เกษียร เตชะพีระ : วาทกรรมความเป็นไทย

เกษียร เตชะพีระ

วาทกรรมความเป็นไทย

1) เกริ่นนำ

การนำเสนอปัญหา “ความเป็นไทย” ที่แท้แล้วเป็นการถามนำเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์จาก [ชาติ หรือ naiton] อันเป็นเสมือนสิ่งภาววิสัยภายนอกของคนหมู่มาก มาสู่ -> [เอกลักษณ์ หรือ identity] อันเป็นเสมือนสิ่งอัตวิสัยภายในของบุคคล, เพื่อเรียกร้อง กำกับ คาดคั้น เคี่ยวเข็ญบุคคลให้ปรับเปลี่ยนตัวเองและแสดงพฤติกรรมออกมาในลักษณะที่สอดคล้องอยู่ในกรอบในร่องในรอยสมกับที่ได้ชื่อว่ามีเอกลักษณ์เป็นสมาชิกสังกัดชาติหนึ่งๆ

เสมือนเราถูกตั้งคำถามว่า :- “คุณคือใคร? เป็นคนชาติใด? ชาติของคุณคืออะไร?” เพื่อเชื่อมโยงคำตอบที่ให้มาสู่ประเด็นเอกลักษณ์ของเจ้าตัวเองว่า :- “ฉะนั้น คุณควรประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร – โดยเฉพาะในทางการเมืองวัฒนธรรม – จึงจะสมกับเป็นคนไทย?”

การพิจารณาปัญหา “ความเป็นไทย” จึงควรเริ่มจากการพิจารณาว่า : ชาติคืออะไร? เสียก่อน

เป็นที่กล่าวขวัญกันแพร่หลายว่าชาติคือ ชุมชนในจินตนากรรม (imagined communities) ตามงานเขียนอันลือลั่นของครูเบ็น แอนเดอร์สัน ผู้ล่วงลับ ทว่าจะตีความนิยามนี้ให้ละเอียดพิสดารขึ้นอย่างไร? เมื่อเอ่ยถึงชุมชนในขอบเขตที่เล็กกว่ามวลมนุษยชาติทั้งโลก ชุมชนดังกล่าวย่อมไม่อาจดำรงอยู่โดดเดี่ยวลำพัง หากอยู่ท่ามกลางชุมชนอื่นๆ ทั้งหลายแหล่

ดังนั้น ก่อนอื่น การคิดถึง ชุมชนในจินตนากรรม จึงเป็นการคิดถึงความสัมพันธ์ภายนอกระหว่างชุมชนนั้นกับชุมชนอื่นๆ ประดามีในโลก และในทางกลับกันก็ย่อมมีแง่มุมความสัมพันธ์ภายในชุมชนนั้นเอง ระหว่างสมาชิกร่วมชุมชนผู้สังกัดชนชั้น เชื้อชาติ เพศ วัย ศาสนา ฯลฯ ต่างๆ นานากันด้วย โดยที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวถูกปรุงแต่งผ่านภาพสร้าง (construct) ในทางจินตนากรรม ได้แก่ :-

1) สถานที่ร่วมกันในจินตนากรรม หรือ imagined common place ซึ่งมีแผนที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการจินตนาการ

2) อดีตร่วมกันในจินตนากรรม หรือ imagined common past ซึ่งมีประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการจินตนาการ และ

3) สายสัมพันธ์ร่วมกันในจินตนากรรม หรือ imagined common ties ซึ่งมีสัญลักษณ์แห่งชาติต่างๆ นานาเป็นเครื่องมือสำคัญในการจินตนาการ

(ผู้เขียนประยุกต์ปรุงแต่งขึ้นใหม่จากแนวคิดเรื่องชุมชนที่ประกอบส่วนสร้างเอกลักษณ์ (identity-constitutive communities) ของ Daniel Bell ใน Communitarianism and Its Critics (Oxford : Clarendon Press, 1993)

จนเกิดเป็นชาติ หรือนัยหนึ่ง ความสัมพันธ์ในจินตนากรรม ทั้งภายนอกและภายในชุมชนนั่นเอง

(ข้อคิดเรื่องชาติเป็นความสัมพันธ์ในทางความคิดจิตใจชนิดหนึ่ง ผู้เขียนได้มาจาก Tom Nairn, The Enchanted Glass : Britain and its Monarchy (London : Hutchinson Radius, 1988).

