หนุ่มเมืองจันท์ | บทเรียนเรื่อง”บ้าน”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

หลังจากอยู่บ้านหลังเดิมมานานเกือบ 20 ปี

ผมก็ตัดสินใจซ่อมบ้านครั้งใหญ่

เหมือนได้เรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้งเลยครับ

เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศ

เหมือนจะดี

แต่สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษพิการซ้ำซ้อน

มันเหมือนโดนส่งไปอยู่ดาวอีกดวง

ไม่รู้เรื่องเลยครับ

การซ่อมบ้านครั้งนี้ก็เช่นกัน

ผมโชคดีที่ได้น้องๆที่เรียน ABC มาช่วยเหลือ

ทั้ง”ดำ” สุเทพ ปัญญาสาคร ของดี-แลนด์. พร็อพเพอร์ตี้. และ”เล็ก” กรมเชษฐ์ วิพันธ์พงษ์ ของแอสเส็ท ไวส์

ระดับเจ้าของกิจการทั้งนั้น

จากที่ไม่รู้เรื่องตอนแรก. ตอนหลังๆก็เริ่มเรียนรู้มากขึ้น

ผมได้บทเรียนจากการซ่อมบ้านหลายเรื่อง

บทเรียนแรก คือ “เวลา”และ”ราคา” เป็นของมายา

ตัวเลขที่เราวางแผน

ไม่ใช่”ของจริง”

เวลาการก่อสร้างจะนานกว่าที่วางแผนไว้

และงบจะบานกว่าที่คิด

ให้เริ่มทำใจไว้ก่อนเลย

ขนาดผมทำใจไว้ก่อนแล้ว

ขยายห้องหัวใจจาก 4 เป็น 6 ห้องเพื่อต้อนรับเจ้าเวลาและราคา

ยังต้องขยายห้องเพิ่มเลยครับ

คนที่ทำบ้านทุกคนจะมีอาการคล้ายคนเล่นการพนัน

ตอนที่เราเริ่มเล่น ทุกคนมักจะมีความแน่วแน่ในจิตใจ

จะเล่นแค่ 5 ตาแล้วเลิก

หรือกำหนดวงเงินไว้เลย

หมดแค่นี้เลิก

แต่พอครบ 5 ตาหรือวงเงินที่กำหนด

ใจจะเริ่มแกว่ง จิตจะเริ่มเข้าข้างตัวเอง. รู้สึกว่า”ดวง”กำลังจะมา

คำๆหนึ่งจะแวบขึ้นในใจ

“อีกตาเดียวน่ะ”

เหมือนตอนทำบ้านเลยครับ

วางแผนว่าค่ากระเบื้องต่อตารางเมตรเท่านี้พอ

พอเจอลายสวยๆ

แพงขึ้นกว่าเดิม

คำนี้ก็แวบขึ้น

“อีกนิดน่ะ”

พร้อมกับเหตุผล

“แพงอีกหน่อยแต่เราต้องอยู่กับมันนาน”

เรียบร้อยครับ

…บาน

ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา. วันไหนว่าง ผมจะเข้าไปดูบ้าน

ไม่ค่อยรู้อะไรหรอกครับ

แต่อยากรู้

ผมไปคุยกับช่างและคนงานด้วยความรู้สึก”ขอบคุณ”

ขอบคุณที่ทำบ้านให้

แต่ไม่รู้จะแสดงความขอบคุณอย่างไร

ง่ายที่สุด คือ ขอบคุณแบบ”ป๋า”

ถ้าไปช่วงสายๆก่อนเที่ยง. ผมจะซื้อกับข้าวมาเติมในเมนูมื้อเที่ยงของเขา

หรือไม่ก็สั่งข้าวกล่องมาเลี้ยง

ผมมีร้านประจำร้านหนึ่ง คือ ร้านเจ๊จง. หมูทอดชื่อดัง

เขามาเปิดสาขาวัชรพลแถวบ้าน

นอกจากขายหมูทอดแล้วก็มีกับข้าวมากมายเหมือนร้านข้าวแกงทั่วไป

ผมจะโทรสั่งข้าวกล่องให้ทางร้านมาส่ง

ชำระเงินด้วยการโอนเงินออนไลน์

คนที่คุมสาขานี้เป็นลูกสาว”เจ๊จง” ชื่อ”อมรรัตน์”

