คำ ผกา | เด็กเขาไม่โง่

คำ ผกา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวต่อว่า เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เป็นจิตสำนึก เรื่องของความรักชาติ อุดมการณ์ ก็ไม่ได้สอน ไปสอนวิชาการเสียเยอะ ทำให้เยาวชนเติบโตมาเหมือนไม่มีกรอบความคิด ก็คิดไปเรื่อย อะไรที่เร็ว อะไรที่ได้ก็เห็นด้วย แต่ไม่รู้ว่าจะต้องโตอย่างไร จะทำอย่างไร พ่อแม่ไม่เดือดร้อน ทำอย่างไรสังคมจะพัฒนา เขาจะไม่ค่อยคิดเรื่องพวกนี้ เด็กจะคิดแต่เพียงว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น มีเงินให้มากขึ้น ทำอาชีพสบายๆ ได้เงินเยอะๆ มันไม่ใช่สอนแบบนี้ ต้องสอนแบบที่เราถูกสอนมา ให้ลูกต้องลำบาก เป็นคนดี มีศีลธรรม และเราต้องเป็นคนดี มีศีลธรรม มีความสุขในชีวิตของเรา พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น โดยมีรัฐบาลคอยช่วย ต้องสอนแบบนี้ ต้องสอนกรอบให้คิดแบบนี้ ถ้าเปลี่ยนไปทีเดียว คำว่าชาติมันไม่เหลือทุกอย่างที่ตามล้มหมด ดังนั้น ทุกอย่างเริ่มจากตัวเราและครอบครัวทั้งสิ้น

https://www.khaosod.co.th/politics/news_2942759

ฉันจะลองสรุปประเด็นที่นายกฯ ประยุทธ์ “วิจารณ์” เด็กตามข้อความข้างต้นให้เข้าใจง่ายขึ้น (ไม่ใช่เพราะมันเป็นคำวิจารณ์ที่น่าฟัง แต่เพื่อจะเข้าใจว่านายกฯ คนปัจจุบันของประเทศไทยเขามีทัศนคติต่อโลกต่อสังคมอย่างไร (เผื่อจะเศร้าและสิ้นหวังมากกว่าที่เป็นอยู่)

1. นายกฯ ประยุทธ์ชี้ว่าปัญหาของการศึกษาไทยคือสอน “วิชาการ” มากกว่า “อุดมการณ์” อุดมการณ์ที่ว่าคือ อุดมการณ์รักชาติ

2. ผลพวงจากความผิดพลาดในการศึกษานี้ส่งผลให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่มีสำนึกเรื่อง “ผลประโยชน์ส่วนรวม” คิดแต่เรื่องทำอย่างไรให้ตนเองรวย สังคมเป็นยังไงก็ช่าง

3. เมื่อเป็นเช่นนั้น คำแนะนำของนายกฯ ประยุทธ์คือ ต้องสอนเด็กสมัยนี้เหมือนที่คนรุ่นตัวเองถูกสอนมา นั่นคือ สอนให้เด็กรู้จักลำบาก (?) และเป็นคนดี มีศีลธรรม (?)

มิพักจะต้องบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่มีหน้าที่ออกไปสั่งสอนใคร เพราะนายกรัฐมนตรีไม่ใช่พ่อ-แม่ ไม่ใช่ญาติผู้ใหญ่ ไม่ใช่พระ ไม่ใช่นักบวช

นายกรัฐมนตรีเป็นแค่พลเมืองคนหนึ่งของชาติที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง สังกัดพรรคการเมือง

พลเมืองคนนั้นมีความทะเยอทะยานอยากเป็นผู้บริหารประเทศ

เขาจึงแผ้วถางหนทางให้ตนเองได้รับการเลือกตั้ง

ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในชาติมาตามลำดับ

จนวันหนึ่งประชาชน “ให้โอกาส” เขาได้เป็นนายกฯ ซึ่งเขามีโอกาสอยู่ในตำแหน่งนี้ยาวนานที่สุด 4 ปี

จากนั้นถ้าอยากเป็นต่อก็ต้องลงเลือกตั้งใหม่ แล้วดูว่าประชาชนจะ “อนุญาต” ให้เขาเป็นต่อหรือไม่

ดังนั้น นายกฯ จึงไม่ใช่ผู้วิเศษวิโสกว่าพลเมืองคนอื่นในประเทศ

ไม่ได้เป็นคนที่เก่งกว่า

ไม่ได้เป็นคนที่ฉลาดกว่า

ไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่าคนอื่น

แต่เป็นมนุษย์ขี้เหม็นคนหนึ่งซึ่งเหมือนคนอื่นๆ อันประชาชนอนุญาตให้อยู่ในตำแหน่งนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ นายกฯ จึงไม่สามารถจะเที่ยวไปสั่งสอนหรือไปต่อว่าใครในเรื่องไลฟ์สไตล์ เรื่องครอบครัว เรื่องความดี เรื่องศีลธรรม เพราะหน้าที่พลเมืองก็คือปฏิบัติตามกฎหมาย

