โมรยา โคสาวี นักบุญแห่งพระคเณศ และที่มาของคำร้อง “โมรยา!” ในงานคเณศจตุรถี

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เทศกาลคเณศจตุรถี ซึ่งในปัจจุบันได้กลายมาเป็นเทศกาลสำคัญอันหนึ่งสำหรับผู้บูชาเทพในบ้านเรา มีการจัดงานกันอย่างแพร่หลาย

เท่าที่ผมทราบ ส่วนมากก็ได้รับรูปแบบมาจากแคว้นมหาราษฎร์ อย่างน้อยๆ ก็มีการปั้นเทวรูป บูชาแล้วก็แห่ไปลอยน้ำอะไรทำนองนี้

ขณะที่บ้านเราก็เริ่มแข่งขันกันด้านความใหญ่โตของเทวรูป ที่น่าสนใจคือในอินเดียเวลานี้กลับกันกับบ้านเรา เพราะเริ่มมีการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

พิธีคเณศจตุรถีจึงเปลี่ยนรูปแบบไปพอสมควร

กล่าวคือ แทนที่จะปั้นองค์ใหญ่ๆ โตๆ เพื่อนำไปบูชาและลอยน้ำ เขากลับเก็บองค์โตไว้ใช้ต่อในปีถัดไป และปั้นองค์เล็กๆ ที่ย่อยสลายง่ายและเป็นมิตรกับธรรมชาติไปลอยน้ำแทน

องค์โตๆ ที่นำไปลอยจึงลดลงมากในระยะหลังๆ มานี้

อีกทั้งใครเจอองค์ไหนแห่มาก็ถามว่า “eco friendly” ไหม ถ้าไม่ละก็กลายเป็นตกเทรนด์ไปเลย

นอกจากประเพณีแห่ที่เราทำกันอย่างเอิกเกริกแล้ว เรายังรับคำขวัญประจำงานมาใช้กันด้วยคือ จะมีต้นเสียงร้องขึ้นว่า “คณปติ บ๊าปปา” (Ganapati Bappa) ผู้รับก็ร้องว่า “โมรยา” (Morya!) บางครั้งก็ร้องขึ้นว่า “มงคลมูรติ” ผู้รับก็ร้องว่า โมรยา เช่นกัน

คำสดุดีที่ขานเสียงดังกันโดยทั่วไปนี้ มักจะไม่ทราบความหมายกัน ก็เดากันว่า คงเป็นคำสดุดีพระคเณศกระมัง ก็ว่าตามกันไปโดยไม่ทราบความหมาย

ที่จริงในช่วงนี้ยังมีคำสดุดีอื่นๆ ที่ใช้กัน เช่น ชัย คเณศ! (Jaya Ganesha!) ซึ่งแปลว่า พระคเณศจงมีชัย แต่อย่างที่บอกครับ ในฝั่งรัฐมหาราษฎร์ เขาใช้คำนี้กันโดยทั่วไป เราจึงรับมา

คำว่า คณปติ เป็นอีกพระนามหนึ่งของพระคเณศ แปลว่า เจ้าแห่งคณะ คณะในที่นี้จะหมายถึงบริวารของพระศิวะ ได้แก่ พวกภูต ยักษ์และคนแคระทั้งหลาย หรือจะหมายถึง “กลุ่มคน” หรือเผ่าก็ได้ หากเราจะตีความในทางโบราณคดี

ส่วนคำบ๊าปปา (เขียนในอักขระวิธีภาษาเดิมว่า พาปปา) แปลว่า พ่อหรือเจ้า ในภาษามาราฐี เหมือนคำว่า อัปปา หรือ ป๊ะป๋า ที่เราเรียกกันนั่นแหละครับ

ส่วนมากคำเรียกพ่อแม่ทั่วโลก ก็ ปะๆ มะๆ เพราะเป็นพยัญชนะที่เกิดในฐานเสียงปาก (โอษฐชะ) มันออกง่ายกว่าฐานเสียงอื่นๆ เด็กทารกจึงออกเสียงจากฐานนี้ได้ก่อน

คำว่า มงคลมูรติ แปลว่า ผู้มีรูปอันเป็นมงคล ก็เป็นอีกพระนามหนึ่งที่รู้จักกันโดยทั่วไปของพระคเณศ