ที่รู้จักชื่อเพราะสั่งบ่อยมากครับ

สั่งจนจำกันได้

เราจะคุยกันสั้นมาก

แค่บอกว่ากี่กล่อง แล้วตบท้ายว่า”ที่เดิม”

เป็นอันรู้กัน

ไม่เกิน 30 นาที ข้าวกล่องถึงบ้าน

จบงานนี้ ผมกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของร้าน

โดยที่ไม่เคยไปร้านเลย

วันหนึ่ง ผมไปตลาดเดินผ่านแผงล็อตเตอรี่

เหลืออีก 2 วัน หวยออก

ผมนึกสนุกขึ้นมา

อารมณ์ป๋าเข้าสิง

ซื้อหวยแจกดีกว่า

นึกภาพคนงานถูกหวย. เขาต้องดีใจแน่ๆเลย

กวาดมา 8 ใบ

เลือกเลขท้าย 2 ตัวเหมือนกัน

กะว่าถูกทั้งทีก็ให้เฮกันทุกคนเลย

ตอนเดินแจก ผมจะบอกสั้นๆ

“เอาเงินล้านมาให้”

เชื่อไหมครับ. หน้าตาคนงานดีใจมาก

ดีใจกว่าได้เงิน 100 บาทอีก

ผมรู้เลยว่าที่แจกไปนั้น มันไม่ใช่”ล็อตเตอรี่”

แต่ผมกำลังแจก”ความหวัง”

หลังวันหวยออก. ผมไปที่บ้าน

หน้าตาคนงานทุกคนหมอง

ไม่มีใครพูดเรื่องหวยสักคน

ครับ. ไม่มีใครถูกเลย

ผมได้บทเรียนข้อหนึ่ง.

ถ้าจะแจกล็อตเตอรี่ อย่าซื้อเลขเดียวกัน

ให้ซื้อกระจาย. ไม่เหมือนกันสักใบ

แบบนี้อาจมีคนถูกสักคนหนึ่ง

จะได้มีเสียงเฮกันบ้าง

พองวดต่อไป. ผมซื้อแจกอีก

คราวนี้กระจายไป 10 ใบ 10 เลข

โอกาสถูก 10%

แบบนี้มีลุ้น

คนงานวันนั้นมี 9 คน

แจก 9 ใบ

เหลือ 1 ใบ

ผมถ่ายรูปเก็บไว้ทุกใบ

ตอนค่ำ ผมเปิดดูผลการออกสลากกินแบ่ง

เยส…มี 1 ใบถูกเลขท้าย 2 ตัว

2,000 บาท

จินตนาการเห็นภาพคนงานยิ้มสดใส

วันรุ่งขึ้น ผมเดินไปที่ไซด์งาน.

ตะโกนถามดังๆ

“ใครถูกเลขท้าย 2 ตัว”

ทุกคนเงียบ

“ต้องมีสิ ผมเช็คแล้ว”

แต่ละคนเริ่มหันไปมองหน้ากัน แล้วส่ายหน้า

ผมเริ่มสังหรณ์ใจ

หยิบล็อตเตอรี่ที่เหลือ 1 ใบขึ้นมาดู

ครับ เป๊ะเลย

ผมถูก คนงานผิด

ส่งล็อตเตอรี่ให้หัวหน้างาน

“เอาไปเลี้ยงกัน”

มีเสียงขอบคุณเบาๆ

ผมรู้เลยว่าแม้จะได้เงินเหมือนกัน. แต่มันไม่สนุกเหมือนกับเขาได้ลุ้นและถูกรางวัลเอง

บทเรียนที่ผมได้เรียนรู้. ก็คือ “เงิน” ไม่มีค่าเท่ากับ”ความหวัง”

และ”ผลลัพธ์” แม้จะเหมือนกัน

แต่”ที่มา” จะทำให้”คุณค่า” ทางใจแตกต่างกัน