เศรษฐกิจ / ส่อง 5G ไทยเกิด-ไม่เกิด ผูกขาด 3 โอเปอเรเตอร์ กำหนดชะตา…จริงหรือ

เศรษฐกิจ

 

ส่อง 5G ไทยเกิด-ไม่เกิด

ผูกขาด 3 โอเปอเรเตอร์

กำหนดชะตา…จริงหรือ

 

จากช่องฟรีทีวีเพียงไม่กี่ช่อง ก้าวสู่ “ทีวีดิจิตอล” จนปัจจุบันมีฟรีทีวีให้เราๆ ได้ดูกว่า 20 ช่อง

แต่จากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ทีวีดิจิตอลก็ยังส่ออาการไม่ดี เมื่อเม็ดเงินโฆษณาซึ่งเป็นรายได้หลัก ถูกหั่นแชร์กันไปยังช่องต่างๆ ส่งผลให้รายได้รายเก่าลดลงต่อเนื่อง

รายใหม่เองเม็ดเงินรายได้ก็ไม่ได้มาก สวนทางกับต้นทุนการดำเนินงานสูง

ผสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ทำให้ “ทีวีดิจิตอล” อยู่ในขั้นโคม่า

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) กำหนดให้คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ เป็นคลื่นความถี่หลักที่จะนำมาใช้ในกิจการ 5G

แต่ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดสรรสำหรับกิจการทีวีดิจิตอล ดังนั้น “องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่” อย่าง กสทช. จึงต้องเรียกคืนคลื่นความถี่และนำคลื่นความถี่ย่าน 470 เมกะเฮิร์ตซ์มาจัดสรรแทน

แต่อยู่ภายใต้ให้ กสทช.ต้องกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ โดยให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วย

กสทช.จึงเกิดไอเดียจะนำเงินจากประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ไปโปะหนี้ที่แต่ละรายค้างอยู่!!

 

โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลไม่ต้องชำระค่าใบอนุญาตใน 2 งวดสุดท้าย จำนวน 15,000-16,000 ล้านบาทที่เหลืออยู่

อีกทั้งไม่ต้องชำระค่าใช้บริการโครงข่าย (มักซ์) และค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่) จนสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือนเมษายน 2572 รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมโทรทัศน์ดิจิตอล (ทีวีเรตติ้ง) ขณะที่ผู้ให้บริการมักซ์ จะได้รับค่าตอบแทนเท่ากับค่าใช้จ่ายตามจริงจากปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่าย

ดังนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์  กสทช.ไม่รอช้า จัดแจงไว้เสร็จสรรพ โดยระบุให้ประมูลคลื่นความถี่ 7 ใบอนุญาต ขนาดใบละ 5 เมกะเฮิร์ตซ์ รวม 35 เมกะเฮิร์ตซ์ อายุใบอนุญาต 20 ปี

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายประมูลได้ไม่เกิน 3 อนุญาต

สำหรับผู้ชนะการประมูล แบ่งการชำระเงินออกเป็น 9 งวด งวดแรกชำระ 20% งวดที่ 2-9 ชำระ 10% กรณีไม่ชำระเงินประมูลงวดที่สองและงวดอื่นๆ ต้องชำระเงินเพิ่มจำนวนเท่ากับผลคูณของจำนวนเงินประมูลที่ค้างชำระกับอัตราดอกเบี้ย 15% ต่อปี คำนวณเป็นรายวัน

แนวทางข้างบน หากจะเรียกว่ามาตรการยกหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ก็คงไม่ผิดแปลก ทำให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล เนื้อเต้น เฝ้ารอวันประมูลมาถึงด้วยใจจดจ่อ

แต่ถูกตั้งคำถามว่า จะไม่ไยดีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ยังอยู่ในภาวะฝืดเคืองเช่นกันด้วยหรือ เพราะแบกภาระค่าใบอนุญาตร่วมแสนล้าน และ 2 เรื่องนี้ต้องมัดมือกันไป!!!

