โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ /พิมพ์จอบเล็ก-จอบใหญ่ เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร

หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

พิมพ์จอบเล็ก-จอบใหญ่

เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน

วัดบางคลาน จ.พิจิตร

 

“หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ” วัดบางคลาน จ.พิจิตร พระเกจิอาจารย์ดังแห่งพิจิตร เชี่ยวชาญวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือไปทั่วสารทิศ

เป็นอีกหนึ่งในตำนานของวงการพระเครื่องไทย

โดยเฉพาะเหรียญจอบ เป็นที่นิยมจากบรรดาเซียนพระเป็นอย่างมาก มี 2 พิมพ์ คือ พิมพ์จอบเล็กและพิมพ์จอบใหญ่

เหรียญหล่อทั้ง 2 พิมพ์ เป็นเนื้อทองผสม พิมพ์จอบเล็ก-จอบใหญ่เป็นพระหล่อที่ดูง่าย ไม่มีลวดลายพิสดาร ตะไบเห็นชัดเจน แต่ผิวพรรณรูปทรงองค์พระดูงดงาม

ลักษณะเป็นรูปคล้ายจอบเป็นสามเหลี่ยม มีหู

ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปนั่งขัดสมาธิ

ด้านหลังเหรียญ ผิวเรียบไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น

เป็นเหรียญหล่อโบราณ พิมพ์จอบเล็ก และพิมพ์จอบใหญ่ มีจำนวนสร้างไม่มาก มีพุทธคุณเด่นรอบด้าน มีการเช่าหาที่ราคาสูงยิ่ง จึงนิยมเก็บไว้ในครอบครองและไม่ยอมปล่อยมือ

ปัจจุบันเป็นที่นิยมและเป็นพระยอดนิยม

เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบใหญ่

 

เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2353 บิดาชื่อนายอู๋ มารดาชื่อนางฟัก เป็นชาวบ้าน ต.บางคลาน จ.พิจิตร มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันทั้งหมด 6 คน

อายุ 3 ขวบ ไปอยู่กับลุง ชื่อนายช่วง ที่กรุงเทพฯ และเข้าเรียนที่บ้านตองปุ (วัดชนะสงคราม)

เมื่ออายุ 12 ปี (พ.ศ.2365) บรรพชาศึกษาพระปริยัติธรรมและวิทยาคมต่างๆ จนแตกฉาน

เมื่ออายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดชนะสงคราม ได้รับฉายาพุทธโชติ จำพรรษาเพื่อปฏิบัติธรรมวินัย เรียนทางวิปัสสนากัมมัฏฐานอยู่ได้ 3 พรรษา ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงคราม ได้ไปถวายตัวเป็นศิษย์เพื่อศึกษาศิลปวิทยาคม ตลอดจนเรียนวิปัสสนาธุระจากสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม

ต่อมากลับไปจำพรรษาที่วัดคงคาราม (วัดบางคลานใต้) อ.บางคลาน จ.พิจิตร บ้านเดิม อยู่ได้ 1 พรรษา ก่อนย้ายไปอยู่หมู่บ้านวังตะโก ซึ่งลึกเข้าไปในทางลำน้ำแควพิจิตรเก่า โดยท่านหักกิ่งโพธิ์ไปด้วย 3 กิ่ง และปักลงตรงบริเวณป่าตะโก อธิษฐานจิตว่า “ถ้าข้าพเจ้าได้มาสร้างวัด ณ สถานที่แห่งนี้ ถ้ามีความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคตข้างหน้า ขอให้กิ่งโพธิ์ทั้ง 3 กิ่ง เจริญงอกงามตามไปด้วย”

ปรากฏว่าเป็นไปตามคำอธิษฐานของหลวงพ่อทุกประการ ท่านสร้างกุฏิ วิหาร อุโบสถและเสนาสนะภายในวัด จนสมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ

ซึ่งต่อมาพื้นที่แถบนั้นปรากฏเป็น “วัดวังตะโก” เกิดขึ้น พระอารามแห่งนี้สร้างไว้เมื่อประมาณปี พ.ศ.2377 ต่อมาวัดวังตะโก หรือวัดหิรัญญารามเจริญอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเคารพนับถือและถวายตัวเป็นศิษย์ ขอฟังธรรม ขอเครื่องรางของขลัง และขอให้หลวงพ่อช่วยรักษาโรคให้

โดยเฉพาะพวกชาวเรือที่ขึ้นล่องไป-มา ได้พากันมาจอดเรือที่หน้าวัดหลวงพ่อเป็นประจำ เพื่อขอพรและขออาบน้ำมนต์

นับเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เลื่องชื่อด้านวิทยาคมแห่งเมืองพิจิตร สามารถรู้ผู้มาเยือนด้วยญาณวิเศษ และยังเป็นหมอยาเชี่ยวชาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย

ความศักดิ์สิทธิ์และพุทธาคมร่ำลือกันไปไกลมาก จนถึงขนาดเสด็จในกรม “กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์” ยังเสด็จไปฝากตัวเป็นศิษย์ด้วย

เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบเล็ก

 

ผลงานที่สำคัญ ด้านการก่อสร้าง หลวงพ่อเงินมักเป็นธุระในเรื่องการสร้างถาวรวัตถุ ท่านเป็นนักก่อสร้าง ควบคุมการก่อสร้างด้วยตนเอง รวบรวมปัจจัยจากการสร้างวัตถุมงคล เงินบริจาค สิ่งที่ท่านชอบสร้างอีกอย่างหนึ่งนอกจากโบสถ์ วิหาร ศาลา คือศาลาพักร้อน เพื่อคนสัญจรไปมา

ด้านการรักษาโรคด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณ หลวงพ่อเงินเป็นหมอแผนโบราณทางด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยยาสมุนไพร หรือบางครั้งก็ใช้น้ำมนต์ ซึ่งก็ให้ผลในด้านกำลังใจ

เป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนา เป็นศิษย์รุ่นเดียวกันกับหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ซึ่งได้แนะนำให้กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ได้มาเรียนวิชาทางวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน รวมทั้งสมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็เสด็จมาประทับที่วัดวังตะโกอยู่หลายวัน เพื่อเรียนด้านวิปัสสนา

หลวงพ่อเงินไม่นิยมสร้างพระเครื่องหรือวัตถุมงคล ดังนั้น พระเครื่องรุ่นที่สร้างเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่จึงมีน้อย

 

บรรดาลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง อาทิ หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง, หลวงพ่อน้อย วัดคงคาราม, พระปลัดชุ่ม วัดท้ายน้ำ, หลวงพ่อหอม วัดหลวง, หลวงพ่อนวล วัดหาดมูลกระบือ, หลวงพ่อฟุ้ง วัดปากน้ำ, หลวงพ่อขำ วัดโพธิ์เตี้ย, หลวงพ่อไป๋ วัดท่าหลวงพล, หลวงปู่ภู วัดท่าฬ่อ เป็นต้น

ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ฝ่ายวิปัสสนาจารย์

มีโรคประจำตัวคือโรคริดสีดวงทวาร ท่านรักษาตัวเองบางครั้งก็หาย บางครั้งก็กลับเป็นอีก

หลวงพ่อเงินเคยกล่าวปรารภว่า “คนอื่นร้อยพันรักษาให้หาย แต่ผงเข้าตาตัวเองกลับรักษาไม่ได้”

ท้ายที่สุดมรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ที่วัดวังตะโก อ.บางคลาน จ.พิจิตร เมื่อวันศุกร์ เดือน 10 แรม 11 ค่ำ ปีมะแม เวลา 05.00 น. ตรงกับวันที่ 20 กันยายน 2462

สิริอายุ 109 ปี

 

บรรยายภาพ

1.หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

2.เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบใหญ่

3.เหรียญหล่อหลวงพ่อเงิน พิมพ์จอบเล็ก