ธงทอง จันทรางศุ | วัดพระแก้ว ในภาวะโควิด-19 ระบาด

ธงทอง จันทรางศุ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลายท่านคงได้เห็นภาพข่าวจากสื่อมวลชนทั้งหลายแล้ว เป็นภาพและเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร จากเครื่องทรงฤดูหนาวเป็นเครื่องทรงฤดูร้อน

สังเกตเห็นไหมครับว่าพระบรมฉายาลักษณ์ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับอยู่ด้านหลังพระแก้วมรกต และทรงเปลี่ยนเครื่องทรงถวายนั้น เรามีโอกาสได้เห็นพุทธศิลป์และทรวดทรงขององค์พระแก้วมรกตได้ชัดเจน ยิ่งกว่าเวลาปกติที่เราเข้าไปกราบสักการะท่านที่พระอุโบสถวัดพระแก้ว

เพราะภาพที่เราเห็นด้วยสายตาของเรา ทุกครั้งองค์พระแก้วจะมีเครื่องทรงฤดูกาลต่างๆ ประดับอยู่ ยิ่งถ้าเป็นเครื่องทรงฤดูหนาวด้วยแล้ว แทบจะไม่เห็นองค์พระแก้วที่อยู่ชั้นในเลยทีเดียว

หลายท่านที่ได้เห็นภาพข้างต้นคงนึกอยู่ในใจว่า ขนาดของพระแก้วมรกตไม่เล็กเลย

ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายก็อาจจะต้องนึกเปรียบกับขนาดของเด็กน้อยอายุสักห้าหกขวบนั่งขัดสมาธิ

แต่ที่เราเคยเห็นและทรงจำว่าท่านมีขนาดไม่ใหญ่โตเท่าไหร่นัก น่าจะเป็นเพราะเรานั่งอยู่ที่พื้นพระอุโบสถแล้วมองขึ้นไปเห็นท่านประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีซึ่งมีขนาดสูงและมีบุษบกประกอบด้วยสายตาของเราจึงมองเห็นองค์พระแก้วมรกตเล็กลงไปถนัดใจ

แต่พอได้เห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์แล้ว จึงพอจะกะขนาดที่แท้จริงของพระแก้วมรกตได้

เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจและตกลงกันก่อนว่า พระพุทธรูปที่เรียกว่าพระแก้วมรกตนั้น ท่านไม่ได้ทำจากมรกตนะครับ หากแต่ทำจากหยกคุณภาพดีสีเขียวสม่ำเสมอขนาดใหญ่

มรกตนั้นเป็นชื่อของอัญมณีอีกประเภทหนึ่ง เพียงแต่ว่าทั้งหยกและมรกตนั้นต่างมีสีเขียวคล้ายคลึงหรืออยู่ในเฉด (Shade) เดียวกัน

การขานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่าพระแก้วมรกต จึงทำด้วยความยกย่อง เปรียบคุณภาพของหยกที่นำมาสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ว่ามีคุณค่าไม่แพ้มรกตเลยทีเดียว

จากพระบรมฉายาลักษณ์องค์เดียวกัน เราย่อมสังเกตได้ว่า พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปแบบล้านนา หรือว่าโดยเฉพาะเจาะจงก็เป็นศิลปะเชียงแสน

ซึ่งก็สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่บอกเราว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้มีการพบเป็นครั้งแรกที่วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงรายเมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว

ประกอบกับดินแดนแถบนั้น ก็อยู่ไม่ห่างไกลจากประเทศจีนตอนใต้และประเทศเมียนมาซึ่งเป็นแหล่งของหยกชั้นดีแม้จนปัจจุบัน

หลายท่านคงได้ยินตำนานกันมาบ้างว่า พระแก้วมรกตนั้นเป็นพระพุทธรูปที่เทวดาสร้าง และบางทีก็เล่าขานกันว่ามาจากเมืองลังกาเสียด้วยซ้ำ

ข้อนี้ไม่น่าแปลกใจและพออธิบายได้ครับ

ข้อที่ว่าเทวดาสร้างนั้น น่าจะเป็นเพราะพระพุทธรูปองค์นี้มีความสวยงามอย่างวิเศษ ตั้งแต่ใช้วัสดุคือหยกชิ้นใหญ่ซึ่งเป็นของหายากยิ่ง แล้วนำมาแกะสลักเป็นพระพุทธรูปด้วยฝีมือช่างชั้นสูง โดยไม่แตกหักร้าวราน

