วิเคราะห์ | พปชร.ปรับทัพรับปีชวด สู้ศึกซักฟอก-ชิงดำท้องถิ่น สามมิตรตบแถวนั่ง กก.บห.

ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยกับการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2562 ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไปเมื่อสัปดาห์ก่อนสิ้นปี 2562 กับการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค ที่แกนนำพรรคย้ำมาโดยตลอดว่าการปรับทัพครั้งนี้เป็นการปรับโครงสร้างพรรค

แต่พอถึงวันปรับจริงก็แทบจะไม่มีอะไรใหม่ เพราะตำแหน่งหลักๆ ยังคงเดิม ทั้งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค

ทั้งที่ก่อนหน้ามีกระแสข่าวว่า ผู้ใหญ่ในรัฐบาล ต้องการให้เปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรรค จาก “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” มาเป็น “อนุชา นาคาศัย”

แต่สุดท้าย “เสี่ยแฮงค์” ก็วืดอีกตามเดิม เหมือนเมื่อครั้งที่มีกระแสข่าวในช่วงตั้งรัฐบาลว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี แต่ก็ไม่มีชื่อในโผจริง

ว่ากันว่า งานนี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี คว้ามือ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหัวหน้าพรรค เข้าพบ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ “สนธิรัตน์” อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการพรรคต่อไป จนกว่าจะถึงการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2563 ในเดือนมีนาคม จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

และเมื่อนั้นจึงจะถึงเวลาของ “เสี่ยแฮงค์”

แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงวันจริงจะเป็นสัญญาแค่ลมปากหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มี 34 คน จากเดิม 24 คน และมีคนลาออกจากกรรมการบริหาร 7 คน ทำให้มีกรรมการบริหารพรรคหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาเป็น 17 คน ประกอบด้วย

1.นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค 2.นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค 3.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รองหัวหน้าพรรค 4.นายอนุชา นาคาศัย รองหัวหน้าพรรค (ขยับเป็นรองหัวหน้า) 5.นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค (เพิ่มใหม่) 6.นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค 7.นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ 8.นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนสมาชิกพรรค

และกรรมการบริหารพรรค 9.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 10.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 11.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 12.นายพงษ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 13.นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ 14.นายอิทธิพล คุณปลื้ม 15.นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 16. นายชวน ชูจันทร์ 17.นายสันติ กีระนันทน์ 18.นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล 19.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ (เพิ่มใหม่) 20.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน (เพิ่มใหม่) 21.นายสันติ พร้อมพัฒน์ (เพิ่มใหม่) 22.นายสุพล ฟองงาม (เพิ่มใหม่) 23.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า (เพิ่มใหม่) 24. นายวิรัช รัตนเศรษฐ (เพิ่มใหม่) 25.นายสุชาติ ชมกลิ่น (เพิ่มใหม่) 26.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ (เพิ่มใหม่) 27.นางประภาพร อัศวเหม (เพิ่มใหม่) 28. นายนิโรธ สุนทรเลขา (เพิ่มใหม่) 29. นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ (เพิ่มใหม่) 30. นายสกลธี ภัททิยกุล (เพิ่มใหม่) 31.นายไผ่ ลิกค์ (เพิ่มใหม่) 32.นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ (เพิ่มใหม่) 33.นายสุรชาติ ศรีบุศกร (เพิ่มใหม่) 34.นายนิพันธ์ ศิริธร (เพิ่มใหม่)

สำหรับกรรมการบริหารพรรคที่เพิ่มเข้ามาใหม่ ก็ไม่ใช่คนหน้าใหม่ในวงการการเมือง แต่เป็นตัวจริง เสียงจริง เข้ามาทำหน้าที่กรรมการบริหารพรรคแบบจริงจังกว่าที่ผ่านๆ มา เพราะเดิมในการประชุม ส.ส.พรรค มักจะไร้เงารัฐมนตรีของพรรคเข้าร่วมประชุม จะมีก็แต่แกนนำ “กลุ่มสามมิตร” ที่เข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง ทั้ง “สุริยะ” “สมศักดิ์” และ “อนุชา” จนแทบจะทำหน้าที่หัวหน้าและเลขาธิการพรรคไปในตัว

