มุกดา สุวรรณชาติ : มองปัญหาฮ่องกง ถึง…ไทย ใต้ soft power ของจีน “ปมปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็ง”

มุกดา สุวรรณชาติ

วิกฤตการเมืองในฮ่องกงที่เกิดจากการประท้วงของประชาชนจำนวนมากทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันว่า

การประท้วงครั้งนี้ถูกต้องหรือไม่ ทำไมประชาชนฮ่องกงจึงประท้วง

จีนจะแก้ปัญหาอย่างไร?

จะใช้กำลังอาวุธปราบหรือไม่?

 

ชาวฮ่องกงไม่เหมือนชาวจีนแผ่นดินใหญ่

ฮ่องกงอยู่แบบจีนมาเป็นพันปี จึงถูกอังกฤษเข้ายึดครองกว่า 1 ศตวรรษ

และเมื่อฮ่องกงได้กลับคืนสู่จีนในปี ค.ศ.1997 (2540) จนถึงวันนี้ คนรุ่นเก่าก็ตายไปหมดแล้ว

คนฮ่องกงที่มีอายุต่ำกว่า 100 ปี ก็มีวิถีชีวิตและความคิดแบบจีนผสมอังกฤษ

เป็นการผสมผสานวัฒนธรรม 2 ชาติ จนกลายเป็นชาวฮ่องกงที่ใช้ภาษาจีนกวางตุ้ง แต่เรียนและสามารถใช้ภาษาอังกฤษทั้งพูดและเขียน เพราะถือเป็นอีกหนึ่งภาษาราชการด้วย

ชื่อคนฮ่องกงก็เป็นยังจีนปนอังกฤษ เช่น จอนหนี่ หลิว

แต่ก็มีคนฮ่องกงใหม่ที่ทะลักเข้ามาจากจีนเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง และยังมีความเป็นจีนมากกว่า ทำให้เขตพิเศษแห่งนี้มีคนหนาแน่นมากถึง 7,000,000 คน

ภาพที่เราเห็นในย่านท่องเที่ยว เป็นแค่หน้าตาของฮ่องกง เป็นพื้นที่ส่วนน้อย ชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ที่สวยงามอย่างนั้น

เขตพิเศษฮ่องกง มีพื้นที่รวม 1,096.63 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เกาะฮ่องกง (80.30 ตร.ก.ม.) เกาลูน (46.71 ตร.ก.ม.) เขตดินแดนใหม่ (New Territories) และเกาะอื่น ๆ (969.62 ตร.ก.ม.)

หลังจากจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น 2 ครั้ง เกาะฮ่องกงและดินแดนตอนปลายคาบสมุทรเกาลูนจึงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี ค.ศ.1842 และ ค.ศ.1860

หลังสงครามฝิ่นครั้งที่สองนี่เอง อังกฤษได้บีบบังคับให้จีนทำสัญญาในปี ค.ศ.1898 โดย “เช่าระยะยาว” พื้นที่ทางตอนใต้ของลำน้ำเซินเจิ้น ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเขตนิวเทร์ริทอรีส์ รวมทั้งเกาะรอบข้าง ทำให้สามารถขยายเขตปกครองไปเกือบสิบเท่า

ระยะเวลาเช่าคือ 99 ปี วันหมดสัญญาคือ 30 มิถุนายน พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997)

มีการทำพิธีส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2540 แต่ต่อมาวันที่ 26 กันยายน ผู้นำทั้งสองประเทศเจรจาและลงนามในสัญญา โดยมีสาระสำคัญว่า อังกฤษจะยอมส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน

และจีนให้สัญญาว่าจะยอมให้ฮ่องกงอยู่ในฐานะ “เขตปกครองตนเอง” ภายใน 50 ปี

ณ ช่วงเวลาปี 1997 ด้วยทำเลอันเหมาะสม เกาะฮ่องกงยังมีฐานะเป็นเมืองท่าการค้าระหว่างประเทศ ฐานการผลิต และศูนย์กลางการเงินและเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความน่าเชื่อถือในทางสากลสูงมาก ทั้งเรื่องกฎหมาย ศาล ระบบธุรกิจ

ในขณะที่จีนเพิ่งเปิดประเทศได้สิบกว่าปี ฮ่องกงจึงยังเป็นประตูใหญ่และสะพานเชื่อมที่จีนต้องการ

