ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระบรมเกศาธาตุ เป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2562-15 มกราคม 2563 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการอัญเชิญ “พระบรมเกศาธาตุ” จากเมืองแคนดี บนเกาะลังกา ประเทศศรีลังกา มาประดิษฐานที่พระตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการฉลองความสัมพันืเถรวาทไทย-ลังกา 700 ปี โดยได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปสักการะด้วย

พระบรมเกศาธาตุนี้ถูกอัญเชิญมาจากศูนย์พระพุทธศาสนานานาชาติเนลลิคะละ (Nelligala International Buddhist Center) ในเมืองแคนดี ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และพระธาตุของพระอรหันต์ที่สำคัญองค์ต่างๆ เช่น พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ บนเกาะลังกา

แต่ประวัติความเป็นมาค่อนข้างคลุมเครือ เพราะไม่มีข้อมูลให้สืบค้นได้ว่า แต่ดั้งเดิมประดิษฐานอยู่ที่ไหนแน่?

อย่างไรก็ตาม ชาวลังกานับแต่โบราณนับถือพระบรมเกศาธาตุกันมากนะครับ เพราะตามประวัติในหนังสือมหาวงศ์ ซึ่งเป็นพงศาวดารของลังกาทวีปก็เล่าถึงเรื่องนี้อยู่ด้วย ดังความที่ว่า

หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ 9 เดือน ก็ทรงเสด็จมายังเกาะลังกาเป็นครั้งแรก ณ ขณะนั้น พวกยักษ์ได้ปกครองเกาะแห่งนี้อยู่

เมื่อพระพุทธองค์ทรงพบกับหัวหน้าของเหล่ายักษ์ที่ชื่อว่า สามน พระองค์ก็เลยทรงเทศนาพระธรรมคำสอนให้แก่ยักษ์สามนได้สดับ

หัวหน้ายักษ์ผู้นี้ซาบซึ้งในรสพระธรรมเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เอ่ยถามกับพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปแล้ว พวกเขาจะบูชาพระธรรมคำสอน และพระพุทธเจ้าได้อย่างไร?

พระพุทธองค์จึงทรงลูบไปที่พระเศียร แล้วส่งมอบพระบรมเกศาธาตุให้กับยักษ์สามน เพื่อใช้เป็นตัวแทนสำหรับบูชาพระองค์

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับชมพูทวีป หัวหน้ายักษ์ตนนี้จึงสร้างพระเจดีย์องค์น้อยที่ชื่อ “มหิยังคณะเจดีย์” เพื่อประดิษฐ์พระบรมเกศาธาตุ และถือว่าเป็นเจดีย์แห่งแรกในเกาะลังกา

พระบรมเกศาธาตุ จึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของเกาะลังกา เพราะนอกจากจะเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ใช้สำหรับเคารพและบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังเป็นตัวแทนของหมุดหมายสำคัญในการเริ่มต้นนับถือพระพุทธศาสนา บนเกาะลังกาอีกด้วย

 

แต่พระบรมสารีริกธาตุบนเกาะลังกา ไม่ได้มีเพียงพระบรมเกศาธาตุเท่านั้นนะครับ เพราะหนังสือมหาวงศ์ยังเล่าต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อว่า สรภู ได้นำพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระกัณญมณี คือลูกกระเดือก ของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ในมหิยังคณะเจดีย์

จึงทำให้มีการต่อเติมพระเจดีย์จากพระเจดีย์องค์น้อย ขึ้นเป็นเจดีย์ใหญ่ที่สูงถึง 5.5 เมตร ต่อมาก็มีการบูรณะต่อเติมพระเจดีย์องค์นี้อยู่เนืองๆ จนกระทั่งมีความสูงถึง 37 เมตร ในปัจจุบัน

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมที่ศูนย์พระพุทธศาสนานานาชาติเนลลิคะละ จึงมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่เต็มไปหมด เพราะบนเกาะลังกานั้น มีนิทานที่ถูกผูกโยงเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ของพระบรมสารีริกธาตุส่วนต่างๆ อยู่มากทีเดียว

แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม ตำนานเกี่ยวกับพระบรมเกศาธาตุ ก็ดูจะเป็นที่ได้รับความนิยมในหมู่รัฐที่นับถือศาสนาพุทธรัฐต่างๆ อยู่มากทีเดียว

 

