แมลงวันในไร่ส้ม /สดับเสียงจาก ‘สื่อ’ ฟันธง ‘บิ๊กตู่’ ได้เปรียบ เลือกนายกฯ ปลาย พ.ค.

แมลงวันในไร่ส้ม

สดับเสียงจาก ‘สื่อ’

ฟันธง ‘บิ๊กตู่’ ได้เปรียบ

เลือกนายกฯ ปลาย พ.ค.

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกผ่านพ้นไปท่ามกลางความประทับใจของคนไทยที่ได้เข้าเฝ้าฯ ชมพระบารมีด้วยตนเอง และติดตามผ่านสื่อต่างๆ

แวดวงการเมืองร่วมถวายความจงรักภักดี ด้วยการสมัครเข้าเป็นจิตอาสาช่วยเหลืองานพระราชพิธี ไปเฝ้าชมพระบารมีในวันเสด็จฯ เลียบพระนคร และวันที่เสด็จออกสีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ และอื่นๆ

หลังจากนั้น การเมืองคงกลับมาเข้ากระบวนการตามปฏิทินต่อไป

ได้แก่ การรับรองผลการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง การทูลเกล้าฯ รายชื่อสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน

ในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จากนั้น แต่ละสภาจะเลือกประธานของตนเอง

ก่อนจะกลับมาประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคพันธมิตรยืนยันสิทธิในฐานะพรรคที่ประชาชนเลือกเข้ามามากที่สุด

แต่กระแสโดยทั่วไปเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งการที่รัฐธรรมนูญ และกฎกติกาต่างๆ ดีไซน์มาเพื่อการนี้ ทั้งจากการสนับสนุนของ ส.ว. 250 คนที่ คสช.เป็นผู้มีบทบาทกำหนด และขั้วพรรคพลังประชารัฐในสภา ที่จับมือกับพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และคาดว่าสุดท้ายจะมีพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมกับพรรคขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง

 

สถานการณ์ต้นเดือนพฤษภาคม จะเห็นความเคลื่อนไหวของ รมต.ในรัฐบาลบิ๊กตู่ เก็บของ เตรียมย้ายงานไปเป็น ส.ว.กันหลายคน

ส่วนที่จะได้ไปต่อ ได้นั่ง ครม.กับ พล.อ.ประยุทธ์ จะเหลือไม่กี่ราย เพราะรอบนี้มีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง จะต้องจัดสรรโควต้าหลายเก้าอี้ให้ไป

และตามธรรมชาติ คนอยากนั่งเก้าอี้ รมต. ก็มีมากกว่าตำแหน่ง รมต.อยู่แล้ว

การจัดให้ลงตัวจึงยาก และจะต้องมีการวิ่งเต้นต่อรองกันฝุ่นตลบพอสมควร

ก็จะได้เห็นกันว่า การเมืองหลังแช่แข็งประเทศ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” มา 5 ปี จะส่งผลต่อคุณภาพของรัฐบาลใหม่อย่างไร

ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ วิเคราะห์เรื่อง “ลุงตู่” ชัวร์ ครม.ต้องรีบ ลงในไทยรัฐออนไลน์ และฉบับพิมพ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม มีสาระบางตอนว่า รัฐมนตรีนับสิบรายในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ที่รู้ตัวชัวร์แล้วว่า ไม่ได้ “ตั๋ว” ไปต่อกับรัฐบาล “นายกฯ ลุงตู่” รอบสองทยอยลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เก็บของออกจากห้องทำงาน เคลียร์สมบัติส่วนตัว เตรียมสลับฉากไปนั่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

ว่ากันว่าจะเหลือรัฐมนตรีประมาณ 10 คน อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ฯลฯ

บทวิเคราะห์-รายงานชิ้นเดียวกันระบุต่อไปว่า อาศัยช่วงการเมืองนิ่ง ชิงเหลี่ยมเล่นเร็ว ตามปฏิทิน “ไทม์ไลน์” ที่รู้กันในหมู่คณะรัฐมนตรีและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะมีการทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อ ส.ว. 250 คน ในวันที่ 10 พฤษภาคม

วันที่ 23 พฤษภาคม อาจจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา

และคาดกันว่าจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 พฤษภาคม

จากนั้นจะทูลเกล้าฯ ถวายรายชื่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 มิถุนายน โดยคาดว่า ครม.ใหม่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 18 มิถุนายน

“ไทม์ไลน์” ล็อกวันเวลาชัดขนาดนี้

ถ้าไม่มีเหตุ “ฟ้าผ่าเปรี้ยง” กลางวันแสกๆ ขายบ้านแทงได้ ยังไงนายกฯ ก็ต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์

แม้จะมีจุดที่น่าเอะใจ ยิ่งกระบวนการชัดเจนว่า “ลุงตู่” ได้ไปต่อ มันก็ล้อกระแสข่าวปล่อยข่าวลือ ปล่อยปริศนาอักษรย่อ โยนชื่อจริงกันโต้งๆ

ทีมการเมืองไทยรัฐยังกล่าวถึงข่าวเล่าลือที่ระบุว่า จะมีคนดังที่ไม่ได้ลงเลือกตั้ง อาจจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีข่าวแถมมาด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะต้องยุติบทบาท เพราะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจะไปต่อได้ยาก

ก่อนระบุในรายงานฉบับเดียวกันนี้ว่า

“ปั่นกระแสเสมือนหนึ่งว่า การเมืองมาถึงทางตัน ทั้งๆ ที่โดยสถานการณ์มันยังเปิดกว้างอีกหลายประตู ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการที่ กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ทั้ง 2 ระบบ ตามสูตรคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม จะทำให้สมการเปลี่ยนไปแค่ไหนจากตัวเลขที่ต่างฝ่ายต่างปั่นแต้มปาร์ตี้ลิสต์กันแบบคิดเองเออเอง เข้าข้างตัวเอง”

และคาดการณ์อีกว่า ตามสถานการณ์หลังวันที่ 8 พฤษภาคม นายกฯ กับ ครม.ที่เหลืออยู่ 10 กว่าคน จะต้องประคองเกมบริหารรอรัฐบาลใหม่ พร้อมๆ กับการฟอร์ม ครม.กันไป ต่อรองกันไป

โดยเงื่อนไขสถานการณ์โยงกับผลการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกหัวหน้าคนใหม่ในวันที่ 15 พฤษภาคม จะทำให้กลไกการจัดตั้งรัฐบาลเดินหน้า

ถ้าฝ่ายที่หนุนร่วมรัฐบาลกับ “ลุงตู่” ชนะ ก็เป็นข่าวดีประเทศไทย เพราะจุดสำคัญ เงื่อนไขเร่งด่วนแบบที่เห็นๆ กัน ตามรูปการณ์ที่รัฐมนตรีส่วนใหญ่ลาออกไปเป็น ส.ว. เหลือนายกฯ กับ ครม.แค่ 10 กว่าคน บริหารแบบประคองตัวไปเท่านั้น

ถ้า ครม.ใหม่เกิดช้า การบริหารประเทศเดินเครื่องไม่เต็มสูบ ตามสถานการณ์นับจากวันเลือกตั้งเดือนมีนาคมที่ความมั่นใจนักลงทุนเริ่มชะงัก จนถึงเดือนมิถุนายน ตามปฏิทินต้องมีรัฐบาลใหม่ นั่นหมายถึงเศรษฐกิจจะนิ่งเกือบครึ่งปี

หนีไม่พ้นโดนฝรั่งต่างชาติกดตัวเลขจีดีพีหดวูบแน่

แต่ทั้งหมดทั้งปวง จุดสำคัญเพื่อให้ทันกับกระบวนการที่นายกรัฐมนตรีของไทยต้องทำหน้าที่ในฐานะประธานประชุมอาเซียนซัมมิตในช่วงวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562

มันคือ “เส้นตาย” ต้องมี ครม.ก่อนเป็นประธานประชุมผู้นำอาเซียน

 

นั่นคือข้อคิดเห็นและการคาดการณ์จากสื่อ ยกความจำเป็นทางเศรษฐกิจมายืนยันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จำเป็นต้องกลับมา และโดยเร็วอีกด้วย

ยังมีอีกหลายสื่อที่เสนอการวิเคราะห์ทำนองเดียวกัน

พร้อมๆ กับถล่มขั้วการเมืองตรงข้าม พล.อ.ประยุทธ์ไปด้วย

ในภาพรวม แม้ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้เปรียบด้านเสียงสนับสนุนของ ส.ว.และพรรคที่จัดตั้งมาเพื่อการนี้

แต่สื่อหลายสำนักละเลยที่จะกล่าวถึงปัจจัยทางด้านประชาชน โดยเฉพาะที่เลือกขั้วการเมืองตรงข้าม

การตั้งรัฐบาลโดยละเลยความจริงในส่วนนี้ อาจจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตไม่ไกลไม่ใกล้

และจะสะท้อนให้เห็นจากการเสนอข่าวสารของสื่อต่างๆ นั่นเอง