แต่คำนี้มีความหมายพิเศษสำหรับชาวมหาราษฎร์ที่นับถือพระคเณศ เพราะยังเป็นพระนามของเทวรูปพระคเณศองค์หนึ่งที่สำคัญ

และคำที่เราไม่รู้ความหมายที่สุด คือคำว่า โมรยา

คํานี้แปลว่า “นกยูง” ในภาษามาราฐี (บาลี สันสกฤตว่า โมระ) แต่เขาไม่ได้หมายถึงนกยูงตรงๆ หรอกครับ เพราะที่จริง ชื่อนี้เป็นชื่อของนักบุญที่สำคัญที่สุดองค์หนึ่งอันเป็นสาวกของพระคเณศ หรือเป็นผู้นำนิกายคาณปัตยะ ชื่อ “โมรยา โคสาวี” (Morya Gosavi)

แล้วเหตุไฉนจึงต้องนำเอาชื่อของนักบุญท่านนี้มาเปล่งเสียงพร้อมพระคเณศด้วย?

สันนิษฐานว่า โมรยา โคสาวี มีชีวิตในช่วงประมาณ คริสต์ศตวรรษที่ 14-17 (นักวิชาการอินเดียยังไม่ปลงใจในเรื่องนี้) เดิมท่านมีที่พำนักอยู่ในแคว้นกรรณาฏกะ และย้ายขึ้นมาอยู่ในแถบมหาราษฎร์ในภายหลัง

ว่ากันว่า บิดามารดาของโมรยาได้รับพรจากเทวสถานพระคเณศองค์หนึ่ง ชื่อ “มยุเรศวร” แปลว่าเจ้าแห่งนกยูง เพราะตำนานในปุราณะกล่าวว่า พระคเณศเคยทรงนกยูงไปปราบอสูร เทวสถานแห่งนี้อยู่ที่หมู่บ้านโมเรคาว (คาวภาษามาราฐี หมายถึง ครามในภาษาสันสกฤต แปลว่าหมู่บ้าน) ท่านจึงได้ชื่อว่าโมรยา ที่แปลว่านกยูง

โมรยามีความศรัทธาในพระคเณศเป็นพิเศษ และได้ออกบวชเป็นสันยาสี ธุดงค์ไปยังเทวสถานต่างๆ ของพระคเณศ

ตำนานเล่าว่า ท่านได้ช่วยเหลือผู้คนไว้มากมายโดยอภินิหารนานาประการ

แต่สุดท้าย พระคเณศมีบัญชาให้ท่านแต่งงานทั้งๆ ที่ท่านเป็นสันยาสี ท่านจึงมีสร้อยนามว่า “โคสาวี” (สันสกฤตใช้ว่า โคสวามี) ซึ่งใช้สำหรับนักบวชสาธุที่มีภรรยา หรือเคยผ่านการแต่งงานมาก่อน (หากยังไม่แต่งมักใช้ว่า สวามี)

ท่านต้องเดินทางไป-กลับ ระหว่างที่พำนัก คือที่จิญจาวัฑ ไปยังโมเรคาวเป็นประจำ ซึ่งมีระยะทางหลายสิบกิโลเมตร ว่ากันว่าเมื่อท่านชราภาพมากแล้ว พระคเณศได้มาปรากฏแก่ท่านและมีบัญชาให้ท่านไม่ต้องเดินทางมายังโมเรคาวอีก โดยพระองค์จะเสด็จไปหาท่านเอง

วันหนึ่งโมรยา โคสาวี กำลังอาบน้ำที่แม่น้ำใกล้ที่พำนัก ท่านก็ล้วงลงในแม่น้าได้หินก้อนหนึ่ง มีลักษณะเช่นเดียวกับพระคเณศ ตำนานว่า บรรดาทวยเทพต่างพากันเปล่งเสียง “มงคลมูรติ โมรยา!”

