นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความอ่อนแอทางอุดมการณ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ทีแรกผมคิดจะอ่านบทความเรื่อง “งานฉลองรัฐธรรมนูญ : มหกรรมแห่งชาติของคณะราษฎร” ของ อาจารย์ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ในศิลปวัฒนธรรม, 38, 3, 2560 อย่างผ่านๆ แต่พอลงมืออ่านจริง กลับต้องอ่านทุกคำอย่างละเอียด เพราะน่าสนใจอย่างยิ่ง

แน่นอนว่า มหกรรมอะไรที่รัฐจัดขึ้น หรือหนุนหลังให้จัดขึ้นย่อมมีอุดมการณ์ทางการเมืองแฝงอยู่ทั้งนั้น งานฉลองรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เช่นเดียวกัน

แต่อุดมการณ์ทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 มิได้มีเพียงหนึ่งเดียวที่เป็นของคณะราษฎร หรือผู้นำคณะราษฎรเท่านั้น ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตัดสินพระทัยเสด็จกลับพระนคร ก็เป็นสัญญาณแล้วว่า ระบบรัฐสภาจะเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองไทยในอนาคต แต่จะเป็นส่วนน้อยหรือส่วนมาก สำคัญน้อยหรือสำคัญมาก ต่างคนต่างคิดไม่ตรงกัน และไม่จำเป็นว่าจะต้องตรงกับความคิดของผู้นำคณะราษฎร

ขุนนางเก่าอย่างพระยามโนปกรณ์นิติธาดาคงยอมรับได้ที่ต้องการให้สยามก้าวเข้าสู่ระบบรัฐสภา แต่เป็นระบบรัฐสภาอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ตรงกับของคณะราษฎร ขุนนางเก่าที่เข้าร่วมก่อการกบฏบวรเดช ก็คงคิดถึงระบบรัฐสภาอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจไม่ตรงกับของพระยามโนฯ ด้วยก็ได้

คณะราษฎรได้ชัยชนะทางการเมือง แต่ไม่อาจช่วงชิงชัยชนะทางอุดมการณ์ไว้ได้ ด้วยเหตุผลใดผมก็ไม่แน่ใจเพราะไม่ได้ฝ่าฟันอคติทางการเมืองของนักเขียนรุ่นหลัง (2490) ไปศึกษาหลักฐานชั้นต้นอย่างกว้างขวางเพียงพอ แต่สรุปความเห็นได้ว่า บางฝ่ายก็คิดว่าเพราะผู้นำคณะราษฎรแตกกันเอง บางฝ่ายก็คิดว่าลักษณะการปฏิวัติของคณะราษฎร ที่จำเป็นต้องใช้วิธีรัฐประหาร ทำให้ไม่มีกำลังจะสร้างฐานทางอุดมการณ์มาก่อน หรือแม้แต่หลังจากนั้น ทั้งนี้ โดยไม่นับความเห็นที่เอาแต่ก่นด่าคณะราษฎรโดยไม่อิงข้อเท็จจริงหรือเหตุผลใดๆ

“งานฉลองรัฐธรรมนูญฯ” ของอาจารย์ ดร.ภูริ ก็เล่าเรื่องความอ่อนแอทางอุดมการณ์ของคณะราษฎรนี่แหละครับ เพียงแต่เล่าผ่านมหกรรมฉลองรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ผมขอเก็บความบางตอนในบทความของท่าน ที่แสดงให้เห็นความอ่อนแอด้านอุดมการณ์ของคณะราษฎรมาเล่าให้ฟัง

 

งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกไม่ได้จัดขึ้นเมื่อคณะราษฎรสามารถจัดตั้งรัฐบาลของตนเองขึ้นได้ แต่จัดในสมัยรัฐบาลพระยามโนฯ และลักษณะของงานเน้นการเทิดทูน ร.7 ก่อนจะมีงานรื่นเริง ทั้งยังมีมติในเวลาต่อมาให้วันที่ 10 ธันวาคม เป็น “วันที่ระลึกพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร” (เพิ่งเปลี่ยนเป็นวันรัฐธรรมนูญในสมัยพระยาพหลฯ เป็นนายกฯ และเรียกงานฉลองว่างานฉลองรัฐธรรมนูญในการจัดงานครั้งที่สอง)

การเปลี่ยนชื่อของงานมหกรรมสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน ในขณะที่ฝ่ายพระยามโนฯ มองว่าการปกครองที่ถูกเปลี่ยนแปลงในวันที่ 24 มิถุนายน ย่อมสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกจากระบอบเก่า ไม่อย่างนั้นจะรอให้มีพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญในวันที่ 27 มิถุนายน ทำไม (ซึ่งมีมติในรัฐบาลชุดนั้นให้เป็นวันหยุดราชการในชื่อว่า “วันที่ระลึกพระราชทานรัฐธรรมนูญชั่วคราว” น่าสนใจว่าวันที่ 24 มิถุนายน ย่อมหายไปในความทรงจำของชาติ)

ในขณะที่ทางฝ่ายคณะราษฎร (น่า) จะมองว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในวันที่ 24 มิถุนายน เป็นจุดเปลี่ยนของชาติซึ่งไม่มีส่วนสัมพันธ์กับระบบเก่าแต่อย่างไร แม้แต่การดำรงอยู่ของสถาบันทางการเมืองของระบบเก่า ก็ต้องดำรงอยู่ในสภาวะและสถานะใหม่ ไม่ใช่ความสืบเนื่องจากระบบเก่าอย่างไม่ตัดตอน

แต่เมื่อคณะราษฎรไปยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่เตรียมมา เป็นเพียงฉบับชั่วคราว ทางเลือกทางการเมืองที่เหลืออยู่ย่อมจำกัดลงอย่างมาก นับเป็นความพ่ายแพ้ด้านอุดมการณ์มาตั้งแต่ต้น

 

ดังนั้น แม้ได้ชัยชนะเหนือกองกำลังของฝ่ายกษัตริย์นิยมในเหตุการณ์ที่เรียกว่ากบฏบวรเดชแล้ว คณะราษฎรก็ยังคงฉลองรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคมต่อไปตามเดิม อีกทั้งเนื้อหาของมหกรรมเอง ก็ไม่แสดงอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างเด่นชัดเท่ากับ ความพยายามจะโอนย้ายหรือขยายความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นของรัฐธรรมนูญด้วย หรือขยายความศักดิ์สิทธิ์นั้นให้คลุมถึงรัฐธรรมนูญด้วย

ขนาดจัดพิธี “สักการะ” รัฐธรรมนูญตามหัวเมือง มหาดไทยทั้งผลักดันและส่งเสริมให้หัวเมืองสร้างรัฐธรรมนูญ “จำลอง” ขึ้น เพื่อใช้ในการนี้ (คงใช้งานปิยมหาราชเป็นแบบอย่างในใจ โชคดีที่ไม่มีการวางพวงมาลาแก่รัฐธรรมนูญจำลอง)

รัฐธรรมนูญกลายเป็นหนังสือที่ตั้งอยู่บนพาน ซึ่งเท่ากับตอกย้ำการ “พระราชทาน” รัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม (แทนที่จะถือว่าวันนี้คือวันที่ทรงแสดงพระราชปณิธานที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เกิดพันธสัญญาใหม่ระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน)

รัฐธรรมนูญจำลองถูกนำไปแห่รอบชุมชนเมือง ประดับตกแต่งขบวนด้วยราชวัตรฉัตรธง และวางรัฐธรรมนูญบนราชรถจำลอง กล่าวโดยสรุปก็คือนำเอาสัญลักษณ์ที่แวดล้อมเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ มาใช้กับสมุดไทยบนพานแว่นฟ้า

