“โจวเอินไหล” รัฐบุรุษจีน ผู้เป็นอัจฉริยะด้านทหาร การทูต เศรษฐกิจ-บริหาร

บทความพิเศษ

เชาวน์ พงษ์พิชิต ศูนย์จีนศึกษาสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โจวเอินไหลพุ่งเป้าคัดค้านการก้าวอย่างสุ่มเสี่ยงไปที่แหล่งกำเนิดทางความคิด ท่านพูดในที่ประชุมคณะรัฐบาล วันที่ 11 พฤษภาคม 1956 ว่า “การคัดค้านอนุรักษนิยม และ ขวาตกขอบ เราทำกันมาแต่เดือนสิงหาคม 1955 มาบัดนี้เป็นเวลา 8-9 เดือนแล้ว ค้านต่อไปอีกไม่ไหวแล้ว”

ซึ่งการคัดค้านอนุรักษนิยมและขวาตกขอบนั้น เป็นคำชี้แนะของเหมาฯ คำพูดของโจวเอินไหลข้างต้น เท่ากับว่าท่านได้พุ่งปลายหอกไปยังเหมาฯ โดยตรง

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ท่านยังได้ให้หลี่เซียนเนี่ยน รองนายกรัฐมนตรีซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพิ่มอีกประโยคหนึ่งในคำรายงานว่า “ในขณะที่คัดค้านอนุรักษนิยมนั้น จักต้องคัดค้าน แนวโน้มใจร้อน ก้าวอย่างสุ่มเสี่ยง พร้อมกันไปด้วย”

มาถึงวันที่ 1 มิถุนายน 1956 ขณะที่ที่ประชุมกรรมการถาวรอภิปรายคำรายงานดังกล่าว โจวเอินไหลชี้ให้เห็นว่า ดัชนีการลงทุนในการสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐาน ที่ลดลงแล้วในที่ประชุมเดือนกุมภาพันธ์ 1956 ก็ยังสูงเกินไป คือเติบโต 68% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงไม่สามารถบรรลุเป้าได้

ท่านกล่าวว่า “การทำในสิ่งซึ่งพ้นวิสัยที่สภาพทางเศรษฐกิจจะอำนวยได้ ผลที่ออกมาก็คืองานต้องค้างชะงัก และงานจะหยาบ”

ต่อมาหลิวเซ่าฉีเรียกประชุมศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในวันที่ 4 มิถุนายน 1956 เพื่ออภิปรายปัญหานี้

ผู้เข้าร่วมการประชุมมีโจวเอินไหล จูเต๋อ เฉินหยุน หลี่ฟู่ชุน หลี่เซียนเนี่ยน ป่ออีปอ หลี่เหวยฮั่น และหูเฉียวมู่ ที่ประชุมตกลงให้ลดดัชนีที่สูงเกินไป การสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐานส่วนใดที่สมควรยกเลิกก็ให้ยกเลิกเสีย

 

การคัดค้านก้าวอย่างสุ่มเสี่ยงของโจวเอินไหล ได้รับการสนับสนุนจากกรรมการส่วนใหญ่ของศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่มีหลิวเซ่าฉีเป็นผู้นำ

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 1956 ได้ลงมติรับรองคำรายงานงบประมาณ โจวเอินไหลกล่าวว่า “การก้าวอย่างสุ่มเสี่ยงเริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้วในเดือนธันวาคม 1955 มาบัดนี้สภาวการณ์แตกต่างจากปีที่แล้ว กล่าวคือไม่ใช่แค่ป้องกันการก้าวอย่างสุ่มเสี่ยง หากยังต้องคัดค้านการก้าวอย่างสุ่มเสี่ยงเช่นกัน”

ด้วยประการฉะนี้ แนวโน้มการก้าวอย่างสุ่มเสี่ยงที่มาแรงมาก ก็ถูกสกัดเอาไว้ได้ในยกแรก แต่ก็มิใช่ว่าจะยับยั้งได้อย่างสมบูรณ์

การลงทุนในการสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐานปี ค.ศ.1956 ตัดทอนแล้วตัดทอนอีกก็ยังสูงเกินกว่า 2,000 ล้านหยวน รายจ่ายที่เป็นค่าแรงก็สูงกว่า 1,000 ล้านหยวน

เป็นผลให้ดุลรายรับรายจ่ายทางการคลังในปี ค.ศ.1956 ต้องขาดดุล 2,000 ล้านหยวนเศษ

 

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1956 โจวเอินไหลเริ่มจัดวาง โครงการ 5 ปี ครั้งที่ 2 โครงการนี้เริ่มจัดทำมาก่อนแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ.1955 เวลานั้นเรียกร้อง ถึงปี ค.ศ.1962 จะมีผลผลิตภายหลังคัดค้านขวาตกขอบ จากธัญญาหาร 230,000,000 ตัน เพิ่มเป็น 320,000,000 ตัน ฝ้าย 2,150,000 ตัน เพิ่มเป็น 3,500,000 ตัน และเหล็กกล้า 11,000,000 ตัน เพิ่มเป็น 15,000,000 ตัน