ดังนั้น จีนจึงยอมบริหารและปกครองฮ่องกงในรูปแบบพิเศษกว่าที่อื่นในจีน ซึ่งจีนและอังกฤษได้ประโยชน์ทั้งคู่

กระแสการย้ายหนีจากฮ่องกงหมดไป และกลับเจริญพุ่งไปพร้อมกับจีน

รัฐบาลจีนใช้นโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ปกครองฮ่องกง ให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ รัฐบาลจีนได้กำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2540 จนไปถึง 30 มิถุนายน พ.ศ.2590

หลังจากนั้นฮ่องกงจะเปลี่ยนไปปกครองแบบเมืองอื่นๆ ของจีน

 

คนฮ่องกง
เคยชินกับชีวิตและเสรี
ภายใต้การปกครองของอังกฤษ
นาน 155 ปี

ชาวฮ่องกงได้ตกเข้ามาอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษตั้งแต่ปี 1842 เป็นการเปลี่ยนระบอบนานมาก ก่อนรัสเซียซึ่งปฏิวัติปี 1907 นานถึง 65 ปี นานกว่าจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ในปี 1949 เพราะถึงตอนนั้นอังกฤษปกครองฮ่องกงมานาน 107 ปี และถ้านับถึงวันสิ้นสุดระบบอาณานิคม ตามสัญญาเช่า คือ 155 ปี ถ้านับถึงปัจจุบัน คือ 177 ปี คนที่อยู่มาดั้งเดิมสืบทอดกันมาถึง 6 รุ่น พวกที่มาทีหลังก็สืบทอดมา 5 รุ่น 4 รุ่น 3 รุ่น

หลังการปฏิวัติ 1949 ชีวิตของคนจีนที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่ก็ยังยากลำบาก ช่วงนั้นคนจีนอพยพเข้าฮ่องกงมากขึ้น การอยู่ในฮ่องกงอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษอาจจะต่ำต้อยด้อยค่าในเรื่องศักดิ์ศรี แต่ที่ฮ่องกงชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าในประเทศจีน ซึ่งอยู่ในภาวะสงครามปฏิวัติยาวนาน

หลังจากปฏิวัติสำเร็จแล้วชีวิตในประเทศจีนก็มิได้มีความสุขสบาย มหาอำนาจปิดล้อมทางเศรษฐกิจต่อจีน ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นประตูทางเข้า-ออกที่สำคัญ คนจากเมืองไทยจะไปเยี่ยมญาติ จะเอาจักรเย็บผ้า หม้อหุงข้าว โทรทัศน์ ก็ต้องผ่านฮ่องกง

เมื่อคนฮ่องกงเปรียบเทียบชีวิตตัวเองกับชีวิตคนจีนในผืนแผ่นดินใหญ่ก็รู้สึกว่าตัวเองมีชีวิตที่สุขสบายมากแล้ว ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนยิ่งทำให้คนจีนลำบากขึ้น ชาวบ้านยังไม่ได้ลืมตาอ้าปาก ระบบใหม่ยังไม่สามารถทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีได้ ประชาชนยังต้องอยู่อย่างแร้นแค้น

ต้องรออีก 30 ปีผ่านไป จึงพอมองเห็นแสงสว่าง เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเปลี่ยนนโยบายบริหารประเทศ-ในปี ค.ศ.1978 (2521)

มีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น (Shenzhen), จูไห่ (Zhuhai), เซี่ยเหมิน (Xiamen) และซัวเถา (Shantou)

มีการใช้นโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” (One Country Two Systems)

ส่วนผลกระทบในด้านลบคือมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รายได้ ระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มสูงมากขึ้น มณฑลริมทะเลทางตะวันออกมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และมีเศรษฐกิจดีกว่าดินแดนหรือมณฑลทางตอนใน ทางตะวันตกอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาทางสังคม มีการอพยพของประชากรเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่

แม้ชีวิตคนจีนจะดีขึ้น แต่คนฮ่องกงก็ยังรู้สึกว่าที่นี่ดีกว่า จึงไม่มีข่าวว่าชาวฮ่องกงแห่กันเข้าไปอยู่ในจีน มีแต่คนจีนแอบเข้าฮ่องกง

 

สภาพชีวิตคนจนในฮ่องกง
ยังยากลำบาก คือแรงกดดัน

แต่ชีวิตคนฮ่องกงไม่ได้เป็นชีวิตที่สวยหรูสวยงามเหมือนกับภาพที่เราเห็นในเขต Shopping หรือเขตท่องเที่ยว