ในฐานะสิ่งประดิษฐ์ทางสังคม (social artifact) ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคม, ถูกกำหนด ดัดแปลงและฉวยใช้จากกลุ่มและสถาบันต่างๆ ในสังคม, ชาติหรือนัยหนึ่งชุมชน/ความสัมพันธ์ในจินตนากรรมย่อมแฝงไว้และสะท้อนออก, สนองตอบและรับใช้ซึ่งอำนาจ ผลประโยชน์และอุดมการณ์ที่เป็นจริงและเปลี่ยนไปในสังคมหนึ่งๆ ด้วยเป็นธรรมดา

ด้วยฐานความเข้าใจเช่นนี้ จึงสามารถตั้งคำถามได้ว่า :- ชาติไทยเป็นของใคร? เพราะเอาเข้าจริงเนื้อแท้เบื้องลึกของคำถามนี้ก็คือ :-

จินตนากรรมที่ครอบงำเป็นหลักเกี่ยวกับสังคมประเทศไทยโดยรวมนั้น จัดความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนและสถาบันในสังคมนี้ในลักษณะที่ให้ใคร กลุ่มไหนหรือสถาบันใดเป็นใหญ่ เป็นแกนนำ เป็นเจ้าของชาติ?

เจ้าของชาติย่อมเป็นผู้มี (กรรม) สิทธิ์นิยามชาติ และคำนิยามชาติของเขาก็จะเป็นตัวไปกำหนดเอกลักษณ์ของสมาชิกผู้สังกัดชาติเดียวกันภายใต้อำนาจของเขาอีกที เพื่อที่คนเหล่านั้นจะได้กำกับควบคุมตนและประพฤติปฏิบัติตัวให้สมกับที่มีเอกลักษณ์เป็น “คนไทย”

ด้วยเหตุนี้ ในหลายแง่ที่สำคัญ การสร้างชาติ (nation-building) จึงเท่ากับการสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ (national identity-building) ซึ่งก็หมายถึง การสร้างความเป็นไทย (the construction of Thainess), สร้างคุณค่าและความหมายแบบ “ไทยๆ” ซ้อนทับกันเป็นช่วงชั้นไว้ข้างในและข้างใต้มโนสำนึกของคนไทยนั่นเอง

หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “การสร้างชาติที่สำคัญที่สุดสร้างขึ้นในหัวของเรา”

นั่นหมายความว่าถ้าทำให้พลเมืองของรัฐทั้งหลาย “คิดชาติ” ได้ ก็สร้างชาติสำเร็จ ถ้าทำให้พวกเขา “คิดชาติ” ไม่ได้ ก็สร้างชาติล้มเหลว

ในชั้นต้นนี้ ขอยกตัวอย่างจินตนากรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนชาติไทยกับชุมชนชาติใกล้เรือนเคียงรายรอบที่พลิกเปลี่ยนไปมาในแต่ละยุคสมัย เริ่มแต่รัชกาลที่ 5

สมัยนั้นเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของราชอาณาจักรสยามจากรัฐราชสมบัติศักดินามาเป็นรัฐสัมบูรณาญาสิทธิ์สมัยใหม่, ชาติรัฐหรือชาติราชาแห่งสยาม (state-nation or raja-nation i.e. “La nation, c”est moi.” or moi-nation ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยว่า “สยามินทร์”) กำลังก่อร่างสร้างตัว มิทันเสร็จสมบูรณ์ (ประยุกต์ปรุงแต่งจากข้อคิดเรื่องพัฒนาการของรัฐสมัยใหม่ในยุโรปผ่านรูปแบบต่างๆ 6 รูปแบบมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ princely state, kingly state, territorial state, state-nation, nation-state และ market-state ของ Philip Bobbitt, The Shield of Achilles : War, Peace and the Course of History (Allen Lane, 2002)

