เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง : ความน่าเจ็บใจ ของ แม่ศรีเรือน?

แม่ศรีเรือนคือหญิงที่หมั่นฝึกฝนทำอาหารด้วยฝีมือของตนเองให้ครอบครัว แม่ศรีเรือนทำตั้งแต่ไปจ่ายกับข้าว คัดสรรวัตถุดิบดีๆ ที่มีในตลาด มาเลือก มาล้าง มาแล่ มาหั่น มาสับ แล้วจัดสรรว่าจะปรุงเป็นอะไรดี

ต้องทำด้วยตนเองถึงจะเรียกว่าเป็นแม่ศรีเรือน

หญิงที่ใช้เงินซื้ออาหารสำเร็จรูปคงเรียกว่าแม่ศรีเรือนไม่ได้

เมื่อวานนี้เองเป็นวันเสาร์ เพื่อนบ้านเป็นสาวเจียงใหม่ มองข้ามรั้วมาเห็นเรากำลังจะเริ่มกินข้าวกลางวัน ก็เดินอ้อมมาหน้าบ้าน นั่นถ้วยอะไรในมือเพื่อนบ้าน เวลาเห็นแบบนี้ใจก็จะเต้น เอ๊ วันนี้จะมีลาภปากอะไรหนอ

โห มันคือแกงฮังเลของโปรด

ใจหวนไปนึกถึงแกงฮังเลเจ้าอร่อยที่ตลาดต้นพะยอม เชียงใหม่ ที่รสชาติเข้มข้นไม่ลืมเลือน เพื่อนบ้านเจ้าของแกงฮังเลวางถ้วยลงพร้อมบรรยายว่าแกงหม้อนี้ของเธอซึ่งมีสีน้ำตาลเข้มพอดิบพอดีนั้นเธอต้องใส่ขมิ้นเล็กน้อย และตั้งใจเคี่ยวถึงสามชั่วโมงเช้านี้เพื่อให้หมูนิ่มเปื่อย มีทั้งหมูสามชั้นและหมูเนื้อ

ยิ่งบรรยายก็ยิ่งเพิ่มคุณค่าแกงตรงหน้าให้ดูน่ากินขึ้นไปอีก ของเคี่ยวตั้ง 3 ชั่วโมงบนไฟอ่อนๆ มันก็ย่อมไม่ธรรมดาละ

แล้วก็อร่อยสมราคาคุยเสียด้วย ถ้วยเล็กไปหน่อย กินแผล็บเดียวก็หมด

ความสุขในการกินของดีๆ นี่มันแสนจะดื่มด่ำ

ส่วนความสุขเวลาทำนั้นก็ยิ่งวิเศษ เวลานี้ก็สามทุ่มแล้ว เราเองก็ยังล้างโน่นหั่นนี่อยู่ เสร็จแล้วก็บรรจุกล่องเพื่อจะไว้ทำพรุ่งนี้เช้า

บางคนถามว่ามาเหนื่อยทำทำไม คนที่ไม่ทำก็ไม่รู้หรอกว่ามันเพลิดเพลิน

และแถมยังมาบอกว่า ซื้อกินยังจะถูกกว่า

ก็ไม่เถียงหรอก เดี๋ยวนี้ซื้อเขากินถูกกว่าจริงๆ เวลาไปตลาดในชุมชนรายได้น้อยที่เขามีไว้เพื่อช่วยการครองชีพ เช่น ตลาดในราบ 11 ที่ถนนพหลโยธิน หรือเข้าทางวิภาวดีก็ได้ ส่วนใหญ่ก็จะมีอาหารสำเร็จรูป มีของสดแซมบ้างครึ่งต่อครึ่ง

แกงหม้อโตๆ เพิ่งเสร็จมาใหม่ๆ มีทั้งแกงส้ม แกงเผ็ด พะแนง แกงสายบัว แกงขี้เหล็ก ต้มยำขาหมู ไก่ต้มข่า ของยากๆ ที่แม่ศรีเรือนที่ไม่ได้เป็นแม่บ้านเต็มเวลา ไม่มีเวลาทำ

ก็ซื้อมา รสชาติก็ดีทีเดียว ถุงละ 30 บาทเท่านั้นเอง กินไม่จุก็กินได้สองคน

แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่า “ซื้อกินถูกกว่า” ได้ยังไง