เทวรูปองค์นั้นจึงได้นามว่า มงคลมูรติ และการเปล่งนามของนักบุญโมรยา โคสาวี ควบคู่ไปด้วยจึงเกิดขึ้นในเวลานั้นเอง

ผมได้เคยไปเยือนและยังได้มีโอกาสเห็นพระมงคลมูรติ ซึ่งยังประดิษฐานอยู่ที่ “มงคลมูรติวาฑา” ในจิญจาวัฑ และได้ฟังเรื่องเล่าข้างต้นจากพราหมณ์ที่นั่น

ท่านโมรยามีบุตรชายหนึ่งคน ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากเช่นกันชื่อท่านศรีจินตามณีมหาราช (มหาราช หมายถึงพระคุณท่าน) ว่ากันว่า พระคเณศพระนามว่า จินตามณี ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเถอูร ได้อวตารมาเป็นท่านผู้นี้

ตำนานเล่าอีกว่า ท่านจินตามณีได้พบกับนักบุญชาวมาราฐีองค์อื่นๆ คือท่านตุการาม และท่านรามทาส (ที่จริงอยู่คนละยุคสมัยกัน) ก็ได้ประลองฤทธิ์ ต่างฝ่ายก็ขอให้เชิญพระเป็นเจ้าของตนเองมากินเลี้ยง ตุการามก็เชิญพระกฤษณะ รามทาสก็สามารถเชิญพระรามมากินเลี้ยงได้

ส่วนท่านศรีจินตามณี กลับกลายเป็นพระคเณศเสียเอง เพราะท่านไม่ได้เป็นเพียงสาวก แต่คือพระเป็นเจ้าเอง

ดังนั้น นักบุญตุการามจึงเรียกท่านว่า เทวะ (dev) ที่แปลว่าเทพ ทำให้ผู้สืบตระกูลนี้ ใช้นามสกุลว่าเทวะ หรือเดว (dev- deo) มาจนถึงปัจจุบัน

นิกายคาณปัตยะเชื่อว่า พระคเณศที่สำคัญทั้งแปดองค์ คือ อัษฏวินายกะ ได้เกิดเป็นคนในตระกูลนี้ถึงแปดรุ่น ดังนั้น หากไม่ได้ไปอัษฏวินายก แค่ไปเยือนที่ฝังศพของท่านเหล่านี้ก็เท่ากับว่าได้เยือนอัษฏวินายกจนครบ

อันนี้เป็นความเชื่อเฉพาะในนิกายนี้เท่านั้นนะครับ แม้แต่ท่านโมรยาโคสาวีเองก็นับถือกันว่า ตัวท่านเป็นพระมยุเรศวรอวตาร ดังนั้น การยาตราแสวงบุญอัษฏวินายก จึงต้องเริ่มต้นด้วยเทวสถานมยุเรศวรก่อนที่อื่น

ผมได้เคยพบทายาทของตระกูลนี้ คือท่านศรีธรณีธร เทวะ ท่านว่าท่านเป็นรุ่นที่สิบสี่ (ซึ่งไม่ใช่สายตรง เพราะนับจากทายาทรุ่นที่แปด ก็ไม่มีผู้สืบสกุลในสายตรงอีก) และมีธรรมเนียมว่า เฉพาะคนในตระกูลนี้เท่านั้น ที่จะขึ้นเป็นประมุขของนิกายคาณปัตยะได้

ท่านโมรยา โคสาวี ได้เลือกการเข้า “สัญชีวันสมาธิ” คือ เข้าไปในอุโมงค์ปิดตายทั้งเป็น อุโมงค์นั้นได้มีการสร้างเทวสถานครอบไว้ด้านบน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมงคลมูรติวาฑานัก บางท่านก็เชื่อว่า ท่านได้เสียชีวิตในอุโมงค์นั้น แต่หลายคนก็เชื่อกันว่า ท่านยังมีชีวิตทำมหาสมาธิอยู่ในอุโมงค์นั้นเอง

ดังนั้น การเปล่งนาม “คณปติ บ๊าปปา โมรยา” จึงเป็นการแสดงความรักต่อทั้งพระคเณศและสาวกของท่าน และถือว่า สาวกผู้ภักดีย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าเสมอ

เกียรติยศนี้ มีไว้สำหรับผู้มีศรัทธาบริสุทธิ์ต่อพระเจ้าที่เขารัก เพราะปลายทางของศาสนาฮินดูในระดับสุดท้าย คือการได้รวมเป็นหนึ่งกับพระเป็นเจ้า หรือสัจธรรมสูงสุดนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อใดเปล่งคำนี้ ขอให้ทราบที่มา และระลึกถึงมโนคตินี้เสมอครับ

มิฉะนั้น พิธีกรรมทุกอย่างที่เราทำเป็นได้แค่ “เถรส่องบาตร” แถมส่องจนจะทะลุแล้ว ก็ยังหาประโยชน์แก่จิตวิญญาณมิได้

มงคลมูรติ โมรยา!