อำนาจของรัฐธรรมนูญจึงมีลักษณะ “กฤษฎาภินิหาร” (magical) ไม่ต่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งๆ ที่ระบอบรัฐธรรมนูญย่อมกำเนิดและดำรงอยู่ได้ด้วยวัฒนธรรมของความเป็นเหตุเป็นผล (rationality)

จึงไม่แปลกที่บางคนในสมัยนั้นจะเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญคือบุคคลที่เข้ามาเสวยราชสมบัติแทนพระมหากษัตริย์ (ไม่ใช่เพราะโง่จึงเข้าใจผิด แต่ถูกทำให้เข้าใจผิดต่างหาก)

 

หากจะให้ความสำคัญแก่เนื้อหาของรัฐธรรมนูญบ้าง ก็คือคณะกรรมการจัดงานบางชุดเสนอให้นักเรียนท่องจำรัฐธรรมนูญทุกมาตราไว้ เหมือนกับที่ต้องท่องค่านิยม 12 ประการในสมัยนี้ ประชาชนก็ควรจดจำเนื้อหาเหมือนกัน เพราะจัดให้แข่งขันกันโดยบอกเลขที่มาตรา คู่แข่งขันต้องท่องเนื้อหาของมาตรานั้นๆ ให้ถูกต้อง

นี่ยิ่งกว่าความอ่อนแอทางอุดมการณ์เสียอีก ต้องเรียกว่าความอับจนทางอุดมการณ์เลยทีเดียว

ความอับจนนี้เกิดจากอะไร ผมไม่คิดว่ามาจากความไม่จริงใจต่อประชาธิปไตยในหมู่ผู้นำคณะราษฎร อย่างที่ความตื้นเขินต่อความเป็นมนุษย์ของนักเขียนไทยมักใช้เป็นท้องเรื่องนิยายอิงประวัติศาสตร์ของตน แม้อุดมคติประชาธิปไตยของพวกเขาอาจไม่ได้ลงรอยกันแนบสนิทไปทั้งกลุ่มก็ตาม

ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี เล่าให้ นายปรีดี พนมยงค์ ฟังที่ปารีสถึงความเสื่อมโทรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม ผู้คนจำนวนมากซึ่งแม้ไม่เคยมาต่างประเทศเลย ต่างไม่พอใจระบบปกครองนั้น

เรื่องนี้จริงอย่างไม่ต้องสงสัย หลักฐานร่วมสมัยในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ชี้ให้เห็นความไม่พอใจของผู้คนที่สั่งสมเพิ่มพูนขึ้นตลอดมา

แต่ “ผู้คน” ที่ไม่พอใจจนอยากจะเปลี่ยนจำกัดอยู่แต่ในหมู่คนชั้นกลางในเมือง (ข้าราชการระดับกลางลงไป กลุ่มวิชาชีพ นักหนังสือพิมพ์-นักเขียน และพ่อค้ากับเกษตรกรที่เข้าสู่ตลาดเต็มตัว เช่น นายเสียง พนมยงค์ บิดาของท่านรัฐบุรุษอาวุโส) ไม่ได้รวมถึงประชาชนทั่วไปในชนบท ซึ่งถึงไม่พอใจต่อระบบปกครองใด ก็คิดแต่จะเปลี่ยนผู้ถืออำนาจมากกว่าเปลี่ยนระบบ

กลุ่มคนชั้นกลางในเมืองซึ่งมีจำนวนกระจิริดเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศนี่แหละ คือฐานกำลังของคณะราษฎร (ไม่ใช่ในการยึดอำนาจนะครับ แต่เป็นฐานกำลังสำหรับการดำเนินนโยบายในการปกครอง) หลังกบฏบวรเดช จำนวนที่จะใช้เป็นฐานกำลังก็อาจจะลดลง

