ต่างประเทศอินโดจีน : “กับระเบิดในพม่า” หลักฐานแห่งความขัดแย้งที่ยังคงเหลือ

กับระเบิด หรือแลนด์ไมน์ พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่สังหารบุคคลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยพบเห็นได้น้อยที่สุด

คุณสมบัติโดยธรรมชาติดังกล่าวทำให้กับระเบิดไม่เพียงก่ออันตรายถึงชีวิตในภาวะสงคราม ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายต่อเนื่องมาในยามสงบ

ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากที่สุดคือพลเรือน คือชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้ผ่านฝึกฝนให้ตรวจสังเกตหรือระแวดระวังมฤตยูมืดที่จู่โจมถึงตัว คร่าชีวิตได้ภายในพริบตา

เปลี่ยนชีวิตที่เคยรื่นเริงสดใส เปี่ยมด้วยความหวังของคนธรรมดาให้กลายเป็นพิกลพิการ ทุพพลภาพไปได้อย่างเฉียบพลัน

 

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้องค์การพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศทั้งหลายพยายามอย่างหนักเพื่อกระตุ้นผู้มีอำนาจให้ยกเลิกการใช้อาวุธสังหารชนิดนี้โดยสิ้นเชิง

นำไปสู่อนุสัญญาภายใต้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ห้ามนำแลนด์ไมน์ หรือกับระเบิดบกมาใช้ในการทำสงครามอีกต่อไปในปี 1997

มี 164 ประเทศที่ลงนามให้ความเห็นชอบกับการห้ามใช้ ห้ามผลิต ตามอนุสัญญาดังกล่าวนี้ แต่มีอีกมากถึง 33 ประเทศที่ปฏิเสธ

ที่น่าเสียดายก็คือ ประเทศที่ไม่ยอมลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวมีประเทศที่เป็นแหล่งใหญ่ที่สุดที่เก็บตุนกับระเบิดไว้ในคลังอาวุธของตนเองรวมอยู่ด้วย ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน ปากีสถาน และอินเดีย

นั่นทำให้ยังคงจำเป็นต้องมีคณะกรรมการติดตามเฝ้าระวังการใช้กับระเบิดทั่วโลกอยู่ต่อไป จัดทำรายงานผลการดำเนินงานเป็นรายงานประจำปี เรียกว่า “เดอะ แลนด์ไมน์ โมนิเตอร์ รีพอร์ต”

 

รายงานปีล่าสุดเผยแพร่ออกมาเมื่อราวกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่กลางปี 2018 เรื่อยมาจนถึงเดือนตุลาคม 2019 ยังคงมีผู้เสียชีวิตจากกับระเบิดมากถึง 6,900 คน ส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน, เมียนมา, ไนจีเรีย, ซีเรีย และยูเครน

แน่นอน อัฟกานิสถานยังคงเป็นพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ ทุพพลภาพจากกับระเบิดมากที่สุดอยู่ต่อไป

ตัวเลขรวมที่ว่านี้ลดลงจากเมื่อปีที่ผ่านมาก็จริง แต่ยอดรวมดังกล่าวนี้ก็ยังสูงกว่ายอดเสียชีวิตที่บันทึกได้ในปี 2013 หรือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่าตัว

เมียนมาได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เพราะในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เมียนมากลายเป็นประเทศเดียวในโลกนี้ที่กองกำลังของรัฐบาลยังคงใช้กับระเบิดเป็นเครื่องมืออยู่ต่อไป

ประเทศอื่นๆ ที่หลงเหลือนอกจากนั้นผู้ที่ใช้กับระเบิด เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลทั้งสิ้น

 

ข้อสังเกตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงของความขัดแย้งด้วยอาวุธในหลายแนวรบในประเทศดังกล่าว

ไม่เพียงมีแนวรบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังกองทัพอาระกันที่อ้างตัวเป็นตัวแทนในการดิ้นรนเพื่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในความขัดแย้งที่ส่งผลให้ผู้คนอย่างน้อย 40,000 คนกลายเป็นผู้ไร้ถิ่นฐานไปเฉพาะในปีนี้เพียงปีเดียว

ข้อสังเกตสำคัญอีกประการสำหรับเมียนมาก็คือ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเกิดความสูญเสียจากกับระเบิดในพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งเดิมไม่เคยปรากฏว่ามีกับระเบิดมาก่อนอีกด้วย

นอกเหนือจากแนวรบที่ยะไข่ เมียนมายังคงมีการสู้รบเกิดขึ้นในหลายส่วนของรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงใช้กับระเบิดกันอยู่อย่างแพร่หลาย

ปิดกั้นและจำกัดความเคลื่อนไหวของพลเรือนในบางพื้นที่ ก่อให้เกิดการโยกย้ายหลบหนีจากอันตรายของกับระเบิดขนานใหญ่ในบางพื้นที่เช่นกัน

กับระเบิด ไม่เพียงเป็นเครื่องสะท้อนที่สำคัญถึงความขัดแย้งรุนแรงเท่านั้น ยังเป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดี พื้นที่ขัดแย้งเหล่านี้จะไม่สามารถแสดงศักยภาพทางเศรษฐกิจของตัวเองได้อย่างเต็มที่ในอีกหลายปีต่อไปข้างหน้า

แม้ว่าการสู้รบจะไม่หลงเหลืออยู่แล้วก็ตามที