ตัวอย่างที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งก็คือ พระธาตุอินทร์แขวน หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า “ไจก์ทีโย” (แปลตรงตัวว่า พระเจดีย์ฉัตร) ที่มีตำนานเล่าเอาไว้ว่า

เมื่อ 2,000 ปีมาแล้วมีวิทยาธร (พม่าเรียก ซอว์จี) ตนหนึ่งเป็นลูกศิษย์ของฤๅษีอาคมกล้าที่อาศัยอยู่ในป่าลึก วิทยาธรตนนี้พบรักกับนางนาคตนหนึ่ง จนมีลูกด้วยกันหนึ่งคน (น่าแปลกที่ทำไมไม่เป็นหนึ่งตน?) ฤๅษีช่วยเลี้ยงลูกของคู่รักคู่นี้จนเติบใหญ่เป็นเจ้าผู้ครองเมืองชื่อ พระเจ้าติสสะ

อยู่มาวันหนึ่งฤๅษีรู้ตนว่าถึงแก่กาลละสังขาร จึงมอบพระบรมเกศาธาตุของพระพุทธเจ้าที่ประทานแก่ฤๅษีไว้ เมื่อคราวที่พระพุทธองค์โปรดสัตว์ในถ้ำพระฤๅษี

พระฤๅษีซ่อนพระเกศาธาตุไว้ในมุ่นมวยผมของตนเองเป็นเวลานาน แต่ฤๅษีมีข้อแม้ว่า พระเจ้าติสสะจะต้องหาก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะของพระฤๅษี แล้วสร้างพระเจดีย์ครอบทับพระเกศาธาตุอยู่บนหินก้อนนั้น จึงจะยอมยกพระบรมเกศาธาตุให้

นิทานย่อมมีหลายสำนวน บางสำนวนเล่าว่า พระอินทร์ บางสำนวนก็ว่า นัต (คือผีศักดิ์สิทธิ์ ตามศาสนาพื้นเมืองดั้งเดิมของพม่า ซึ่งจะถูกผนวกเข้าไว้ในศาสนาพุทธในเวลาต่อมา) ตามมาช่วยพระเจ้าติสสะหาก้อนหินมาจากพื้นมหาสมุทร มา “แขวน” ไว้บนหน้าผาได้ในที่สุด

ดังนั้น ชาวพม่าจึงเชื่อว่าพระธาตุอินทร์แขวนนั้น ก็เป็นที่ประดิษฐานพระบรมเกศาธาตุ เช่นเดียวกับที่ชาวลังกาเชื่อว่ามีพระบรมสารีริกธาตุส่วนเดียวกันนี้ อยู่ในมหิยังคณะเจดีย์นั่นเอง

 

ถ้าจะพูดกันตามภาษาบ้านๆ แล้ว “พระบรมเกศาธาตุ” ที่ว่านี้ก็คือ “เส้นผมของพระพุทธเจ้า” ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกอยู่ไม่น้อยทีเดียวนะครับ เพราะใครต่อใคร โดยเฉพาะใครคนที่นับถือพระพุทธศาสนานั้น ต่างก็เข้าใจตรงกันว่า นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นจะต้องโกนผม

และถึงแม้จะมีสถานภาพเป็นพระศาสดา แต่พระพุทธเจ้าเองก็ถือเป็นนักบวชในศาสนาพุทธ ก็เลยควรจะต้องโกนผมด้วยไม่ใช่หรือ? และถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมพระองค์จึงสามารถที่จะเอาพระเกศาธาตุของพระองค์ไปทรงไล่แจกให้ใครต่อใครเป็นที่ระลึกกันได้ด้วย?

แน่นอนว่า นิทานก็ย่อมเป็นนิทาน ถ้าว่ากันด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว พระพุทธเจ้าย่อมไม่เคยเดินทางไปพบกับทั้งยักษ์บนเกาะลังกา และพระฤๅษีที่ป่าลึกในประเทศพม่าแน่

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ พุทธประวัติที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วยนั้นเล่าว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกปั่นป่วนพระทัยจากการรู้ซึ้งถึงความทุกข์จากเทวทูต 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต จนทำให้ทรงตัดสินพระทัยออกมหาภิเนษกรมณ์ คือออกบวชนั้น พระองค์ได้ทรงตัดมุ่นมวยพระเกศาทิ้ง ต่อหน้าข้าบริพารคือนายฉันนะ และม้ากัณฑกะ ส่วนมุ่นมวยพระเกศาที่ว่า ก็ถูกพระอินทร์นำขึ้นไปประดิษฐานที่เจดีย์จุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

