เศรษฐกิจ “แย่ลง” ? กับ ความเชื่อที่ไร้การรับฟัง

เพราะมีอำนาจเต็ม และใช้อย่างเอาจริงเอาจัง จนไม่มีใครอยากจะยุ่งให้ตัวเองและครอบครัวต้องเดือดร้อน เหมือนที่ได้เห็นจากการจัดการกับผู้มีความเห็นต่าง ทั้งที่เห็นอยู่ตำตาว่าการทำเช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับส่วนรวม ประเทศชาติ คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะวางเฉย ปล่อยให้ทำไป

ทำให้จะทำอะไรก็ได้ดั่งใจ ไม่เคยมีอุปสรรคมาขัดขวางไม่ให้กระทำได้ง่ายๆ

แต่แทนที่จะตระหนักถึงสถานะพิเศษที่ภาวะปกติทำไม่ได้

กลับกลายเป็นก่อความคิดว่าได้สร้างผลงานมากมายให้กับประเทศนี้ เพราะจำนวนภารกิจและโครงการต่างๆ ที่ทำไป

อวดตัวถึงความสำเร็จตามปริมาณโครงการที่ทำให้เกิดขึ้น

โดยไม่เฉลียวใจว่า “คุณภาพการบริหารจัดการ” นั้นไม่ใช่การทำให้มาก สร้างโครงการให้เยอะ แต่เป็นการทำให้เรื่องสมควรจะทำ เหมาะสมตรงกับความจำเป็นที่ต้องมี ต้องใช้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีเป้าหมาย

การทำเยอะ มากโครงการนั้นอาจจะเป็นเรื่องสูญเปล่า หรือกระทั่งกลายเป็นการไปสร้างสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาได้

ความเป็น “นักบริหาร” กับ “นักทำ” ต่างกันตรงนี้

ตรงทำไปเรื่อย โดยไม่รู้ว่าทำไปทำไม กับทำโดยเห็นชัดเจนว่าเพื่อเป็นส่วนประกอบส่วนไหนของความสำเร็จในการพัฒนา

ดังนั้น แม้จะว่าจะเรียงหน้ากันมาอวดถึงผลงานมากมาย เชื่อมั่นถึงขนาดไม่มีใครทำงานได้มากมายเช่นนี้มาก่อน

แต่ที่สุดแล้ว ทุกอย่างวัดกันที่ผลอันเกิดขึ้น

ขณะที่เรียงหน้ากันมาสร้างความเชื่อว่า “เศรษฐกิจดี” จากผลงานที่ทำมา

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” ทำการสำรวจเรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทยปี 2561” คำตอบในภาพรวมออกมาว่า ร้อยละ 61.92 บอกว่า แย่ลง ร้อยละ 27.12 บอกว่า เท่าเดิม

มีแค่ร้อยละ 10 เท่านั้นที่เห็นดีเห็นงามไปด้วยโดยตอบว่า ดีขึ้น

ผลงานที่โอ้อวดด้วยความมั่นอกมั่นใจมากมาย ไม่ใช่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อตามที่อวดโอ่เลย

ในขณะที่พยายามจะไม่ยอมรับว่ามีความแตกต่างกันระหว่างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ กับรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจ โดยพยายามใส่ความคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในรูปแบบใดก็เหมือนกัน ไม่ใช่เป็นรัฐบาลเผด็จการแล้วเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำงานคล่องตัวกว่า

ทว่าแม้จะพยายามใส่ความคิดเช่นนี้เข้าสมองประชาชนมาเกือบ 5 ปี ประชาชนกลับดูไม่ซึมซับกับความคิดแบบนี้นัก

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ชิ้นนี้ ในคำถามที่ว่า “คิดว่าหลังการเลือกตั้งในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่” พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 60.16 ตอบว่า จะดีขึ้น โดยให้เหตุผลว่ามีความมั่นใจต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศได้ดีกว่า และต่างชาติจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ร้อยละ 31.60 ตอบว่า จะเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลว่า ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่แก้ยาก ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมด้วย และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็เหมือนเดิม

ขณะที่มีแค่ร้อยละ 4.56 เท่านั้นที่ตอบว่าจะแย่ลง เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินการแก้ไขปัญหา

โดยที่ร้อยละ 3.68 ไม่ระบุ และตอบว่า ไม่แน่นอน

ทั้งที่มีความเชื่อมั่นอย่างสูงยิ่งว่าทำงานมากกว่า และแสดงออกให้ได้รับรู้อยู่ตลอดเวลาที่มีโอกาสพูด ทำนองว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่เห็นทำอะไร

แต่การทำงานที่มากกว่าไม่ได้ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการพัฒนาได้เท่ากับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ภาพสะท้อนความรู้สึกประชาชนผ่าน “นิด้าโพล” ออกมาเช่นนี้

จึงมีความน่าสนใจยิ่งว่า “ผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562” ที่จะถึงในอีกไม่กี่เดือนนี้ จะสะท้อนตามความเห็นประชาชนดังกล่าวหรือไม่

ท่ามกลางความพยายามทุกวิถีทาง โดยไม่เลือกวิถี และไม่สนใจว่าจะก่อความรู้สึกอย่างไร เพียงให้ได้รับชัยชนะ

ความรู้สึกนึกคิดของความเชื่อประชาชนส่วนใหญ่ จะแสดงผ่านผลการเลือกตั้งออกมาแบบไหน