ปราศจากการชี้นำด้านอุดมการณ์ที่ทำกันอย่างเป็นระบบมาก่อน (หรือแม้แต่หลังที่ยึดอำนาจได้แล้ว) อำนาจนำทางอุดมการณ์ของคณะราษฎรก็ยิ่งอ่อนลง

เมื่อคนกลุ่มนี้พอใจจะจัดงานฉลองอำนาจของระบอบใหม่ในฉายาอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ จะมีใครในคณะราษฎรที่จะสามารถทัดทานเพื่อดึงกลับมาสู่อุดมการณ์ใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนได้

 

ความพยายามของคณะราษฎรที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ของระบบใหม่อย่างเป็นระบบประสบความล้มเหลวตลอดมา การตั้งสมาคมคณะราษฎรหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปตามหัวเมืองทั่วประเทศ ถูกหลวงวิจิตรวาทการเปรียญลาพรตซึ่งได้ดิบได้ดีขึ้นมาใต้ระบบเก่าบ่อนทำลายลง เพราะเขารวบรวมขุนนางเก่าตั้งสมาคมคณะชาติขึ้นแข่งขัน และขออนุญาตอย่างเป็นทางการ

รัฐบาลพระยามโนฯ นำความกราบบังคมทูลปรึกษา กลับได้รับพระราชกระแสว่าไม่ควรอนุญาต เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยกในกาลอันไม่เหมาะสม จึงแนะนำให้ยุบเลิกไปทั้งสองสมาคม

คณะราษฎรซึ่งถูกผู้นำในระบบเก่าระแวงว่าเป็นบอลเชวิกแปลงร่างอยู่แล้ว จึงไม่สามารถสร้างฐานมวลชนของตนขึ้นได้

มหกรรมฉลองรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน คณะราษฎรเคยมีนโยบายผลักให้เป็นภาระของภาคประชาชน (ซึ่งหากทำสำเร็จก็เท่ากับเผยแพร่อุดมการณ์ของระบบใหม่ไปในตัว) คณะกรรมการมีหัวแรงหลักคือหลวงวิจิตรวาทการ ซึ่งอาจารย์ ดร.ภูริ ใช้คำว่า “ผันตัวเองมาอยู่กับฝ่ายผู้ก่อการ” หลังชัยชนะของคณะราษฎรเหนือกบฏบวรเดช (เขาคือแมวเก้าชีวิตตัวแรกในการเมืองไทยหลัง 2475 เป็นบรรพชนที่แท้จริงของเนติบริกรและแมวอีกหลายตัวซึ่งนั่งหน้าสลอนอยู่กับคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจได้สำเร็จทุกคณะ)

แนวทางจัดมหกรรมฉลองรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการลอกเลียนมาจากแนวทางที่ราชการเคยจัดมาก่อน แทนที่จะลอกเลียนมหกรรมของประชาชน เช่น ประเพณีสงกรานต์ งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นมหกรรมของรัฐมากกว่าของประชาชน ต้องได้ความร่วมมือจากหน่วยราชการและใช้งบประมาณสูงขึ้นตลอดมา จนในที่สุดก็ต้องยกคืนให้รัฐเป็นผู้จัดตามเดิม

ผมนำเรื่องความอ่อนแอทางอุดมการณ์ของคณะราษฎรมาชวนคุย เพื่อให้ช่วยกันสังเกตว่า ความเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทยระดับ “ถึงรากถึงโคน” แต่ละครั้งสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ล้วนอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า “อ่อนแอทางอุดมการณ์” ทั้งสิ้น

ความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคนซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของคนไทยกว่าครึ่งก็คือ 14 ตุลา ผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาจแบ่งได้เป็นสองส่วน คือคนในกลุ่มชนชั้นนำที่ขัดแย้งกันเองส่วนหนึ่ง และมี “มวลชน” เข้ามาสมทบด้วยอีกส่วนหนึ่ง “มวลชน” เหล่านี้เป็นคนชั้นกลางหรือลูกหลาน ซึ่งถึงไม่ใช่คนของระบบแท้ แต่ก็กำเนิดและเติบโตมากับระบบ