ส่วนจะเป็นคนดีหรือเปล่า มีศีลธรรมหรือเปล่า

ไม่มีใครเอามาตรวัดความดีหรือมาตรวัดศีลธรรมของตนเองไปตัดสินผู้อื่นได้

เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรีพึงตระหนักว่าหน้าที่ของท่านคือหัวหน้าฝ่ายบริหาร มีหน้าที่บริหารการทำงานของ ครม.ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน

ตรงกันข้าม ประชาชนต่างหากมีหน้าที่ในการสอน, วิจารณ์ และตรวจสอบตัวนายกฯ และฝ่ายบริหารทั้งหมด ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนรวม ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างกิริยามารยาท ภาษาที่ใช้ การควบคุมอารมณ์ วุฒิภาวะ

ไปจนถึงเรื่องใหญ่ อย่างเช่น การบริหารงบประมาณ การออกนโยบายของกระทรวงต่างๆ ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ

เหตุที่ประชาชนมีหน้าที่และมีสิทธิในการตรวจสอบ ตำหนิ วิจารณ์ ก็เพราะนายกฯ และฝ่ายบริหารทั้งหมดได้อำนาจในการบริหารนั้นจากการอนุญาตของประชาชนว่า – เออ อำนาจนี้ที่เป็นของฉันเนี่ยะ

ฉันมอบให้เธอเป็นตัวแทนการใช้อำนาจนะ

ดังนั้น ใช้มันให้ดีๆ ล่ะ แล้วฉันในฐานะเจ้าของอำนาจ จะเฝ้ามองการทำงานของเธอ

และหากเธอทำอะไรไม่ดี ไม่เข้าท่า ฉันจะโวยวายทันทีนะ

ดูจากบทบาทของนายกฯ ประยุทธ์ที่ผ่านมาเป็นไปได้สูงมากว่าท่านจะเข้าใจบทบาทนี้สลับกัน คือท่านไปเข้าใจว่า นายกฯ คือ “ผู้นำ” มีหน้าที่สั่งสอน ควบคุม ดูแลความประพฤติของ “ผู้ตาม” ซึ่งก็ต้องย้ำกันว่า ไม่ใช่ ในทางกลับกัน นายกฯ คือผู้ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนชั่วคราว

ดังนั้น ประชาชนคือผู้ที่จะควบคุม ดูแล ทั้งพฤติกรรม และสมรรถนะการทำงานของนายกฯ และฝ่ายบริหารทั้งหมด

นอกจากทำงานผิดบทบาทแล้วสิ่งที่นายกฯ สอนก็มีความ “ไม่คือ” อยู่ในหลายระดับด้วยกัน

1. โรงเรียน สถานศึกษา หลักสูตร แบบเรียน และครูทั้งหลายไม่ใช่เครื่องมือในการทำโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ

ดังนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วที่จะไม่มีการสอน “อุดมการณ์” ทางการเมืองใดการเมืองหนึ่งแก่นักเรียนแล้วบอกเขาว่าอุดมการณ์นี้ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด

บทบาทของการศึกษาที่รัฐพึงจัดสรรให้ประชาชนตามหน้าที่คือ การศึกษาที่เป็น “วิชาการ” เป็น academics ยิ่งการศึกษาภาคบังคับนั้นมีไว้เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ และทักษะพื้นฐาน ในฐานะเครื่องมือในการไปแสวงหาความรู้อื่นๆ ได้ด้วยตนเองในอนาคต ความรู้เกี่ยวกับ “อุดมการณ์” ทางการเมือง นั้นสามารถศึกษาได้ทั้งในมิติของรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา

สิ่งที่ควรจะสอนคือสอนให้รู้จักอุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ บนโลกใบนี้อย่างครบถ้วนจากมุมมองทั้งสามมุมมอง

และที่สำคัญต้องทิ้งทุกอย่างให้นักเรียนได้คิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม เปรียบเทียบ เป็นความรู้ปลายเปิดไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ถามว่า ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้นักเรียนไม่รักชาติหรือไม่?

คำตอบคือ คำถามที่ต้องถามกลับว่าชาติคืออะไร?