 

สํารวจกลุ่มทรู “วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือยืนยันทันควันว่า กลุ่มทรูยังไม่มีแผนที่จะเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์

เนื่องจากยังรอความชัดเจนเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ อีกทั้งปริมาณคลื่นความถี่ต่ำ ที่ทรูมีอยู่ ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิร์ตซ์ และ 900 เมกะเฮิร์ตซ์ ยังเพียงพอสำหรับการให้บริการ 5G

โดยจะลงทุนเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ที่คุ้มค่า ให้ตรงกับความต้องการใช้งานและเป็นไปตามความพร้อมของตลาดอุปกรณ์ 5G

โดย “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) ชี้แจงว่า ส่วนตัวเข้าใจถึงประเด็นปัญหาของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ปัจจุบันต้องแบกภาระค่าใบอนุญาตมูลค่ามหาศาล

ทั้งนี้ ทรูจะครบกำหนดชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ งวดที่ 3 จำนวน 4,020 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม 2562 และงวดที่ 4 จำนวน 60,218 ล้านบาท ในเดือนมีนาคม 2563 รวม 64,238 ล้านบาท

ขณะที่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลก็ประสบปัญหาเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ยังค้างชำระค่าใบอนุญาตอีก 15,000-16,000 ล้านบาท

ฉะนั้น กสทช.จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการในทั้งสองกิจการควบคู่กันไป

ส่วนเรื่องการขยายเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ์ คงต้องหารือร่วมกันต่อไป

 

เมื่อถาม “สืบศักดิ์ สืบภักดี” นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็แสดงความเห็นว่า เอกชนมีภาระการลงทุนจากการประมูลคลื่นความถี่ก่อนหน้านี้กว่า 200,000 ล้านบาท การที่จะลงทุนด้วยการประมูลคลื่นความถี่อีกย่อมต้องรอบคอบ เมื่อคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะถูกนำไปใช้กับเทคโนโลยี 5G เมื่อใด อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนในการผลิตอุปกรณ์ออกมารองรับ

การที่เอกชนยังไม่สนใจคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ในเวลานี้ เป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมาย

ทางออกของ กสทช.คงต้องหาแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการ อีกทั้งต้องมีความชัดเจนเรื่องช่วยเหลือทีวีดิจิตอล เพื่อให้ทั้งสองอุตสาหกรรมเดินหน้าไปด้วยกันได้โดยไม่ติดขัด

 

ด้าน “เขมทัต พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นว่า หากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ก็เข้าใจ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ต้องแบกรับภาระค่าใบอนุญาตที่มีราคาสูง

เชื่อว่าการที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไม่เข้าร่วมการประมูล ไม่เกี่ยวข้องกับการนำรายได้ที่เกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์มาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน แก่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล

อย่างไรก็ตาม มองว่า หากหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ์ มีการขยายงวดการชำระค่าใบอนุญาต รวมถึงมีการกำหนดราคาเริ่มตั้งที่ไม่สูงจนเกินไป อาจทำให้มีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมสนใจที่จะเข้าร่วมการประมูล

นอกจากนี้ “พ.อ.นที ศุกลรัตน์” รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) และประธานคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ กล่าวว่า คาดว่าจะเปิดประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ประมาณเดือนธันวาคม 2562

จากนั้น กสทช.ให้ผู้ให้บริการโครงข่าย เสนอแผนปรับเปลี่ยนความถี่ เพื่อให้ กสทช.อนุมัติ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

จากนั้นผู้ชนะการประมูลต้องชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก จำนวน 20% ภายในไตรมาส 1/2563 เพื่อให้ กสทช. นำเงินที่ได้จากการประมูลส่วนหนึ่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

และนำเงินมาทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน แก่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล ทั้งนี้ กสทช.จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือนในการปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ ซึ่งผู้ชนะการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ์ จะสามารถใช้คลื่นความถี่ได้เดือนธันวาคม 2563

ขณะที่อีก 2 รายก็ยังไม่มีท่าทีตอบรับ!!!

ฉะนั้น หลายๆ ประเทศรอบบ้านเรากำลังเร่งลงทุนและผลักดันสู่เทคโนโลยี 5G แต่อนาคตไทยจะสามารถก้าวไปสู่ยุค 5G ได้ทันท่วงทีหรือไม่ คงต้องฝากชะตากับ 3 โอเปอเรเตอร์รายใหญ่

เพราะหาก 5G ไม่เกิดขึ้นหรือเกิดได้ล่าช้า ย่อมกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  สูญเสียรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล หากทุนนอกมากกว่าความพร้อมพื้นฐานด้านเทคโนโลยีด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเราเอง!!