิงอำนาจ และรักษาอำนาจนั้นยาวนานตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปี 2563 นี้”

เพราะเป็นรัฐบาลที่มีภารกิจคือรักษาอำนาจไว้อยู่ในมือของกลุ่มขุนศึกขุนนางให้ยาวนานที่สุด

จึงเป็นรัฐบาลที่มีบุคลากรสำหรับภารกิจด้านอำนาจเป็นสำคัญ

“พอมาเจอโควิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เราก็มีแต่เหล่าขุนศึกที่ยืนงงกับภาวะโรคระบาด และมึนงงว่าจะประคองเศรษฐกิจในภาวะเช่นนี้อย่างไร!?”

ถ้าในปี 2557 เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยอมยุบสภา แล้วทุกฝ่ายเลือกเดินหน้าบนหนทางประชาธิปไตยต่อไป เราก็จะได้รัฐบาลพลเรือนที่เป็นไปตามความต้องการประชาชน ซึ่งเปิดกว้างมากกว่า จะทำให้มากด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาอาชีพต่างๆ มีผู้นำที่มากด้วยวิสัยทัศน์ และความแหลมคมในการแก้ไขวิกฤต

ย้อนกลับไปมองวันนั้นแล้วจะพบว่า

นี่เป็นบทเรียนราคาแพงแสนแพงอย่างที่สุดของสังคมไทย อันไม่ควรลืมเลือนและไม่ควรเดินซ้ำอีก!