จนมีคำสั่งเด็ดขาดจาก “บิ๊กตู่” ให้รัฐมนตรีในสังกัดเข้าร่วมประชุมพรรคกับ ส.ส. จึงได้มีการหมุนเปลี่ยนเวียนวนกันมาเข้าประชุม เพราะให้ ส.ส.สามารถเข้าถึงรัฐมนตรีได้มากขึ้น

และจะเห็นว่าการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค กลุ่มสามมิตรดันน้องเล็กนั่งรองหัวหน้าพรรรค ส่วนพี่ๆ เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ถือเป็นการรุกคืบเข้าปกคลุมพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว และเตรียมรับมือการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2563 ในวาระ 2-3 รวมไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่จะเปิดฉากขึ้นในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้

นอกจากนี้ ในที่ประชุมใหญ่พรรค ได้มีการรับทราบการตั้งหัวหน้าคณะทำงานกำกับดูแล ส.ส.เป็นรายภาค 10 ภาค ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคสั่งการ เพื่อไปทำหน้าที่แบ่งโซนการควบคุมดูแลและรับฟังปัญหาของ ส.ส.ในแต่ละพื้นที่ ให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ และสามารถสื่อสารปัญหาในพื้นที่สะท้อนไปยังผู้บริหารพรรคได้มากขึ้น

โดยแบ่งโซนเช่นเดียวกับการแบ่งภาคตำรวจ 1-9 โดยหัวหน้าแต่ละภาค ประกอบด้วย ภาค 1 (ภาคกลาง) ได้แก่ ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง มีนายอนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรครับผิดชอบ

ภาค 2 (ภาคตะวันออก) ได้แก่ จันทบุรี ฉะชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สระแก้ว มีนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี และประธาน ส.ส.รับผิดชอบ

ภาค 3 (ภาคอีสานตอนล่าง) ได้แก่ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานวิปรัฐบาล รับผิดชอบ

ภาค 4 (ภาคอีสานตอนบน) ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บึงกาฬ มหาสารคราม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม รับผิดชอบ

ภาค 5 (ภาคเหนือตอนบน) ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.พะเยา รับผิดชอบ

ภาค 6 (ภาคเหนือตอนล่าง) ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบ

ภาค 7 (ตะวันตก) ได้แก่ กาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี มี พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี รับผิดชอบ

ภาค 8 (ภาคใต้ตอนบน) ได้แก่ กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี มีนายนัทธี ถิ่นสาคู ส.ส.ภูเก็ต รับผิดชอบ

ภาค 9 (ภาคใต้ตอนล่าง) ได้แก่ ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล มีนายวันชัย ปัญญาศิริ ส.ส.สงขลา รับผิดชอบ

และภาค 10 กทม. มีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รับผิดชอบ

ดังนั้น การวางตัวบุคคลคุมโซนต่างๆ เพื่อรับมือการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้นในปี 2563 โดยในแต่ละโซน จะมี ส.ส.ในพื้นที่ พร้อมด้วยหัวคะแนน ช่วยกันทำพื้นที่ของตัวเอง โดยหวังให้ได้ตัวนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังผลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งหน้าที่อาจจะมาเร็วชนิดตั้งตัวไม่ติด และเมื่อถึงเวลานั้นพรรคต้องการให้กระแสนำกระสุน

แต่ไปยังไม่ถึงไหน ในสนาม กทม.ที่มีการเฟ้นตัวผู้ว่าฯ กทม. ถึงกับวงแตก ซัดกันเละเทะ จนไม่สามารถหาข้อยุติได้ จนต้องยกยอดไปหารือกันใหม่ในปีชวดแทน

นี่ขนาดสนาม กทม.ยังมันหยด จึงต้องติดตามว่าในสนามภูธรจะดุเดือดแค่ไหน