“สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน” แนะใช้อำนาจ พรก.ฉุกเฉิน รับมือโควิด คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน

วันที่ 26 มีนาคม 2563 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ เพื่อเสนอและข้อกังวลต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนในช่วง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

แถลงการณ์ระบุว่า เนื่องด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคภัยพิบัติใหม่ COVID 19 ที่คุกคามชีวิตมนุษยชาติทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงมากขึ้น สสส.จึงออกแถลงการณ์แสดงความความห่วงใยและข้อกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ต่อสาธารณะ เพื่อยึดเป็นแนวทางและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ต่อหน่วยงาน ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทุกคน ดังนี้
1. การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งนี้เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความอยู่รอดของมนุษยชาติทั้งมวล ไม่ใช่ความอยู่รอดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น
2. เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถทำลายชีวิตมนุษย์ทุกคนโดยการแพร่กระจายจากคนสู่คนโดยตรงในระยะใกล้ชิด ด้วยเหตุดังกล่าว การถือเอาสิทธิการมีชีวิต (right to life) จึงต้องมาก่อนสิทธิเสรีภาพอื่น เช่น เสรีภาพในการเดินทาง สิทธิในการประกอบอาชีพ เสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น
3. มาตรการจำกัดสิทธิเสรีภาพใดๆ ต้องมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิในการมีชีวิตเป็นสำคัญ แต่ต้องตั้งอยู่ภายใต้หลักการเท่าที่จำเป็นและสมเหตุสมผล และต้องให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลและเสนอความเห็นตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์มาตรการการจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นว่าได้
4. รัฐทุกรัฐต้องระดมทรัพยากรทั้งปวงภายในรัฐหรือระหว่างประเทศเพื่อหยุดยั้งภัยของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องเลือกช่วยชีวิตคนกลุ่มหนึ่งและทิ้งให้คนอีกกลุ่มต้องเผชิญกับความตายดังที่เกิดขึ้นในอิตาลีโดยนานาชาติเมินเฉยไม่ควรบังเกิดขึ้น
5. การคิดค้นผลิตยาและวัคซีนต้องเปิดให้ความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก รัฐทุกรัฐต้องมีมาตรการให้มนุษย์ทุกคนทั่วโลกเข้าถึงได้ใช้ยาและวัคซีนที่พัฒนาและผลิตขึ้นมาได้
6. ในกรณีที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน
6.1 การอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อละเว้นการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต้องเป็นไปตามมาตรฐานของภาวะฉุกเฉินที่ “คุกคามความอยู่รอดของชาติ” ตามที่กำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยรัฐสภาควรมีบทบาทมากขึ้นในการกำกับดูแลสถานการณ์ฉุกเฉิน
6.2 การจำกัด หรือยกเว้นการปฏิบัติตามสิทธิที่ได้รับการรับรองระหว่างประเทศควรกระทำในช่วงเวลาที่จำกัด เท่าที่จำเป็นอย่างเคร่งครัดและได้สัดส่วนเหมาะสมกับภัยคุกคามที่เป็นอยู่
6.3 มาตรการต่างๆ ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิอื่นๆ ได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขเหตุที่เป็นเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของชาติอย่างเคร่งครัด แต่มาตรการดังกล่าวนั้นไม่อาจส่งผลเป็นการระงับการใช้สิทธิอื่นใดโดยสิ้นเชิงได้
6.4 ความจำเป็นดังกล่าวนี้จำต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง เพื่อว่ามาตรการจำกัดสิทธิต่าง ๆ จะถูกนำมาใช้ภายในห้วงเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ สิทธิมนุษยชนบางประเภท ได้แก่ สิทธิในการมีชีวิต สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือถูกประติบัติอย่างโหดร้าย องค์ประกอบที่สำคัญบางประการของการจำกัดเสรีภาพโดยพลการ สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และสิทธิในการได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิผล ไม่สามารถที่จะถูกจำกัดได้แม้ว่าประเทศจะอยู่ในภาวะฉุกเฉินก็ตาม
6.5 ควรมีการกำหนดอย่างชัดเจนว่า เจ้าพนักงานท่านใดมีอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้ข้อบัญญัติตามกฎหมายในภาวะฉุกเฉิน และต้องกำหนดว่าเจ้าพนักงานนั้นมีอำนาจและหน้าที่เพียงใด
6.6 เจ้าพนักงานซึ่งบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต้องปฏิบัติตนตามกฎหมายทั่วไปของประเทศนั้น โดยไม่มีการงดเว้นความผิดในทางอาญาอันเนื่องมาจากการที่เจ้าพนักงานใช้อำนาจตามกฎหมายในภาวะฉุกเฉิน
6.7 การตัดสินใจและดำเนินงานของเจ้าพนักงานที่ใช้อำนาจตามกฎหมายในภาวะฉุกเฉินควรถูกตรวจสอบได้โดยศาล

25 มีนาคม 2563