สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/หญ้าคา วัชพืชแห่งตำนาน มีความหวานเป็นยา

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

หญ้าคา

วัชพืชแห่งตำนาน

มีความหวานเป็นยา

 

ในที่สุดน้าหว่อง-มงคล อุทก ก็ได้คืนสู่โลกแห่งตำนานเพลงเพื่อชีวิตให้ผู้คนได้ทรงจำ

และหนึ่งในความทรงจำเกี่ยวกับขุนพลพิณ พนมไพรแห่งลุ่มน้ำชีคนนี้ก็คือ “หัวหญ้า” สมุนไพรในเพลง “คิดฮอดบ้านเกิด” ของเขา

น้าหว่องมีความสุขฝังใจเมื่อเล่าถึงชีวิตเด็กชนบทอีสาน ที่ชวนกันเอาเสียมน้อยไปขุด “หัวหญ้า” นำมาแอบเคี้ยวกินเล่นในห้องเรียนอย่างเอร็ดอร่อยแทนทอฟฟี่

น้าหว่องเล่าแบบไม่อายใครว่า “บ่มีขนมกิน ก็กินอันนี้แหละ หวานคือกัน…อยู่หลังโรงเรียนมีเยอะ พอมีชั่วโมงว่างจากการเรียน ก็ไปหาหัวหญ้ากิน

อย่าเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่ากินหญ้านะ” (ฮา)

วัชพืชอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินนี้ไม่ใช่เพียงสิ่งแทนขนมหวานของลูกอีสานยากไร้ไกลปืนเที่ยงเท่านั้น

แต่ยังเป็นสายใยแห่งมิตรภาพในวัยเด็กของพวกเขาด้วย

 

 

“หัวหญ้า” ของน้าหว่องในที่นี้ก็คือ “รากเหง้าหญ้าคา” อันไร้ค่าที่มีอยู่ดาษดื่น

แต่สำหรับคนที่พอรู้เรื่องเทพปกรณัมของฮินดูอยู่บ้าง ย่อมบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า หญ้าคานั้นไซร้ไม่ใช่วัชพืชธรรมดา

แต่เป็นพืชพันธุ์อันศักดิ์สิทธิ์ในตำนานชักเย่อพญานาคกวนเกษียรสมุทรแย่งน้ำอมฤตของทวยเทพกับเหล่ายักษา

ความเชื่อนี้ตกทอดมาถึงชาวพุทธ ที่นิยมใช้กำหญ้าคาเป็นเครื่องมือประพรมน้ำพระพุทธมนต์

และถ้าใครยังจำพุทธประวัติได้ โพธิบัลลังก์ที่พระสิทธัตถะประทับในวันตรัสรู้นั้นก็ปูลาดด้วยหญ้ากุศะหรือหญ้าคาอินเดีย

ดังนั้น “หัวหญ้า” ในตำนานเพลงของน้าหว่องก็คือวัชพืชตัวเดียวกับ “หญ้าคา” ในตำนานศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

ทั้งยังเป็นความศักดิ์สิทธิ์มีมากด้วยคุณประโยชน์ด้านปัจจัย 4

กล่าวคือ นับแต่โบราณกาลที่มนุษย์เริ่มรู้จักปลูกเพิงพัก

วัสดุแรกที่คนนำมามุงกันแดดกันฝนก็คือหญ้าคานี่แหละ

คำเรียกขานว่า “หลัง (หญ้า) คา” ก็เป็นประจักษ์พยานอยู่

แม้แต่ฝรั่งยังเรียกหญ้าคาว่า “thatch grass” หรือหญ้ามุงบ้าน

ส่วนในด้านเครื่องนุ่งห่ม คนยุคโบราณโดยเฉพาะพวกฤๅษีชีไพร มักนำหญ้าคามาทำผ้านุ่งเรียกว่า “คากรอง”