หัวเมืองล้านนาทางเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ฯลฯ ยังคงสถานะเป็นประเทศราช มิทันถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของและอันหนึ่งอันเดียวกับชาติสยาม สถานะของลาวล้านนาในความสัมพันธ์กับไทยกรุงเทพฯ ในจินตนากรรมของเจ้านายฝ่ายหลังจึงก้ำกึ่งกำกวมอยู่ระหว่าง “เรา/เขา”, “ลาว/ไทย” และแปรผันไปโดยสัมพัทธ์กับความสัมพันธ์ทางอำนาจและการแก่งแย่งหรือสมคบทางการเมืองระหว่างไทยกรุงเทพฯ กับฝรั่งเจ้าอาณานิคม ดังจะเห็นได้จากพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานพระยาราชสัมภารากรในโอกาสได้รับแต่งตั้งไปเป็นข้าหลวงสามหัวเมืองทางเหนือ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2462 (ขอขอบคุณอาจารย์ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ แห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่กรุณาแนะนำเอกสารชิ้นนี้แก่ผู้เขียน) ความตอนหนึ่งว่า :-

“…การซึ่งเปนข้าหลวงสามหัวเมืองนี้ ต้องถือว่าเปนผู้รักอำนาจแลรักษาคำสั่งกรุงเทพฯ ที่จะให้เปนไปได้ตามคำสั่งทุกประการ แลต้องรู้ความประสงค์ของกรุงเทพฯ ว่าเราถือว่าเมืองเชียงใหม่ยังไม่เปนพระราชอาณาเขตของเราแท้ เพราะยังเปนประเทศราชอยู่ตราบใด แต่เราก็ไม่ได้คิดจะรื้อถอนวงษตระกูลมิให้เปนประเทศราช เปนแต่อยากจะถือจะยึดเอาอำนาจที่จริง คือการอันใดจะเปนไปได้ ก็ให้เปนไปได้เฉพาะที่เรายอมให้เปน คือให้ข้าหลวงมีอำนาจจะสั่งให้ทำอันใด จะห้ามไม่ให้ทำอันใดโดยตรงๆ เปนการเปิดเผยในที่ควรเปิดเผย ฤๅเป็นการลับๆ โดยเปนการแนะนำสั่งสอนลาวต้องทำตาม ในการที่ไม่ควรจะเปิดเผย

“เมื่อจะว่าโดยย่อแล้วให้ลาวเปนเหมือนหนึ่งเครื่องจักร ซึ่งเราจะหมุ่นให้ไปข้างน่าฤๅให้มาข้างหลังก็ได้ตามใจชอบ ดังนั้นแล้ว เปนถูกต้องกับความปรารถนาของกรุงเทพฯ แต่เปนการจำเปนที่จะต้องทำการอย่างนี้ด้วยสติปัญญา เปนมากกว่าอำนาจกำลัง ต้องอย่าให้ลาวเหนว่าเปนการบีบคั้นกดขี่ ต้องใช้ให้เหนในการที่เปนประโยชน์ แลไม่เป็นประโยชน์เปนพื้น

“พระยาราชสัมภารากรต้องถือว่า ถ้าพูดกับฝรั่งฝ่ายหนึ่ง ลาวฝ่ายหนึ่ง ต้องถือว่าฝรั่งเปนเขา ลาวเปนไทย ถ้าพูดกับลาวฝ่ายหนึ่ง ไทยฝ่ายหนึ่ง ต้องถือว่าลาวเปนเขา ไทยเปนเรา อย่าให้ถือตามแบบเก่าๆ ซึ่งข้าราชการประพฤติชั่วเหมือนอย่างพระยาราชเสนาเปนต้นดังนี้ เหนนายของตัวเองเปนเขา จะทำอันก็ตั้งใจปิดนาย ฝ่ายคนอื่นเขาจะรู้ซึ่งเปนไร ดังนี้ใช้ไม่ได้ เปนความคิดของคนหัวด้วน…”

(หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ร.5 สารบาญสมุดพิเศษ เล่ม 8 ร. ที่ 168/45)

ต่อมาในรัชกาลที่ 6 เมื่อชาติราชาสยามได้ถูกทำแผนที่ (mapped) จนปรากฏลายเส้นขอบเขตภูมิร่างกาย (geo-body) เด่นถนัดชัดขึ้นตามนัยการค้นพบและนำเสนอของ Thongchai Winichakul, Siam Mapped : A History of the Geo-Body of a Nation (Honolulu : University of Hawaii Press, 1994) และถูก “แสดงบรรยายพงศาวดาร” (historicized = ทำให้ดูเป็นประวัติศาสตร์, historied = ทำให้ดูมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ, historiated = ประดับประดาด้วยลายลักษณ์ประวัติศาสตร์) จนบังเกิดโครงเรื่องความเป็นมาของอัตชีวประวัติศาสตร์ (autobio-history) แห่งชาติขึ้นแล้ว ความก้ำกึ่งกำกวมที่เจ้ากรุงเทพฯ มีต่อไพร่พลเมืองชาวลาวล้านนาและลาวอื่นๆ ภายในขอบขัณฑสีมาก็ปรับเปลี่ยนไปในทางการเมืองวัฒนธรรม กล่าวคือ