เราต้องไม่ลืมว่าเครื่องมือในการแกะสลักสมัยนั้น ไม่ได้มีมากมายและทันสมัยเท่ายุคปัจจุบันของเรา การแกะหินให้เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และมีความสวยงามได้ถึงเพียงนี้ พูดภาษาชาวบ้านก็ต้องบอกว่า ฝีมือขั้นเทพหรือฝีมือเทวดาเลยทีเดียว

ส่วนที่ว่ามีผู้เชิญท่านมาจากเมืองลังกานั้น น่าจะเป็นเพราะพระพุทธศาสนาบ้านเรามีต้นเค้ามาจากลังกา แม้ในสมัยสุโขทัยก็เรียกพระพุทธศาสนาครั้งนั้นว่าเป็นลัทธิลังกาวงศ์

เมื่อมีของดีของวิเศษที่จำไม่ได้เสียแล้วว่ามาจากที่ใดเช่นพระแก้วมรกตองค์นี้ จึงมีบางคนยกประโยชน์ให้แก่เมืองลังกาไว้ก่อนว่าต้องมาจากเมืองนั้นแน่ๆ ถือว่าเป็นการยกย่องอีกนัยหนึ่งก็ได้

ทั้งสองข้อนี้เราก็ไม่ว่ากันครับ เพียงแต่ต้องเข้าใจความจริงว่า พระแก้วมรกตสร้างด้วยหยก เป็นพุทธศิลป์แบบล้านนา

สร้างเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้แน่ รู้ชัดแต่เพียงว่าพบครั้งแรกที่วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย ตามเรื่องราวเล่าว่าท่านประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์แล้วฟ้าผ่าตกต้องพระเจดีย์ถึงได้พบองค์พระแก้วมรกตที่อยู่ภายใน

จากนั้นมาก็อาจจะเล่าโดยสรุปว่า ท้าวพระยาหรือเจ้าบ้านผ่านเมืองผู้ใดในดินแดนตอนเหนือของประเทศไทยปัจจุบันหรือที่เรียกว่าล้านนาประเทศ มีบุญญาบารมี ก็ย่อมเชิญท่านไปเป็นสิริมงคลแก่แว่นแคว้นบ้านเมืองของตัว

พระแก้วมรกตจึงได้เคยประดิษฐานอยู่ที่ลำปางและเชียงใหม่ตามลำดับ

ก่อนจะคุยฟุ้งอะไรต่อไปต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ในยุคสมัยที่ผมกำลังเล่าเรื่องเดี๋ยวนี้ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเกิดขึ้น

รัฐชาติแบบนั้นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ในสมัยโบราณที่ว่านี้ ขณะการปกครองยังเป็นแว่นแคว้นใหญ่น้อยที่อาจเรียกว่าเป็นนครรัฐตามวิชารัฐศาสตร์มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันบ้าง โกรธกันบ้างแล้วแต่ยุคสมัย

เวลาที่เป็นไมตรีต่อกันก็อาจจะถึงมีการแต่งงานในระหว่างพระญาติพระวงศ์ของผู้ครองนครต่างแคว้น เหมือนในยุโรปอย่างไรเล่าครับ

ทีนี้ก็มีพระเจ้าโพธิสารราชแห่งอาณาจักรล้านช้างซึ่งทรงครองเมืองหลวงพระบาง ในราวพุทธศักราช 2063 ถึงพุทธศักราช 2090 ได้เสกสมรสกับเจ้านางหลวงคำผายหรือเจ้านางยอดคำทิพย์ ธิดาของเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ มีพระโอรสองค์ใหญ่คือพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนี้เองต่อมาได้ทรงมีสิทธิในราชสมบัติทั้งเชียงใหม่และหลวงพระบางจึงทรงพระดำริให้เชิญพระแก้วมรกตจากเชียงใหม่ไปประดิษฐานอยู่ที่หลวงพระบางระยะหนึ่ง

ต่อมาเมื่อทรงสร้างเมืองเวียงจันทน์ขึ้น ก็ได้ทรงเชิญพระแก้วมรกต ย้ายจากหลวงพระบางไปอยู่ที่เวียงจันทน์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่เมืองใหม่ที่สร้างขึ้นด้วย