โจวเอินไหลเห็นว่าหากทำตามดัชนีข้างต้นนี้ ด้านการเกษตรทุกปีจะต้องบุกเบิกที่ดินรกร้างว่างเปล่า 33 ล้านหมู่ (13.75 ล้านไร่) แต่ละปีจะต้องลงทุนในรายการนี้ 1,650 ล้านหยวน (รายรับทางการคลังของปี ค.ศ.1956 มีแค่ 30,000 ล้านหยวน) ซึ่งเจียดให้ไม่ได้แน่ๆ ตามสภาพการณ์ในเวลานั้น

เหตุนี้เอง โจวเอินไหลจึงมีความเห็นว่า โครงการที่เหมาเจ๋อตงตั้งขึ้นมานั้น “ไม่เหมาะสม” และ “เป็นอันตราย” ด้วย

ท่านจึงได้ตัดสินใจกำหนดดัชนีโครงการ 5 ปี ครั้งที่ 2 ให้ผลิตธัญญาหาร 230,000,000 ตัน ผลิตฝ้าย 2,400,000 ตัน ซึ่งต่ำกว่าดัชนีที่เหมาเจ๋อตงพอใจ 21% และ 31% ตามลำดับ

อีกทั้งยังได้ตัดคำขวัญว่า “ด้วยเจตนารมณ์ให้ได้ มาก เร็ว ดี และประหยัด” ในต้นฉบับออกไปเสีย

เหตุผลคือคนทั้งหลายมักเน้นแต่คำว่า “มากและเร็ว” แต่ละเลยคำว่า “ดี และ ประหยัด” ไปเสีย

 

การประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีขึ้นที่ปักกิ่งเมื่อวันที่ 15-27 กรกฎาคม ค.ศ.1956 โจวเอินไหลได้นำเสนอ “คำรายงานญัตติเรื่อง โครงการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติครั้งที่ 2” ต่อที่ประชุม

ที่ประชุมรับรองแนวนโยบายการสร้างสรรค์เศรษฐกิจ ที่คัดค้านทั้งอนุรักษนิยมและการก้าวอย่างสุ่มเสี่ยงซึ่งศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนกำหนดขึ้น ท่ามกลางขบวนการต่อต้านการก้าวอย่างสุ่มเสี่ยง ซึ่งก็คือให้ก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงหนักแน่น ด้วยการประมาณและการปรับดุลยภาพ ที่ประชุมยังได้ลงมติรับรองญัตติที่โจวเอินไหลนำเสนออีกด้วย

ต่อจากนั้นคือ การจัดวางโครงการลงทุนในการสร้างสรรค์โครงสร้างพื้นฐานปี ค.ศ.1957

โจวเอินไหลพยายามให้ลดจาก 24,300 ล้านหยวน ในโครงการเดิม ให้เหลือ 15,000 ล้านหยวน แต่ก็ถูกกระทรวงและท้องที่ต่างๆ คัดค้านอย่างรุนแรงในที่ประชุมจัดวางโครงการ

โจวเอินไหลให้ความเห็นว่า “เหตุผลที่กระทรวงต่างๆ อ้างว่า โครงการลดไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในโครงการ 5 ปีนั้น เราต้องตอบเขาไปว่า ไม่ต้องบรรลุก็ได้”

ท่านยกตัวอย่างโซเวียตมาเป็นอุทาหรณ์ว่า “โซเวียตพัฒนาอุตสาหกรรมหนักมากเกินไป ยอมรัดเข็มขัดเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก ละเลยอุตสาหกรรมเบาและเกษตรกรรม เกษตรกรรมก็เลยพัฒนาช้ามาก ใช้เวลา 39 ปี จึงจะได้ผลผลิตเหนือกว่าปีที่มีสถิติสูงสุดในสมัยพระเจ้าซาร์ แนวนโยบายการสร้างสรรค์ดังกล่าว ส่งผลกระทบไปถึงบรรดาประเทศในยุโรปตะวันออก”

“ในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมา พวกเขาก็สร้างสรรค์สังคมนิยมตามแนวทางนี้แหละ คือเอาแต่อุตสาหกรรมหนัก โดยไม่สนใจไยดีในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน”

“มวลชนในประเทศเยอรมนีตะวันออก โปแลนด์และฮังการีพากันประท้วงต่อต้าน นั่นแหละคือผลที่เกิดจากการกระทำที่ว่านี้เอง”

ข้อสรุปนี้ของโจวเอินไหลได้เป็นที่ยอมรับของวงการนักวิชาการทั่วไปภายหลังสหภาพล่มสลายเมื่อต้นทศวรรษ 1990

พอถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ.1956 โจวเอินไหลได้กล่าว “รายงานเรื่องโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนเต็มคณะครั้งที่ 2 ท่านนำเสนอประเด็นที่กล่าวข้างต้นต่อที่ประชุม

เหมาเจ๋อตงเห็นด้วยกับแนวนโยบายที่ให้ “ลดแผนการให้เป็นไปตามความเหมาะสม แต่มุ่งมั่นที่จะให้บรรลุผลในรายการที่เป็นจุดเน้นที่สำคัญ”