ด้านหนึ่งก็ถือว่าลาวเป็น “เรา” ในความหมายเป็น “คนในบังคับสยาม”

ทว่าลาวก็เป็น “อื่น” ด้วย (the Others Within) ในความหมายว่าลาวเป็น “เรา” ที่ยังด้อยความ “ศิวิไลซ์” (civilized) กว่าไทยกรุงเทพฯ ประมาณว่าอยู่กลางๆ ระหว่าง “ชาวป่า” กับ “ชาวบ้านนอก” จากมุมมองของเจ้ากรุงเทพฯ อันเป็นบรรทัดฐานแห่งชาติราชาสยามนั่นเอง (Thongchai Winichakul, “The Quest for “Siwilai” : A Geographical Discourse of Civilizational Thinking in the Late Nineteenth and Early Twentieth-Century Siam,” The Journal of Asian Studies, 59:3 (August 2000), 528-549)

จากนี้ ความสัมพันธ์ภายนอกระหว่างชุมชนชาติราชาสยามกับชุมชนชาติใกล้เรือนเคียงรายรอบในจินตนากรรมของเจ้ากรุงเทพฯ ก็หักเลี้ยวอย่างสำคัญ ไปสู่ท่าทีเลิกนับญาติด้วย หากทะเยอทะยานอยากแยกตัวยกชั้นเลื่อนฐานะลอยละลิ่วสูงขึ้นไปสู่ระดับความ “ศิวิไลซ์” ที่เหนือกว่าชนิดแหงนคอตั้งบ่า

ดังปรากฏภาพการ์ตูนจำลองจินตนากรรมดังกล่าวลงใน ดุสิตสมิต อันเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ตัวอย่างของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ออกในดุสิตธานี ที่ตีพิมพ์รวบรวมพระราชนิพนธ์และภาพวาดการ์ตูนฝีพระหัตถ์ของพระองค์เป็นแกนสำคัญ โดยมุ่งหวังสั่งสอนประชาชนและข้าราชบริพารให้เป็นเหมือนตำราคำสอนนั่นเอง (ดูภาพประกอบด้านบน)

ศาสตราจารย์ Walter F. Vella ผู้นำภาพการ์ตูนดังกล่าวมาลงพิมพ์ประกอบหนังสือ Chaiyo! King Vajiravudh and the Development of Thai Nationalism (ค.ศ.1978) ของเขาได้บรรยายใต้ภาพว่า :

“การนำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสยาม : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักรอกสยามด้วยพระปรีชาและวิริยภาพโดยอาศัยเชือกเส้นต่างๆ อันได้แก่ ทหารและเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์, ความสงบเรียบร้อยภายใน, การศึกษา, กสิกรรมและหัตถกรรม จนลอยขึ้นเหนือระดับชาวพม่า ชาวเขมรและชาวญวน ส่วนเบื้องหลังพระองค์นั้นคือพระพักตร์ของบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าแห่งบรมราชจักรีวงศ์ทั้ง ๕ พระองค์ – ภาพการ์ตูนจาก ดุสิตสมิต”

(แปลจาก Walter F. Vella, Chaiyo! King Vajiravudh and the Development of Thai Nationalism

(Honolulu : University of Hawaii Press, 1978), p.65)

พอคาดหมายได้ว่าระดับยอดผาที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่นจะชักรอกสยามประเทศของพระองค์ขึ้นไปให้ถึง โดยทิ้งพม่า, เขมร, ญวนอนารยะไม่ใส่เสื้อไว้ในหุบเหวเบื้องล่างอันมีเจดีย์ชเวดากองเป็นฉากหลังนั้น น่าจะเป็นความ “ศิวิไลซ์” ในระดับนานาอารยประเทศตะวันตกนั่นเอง

(ต่อสัปดาห์หน้า)