สวรรค์ดาวดึงส์นั้นตั้งอยู่บนยอดของเขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามมติในศาสนาพุทธ ดังนั้น สวรรค์แห่งนี้จึงกลายเป็นศูนย์กลางของจักรวาลไปด้วย

พูดง่ายๆ ว่า พระบรมเกศาธาตุนั้นถูกประดิษฐานไว้ที่ศูนย์กลางของจักรวาล

 

น่าสนใจว่า ตำนานเรื่องพระบรมเกศาธาตุในหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกาทวีปนั้น อ้างว่าพระบรมเกศาธาตุถูกประดิษฐานไว้ในมหิยังคณะเจดีย์ ซึ่งถือเป็นเจดีย์แห่งแรกของลังกา ดังนั้น มหิยังคณะเจดีย์ก็ย่อมเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา และศูนย์กลางจักรวาลของพระพุทธศาสนาแห่งแรกในลังกาด้วย

เช่นเดียวกับในตำนานพระธาตุอินทร์แขวน ที่มีเรื่องราวต่อจากที่ผมเล่าไว้ข้างต้นต่อไปด้วยว่า ในขณะที่กำลังก่อสร้างพระธาตุองค์นี้อยู่นั้น พระเจ้าติสสะได้พบรักกับธิดาสาวของหัวหน้าชาวกะเหรี่ยงที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนั้น เธอชื่อ “ชเวนันจิน”

ต่อมาเธอตั้งครรภ์แล้วป่วยกระเสาะกระแสะ เชื่อกันว่าเธอป่วยเพราะไม่ได้ไหว้ผีบรรพบุรุษก่อนแต่งงาน

พระเจ้าติสสะจึงตรัสอนุญาตให้เธอกลับไปประกอบพิธี โดยมีพ่อและพี่ชายเดินทางไปเป็นเพื่อน ระหว่างทางกลางป่าเขา นัตตนหนึ่งแปลงเป็นเสือร้ายกระโดดเข้าขวางทาง พ่อและพี่ชายหนีเตลิดหายไปหมด เหลือแต่เธอที่ท้องแก่วิ่งหนีไม่ไหว ได้แต่นั่งทำสมาธิสวดมนต์ภาวนา ตาจ้องไปที่พระธาตุอินทร์แขวนที่พระสวามีสร้าง

สุดท้ายเสือร้ายจึงจากไปโดยไม่ทำร้ายเธอเลย

ชเวนันจินกระเสือกกระสนปีนไปจนถึงฐานของพระธาตุอินทร์แขวน ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้อยู่ใกล้พระธาตุตลอดไป จากนั้นเธอก็สิ้นลมลงอย่างสงบ

พระเจ้าติสสะเมื่อติดตามมาถึงร่างเธอก็กลายเป็นหินไปเสียแล้ว นับแต่บัดนั้นมาวิญญาณของ ชเวนันจิน ก็ได้กลายเป็นผู้พิทักษ์พระธาตุอินทร์แขวน

นิทานเรื่องนี้จึงมีร่องรอยเหลือให้เห็นว่า พื้นที่บริเวณโดยรอบของพระธาตุอินทร์แขวน เป็นพื้นที่ของกะเหรี่ยง ที่ไม่ได้นับถือพุทธศาสนา แต่นับถือศาสนาดั้งเดิมของอุษาคเนย์คือ “ศาสนาผี” มาก่อน

พระธาตุอินทร์แขวนจึงเป็นเจดีย์แห่งแรกของพื้นที่ของพวกกะเหรี่ยง ในบริเวณไม่ใกล้ไม่ไกลจากเขตอิทธิพลของพวกมอญนัก

และย่อมเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา ในจักรวาลของพวกกะเหรี่ยงที่หันมานับถือศาสนาพุทธ ไม่ต่างจากพวกยักษ์บนเกาะลังกาด้วย

ถึงแม้ผมไม่สู้จะแน่ใจนักว่า พระพุทธเจ้าโกนพระเกศาเช่นเดียวกับพระสงฆ์โดยทั่วไปหรือเปล่า แต่จากร่องรอยต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็ชวนให้คิดว่า บางทีพระบรมเกศาธาตุอาจเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลอย่างหนึ่งก็ได้