และส่วนนี้คือส่วนที่พยายามสร้างฐานทางอุดมการณ์ รวมทั้งขยายไปในหมู่ประชาชนทุกระดับด้วย อีกทั้งสามารถดำเนินการได้อย่างมีระบบพอสมควร แต่ก็ถูกปราบปรามลงในระยะเวลาอันสั้น ก่อนที่ฐานทางอุดมการณ์จะเข้มแข็งขึ้นจริง แม้กระนั้นก็นำความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาสู่การเมืองไทย นั่นคือการเมืองเปลี่ยนจากการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ กลายเป็นการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ต้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมวลชนด้วย

การเมืองมวลชนเริ่มก้าวที่หนึ่งในการเมืองไทย ซึ่งทำให้ระบบทหาร, ระบบเลือกตั้ง, ระบบอำนาจนิยมของชนชั้นนำ, ฯลฯ ไม่อาจตอบโจทย์ทางการเมืองได้อย่างยั่งยืนสักระบบเดียว การเมืองไทยจึงมีแต่คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

 

ผมคิดว่า ความเคลื่อนไหวของ “เสื้อแดง” (ใช้ในความหมายที่รวมคนหลากหลายจำพวกที่ไม่จำเป็นต้องมีแนวทางทางการเมืองที่ตรงกันอย่างแนบสนิท) เป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับถึงรากถึงโคนอีกครั้งหนึ่ง

ไม่ว่าความเคลื่อนไหวนี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับใด ก็คงจะมองเห็นแล้วว่าเต็มไปด้วยความอ่อนแอทางอุดมการณ์ เช่น เป้าประสงค์ทางการเมืองของผู้เข้าร่วมทุกระดับไม่ได้ตรงกันเลย และด้วยเหตุดังนั้น แกนนำจึงไม่เคยพูดถึงอุดมการณ์อย่างแยกแยะ จนทำให้การเคลื่อนไหวกลายเป็นการปกป้องนักการเมืองหรือพรรคการเมืองบางคนบางพรรคไป

เราคงหาเหตุผลของความอ่อนแอทางอุดมการณ์ให้แก่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยได้หลากหลาย แต่ที่เป็นแกนกลางของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับถึงรากถึงโคนทุกแห่งในโลก เกิดขึ้นได้จากความเปลี่ยนแปลงที่ผู้คนมีต่อความเป็นมนุษย์

ในระยะ 100-200 ปีที่ผ่านมา ความคิดเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของคนไทยเปลี่ยนหรือไม่ ผมคิดว่าเปลี่ยนเหมือนกัน แต่เปลี่ยนไม่แรงพอ

ทัศนะต่อความเป็นมนุษย์ย่อมมาจากศาสนา หรือการตีความคำสอนทางศาสนา ผมไม่มีความรู้จะพูดได้ว่า ทัศนะต่อความเป็นมนุษย์ในพระพุทธศาสนาไทยถูกตีความให้เปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร แต่ก็สังเกตมานานแล้วว่า ความคิดใหม่ๆ ทั้งหลายที่น่าจะทำให้เรามีทัศนะต่อความเป็นมนุษย์เปลี่ยนไป เช่น วิทยาศาสตร์ตะวันตก, ศิลปะและวรรณคดีต่างชาติ, ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม, หรือแม้แต่ระบอบปกครองประชาธิปไตย หรือเผด็จการ ถูกนักปราชญ์ไทยให้ความหมายเชิงพุทธอยู่ตลอดมา

ฐานทางอุดมการณ์ของความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยอ่อนแอตลอดมา จึงไม่พักต้องพูดถึงอิทธิอำนาจของอุดมการณ์นั้นในการเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อความเป็นมนุษย์ของไทย