ด้วยเหตุนี้พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบางเป็นเวลานานพอสมควร จนกระทั่งมีศึกระหว่างกรุงธนบุรีกับเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จขึ้นไปราชการทัพคราวนั้น เสร็จศึกแล้วจึงโปรดให้เชิญพระแก้วมรกตลงมากรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชหฤทัยปราโมทย์ยินดียิ่ง ได้เสด็จโดยทางชลมารคพร้อมด้วยผู้คนจำนวนมากขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่เมืองนนทบุรี

มีจดหมายเหตุระบุชื่อพระตำหนักชั่วคราวที่ตำบลบางธรณี เป็นที่ประทับรอรับพระแก้วมรกต

ผมคุ้นเคยกับวัดตำหนักใต้ ซึ่งอยู่ใกล้กันกับกระทรวงพาณิชย์ที่จังหวัดนนทบุรี เข้าใจว่า ตำบลที่ตั้งวัดตรงนี้เองน่าจะเป็นพื้นที่เดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับตำแหน่งที่ตั้งพระตำหนักชั่วคราวในเหตุการณ์สำคัญข้างต้นนั่นเอง

พระแก้วมรกตมาอยู่ที่กรุงธนบุรีได้ไม่ช้านาน ยังไม่ทันที่จะได้สร้างอาคารสถานที่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญองค์นี้เป็นการถาวร มีบันทึกบอกแต่เพียงว่า ท่านอยู่ที่โรงพระแก้วมรกตภายในวัดอรุณราชวราราม ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญในพุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงปราบดาภิเษกและโปรดให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

เห็นจะเป็นด้วยทรงถือว่า การที่ได้ทรงเชิญพระแก้วมรกตมาเป็นมิ่งมงคลกับบ้านเมืองนั้นเป็นเหตุยศยิ่งและเป็นสิริมงคลพิเศษ กรุงใหม่ที่สร้างขึ้นจึงเฉลิมนามว่ากรุงรัตนโกสินทร์

อันมีความหมายว่าเป็นเมืองแก้วของพระอินทร์

วัดที่สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังตามแบบของวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็พระราชทานนามว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรียกกันโดยย่อทั่วไปจนทุกวันนี้ว่าวัดพระแก้ว

ทุกอย่างสอดคล้องสัมพันธ์และเชื่อมโยงไปถึงพระแก้วมรกต

เมื่อเดือนที่แล้วผมพานักเรียนของผมจำนวนหนึ่งไปทัศนศึกษาวัดพระแก้ว เวลานั้นนักท่องเที่ยวชาวจีนน้อยลงไปถนัดตา ไปไหว้พระสะดวกมากครับ เดินชมอะไรก็มีเวลาที่จะพินิจพิจารณาได้เต็มที่ ทางเข้า-ออกสำหรับคนไทยจัดไว้ที่ประตูสวัสดิโสภา ตรงกันข้ามกับกระทรวงกลาโหม

ในช่วงนั้นแทบทุกวันที่ด้านหน้าพระอุโบสถจะมีผู้นำของมาถวายแก้บนพระแก้วมรกต ทั้งๆ ที่ท่านเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธานุสติ แต่คนเราจะบนบานศาลกล่าวเสียอย่างก็ห้ามไม่อยู่ ตามตำราเขาบอกกันสืบมาว่า ของแก้บนนั้นพึงประกอบด้วย น้ำพริกปลาร้าและไข่ต้ม มีคำอธิบายเสริมเลยว่าเพราะท่านเคยอยู่ที่เวียงจันทน์มาช้านานจึงโปรดอาหารแก้บนอย่างนี้

บางตำราก็ขยายความว่า ไม่ใช่พระแก้วมรกตหรอกครับที่โปรดอาหารแก้บนเมนูนี้ หากแต่เป็นเรื่องของเทวดาที่คอยพิทักษ์รักษาพระแก้วมรกตต่างหากที่เป็นเจ้าของรายการอาหาร ข้อนี้ก็ยากเกินการพิสูจน์ว่าความจริงแท้คืออะไร

ว่าแต่ใครมีสูตรน้ำพริกปลาร้าดีๆ อย่าลืมบอกกันบ้างนะครับ