คนส่วนใหญ่ยังต้องอยู่อย่างลำบากยากจน

ทีมวิเคราะห์เคยไปเยี่ยมญาติ พบว่าคนที่ไม่ได้อยู่บนเกาะฮ่องกงมีจำนวนมาก เช้า-เย็นต้องนั่งเรือไปยังเกาะเล็กๆ เหมือนเราออกไปต่างจังหวัด และบ้านที่อยู่อาศัยแม้จะอยู่ข้างนอกก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีพื้นที่มากกว่า เนื่องจากพื้นที่เกาะเหล่านั้นเล็กมาก

ครอบครัวก็ต้องนอนเตียง 2 ชั้น 3 ชั้นเหมือนกับคนที่อยู่ในเมือง

บางส่วนอยู่ในเขตเช่า New Territories ที่ไกลออกไปก็ต้องนั่งรถออกไปไกลพอสมควร มีแฟลตที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่มีฐานะยากจน

การเคลื่อนไหวให้มีชีวิตของฮ่องกง จึงดำเนินไปได้ด้วยแรงงานเหล่านี้ เช้าออกจากที่อยู่อาศัยเข้าสู่เขตที่ทำการผลิต เขตร้านค้า เขตธุรกิจการเงิน เขตท่องเที่ยว เย็นก็กลับไปหลับนอนยังที่พักของตนเอง

มีน้อยคนที่จะได้อยู่อย่างสวยหรูสุขสบาย มีอพาร์ตเมนต์สะอาดดูดี

คนส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่แออัด ต้องทำเตียงนอนซ้อนหลายชั้น

ห้องครัวห้องส้วมอยู่ปนกัน

คุณจะเห็นภาพที่นำมาเผยแพร่ที่เรียกว่าบ้านกรงหมา แต่ที่จริงคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อยู่ลำบากขนาดนั้น

แต่ค่าเช่าห้องพักที่ฮ่องกงสูงมาก แพงกว่าในนิวยอร์กและลอนดอน พนักงานที่อยากอยู่ในเมือง ทำไม่ได้ เพราะค่าเช่าคือครึ่งหนึ่งของเงินเดือน

ชีวิตของคนหนุ่มสาวที่จะสร้างตัวใหม่ยังมองไม่เห็นโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่แบบมีมาตรฐาน

วิเคราะห์ว่านี่เป็นความล้มเหลวทางเศรษฐกิจจากการบริหารของรัฐบาลฮ่องกงที่ผ่านมาในหลายสมัย จาก…แม่อังกฤษ ซึ่งฝังรากลึกมานับตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคม และระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็สร้างความร่ำรวยแก่ชนชั้นสูงในอังกฤษเท่านั้น

จนมาถึง…แม่จีน ก็ยังเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด คนฮ่องกงจึงรู้สึกว่า แม่จีนก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น เพราะระบบที่ใช้ในรอบ 100 ปีนี้ คือ…

ระบบเศรษฐกิจเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอาสร้างความไม่ยุติธรรมเพิ่มมากขึ้น กลไกตลาดที่ไร้การควบคุม ทำให้ธุรกิจมีทั้งเหนือดินใต้ดิน ได้สร้างช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้ค่าแรงถูก แต่ค่าใช้จ่ายสูง สร้างความร่ำรวยให้กับการลงทุนเก็งกำไร มีบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่รายที่ครอบครองเศรษฐกิจ นี่คือเชื้อเพลิงความขัดแย้งที่สุมมากขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งซึ่งชาวฮ่องกงคิดว่ามีมากกว่าชาวจีนและยังต้องมีแบบเดิมคือเสรีภาพ เมื่อถูกกระทบจึงเหมือนไม้ขีดที่จุดติด และเมื่อจุดติด มันก็ลามไปถึงเชื้อเพลิงที่สุมอยู่นานแล้ว คือปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ คนหนุ่มสาวไม่พอใจกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ไม่มีความหวังที่จะสร้างครอบครัวได้ พวกเขาอยากได้รัฐบาลฮ่องกงที่ทำประโยชน์ให้คนฮ่องกง

คนฮ่องกงอยู่กับเสรีภาพแบบอาณานิคม 155 ปี ย่อมหาทางต่อสู้ให้ได้ชีวิตที่ดีที่สุด การประท้วงเป็นการเรียกร้องทางเดียวที่พวกเขาคิดได้ แต่จะได้ผลแค่ไหนยังไม่รู้

