“นอร์เวย์” กับจุดสิ้นสุดของวิทยุเอฟเอ็ม

“เอฟเอ็ม บรอดแคสติ้ง” หรือการออกอากาศด้วยการเปลี่ยนคลื่นความถี่ “ฟรีเควนซี่ โมดูเลชั่น” ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อกว่า 80 ปีก่อน โดยวิศวกรชาวอเมริกันนามว่า “เอ็ดเวิร์ด อาร์มสตรอง”

“เอฟเอ็ม” คิดค้นขึ้นเพื่อมาแทนที่การออกอากาศแบบ “เอเอ็ม” หรือ “แอมพลิจูด โมดูเลชั่น” ด้วยข้อได้เปรียบในการออกอากาศที่ให้เสียงที่มีคุณภาพและชัดเจนมากกว่า

ทำให้สถานีเพลงมักจะหันมาใช้ระบบออกอากาศแบบเอฟเอ็ม นิยมที่จะออกอากาศในความถี่คลื่นเสียงที่ 87.5 จนถึง 108.0 เป็นหลัก เริ่มต้นออกอากาศเป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1945 ก่อนจะได้รับความนิยมไปทั่วโลก เป็นสถานีวิทยุเอฟเอ็มอย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม โลกของการถ่ายทอดเสียงผ่านทางวิทยุกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง เมื่อประเทศ “นอร์เวย์” ได้กลายเป็นประเทศแรกที่เริ่มแผนยุติการออกอากาศวิทยุเอฟเอ็ม เป็นประเทศแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หากเป็นไปตามแผน เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา การออกอากาศวิทยุเอฟเอ็มในเมืองนูร์แลนด์ ตอนเหนือของประเทศนอร์เวย์ จะถูกยุติลงในเวลา 11.11 น. ตามเวลาท้องถิ่น

และจะออกอากาศในระบบดิจิตอล (ดีเอบี) แทนที่

 

กลุ่มผู้สนับสนุนการออกอากาศในระบบดิจิตอลให้เหตุผลว่าการออกอากาศใน “ระบบดีเอบี” จะให้คุณภาพเสียงที่ดีมากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันกับที่สามารถเปิดช่องสถานีได้มากขึ้น โดยใช้งบประมาณเพียง 1 ใน 8 ของการออกอากาศแบบเดิม

ด้านหน่วยงานของรัฐก็ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว โดยระบุว่า ระบบดีเอบี จะช่วยให้ผู้ฟังติดตามข่าวสารได้ครบถ้วนมากขึ้น สามารถติดตามฟังย้อนหลังรายการที่พลาดไปได้ และจะสามารถกระจายข่าวสารในยามฉุกเฉินได้ง่ายขึ้น

ประเทศ “นอร์เวย์” ประเทศที่เปิดกว้างด้านเทคโนโลยี เตรียมการเปลี่ยนผ่านมานานนับปี โดยออกอากาศสถานีวิทยุในระบบเอฟเอ็ม และระบบดิจิตอลควบคู่กันมาตั้งแต่ปี 1995 แล้ว โดยปัจจุบันมีช่องสถานีวิทยุแห่งชาติจำนวน 22 สถานี ออกอากาศร่วมกับสถานีย่อยอีกราว 20 สถานี ขณะที่คลื่นความถี่ในแบบเอฟเอ็มนั้น มีเพียงพอสำหรับการออกอากาศสถานีวิทยุแห่งชาติได้เพียง 5 สถานีเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงแน่นอนว่านำไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่ในอีกแง่ ก็ก่อให้เกิดคำถามมากมายตามมาเช่นกัน

 

ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจัดทำโดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนอร์เวย์ พบว่า ประชาชนชาวนอร์เวย์ถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยกับการยุบเลิกการออกอากาศแบบเอฟเอ็ม ขณะที่มีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นด้วย

แม้ว่าในปัจจุบันประชากรชาวนอร์เวย์ 3 ใน 4 จะมีอุปกรณ์สำหรับรับสัญญาณออกอากาศแบบดีเอบีแล้วก็ตาม แต่ผู้ใช้รถใช้ถนนยังคงไม่พอใจกับมาตรการดังกล่าวเนื่องจากมีรถเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีวิทยุที่รับสัญญาณดีเอบีได้

รายงานของเอเอฟพีระบุว่า การแปลงระบบรับสัญญาณวิทยุในรถให้สามารถรับสัญญาณระบบดีเอบีได้นั้นจำเป็นต้องใช้ “อะแด็พเตอร์” ที่มีราคาราว 4,100 ถึง 8,200 บาท หรือไม่ก็ต้องซื้อวิทยุใหม่มาติดตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเลยทีเดียว

แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวลดต้นทุนให้กับผู้ออกอากาศสัญญาณ แต่ค่าใช้จ่ายกลับตกมาอยู่ที่ผู้ฟัง

 

อย่างไรก็ตาม โอเล ชอร์เชน ทอร์ฟมาร์ก ผู้อำนวยการบริษัทดิจิตอลเรดิโอนอร์เวย์ บริษัทภายใต้หน่วยงานแพร่ภาพกระจายเสียงสาธารณะนอร์เวย์ ยืนยันว่า เวลานี้เป็นเวลาที่ถูกต้องแล้วสำหรับการเปลี่ยนผ่าน

“เป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งใหญ่ จะเกิดคำถามยุ่งยากและคำวิพากษ์วิจารณ์” แต่ “ผู้ฟังส่วนใหญ่นั้นพร้อมแล้ว” ทอร์ฟมาร์ก ระบุ พร้อมเสริมว่า “ทุกๆ สัปดาห์ผู้ฟังมากกว่า 2.1 ล้านคน หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ฟังทั่วประเทศ ฟังสถานีที่จะไม่มีอยู่หากไม่มีการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีครั้งนี้”

อีกเหตุผลที่ชัดเจนที่ทำให้นอร์เวย์ก้าวนำหน้าประเทศอื่นๆ ในโลกก็คือ งบประมาณจำนวนมากที่จะต้องใช้ในการลงทุนส่งสัญญาณเอฟเอ็มไปยังประชากรกลุ่มเล็กๆ ที่กระจายตัวอยู่ในภูมิประเทศที่เต็มไปด้วย “ฟยอร์ด” และ “ภูเขาสูง” นั้นเป็นสิ่งที่คุ้มค่า

ย่างก้าวดังกล่าวของ “นอร์เวย์” นั้นจะเป็นที่จับตาของหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคยุโรปอย่างสวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และอังกฤษ ที่เตรียมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่การออกอากาศในระบบดิจิตอลเช่นเดียวกัน

โดยอังกฤษนั้นตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนผ่านเป็นระบบดีเอบี เมื่อประชากรมีอุปกรณ์วิทยุรับสัญญาณดีเอบีในสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม สำหรับบางประเทศอย่างฝรั่งเศส ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะก้าวไปสู่การออกอากาศแบบดีเอบีในเร็วๆ นี้ ขณะที่ประเทศเยอรมนีนั้นล้มเหลวที่จะชักจูงให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงและควักกระเป๋าซื้อวิทยุเครื่องใหม่ จำต้องล้มพับแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบบดีเอบี ตามกำหนดในปี 2015 ลง

ปล่อยให้นอร์เวย์ กลายเป็นประเทศแรกที่จะกรุยทางตัวอย่าง “โลกใหม่” ของเทคโนโลยีการออกอากาศวิทยุไปก่อน