ปริศนาโบราณคดี : การเมืองเรื่องสถูป “จอมเจดีย์” VS “พระธาตุ 12 นักษัตร”

เพ็ญสุภา สุขคตะ
พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “จอมเจดีย์” เชื่อว่าน้อยคนเคยได้ยิน ผิดกับเมื่อกล่าวถึง “พระธาตุ 12 นักษัตร” หลายคนต้องร้องอ๋อ

แล้ว “จอมเจดีย์” กับ “พระธาตุ 12 นักษัตร” ซึ่งดูเหมือนคนละเรื่องมาเกี่ยวพันกันได้อย่างไร

คำตอบคือ ทั้งคู่ต่างเป็นเครื่องมือที่ชนชั้นผู้นำในสังคมดึงมาใช้ต่อสู้ทางการเมืองไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระหว่างลัทธิ “ราชาชาตินิยม” กับ “ท้องถิ่นนิยม”

นัยทางการเมืองเรื่อง “จอมเจดีย์”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้บัญญัติคำว่า “จอมเจดีย์” ขึ้นมา โดยตรัสแก่สมเด็จพระวันรัต (กิตตโสภโณเถระ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อ พ.ศ.2485 ว่า

“การที่ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพระบวรพุทธศาสนา ทำให้มีพุทธสถานกระจายกล่นเกลื่อนอยู่ทั่วประเทศ มีอายุและแบบศิลปกรรมแตกต่างกันตามคตินิยมและยุคสมัย ในบรรดาปูชนียสถานนับร้อยนับพันมีเพียง 8 แห่งเท่านั้นที่ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็น “จอมเจดีย์” แห่งสยาม”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ มิได้ทรงมีอรรถาธิบายถึงเหตุผลแห่งการนำคำว่า “จอม” มาใช้ หากแต่เราทราบกันดีว่าเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระราชบิดาของพระองค์ ราวกับว่าสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้คัดเลือกปูชนียสถานที่ทรงคิดว่าสำคัญที่สุดของไทย แล้วเฉลิมนามว่า “จอมเจดีย์” เพื่อถวายเป็นพระเกียรติให้แด่พระบรมราชชนก

เกณฑ์การคัดเลือกจอมเจดีย์มีเงื่อนไขใดบ้าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงอธิบายถึงความสำคัญของจอมเจดีย์แต่ละองค์ ประกอบเหตุผลไว้โดยย่อดังนี้

1. พระปฐมเจดีย์ เหตุเพราะสร้างเมื่อแรกพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานในสยามประเทศ
2. พระปรางค์พระศรีมหาธาตุละโว้ เหตุเพราะเป็นสถูปองค์แรกในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในสยามประเทศ
3. พระธาตุหริภุญไชย ลำพูน เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในแคว้นล้านนาไทย
4. พระธาตุพนม เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในภาคอีสาน
5. พระศรีรัตนมหาธาตุ ศรีสัชนาลัย เหตุเพราะเป็นเจดีย์องค์แรกในการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
6. พระมหาธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อพุทธศาสนาลังกาวงศ์สถาปนาในสยามประเทศ
7. พระเจดีย์ช้างล้อม ศรีสัชนาลัย เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติ
8. พระเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา เหตุเพราะเป็นเจดีย์ที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติเมื่อครั้งทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยเหนือพระมหาอุปราชแห่งกรุงหงสาวดี

เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติของ “จอมเจดีย์” ที่ถูกคัดสรรมา พบว่าปราชญ์แห่ง “วังวรดิศ” ใช้ความเก่าแก่ที่สุดของพระเจดีย์ในแต่ละภูมิภาคเป็นเงื่อนไขหลัก

แบ่งได้เป็น 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง-พระปฐมเจดีย์ ภาคเหนือตอนบน-พระธาตุหริภุญไชย ภาคเหนือตอนล่าง-พระมหาธาตุศรีสัชนาลัย ภาคใต้-พระมหาธาตุนครศรีธรรมราช และภาคอีสาน-พระธาตุพนม

ส่วนจอมเจดีย์ที่เหลืออีก 3 องค์นั้น น่าจะใช้เกณฑ์คัดเลือกจากเจดีย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสายสัมพันธ์โดยตรงของราชวงศ์จักรีในอดีตอันสืบย้อนไปถึงกรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย และกรุงละโว้ ในฐานะเป็นต้นราชวงศ์

ในส่วนของกรุงศรีอยุธยานั้นได้เลือกที่จะเชิดชูสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ปกป้องแผ่นดินสยามแทนที่จะเชิดชูพระเจดีย์องค์อื่นๆ เช่น พระปรางค์วัดมหาธาตุอยุธยาหรือพระเจดีย์ศรีสรรเพชญ์ ทั้งที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่กว่า