ถ้าชาติหมายถึงหน่วยของสังคม การเมือง อันมีองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือ “ประชาชน” (ถ้ามีแต่ประเทศเปล่าๆ ไม่มีคนเลย ย่อมไม่มีชาติ)

การรักชาติก็คือการรักตัวเราเองที่เป็นประชาชนและรักประชาชนคนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนร่วมชาติของเรา ดังนั้น ความรักชาติจึงเป็น default mode ของการเป็นประชาชนอย่างยิ่ง

เพราะถ้าเรารักตัวเอง เราย่อมรักชาติ เพราะหากชาติดี เจริญรุ่งเรือง มีสันติสุข ตัวเราก็จะมีความสุขไปด้วย

จึงเป็นเรื่องยากมากจริงๆ ที่จะมีคนที่ไม่รักหรือไม่อยากจะรักชาติ

แต่สิ่งที่พบเห็นบ่อยคือ คนที่เอาความรักชาติมาบังหน้าเพื่อหาประโยชน์ให้ตัวเอง และคนเหล่านั้นจะต้องอยูในสถานะหรือมีอำนาจที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายของชาติ

เช่น คนที่ถ้าโรงเรียนรัฐบาลที่จัดการโดยรัฐทั้งหมดห่วยแตกก็มีปัญญาส่งลูกไปเรียนเมืองนอก ถ้ามีวิกฤตการเมืองก็อพยพครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศได้เลย

หรือถ้าธนาคารเจ๊งก็ไม่เดือดร้อน เพราะทรัพย์สินทั้งหมดปลอดภัยอยู่ในต่างประเทศ เป็นต้น

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้อีกว่า คนที่ยิ่งจน ยิ่งรักชาติ เพราะเขาคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบก่อนใครหากว่า “ชาติ” เกิดเป็นอะไรขึ้นมา

2.คนรุ่นใหม่เห็นแก่ตัว คิดแต่จะหาเงินเยอะๆ จึงไม่เห็นแก่ประโยชน์ของสังคม ส่วนรวม

ความเห็นนี้มีปัญหาในเชิงตรรกะ

สมมุติว่าคนรุ่นใหม่คิดเรื่องอยากหาเงินให้ได้เยอะๆ จริง (สมมุติว่าจริง) คำถามคือ การหาเงินให้ได้เยอะๆ เป็นอุปสรรคต่อสำนึก ต่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างไร?

เราสามารถคิดเรื่องหาเงินเยอะๆ

ขณะเดียวกันก็เรื่องสร้างประโยชน์ให้สังคมและส่วนรวมด้วยไม่ได้หรือ?

ทีนี้หากจะอ้างว่า มีคนที่อยากหาเงินได้เยอะๆ จนหน้ามืด ไปทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสังคมสุดๆ เช่น อยากหาเงินได้เยอะๆ เลยไปค้ายาเสพติด สิ่งที่ต้องถามต่อไปคือ การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำของคนรุ่นใหม่หรือ?

หรือว่าเป็นการกระทำ random ที่เราพบเห็นมาในทุกเจเนอเรชั่น

ยิ่งในเจนเก่าๆ ยิ่งพบเยอะ

ซับซ้อนกว่านั้น การหาเงินแบบไหนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการหาเงินที่ไม่คำนึงถึงผลเสียต่อสังคม?

ตอนนี้โลกเรามีปัญหาขยะพลาสติก

เราจะพูดได้หรือไม่ว่าคนทำธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติกคือคนที่คิดแต่เรื่องหาเงินโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม?

เมื่อเป็นเช่นนี้คนโดยทั่วไปจะไม่พูดอะไรออกมาโดยมักง่ายอย่างการเอาเรื่องเจเนอเรชั่นมาเป็นตัวตั้ง

เช่น คนรุ่นใหม่ขี้เกียจ คนรุ่นใหม่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ คนรุ่นใหม่หลงใหลในบริโภคนิยม ฯลฯ

ราวกับว่า คนในเจเนอเรชั่นตัวเองคือดรีมทีมของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และทำราวกับว่ายุคสมัยของตัวเองเป็นยุคทองของโลกและจักรวาล อะไรที่อยู่ในยุคของตัวเองถูกต้องหมด ดีไปหมด เพลงสมัยเราเพราะกว่าสมัยนี้ อาหารสมัยเราอร่อยกว่าสมัยนี้ บ้านเมืองสมัยเราสงบสุขกว่าสมัยนี้ การเรียนหนังสือสมัยเราดีกว่าสมัยนี้

ตรรกะอะไรแบบนี้เอาไว้คุยกันเองในหมู่คนแก่รุ่นเดียวกันในกรุปไลน์สวัสดีวันจันทร์ อังคาร อะไรแบบนี้ก็พอ