เพราะว่าแกงสายบัวนั้นกว่าจะซื้อกะทิสดๆ มาคั้นเอง ก็กินเวลาแล้ว และใครเขาจะขายมะพร้าวขูดห้าบาทสิบบาท ครึ่งโลแม่ค้ายังค้อน ก็ต้องลงทุนซื้อเต็มโลให้เขาคั้นให้แล้วแบ่งใส่ถุงไว้ใช้ ไม่ได้ซื้อมานาน ยังโลละ 60 บาทอยู่ไหมนั่น

ซื้อปลามาใส่ ต้องใช้เงินน้อยเสียที่ไหน

แล้วก็ซื้อสายบัวอีก

เสร็จแล้วก็ต้องแกงหม้อโต เสร็จแล้วก็ต้องแจกชาวบ้าน เป็นอันแกงหม้อหนึ่งก็เกือบร้อย ถ้าใช้หลักเศรษฐกิจมาจับละก็ ใช้ไม่ได้

สู้ซื้อเขามาถุงละ 30 บาทดีกว่า

แต่ก็นั่นแหละค่ะ มันไม่สดใหม่เหมือนที่เราทำเองหรอก แล้วก็ไม่ได้เพลิดเพลินด้วย

รสชาติก็ไม่เพะ อย่างที่เราชอบ มันมักจะติดหวานไปนิด

ในเวลาเร่งรีบ ซื้อกินคือความเหมาะสม

แต่ในเวลาที่มีเวลา ทำเอง มีความพอใจที่ซื้อหาด้วยเงินทองไม่ได้

มองอีกมุมหนึ่งคือเรื่องความสะอาด ปลอดภัย

สิ่งที่เราซื้อเอง ทำเอง ย่อมรู้ที่มาที่ไป

ผักปลอดสารมีให้เลือกซื้อหา เรามีทางเลือกก็ย่อมจะเลือก จริงไหมคะ เพื่อสุขภาพของเราและคนรอบข้าง

ผักที่ล้างกับมือ ก็ย่อมสะอาดแท้ ไม่ใช่จุ่มน้ำเดียวและเอาขึ้น เหมือนที่คนขายเขามักจะทำ ของเราล้างสองน้ำ สามน้ำ บางทีสี่น้ำ ก็เอาให้แน่ใจ

กุ้ง ปลา ที่ไปจ่ายตลาดด้วยตัวเอง ก็ย่อมจะมีโอกาสเลือกที่สดใหม่ และยิ่งมีทางเลือกหาแหล่งซื้อที่ปลอดฟอร์มาลิน ก็ยิ่งดี

อย่างเช่นที่ประมงชายฝั่ง หรือที่ตู้ “คนจับปลา” ในร้านเลมอนฟาร์ม เป็นต้น

ยิ่งเราไปจ่ายตลาดบ่อย หลายตลาด ตลาดคนรวย ตลาดคนจน ได้ของไม่เหมือนกัน บางอย่างถ้าเลือกตลาดประเภทช่วยค่าครองชีพ ก็ได้ของถูกกว่า 10-50%

เมื่อวันเสาร์ไปซื้อของที่ตลาดในกรมทหาร ได้ปลาอินทรีมาลองดู 1 ชิ้น ปรุงเสร็จเนื้อหวานสด ใช้ได้เลย ปลาขนาดเดียวกันถ้าซื้อตลาดคนชั้นกลาง ชิ้นนั้น 80 แน่ๆ แต่เราซื้อได้ในราคา 60

การไม่ติดที่ ว่าจะต้องซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น ก็ทำให้เราได้เลือกซื้อของที่สดกว่า และราคาย่อมเยากว่า เดือนหนึ่งๆ ประหยัดเป็นพันๆ บาท

การที่สังคมเรายังมีคนรายได้น้อยแทรกอยู่ในทุกแหล่งแห่งที่ ก็ทำให้มีตลาดสดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แทรกอยู่ทุกแหล่งแห่งที่เช่นกัน

ประหยัดนั้นแน่นอน แต่ได้ของดีกว่าจากตลาดสดนี่สิคะ คุณผู้หญิงที่ช็อปแต่ซูเปอร์มาร์เก็ตรู้แล้วล่ะก็

มันน่าเจ็บใจค่ะ