เช่นเดียวกับที่ศรีสัชนาลัย เมืองเก่าของสุโขทัยได้รับการเชิดชูมากถึงสองแห่ง แห่งหนึ่งเป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดในภูมิภาคดังได้กล่าวมาแล้ว (พระศรีรัตนมหาธาตุ) ส่วนอีกแห่ง (วัดช้างล้อม) เกี่ยวข้องโดยตรงกับกษัตริย์องค์สำคัญคือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องอย่างสูง ทั้งยังมีพระราชประสงค์จะดำเนินรอยตามด้วยการประดิษฐ์อักษรอริยกะ ดังที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ลายสือไท

ส่วนจอมเจดีย์แห่งสุดท้ายนั้น ให้ความสำคัญต่อการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่ละโว้ สะท้อนว่ากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีมีความผูกพันใกล้ชิดกับนิกายมหายานหรือลัทธิพราหมณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพุทธเถรวาท

การสถาปนาความสำคัญของ “จอมเจดีย์” ทั้งแปดนี้ ได้รับการยืนยันปรากฏเป็นภาพเขียนในซุ้มคูหาเจาะลึกในผนัง 8 ห้องของพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดซึ่งเป็นดั่งตัวแทนของการรวมศูนย์อำนาจในยุคสมบูรณาสิทธิราชย์ จอมเจดีย์ทั้งแปดจึงมีโครงสร้างของคติจักรวาลรูปแบบใหม่ ด้วยการวางผังเป็นรูปดาวกระจาย คล้ายกับให้ความสำคัญแก่ทุกแว่นแคว้นเท่าเทียมกัน อันไม่เคยปรากฏความเชื่อนี้มาก่อนบนแผ่นดินสยาม

ฉะนั้น เมื่อมองเผินๆ แล้ วคล้ายกับเป็นการยกย่องเชิดชูท้องถิ่น เนื่องจากเมื่อได้รับคัดเลือกให้เป็น “จอมเจดีย์” แล้ว ราชสำนักสยามได้กำหนดเป็นประเพณีว่าเมื่อพระมหากษัตริย์แรกเสวยราชย์จะต้องแต่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง เทียนทอง ธูปเงิน พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยนำไปทำการสักการบูชาจอมเจดีย์ทั้งแปดทุกครั้ง

หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชกรณียกิจต้องเสด็จพระราชดำเนินไป ณ เมืองนั้นๆ อยู่แล้วก็จักมีหมายกำหนดการให้ต้องถวายสักการะเวียนเทียน และสระสรงพระบรมธาตุ

ดั่งนี้แล้ว ควรเป็นเรื่องที่น่าปลาบปลื้มปีติยินดีในพระมหากรุณาธิคุณสำหรับเจดีย์ทั้งแปดที่ถูกคัดเลือกมิใช่หรือ?

แต่เหตุไฉน ท้องถิ่นในหลายภูมิภาคกลับไม่ยอมขานรับกับเกียรติยศแห่งจอมเจดีย์ โดยเฉพาะในดินแดนล้านนา กลับพอใจที่จะสร้างเครือข่ายพระธาตุ 12 นักษัตรแทน

การเมืองเรื่องพระธาตุ 12 นักษัตร

เราเคยตั้งคำถามกันบ้างหรือไม่ว่าความเชื่อเรื่องการไหว้พระธาตุประจำปีเกิดของล้านนานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครเป็นผู้กำหนดพระธาตุเจดีย์ให้คู่กับปี 12 นักษัตร?

“การชุธาตุ” หรือประเพณีการไหว้พระธาตุเพื่อเสริมบุญให้มีอายุยืนยาว เป็นสิริมงคล อีกทั้งยังป้องกันภยันตรายในการดำรงชีวิต โดยแยกตามปีเกิดเป็นความเชื่อของคนล้านนามาตั้งแต่อดีตจริงหรือ

หากไม่ใช่ แล้วคนล้านนาดั้งเดิมมีประเพณีการไหว้พระธาตุแบบใด หากใครอยากเห็นการไหว้พระธาตุของชาวล้านนาสมัยก่อนให้ดูได้ที่พระธาตุดอยกองมู แม่ฮ่องสอน หรือพระธาตุองค์อื่นๆ ในวัฒนธรรมพม่า-ไทใหญ่ นั่นคือการไหว้ที่ทิศทั้งแปด โดยแบ่งตามวันเกิดทั้งเจ็ดวันเมื่อนับรวมพุธกลางคืนด้วยก็จะได้ครบแปดวัน-แปดทิศ กล่าวคือ ทุกคนสามารถไหว้พระธาตุองค์เดียวกันได้ทุกแห่ง เพียงนำกรวยดอกไม้ไปสักการะยังทิศประจำวันเกิดเป็นใช้ได้

