เทศมองไทย : โควิด-19 กับเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

อาธิตยา มัททู หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แถลงผลการศึกษาวิจัยผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสก่อเชื้อโควิด-19 หลายสำนักข่าว รวมทั้งบลูมเบิร์กและเอเอฟพี หยิบสาระสำคัญมารายงานเอาไว้เมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

แม้จะเป็นการศึกษาโดยภาพรวมทั้งภูมิภาค เอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แต่การจำแนกภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบก็ช่วยให้เห็นภาพไม่น้อยว่า ประเทศไหนจะกระทบกระเทือนมากน้อยเพียงใดจากสถานการณ์เช่นนี้

ตัวอย่างเช่น การเตือนถึง “ความเสี่ยงสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ” ในหมู่ครัวเรือนซึ่งพึ่งพา “ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เปราะบางต่อผลกระทบจากโควิด-19” มากเป็นพิเศษ

ภาคอุตสาหกรรมเปราะบางที่ว่านี้ รวมถึง “อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในไทยและในประเทศหมู่เกาะในแปซิฟิก, อุตสาหกรรมการผลิตในเวียดนามและกัมพูชา และบรรดาผู้คนซึ่งพึ่งพาการว่าจ้างแรงงานอย่างไม่เป็นทางการในทุกๆ ประเทศ”

“ความเสี่ยง” ที่ธนาคารโลกว่าเอาไว้นี้ก็คือ “ความยากจน” ซึ่งไม่มีใครปรารถนา รัฐบาลทุกรัฐบาลของทุกประเทศประกาศจะแก้ไข แต่จนแล้วจนรอด โลกนี้ก็ยังมีความยากจนอยู่ดีตลอดมา

 

รายงานของธนาคารโลกบอกว่า โควิด-19 จะส่งผลให้ปริมาณประชากรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ตกอยู่ใน “สภาวะยากจน” มีเพิ่มมากขึ้น

เกณฑ์วัดสภาวะยากจนที่ธนาคารโลกใช้ในการประเมินครั้งนี้ นิยามก็คือ คนที่มีรายได้ไม่เกิน 5.50 ดอลลาร์ หรือไม่เกิน 180 บาทต่อวัน

ที่ต้องอธิบายเรื่องนี้ไว้ เพราะตามการวิเคราะห์ของธนาคารโลกนั้น โควิด-19 จะทำให้คนในภูมิภาคนี้มากถึง 24 ล้านคน ไม่สามารถก้าวข้ามเส้นความยากจนที่ว่านี้ได้ ทั้งๆ ที่ควรจะทำได้หากไม่มีการระบาดครั้งนี้เกิดขึ้น

ในเวลาเดียวกัน รายงานชิ้นนี้ระบุว่า โควิด-19 จะทำให้เกิด “คนจนใหม่” ขึ้นมาอีก 11 ล้านคน ผลก็คือ ทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีคนตกอยู่ในสภาวะยากจนถึง 35 ล้านคน โดยที่ 25 ล้านคนนี้อยู่ในประเทศจีน

เหตุผลก็คือ เศรษฐกิจจีนจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาด ทำให้อัตราการขยายตัวตลอดทั้งปีคาดการณ์ในทางดีที่สุดจะขยายตัวเพียง 2.3 เปอร์เซ็นต์ แต่อาจจะต่ำสุดถึง 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือเรียกว่าไม่ขยายตัวจากปีก่อนหน้านี้เลยก็ว่าได้

เรียกว่าหลุดรอดจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้หวุดหวิดจวนเจียนเต็มที

ยิ่งถ้านำไปเทียบกับปี 2019 ที่เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.1 เปอร์เซ็นต์แล้วคงพอจะนึกภาพออกได้ว่าแย่แค่ไหน

 

ในภาพรวมของทั้งภูมิภาค ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ในกรณีดีที่สุด ปี 2020 นี้เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกจะขยายตัวได้ 2.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าคาดการณ์ในแง่ต่ำสุดเท่าที่เป็นไปได้ก็คือ อัตราการขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับติดลบ 0.5 เปอร์เซ็นต์ คือหดตัวลงจากที่เคยโต 5.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา

แต่ถ้าเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยไม่รวมจีนเข้าไปด้วยแล้ว อัตราการขยายตัวดีที่สุดของภูมิภาคที่คาดการณ์ก็คือ 1.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ในการคาดการณ์ทางที่แย่ที่สุด เศรษฐกิจทั้งภูมิภาคที่ว่านี้ ติดลบสูงถึง 2.8 เปอร์เซ็นต์ครับ

คำเตือนที่ธนาคารโลกสำทับมาก็คือ เศรษฐกิจภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบนั้นเป็นเรื่องแน่นอนแล้ว แต่จะกระทบยาวนานแค่ไหนและช็อกลงลึกมากเพียงใด “ยังไม่แน่นอน” ชนิดผิดปกติอย่างยิ่ง

ที่ธนาคารโลกเสนอแนะและเรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคนี้ดำเนินการก็คือ ต้องลงแรงแข็งขัน “ร่วมกัน” ทั้งในมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด และในมาตรการบรรเทาผลกระทบที่ก่อให้เกิดภาวะ “ช็อก” ต่อครัวเรือนที่สูญเสียรายได้ไปในวิกฤตนี้

หนึ่งในมาตรการที่เสนอไว้ให้ดำเนินการในรายงานชิ้นนี้ก็คือ การใช้มาตรการผ่อนคลายด้านสินเชื่อ เพื่อช่วยให้ครัวเรือนมีอยู่มีกินได้ราบรื่นในภาวะวิกฤต และช่วยบริษัทธุรกิจให้อยู่รอดจากภาวะช็อกกะทันหันได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตรการเหล่านี้ต้องกำหนดเป้าให้ชัดเจน ต้องมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ

โดยเฉพาะในประเทศที่บริษัทธุรกิจและครัวเรือนแบกภาระหนี้เดิมสูงลิ่วอยู่ก่อนแล้วครับ