ยิ่งกว่านั้นดงหญ้าคายังเป็น “พืชเบิกไพร” ช่วยรักษาระบบนิเวศน์ให้สมดุล

เพราะถ้าไม่มีรากหญ้าคาที่ลึกเป็นศอกช่วยยึดหน้าดินไว้หลังจากป่าไม้ถูกถางโล่งเตียนแล้ว ป่าผืนใหม่จะไม่มีวันฟื้นกลับคืนมาได้อีกเลย

ด้วยคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ดังกล่าว วัชพืชชนิดนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “หญ้าหลวง”  ซ้ำยังเป็นสมุนไพรใกล้ตัวแบบหญ้าปากคอกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างคาดไม่ถึง

เรามาทำความรู้จักกับสรรพคุณความหวานเป็นยาของรากหญ้าคาที่เป็นขนมขบเคี้ยวของเด็กอีสานกันเถอะ

 

“หญ้าคา” มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Imperata cylindrica Beauv.

จุดเด่นของหญ้าคาคือมีเหง้าใต้ดินเป็นหลอดทรงกลม (cylinder) ตามชื่อวิทยาศาสตร์ แตกต่างจากเหง้าหญ้าแฝกที่มีทรงแบน

สรรพคุณของหญ้าคาที่รู้จักกันดีคือ บำรุงไตและรักษาทางเดินปัสสาวะ

ดังในคัมภีร์แพทย์ฉันทศาสตร์กล่าวไว้แต่โบราณว่า “ปิดเบาไซร้น้ำหญ้าคา ปิดหนักมาน้ำลูกสมอ”

ส่วนของหญ้าคาที่ใช้ทำยาไทย มักใช้ส่วนรากหรือเหง้าเช่นในคัมภีร์วรโยคสาร กล่าวถึงการใช้รสหวานของรากหญ้าคาเป็นตัวยาหลักในตำรับยาขับนิ่วหิน นิ่วกรวด นิ่วเบาเป็นเส้นในน้ำปัสสาวะ (หมายถึงสายละอองขาวขุ่นที่ลอยอยู่ในน้ำปัสสาวะนั่นเอง)

ทั้งยังขับมุตกิดตกขาว แก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบในท่านหญิง และแก้ปัสสาวะขัดลำกล้องในท่านชาย

พบว่าฤทธิ์ขับปัสสาวะของเกลือโพแทสเซียม ในรากหญ้าคายังช่วยลดความดันโลหิตสูงได้อย่างปลอดภัย

ยิ่งถ้าได้รากหญ้าทั้ง 5 (แห้ง) คือ หญ้าคา หญ้าแพรก อ้อยดำ อ้อยแดง และรากไผ่รวก นำมาห่อผ้าขาวบางต้มดื่มต่างน้ำ

นอกจากจะช่วยแก้โรคตกขาวได้ชะงัดแล้ว ยังชำระสิ่งหมักหมมในลำไส้ช่วยให้เบาเนื้อสบายตัว

 

สรรพคุณหญ้าคามีมากกว่าที่คิด ยังช่วยพิชิตอาการอักเสบรุนแรงในช่องปากและลำคอ ที่แพทย์แผนไทยเรารู้จักกันดีในชื่อริศดวงมหากาฬ คือมีอาการปากคอเปื่อย มีกลุ่มเม็ดริดสีดวงขึ้นในลำคอ อักเสบเป็นหนอง แสบร้อนคอกลืนกินอาหารไม่ได้

ท่านให้ใช้พืชสมุนไพรสด 4 ตัว คือ รากหญ้าคา ใบผักหนอก ใบว่านมหากาฬ  ใบแพงพวยเทศ และเกลือแกง เอามาอย่างละเท่าๆ กัน ตำให้แหลก ห่อผ้าแพร (ผ้าไหม) เป็นก้อนกลม พออมในช่องปากได้ ท่านว่า “อมหายมามากแล้ว”

คนทั่วไปรู้ดีว่าความหวานของรากหญ้าคาเป็นยาเย็น ใช้เข้าตำรับยาแก้ร้อนใน แก้ธาตุไฟกำเริบ