แต่แล้ว การไหว้พระธาตุตามทิศวันเกิดก็เลือนหายไป เปลี่ยนเป็นการกำหนดพระธาตุ 12 นักษัตรขึ้นแทนที่ ดังนี้

1. ปีชวด-พระธาตุศรีจอมทอง เชียงใหม่
2. ปีฉลู-พระธาตุลำปางหลวง
3. ปีขาล-พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่
4. ปีเถาะ-พระธาตุแช่แห้ง เมืองน่าน
5. ปีมะโรง-พระพุทธสิงค์วัดพระสิหิงค์ เชียงใหม่
6. ปีมะเส็ง-ต้นศรีมหาโพธิ์ พุทธคยา ในอินเดีย อนุโลมไหว้ต้นโพธิ์ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด เชียงใหม่
7. ปีมะเมีย-พระธาตุตะโก้งหรือชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า อนุโลมให้ใช้พระบรมธาตุบ้านตาก จังหวัดตาก หรือพระธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย อำเภอลี้ ลำพูน ซึ่งทั้งสองแห่งจำลองรูปแบบศิลปะคล้ายพระมหาเจดีย์ชเวดากอง
8. ปีมะแม-พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่
9. ปีวอก-พระธาตุพนม
10.ปีระกา-พระธาตุหริภุญไชย ลำพูน
11. ปีจอ-พระธาตุเกตุแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อนุโลมให้ไหว้พระธาตุอินทร์แขวนในพม่า หรือพระเจดีย์วัดเกตุเชียงใหม่ หรือมิเช่นนั้นใช้วิธีจุดโคมประทีปลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า
12. ปีกุญ (กุน)-พระธาตุดอยตุง เชียงราย

อนึ่ง ตำแหน่งของพระธาตุ 12 นักษัตร นั้นกำหนดตามคติการสร้างจักรวาล ประกอบด้วย

– พระเจดีย์จุฬามณี แทนปราสาทไพชยนต์ บนยอดเขาพระสุเมรุ
– พระศรีมหาโพธิ์ เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งการตรัสรู้ธรรมให้ร่มเงาแก่พระพุทธเจ้า
– พระพุทธสิหิงค์ เปรียบดั่งพระพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ ศูนย์กลางจักรวาล
– พระธาตุหริภุญไชย พระธาตุลำปางหลวง พระธาตุช่อแฮ และพระธาตุแช่แห้ง เปรียบได้ดั่งทวีปทั้งสี่ในจักรวาล
– เจดีย์ชเวดากองและพระธาตุพนม เปรียบได้ดั่งกำแพงจักรวาลทิศตะวันตกและทิศตะวันออก
– พระธาตุศรีจอมทอง พระธาตุดอยสุเทพ และพระธาตุดอยตุง เปรียบเสมือนเขาตรีกูฏ หรือผาสามเส้าที่รองรับเขาพระสุเมรุ

ปริศนาเรื่องการกำหนดพระธาตุ 12 นักษัตรนี้ เดิมเคยเชื่อกันว่ามีมาแล้วตั้งแต่ล้านนาโบราณยุคพระเจ้าติโลกราช ตามแนวความคิดที่พระองค์ท่านเน้นการสร้างความสัมพันธ์แบบเครือข่ายกับอาณาบริเวณต่างๆ แต่ทว่า นักวิชาการท้องถิ่นหลายท่านกลับเชื่อว่าคติการกำหนดพระธาตุประจำปีเกิดนี้เพิ่งมีขึ้นมาใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่เกิน 100 ปีมานี่เอง อันเป็นผลพวงมาจากปฏิกิริยาตอบโต้ “การเมืองเรื่องเจดีย์”

ภายหลังจากที่ศูนย์กลางอำนาจได้รวมพระธาตุ “จอมเจดีย์” สำคัญทั่วประเทศไว้เพื่อประกาศความเป็นปึกแผ่นของสยาม ชาวล้านนาย่อมเกิดความรู้สึกไม่พอใจ จึงลุกขึ้นมาสร้างเครือข่ายของตนเองบ้างผ่าน “พระธาตุ 12 นักษัตร” เป็นนัยทางการเมืองว่าแท้ที่จริงแล้วชาวล้านนามีความผูกพันกับชาวล้านช้าง และพม่ามากกว่าสยาม

การประกาศตัวตนผ่าน “พระธาตุ 12 นักษัตร” เกิดจากบริบททางสังคมสมัยรัชกาลที่ 5 ขณะนั้นขอบเขตของสยามประเทศยังไม่ได้เป็นเหมือนด้ามขวานทองปัจจุบัน อย่างน้อยสถูปสององค์ใน “จอมเจดีย์” ก็ยังอยู่ในความครอบครองของ “ประเทศราช” มิใช่ส่วนหนึ่งของสยามโดยตรง นั่นคือพระธาตุหริภุญไชย ที่ลำพูนตั้งอยู่ใน “มณฑลลาวเฉียง” ส่วนพระธาตุพนมก็ตั้งอยู่ใน “มณฑลลาวพวน” ประเทศราชเหล่านี้ยังมิได้มีความผูกพันรวมเป็นหนึ่งเดียวกับราชอาณาจักรสยาม

ลองพิเคราะห์ดูว่าวัฒนธรรมใดบ้างที่เน้นการบูชาพระธาตุ 12 นักษัตร ไม่ปรากฏทั้งในอินเดีย ลังกา มอญ ขอม ทวารวดี ทั้งหมดนี้ให้ความสำคัญกับเรื่อง 12 ราศี (เดือนเกิดไม่ใช่ปีเกิด) ยกเว้นแต่ “นครศรีธรรมราช” ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ประจำเมืองเป็นรูปเวียงบริวาร 12 นักษัตร

มีแต่ “จีน” ประเทศที่เดียวที่เน้นความเชื่อในเรื่อง 12 นักษัตรมากกว่าอารยธรรมเอเชียอื่นๆ จึงสันนิษฐานว่า ล้านนาน่าจะได้รับอิทธิพลคตินี้มาจากจีนผ่านทางแคว้นสิบสองปันนา

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้คิดกุศโลบายในการจำลองผังจักรวาลที่มีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางโลกมาเชื่อมโยงกับพระธาตุองค์ต่างๆ ทั่วแว่นแคว้นล้านนา ข้ามไปยังล้านช้างและพม่า จะใช่ครูบาเจ้าศรีวิชัยหรือไม่

เพียงแต่มีข้อสังเกตว่าทำไมครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงนิยมปั้นรูปสัตว์สัญลักษณ์ประจำปีเกิดมาประดับในงานสถาปัตยกรรม ทั้งแผ่นหน้าบัน บานประตู หน้าต่าง แท่งเสา ผนังอาคาร โดยเฉพาะรูปเสือปีเกิดของท่านนั้นพบแทบทุกแห่งในวัดประคำ 108 เม็ดที่ท่านสร้าง

อย่างน้อยที่สุด ข้อสังเกตนี้สะท้อนว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัยเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อคติ 12 นักษัตรอย่างมาก กอปรกับความเป็นกบฏของท่านที่ปฏิเสธอำนาจการครอบงำของรัฐสยามทุกรูปแบบ ยิ่งทำให้นักวิชาการปักใจเชื่อว่า ประเพณีการบูชาพระธาตุ 12 นักษัตรนี้ ถูกสถาปนาขึ้นโดยครูบาเจ้าศรีวิชัยอย่างไม่ต้องสงสัย

“จอมเจดีย์” ณ วันนี้แทบจะสูญหายไปจากการรับรู้ของผู้คน เหตุเพราะหมดความจำเป็นด้านกุศโลบายการสร้างเอกภาพทางเชื้อชาติผนวกเอาดินแดนรัฐชายขอบมายกย่องไว้ภายใต้เศวตฉัตรให้มีฐานะเดียวกันหมด ด้วยความรู้สึกที่ว่า “ไม่มีไทย ไม่มีลาว”

หากทว่า “พระธาตุ 12 นักษัตร” นานวันกลับจะยิ่งเป็นที่นิยมชมชอบแพร่หลายมากขี้นในหมู่คนไทยทั่วทุกภูมิภาค ทั้งๆ ที่มีจุดเริ่มต้นเป็นเพียงแค่กุศโลบายใช้คานอำนาจกับ “จอมเจดีย์” แบบรู้ทัน

ปรากฏการณ์นี้ เปรียบได้ดังปฐมบทแห่งอาการตาสว่าง ที่ลุกลามไปทั่วอาณาสยามประเทศทุกวันนี้ ประหนึ่งสัญญาณแห่งการเรียกร้องสิทธิ์ให้เคารพท้องถิ่น และปฏิเสธการรวมศูนย์อำนาจผูกขาดไว้ที่บุคคลเพียงกลุ่มเดียว