แต่ไม่ดีพอที่จะเอามาใช้สั่งสอนคนอื่น

ถามว่า สำนึกต่อส่วนรวมและสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ก่อนอื่นก็ต้องบอกว่า ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับความอยากจะหาเงิน แต่เกี่ยวกับ “สำนึกสาธารณะ” ที่ไม่อาจสร้างได้ผ่านการท่องค่านิยม 12 ประการไปวันๆ

แต่สร้างได้ผ่านการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่หัวใจของมันคือการเคารพเพื่อนร่วมโลกว่า เราก็คน เขาก็คน เมื่อเห็นกันและกันเป็นคนเสมอกัน มีสิทธิเท่าๆ กัน

สิ่งที่จะตามมาคือ solidarity คือความร่วมทุกข์ร่วมสุขกันของเหล่าเราประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจน เพศไหน วัยไหน ทำงานอะไร ลูกใคร หลานใคร ในเชิงสถาบันการเมือง ความเข้มแข็งของระบบเลือกตั้ง พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม คือหัวใจของการรักษาจิตวิญญาณแบบประชาธิปไตยเอาไว้

ในทางกายภาพ การออกแบบเมือง การออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อผดุงจิตใจให้เห็นทุกข์เห็นสุขของเพื่อนร่วมชาติร่วมสังคมโดยไม่สูญสิ้นศักดิ์ศรีต่อกันคือหัวใจที่จะรักษาจิตใจแบบประชาธิปไตยเอาไว้ได้

แล้วด้วยจิตใจเช่นนี้ สำนึกสาธารณะ สำนึกรับผิดชอบ

สำนึกที่เห็นประโยชน์ของส่วนรวม สังคม เหนือประโยชน์ส่วนตัวจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องบีบคอ สั่งให้มี

พูดให้ถึงที่สุด การบีบบังคับสั่งให้มีต่างหากที่เปิดโปงว่าคำว่า “ประโยชน์ส่วนรวม” ที่พ่นออกมานั้นเป็นเรื่องจอมปลอม

3.ต้องสอนให้เด็กรู้จักความลำบาก เด็กถึงจะเป็นคนดี มีศีลธรรม

ฟังแล้วนึกถึงโรงเรียนของฝ่ายขวาจัดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีโปรแกรมฝึกเด็กตั้งแต่หก-เจ็ดขวบให้วิ่งในหิมะของฤดูหนาวโดยไม่ใส่เสื้อกันหนาว และอีกหลายกิจกรรมฝึกกายฝึกใจที่ว่ากันว่า ถ้าเด็กผ่านด่านการฝึกเหล่านี้ไปได้จะกลายเป็นเด็กที่อดทน มีวินัย มีสง่าราศี น่านิยมยกย่อง

ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าเป็นการละเมิดร่างกายและจิตของเด็กหรือไม่

เพราะนี่เป็นโรงเรียนในโลกสมัยใหม่ไม่ใช่สำนักบู๊ตึ๊งที่ต้องเอาเด็กไปฝึกขนาดนั้น

ส่วนในสังคมไทยนั้นฉันเห็นว่าเด็กไทยได้รับความลำบากมากพออยู่แล้วในชีวิตของเขา

เป็นความลำบากอันเกิดจากการเกิดมาภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้เคารพประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจทางการเมือง จึงบริหารประเทศโดยไม่ได้เอาคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีของประชาชนเป็นที่ตั้ง ทว่า เห็นประชาชนเป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยพึงพารัฐอย่างน่าระอา

ผู้นำประเทศจึงชอบบ่นกึ่งปรารภว่า รัฐพยายามช่วยประชาชน แต่ประชาชนต้องหัดพึ่งตัวเองบ้าง บลา บลา

อันทำให้ประชาชนอย่างเราบางครั้งรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นปรสิตคอยเกาะกินรัฐบาลอย่างน่าละอาย

ในสภาพของสังคมเช่นนี้ ฉันคิดว่าสิ่งที่เราควรจะสอนเด็ก ไม่ใช่สอนให้เขารู้จักความลำบาก แต่จะต้องสอนให้เขารู้จักเคารพตัวเอง เคารพคนอื่น เคารพกติกา เคารพกฎหมาย เพื่อเขาโตขึ้นไปเขาจะได้ไป เขาจะไม่สนับสนุนการละเมิดกฎหมาย

โดยเฉพาะการละเมิดกฎหมายที่นำไปสู่การละเมิดประชาชน ละเมิดเพื่อนร่วมชาติ ไปจนถึงละเมิดสิทธิทางการเมืองของเพื่อนประชาชนด้วยกัน

จนนำไปสู่การสูญหายของ “ประชาธิปไตย” ไปโดยละม่อม อย่างที่มันเคยเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ กับคนใน “รุ่น” พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของพวกเขา