“รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” กับสภาวะ “อำนาจที่ไม่ชอบธรรม” ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

อำนาจบน “ฐานไม่เป็นธรรม”

การหาเสียงเลือกตั้งเคลื่อนเข้าสู่โค้งสุดท้าย ซึ่งอะไรเป็นอะไร ใครจะมาใครจะไปเริ่มเห็นกันชัดเจนมากขึ้น

เพราะ “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ทำให้ทางหนึ่งเป็นที่รับรู้กันว่า ที่สุดแล้วการจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งเท่านั้น

ใครแพ้ใครชนะอาจจะเป็นได้แค่ปัจจัยเล็กๆ การตัดสินใจของประชาชนอาจจะเป็นแค่พลังบางๆ สำหรับการเข้ากุมอำนาจรัฐ หรือเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

มีปัจจัยอื่น เงื่อนไขอื่นที่ถูกวางแผนไว้เป็นอย่างดีผ่าน “กฎหมายว่าด้วยการกำหนดโครงสร้างอำนาจรัฐ” ที่ให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นผู้กำหนดชี้ขาด โดยเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีความหมายอะไรมากนัก

อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งของ “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ก็ย่อมมีสภาวะ “อำนาจที่ไม่ชอบธรรม” ขึ้น แต่ยังไม่ได้เริ่มต้น

การเป็น “ผู้นำ” การเป็น “ผู้กุมอำนาจรัฐ” การเป็น “รัฐบาล” ที่เริ่มต้นจาก “ฐานรองรับ” ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนผู้ถูกปกครองว่า “ไม่ชอบธรรม”

ย่อมเป็นการยากที่จะทำให้ “อำนาจตั้งได้อย่างได้รับการยอมรับ”

การทำให้ภาพของการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ใช่ได้มาด้วย “อำนาจบาตรใหญ่” เป็นเรื่องจำเป็น

ทว่าความจำเป็นที่ควรทำให้เกิดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ “ผู้มีอำนาจ” ยากที่จะมองเห็น เพราะสภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ตอกย้ำ “การใช้อำนาจแบบบาตรใหญ่” เพื่อกดข่มให้สัมผัสถึง “ความไม่ชอบธรรม” อยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า

การดีเบตศึกเลือกตั้ง 2562 ของ “ช่อง 9 อสมท” ครั้งที่ 2 หัวข้อ “คนใหม่…การเมืองใหม่” ในรายการมีรูปแบบเชิญ “ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิกาบัตรครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งนี้” มา 100 คน โดยให้เลือก “ยกป้าย” เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับคำถาม 4 ข้อ

และที่สุดคณะกรรมการบริหาร อสมท สั่งปลดพิธีกร ซึ่งว่ากันว่าเหตุจากคำตอบในคำถามทั้ง 4 ข้อนั้น

1. เห็นด้วยหรือไม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจไม่ร่วมการดีเบต พบว่า เห็นด้วย 6 เสียง ไม่เห็นด้วย 94 เสียง

2. เห็นด้วยหรือไม่ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกให้ ส.ว. 250 คนร่วมโหวตเลือกนายกฯ พบว่า เห็นด้วย 1 เสียง ไม่เห็นด้วย 99 เสียง

3. เห็นด้วยหรือไม่ เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จำเป็นสำหรับประเทศไทย พบว่า เห็นด้วย 2 เสียง ไม่เห็นด้วย 98 เสียง

4. เห็นด้วยหรือไม่ ว่าประเทศไทยจะมีการปกครองแบบประชาธิปไตยเต็มใบหรือครึ่งใบก็ได้ ถ้าทำให้ปากท้องประชาชนดีขึ้น พบว่า เห็นด้วย 17 เสียง ไม่เห็นด้วย 83 เสียง

คำถามที่ใช้เป็นรูปแบบเสริมให้รายการน่าสนใจ เมื่อผลออกมาเช่นนั้นจึงถูกมองจากหลายฝ่ายว่า “ตั้งคำถามโดยเจตนาให้รัฐบาลเสียหาย”

เป็นไปตามคำกล่าวหานั้นหรือไม่ หากพักไว้ก่อน เพราะเจตนาในใจของใครก็ตามเป็นเรื่องยากจะพิสูจน์

ความน่าสนใจที่มากกว่าอยู่ที่ “การสั่งปลดพิธีกร” นั้น มีผลดีและผลเสียอย่างไร

อาจจะประเมินว่าผลดีอยู่ที่ “ทำให้เกิดความเข็ดหลาบ” การนำเสนอเรื่องราวโดยสื่อของรัฐที่ผลออกมาในทางสร้างภาพลบให้กับการใช้อำนาจ จะต้องทำให้รับรู้กันว่า ทำไม่ได้ และใครทำคนนั้นต้องเดือดร้อน อย่างน้อยถูกตัดตัว

แต่ผลได้นั้นคุ้มกับผลเสียหรือไม่ เป็นเรื่องน่าคิด

ภารกิจของผู้มีอำนาจควรจะเป็นไปในทาง สร้างการยอมรับว่า “ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจเพื่อกดข่ม เพื่อเอารัดเอาเปรียบ หรือเพื่อจัดการกับคนที่เห็นต่างแบบเด็ดขาด”

เพราะการยอมรับเป็นความจำเป็นสำหรับ “สร้างความชอบธรรม” ให้ หากจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง

ขณะที่การเล่นงานเพราะไม่ถูกใจผลของการสำรวจความเห็น ย่อมเป็นไปในทางที่ตอกย้ำถึง “ความเคยชินกับการใช้อำนาจบาตรใหญ่” มากกว่า

เพื่อให้ฐานของอำนาจมีส่วนผสมของความชอบธรรมเพิ่มขึ้นบ้าง บางเรื่องจำเป็นต้องปล่อยไป

เว้นเสียแต่ว่า ต้องการเคลื่อนไปด้วยความเชื่อ “การยอมรับไม่จำเป็น การกดหัวให้จำยอมต่างหากที่ได้ผลกว่า”