“ซูจี” อดีตนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในวันที่โลกเสื่อมศรัทธา

คําพิพากษาโทษจำคุก 7 ปี นายวา โลน และนายจ่อ โซ อู สองนักข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวเมียนมา ฐานกระทำผิดในข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางการ กรณีรายงานข่าวการกวาดล้างชาวมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในประเทศ

จุดสถานการณ์ให้นางออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมาโดยพฤตินัย ที่นั่งควบตำแหน่งที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ ตกเป็นเป้านิ่งของเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิทธิและแวดวงสื่อมวลชนทั่วโลกอีกครั้ง ที่ต่างพากันออกมาแสดงความผิดหวังไม่พอใจกับบทบาทท่าทีของซูจีที่เอาแต่นิ่งเงียบ

ไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือหรือแสดงท่าทีใดๆ ในกรณีการจับกุมดำเนินคดีนักข่าวรอยเตอร์ทั้งสองรายนี้

ที่โลกภายนอกมองว่าพวกเขากำลังทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์กวาดล้างชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างโหดร้ายทารุณของกองทัพเมียนมา ที่เป็นผลให้ชาวโรฮิงญามากถึงราว 700,000 คนต้องอพยพหนีภัยออกไปนอกประเทศในช่วงกลางปีที่แล้ว

ไม่นับรวมอีกจำนวนมากที่ถูกสังหารเสียชีวิต ถูกข่มขืนกระทำชำเราและทำให้เสียทรัพย์

 

เสียงตำหนิวิจารณ์ที่มาจากทั่วสารทิศส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่าคำวินิจฉัยตัดสินโทษสองนักข่าวรอยเตอร์ตามกระบวนการยุติธรรมของเมียนมาที่ออกมา สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิเสรีภาพสื่อและหลักนิติธรรมในประเทศเมียนมา

เสียงตำหนิเหล่านั้นพุ่งเป้าหมายไปที่ตัวนางซูจีโดยตรง ในฐานะผู้นำรัฐบาล

และผู้ที่เคยได้รับการยกย่องชื่นชมจากผู้คนทั่วโลกในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยมาก่อน

เทียบชั้นได้กับผู้นำนักต่อสู้ที่เป็นที่นับหน้าถือตาระดับโลกอีกหลายคน อย่างองค์ทะไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต อดีตประธานาธิบดีเนลสัน แมนเดลา นักต่อสู้การเหยียดผิวชาวแอฟริกาใต้ และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน

โดยในระหว่างที่ซูจีถูกกักขังอิสรภาพให้อยู่แต่ภายในบ้านพักเป็นเวลาหลายปีในช่วงยุครัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา แต่เธอไม่เคยหยุดที่จะต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยให้แก่ชาวเมียนมา

ซูจียังดึงความสนใจจากประชาคมโลกให้ร่วมกดดันรัฐบาลเผด็จการทหารได้ด้วยการอาศัยการส่งสารผ่านสื่อต่างประเทศไปถึงโลกภายนอก นั่นทำให้บทบาทของซูจีเป็นที่รับรู้ ได้รับการยอมรับและการยกย่องเชิดชูในเวทีระหว่างประเทศ

จนทำให้ความคาดหวังที่มีต่อนางซูจีมีอยู่สูง

 

ทว่าหลังจากนางซูจีได้รับโอกาสให้เข้ามาบริหารประเทศในฐานะผู้นำรัฐบาลโดยพฤตินัย ซูจีกลับสร้างความผิดหวังอย่างหนักให้แก่หลายๆ ชาติ หลายๆ ฝ่าย ในการตอบสนองแก้ปัญหาต่อวิกฤตความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ที่ถูกกองทัพเมียนมาใช้กำลังประหัตประหารอย่างโหดร้ายทารุณ

ที่ในรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ของคณะทำงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ยังยืนยันว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าการกระทำดังกล่าวของกองทัพเมียนมาเป็นการล้างเผ่าพันธุ์และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

บิล ริชาร์ดสัน อดีตนักการทูตสหรัฐและอดีตที่ปรึกษาของนางซูจี เคยออกมากล่าวอ้างก่อนหน้านี้ว่าซูจีแสดงความโกรธเกรี้ยวออกมาเมื่อเขาพยายามยกประเด็นสองนักข่าวรอยเตอร์ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีขึ้นมาพูดคุย

โดยซูจีก่นตำหนินักข่าวทั้งสองคนนี้ว่าเป็นผู้ทรยศ

ขณะที่สื่อทางการภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงข่าวสารเมียนมาที่นางซูจีควบคุมอยู่ยังออกรายงานปกป้องกองทัพด้วยการระบุว่า การกล่าวหาว่ากองทัพเมียนมากระทำทารุณชาวโรฮิงญานั้นเป็นข่าวปลอม

และก่อนหน้านั้นในเดือนกันยายนปีที่แล้ว หลังจากถูกประชาคมโลกกดดันหนัก นางซูจีถึงได้ออกมาพูดเรื่องปัญหาโรฮิงญาด้วยการกล่าวว่าข่าวโรฮิงญาถูกบิดเบือนด้วยข่าวปลอมจำนวนมาก

 

มีการตั้งคำถามว่าเหตุใดซูจีถึงนิ่งเฉยหรือดูจะกระทำในสิ่งที่เป็นการปกป้องกองทัพมากกว่าที่จะต่อสู้เพื่อความถูกต้องและความยุติธรรมสำหรับผู้ตกเป็นผู้ถูกกระทำอย่างชาวโรฮิงญา?

คำตอบที่นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญมีให้ไว้ 2 แนวทางคือ การไร้อำนาจที่แข็งแกร่งในมือ หรือการสมคบคิด

แอรอน คอนเนลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาของสถาบันวิชาการลอวีในออสเตรเลีย มองว่าความคิดที่ว่าซูจีไร้อำนาจต่อกรกับกองทัพอาจเป็นแค่เรื่องโกหก หากซูจีจะยอมงัดข้อด้วยในเรื่องที่เห็นว่าคุ้มค่า! ที่อาจไม่มีเรื่องของชาวโรฮิงญารวมอยู่ในนั้นด้วย

ไม่ว่าคำตอบที่แท้จริงจะเป็นเช่นไร แต่ที่แน่ๆ ศรัทธาในตัวซูจีที่มีอยู่ได้ถูกทำลายจนแทบไม่เหลือชิ้นดีแล้ว