แต่มักไม่รู้ว่ารากหญ้าคาเป็นยาขับลมร้ายด้วย ในตำรับยาแก้ลมจุกเป็นก้อน เป็นเถาดาน ในทรวงอก ในช่องท้องที่เรียกว่าคุลมโรค ก็มีรากหญ้าคาเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วย

เสียดายจัง ถ้าหากน้าหว่องยังขบเคี้ยวหัวหญ้าเป็นสแน็กประจำวันแล้ว ก็อาจจะช่วยให้เลือดลมหล่อเลี้ยงหัวใจให้แข็งแรงกว่านี้

 

คนโบราณรู้ดีว่ารสหวานของรากหญ้าคาเป็นยาดีสำหรับเด็กเล็ก เพราะช่วยแก้โรคตานขโมย พุงโรก้นปอด ผอมแห้งแรงน้อย อันเป็นการสร้างพื้นฐานสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก

ดังนั้น การที่อดีตเด็กด้อยโอกาสอย่าง ด.ช.มงคล อุทก ได้ขุดดินกินหัวหญ้าเป็นภักษาหารจึงนับว่าเป็นโชคชะตาที่ดี

เนื่องจากรสหวานของหญ้าคามีคุณค่าทางยาสูง นอกเหนือไปจากมีสารน้ำตาลคุณภาพ อาทิ ซูโครส กลูโคสและฟรุกโตส คนโบราณจึงมีกรรมวิธีเก็บน้ำหวานจากรากหญ้าคาไว้ใช้ประโยชน์ทางยา ดังนี้

ช่วงเวลาหน้าหนาว อากาศแห้ง แล้งฝนแล้ว เป็นช่วงที่รากหญ้าคาอวบอ้วนสมบูรณ์เต็มที่หลังจากซึมซับธาตุอาหารผ่านฤดูฝนมายาวนานถึง 4 เดือน

จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเก็บน้ำหวานใต้ดินจากรากหญ้าคา

 

ขั้นแรกใช้เสียมขุดดินลึกลงไปให้เป็นโพรงใต้กอหญ้าคาสักหนึ่งศอกตัดส่วนที่เป็นรากยาวๆออกไป แล้วเอาแกลบใส่ให้เต็มโพรง จากนั้นหมั่นรดน้ำที่โคนต้นทุกวัน จนรากงอกใหม่ยาวงามขาวอวบดี จึงโกยเอาแกลบออกให้หมด รวบรากหญ้าคามัดรวมกันให้แน่น ใช้มีดคมบางปาดรากทั้งมัดครั้งละ 1-2 มิลลิเมตร

นำกระบอกแก้วหรือกระเบื้องเคลือบมารองรับหยาดน้ำหวาน ซึ่งจะไหลออกมาหลังจากปาดรากแล้วราว 3 วัน

เมื่อน้ำหวานหยุดไหลแล้ว จึงปาดมัดรากลึกเข้าไปอีกทีละน้อยๆ เหมือนปาดจั่นดอกมะพร้าว ก็จะได้น้ำหวานรากหญ้าคาเก็บไว้เป็นยาบำรุงไตอย่างดีสำหรับผู้ใหญ่

หรือจะใช้สำหรับบำรุงร่างกายเด็กให้สมบูรณ์แข็งแรงตั้งแต่วัยทารกก็ได้

ท่านบรมครูแพทย์ชีวกโกมารภัจจ์กล่าวโศลกไว้ว่า ไม่มีอักขระตัวใดเป็นคำมนตร์ไม่ได้ ไม่มีพืชชนิดใดใช้ทำยาไม่ได้ และไม่มีมนุษย์คนใดเป็นคนดีไม่ได้

วัชพืชที่ดูเหมือนไร้ประโยชน์ เช่น หญ้าคา ได้พิสูจน์แล้วว่าวาทะของท่านบรมครูเป็นสัจพจน์อย่างแน่แท้