แต่สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีทางเลือกในการแก้ปัญหา เมื่อปกครองแผ่นดินใหญ่ที่มีคน 1,400 ล้าน 70 ปีที่ผ่านมาก็ต้องปรับนโยบายเพื่อให้การปกครองอยู่ได้ พรรคอยู่รอด ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น เรื่องคอมมิวนิสต์ก็เหลือเพียงชื่อเท่านั้น ฮ่องกงเป็นปัญหาเล็กที่แทรกเข้ามาในยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีน

 

จีนจะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร

ภาพการประท้วงที่เราเห็นเกิดขึ้น ณ ใจกลางของฮ่องกงตามข่าวมีจำนวนนับล้านคน เทียบกับคนฮ่องกงตามตัวเลขปัจจุบันซึ่งมีประมาณ 7 ล้านก็ถือว่าเยอะมาก ถ้านับตามสัดส่วนประชากร อาจจะนับว่าเป็นการประท้วงที่มีประชาชนมาเยอะที่สุดในโลกก็ว่าได้

การประท้วงตอนนี้พุ่งเป้าไปที่รัฐบาลผู้บริหารฮ่องกง แต่ที่มากไปกว่านั้นก็คือการประท้วงต่อนโยบายของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจการปกครองที่เข้มแข็งและมากที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง ปกครองประชาชนมากที่สุดในโลก ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลจีนจะจัดการกับการประท้วงในเกาะฮ่องกงจึงมีคนวิตกกันว่ารัฐบาลจีนจะใช้กำลังปราบแบบกรณีเทียนอันเหมิน

แต่ผู้วิเคราะห์มองว่า

1. โอกาสจะเกิดแบบกรณีเทียนอันเหมิน คงไม่เกิดขึ้นที่เกาะฮ่องกง มิใช่รัฐบาลจีนไม่มีกำลังเข้ามาปราบปรามได้ แต่เรามองว่ารัฐบาลจีนฉลาดกว่านั้น เพราะเคยได้รับผลกระทบทางการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้รัฐบาลจีนจะต้องระมัดระวังการใช้อำนาจมากขึ้น จีนสามารถใช้ soft power เล็กๆ จัดการกับปัญหาฮ่องกงได้ (ซึ่งจะพูดถึงรายละเอียดทีหลัง)

2. ที่สำคัญคือ จีนเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ One Belt One Road (OBOR) หรือที่เรียกว่ายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายที่จะเชื่อมจีนเข้ากับส่วนอื่นๆ ของเอเชียกับยุโรป และแอฟริกา ผ่านการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทางบกและทะเล เพื่อกระตุ้นการค้าของจีนให้ไปไกลที่สุดทางเศรษฐกิจ

จีนวันนี้มีการผลิตที่ล้นเกิน มีเงินเก็บมากมาย แต่คนเป็นพันล้านต้องทำงาน หยุดระบบไม่ได้ จีนจึงต้องหาทรัพยากร วัตถุดิบ และตลาดในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อระบายสินค้า หาทางลงทุนในการก่อสร้างในต่างประเทศโดยใช้แรงงานจีน วัสดุจีน เพื่อสร้างการงานให้คนจีน และเพื่อแปลงทุนสำรองและพันธบัตรสหรัฐที่จีนถือไว้ให้เป็นสินทรัพย์ที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น ท่อส่งน้ำมัน ถนน รางรถไฟ ท่าเรือในพม่า และในประเทศต่างๆ

3. แนวทางใหญ่ของจีนคือ… ยามศึกต้องพร้อมรบ ยามสงบต้องค้าขาย… ดังนั้น เป้าหมายทางการเมืองและความมั่นคง และเศรษฐกิจของจีนจึงต้องเดินไปคู่กัน ซึ่งจะทำได้ด้วย soft power

การตอบโต้แรงกดดันของสหรัฐต่อจีนในทะเลจีนใต้ จีนก็ใช้ soft power เพื่อไม่ให้มีภาพว่าเป็นภัยคุกคามเพื่อนบ้าน ด้วยการเสนอนโยบาย OBOR ในรูปการลงทุนด้านถนน รถไฟ ท่าเรือ ไทยก็ได้รับการเสนอแบบนี้ แม้แต่เรื่องการขุดคลองเชื่อมอ่าวไทยกับมหาสมุทรอินเดีย

(ต่อฉบับหน้า)