ธปท.ภาวนา”โคโรนา”ไม่ร้ายอย่างที่คิด หวั่นจีดีพีปีนี้โตหด แค่ 1.3%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปี 2563 เป็นปีแห่งวิบากกรรมของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นช่วงปีที่มีเรื่องเข้ามากระทบหลายเรื่องมาก เป็นปีที่เจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด และพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ซึ่งถือว่าเป็นการเปรียบเปรยที่เหมาะสมกับสถานการณ์ แม้จริงๆ เปิดมาต้นปี 2563 ดูมีทิศทางที่ดี เนื่องจากปลายปี 2562 มีตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวที่ดี และเหตุการณ์หลายเรื่องที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในปี 2563 ได้ประเมินและเชื่อว่าน่าจะโตได้ดีกว่าปี 2562 แต่หากมาถึงจุดนี้แล้วความหวังที่ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ จะดีกว่าปี 2562 เหลือน้อยมาก โดยตัวเลขที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ไว้ว่า ปี 2563 อาจจะขยายตัวต่ำกว่า 2% มีความเป็นไปได้

นายดอน กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่เข้ามากระทบภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ได้แก่ 1.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และ 2.การล่าช้าของงบประมาณประจำปี 2563 ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้โดยหากไล่ลำดับตามความสำคัญ ต้องบอกว่าไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และเชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบรุนแรงที่สุด มองง่ายๆ ตัวเลขของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไป 5 ล้านคน และรายได้หายไป 2.5 แสนล้านบาท หากนับตามตัวเลขนี้เท่านั้น ถือว่าเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่หายไปอย่างมีนัยยะ แต่หวังว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีขนาดประมาณ 16 ล้านล้านบาท หากรายได้หายไป 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.5% ของจีพีดี “เอาแค่ตัวเลขเบื้องต้นที่หายไปของรายได้และจำนวนในภาคการท่องเที่ยว อาจทำให้ตัวเลขจีดีพีที่ธปท.มองไว้ในช่วงปลายปี 2562 ว่าจีดีพีปี 2563 จะโตได้ที่ 2.8% หายไป 1.5% จีดีพีก็จะลดลงเหลือโตเพียง 1.3% เท่านั้น แต่หวังว่าสถานการณ์จะไม่เลวร้ายถึงขั้นนั้น ประเด็นของไวรัสจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

นายดอน กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หลายปี ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ไม่ค่อยชอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก โดยหากมีปัจจัยลบแค่ในเรื่องของงบประมาณปี 2563 ล่าช้า และเรื่องผลกระทบในภาคเกษตร ค่อนข้างมั่นใจว่า กนง.จะไม่มีมติ 7 ต่อ 0 เสียง ในการปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างแน่นอน ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้กนง.มีมติลดดอกเบี้ยมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา