หลังเลนส์ในดงลึก : “ตีน กับ หัวใจ”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลายวันแล้วที่รองเท้าผมอยู่ในสภาพเปียกชุ่มโชกทั้งด้านนอกและด้านใน ผมเอาวางผึ่งลม ดึงแผ่นรองด้านในออกมา น้ำระเหยออกไปบ้างไม่ถึงกับแห้ง อย่างน้อยเวลาใส่ก็พอจะหมาดๆ บ้าง ว่าตามจริงรองเท้าคู่นี้มีคุณสมบัติที่ดีกันน้ำได้ รองเท้าเป็น “อุปกรณ์” ที่ผมเชื่อว่าสำคัญพอที่จะลงทุน

แต่ในการเดินบนด่านที่บางช่วงมีน้ำเอ่อล้นเป็นแอ่ง ระดับน้ำลึกท่วมหน้าแข้ง คุณสมบัติกันน้ำได้ของรองเท้าช่วยอะไรไม่ได้

หลายเดือนในรอบหนึ่งปี สิ่งที่ขาดแคลนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกคือแสงแดด ปริมาณน้ำฝนซึ่งค่อนข้างมากทำให้เราพบกับสภาพท้องฟ้าอันมัวซัวอยู่เสมอๆ รองเท้าถ้าได้แดดสักครึ่งวันคงดี บางทีขอเพียงเท่านี้เราก็ยังไม่ได้ ถ้าอยู่ในแคมป์เราจะใช้วิธีผิงไฟ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า ถุงเท้า เสื้อผ้า เราจะ “ย่าง” ให้มันแห้ง อุปกรณ์ต่างๆ แห้งตามต้องการ

ผลพลอยได้ที่ไม่ต้องการคือกลิ่นควันไฟซึ่งอับๆ และติดกับเราไปเรื่อย

ว่าไปแล้วนี่ไม่ใช่ปัญหาของคนอื่นๆ หรอกเพราะคนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกจะใช้บู๊ตยางสูงครึ่งแข้ง เดินลุยน้ำลุยโคลนได้ดี ถึงที่พักก็ล้างๆ ถอดผึ่งไว้พักเดียวแห้ง

ข้อควรระวังคือ ควรวางคว่ำลง และเวลาใส่ต้องเคาะให้ดีๆ ไม่เช่นนั้นอาจพบสัตว์ต่างๆ ตั้งแต่แมงป่อง คางคก ตะขาบ ไปจนถึงงูได้

“บู๊ตยางไม่ได้กันลื่น หรือเดินบนทางเป็นโคลนได้ดีนักหรอกครับ” จิตติ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช ผู้เหลืออีก 2 ปีจะเกษียณเคยบอกผม

ผมรู้จักกับเขาตั้งแต่ยุคที่ผมเริ่มต้นดูนกและขอติดรถหัวหน้าวีรวัถน์เข้ามา จิตติคือผู้ร่วมทางที่เกาะท้ายรถ อีแก่ แลนครูเซอร์คันเก่งที่น้ามืดเป็นพลขับ ถึงวันนี้ “อีแก่” จอดเป็นซากรถ อยู่ข้างๆ สำนักงานเขต

“แต่มันล้างทำความสะอาดง่ายและลุยน้ำได้” จิตติบอกต่อถึงคุณสมบัติบู๊ตยาง

สำหรับผมดูไม่คุ้นชินเอาเสียเลย ยังใช้รองเท้าเดินป่าชนิดที่คุ้นเคย เรื่องง่ายๆ บางเรื่องดูคล้ายจะยากที่จะปรับตัว

ฝนตกหนักสลับเบาตลอดสัปดาห์ โดยเฉพาะเวลาบ่าย สายฝนหนักราวฟ้ารั่ว เช้าๆ ละอองฝนโปรยเบาบาง มีแสงแดดพยายามส่องลอดเมฆดำทะมึนมาบ้าง

สถานีวิทยุแม่ข่ายเขาพระฤๅษีต้องเปิดเป็นช่วงๆ เหตุผลเพื่อประหยัดพลังงาน

แม้ชมรมรักษ์ป่าตะวันตกจะเข้ามาช่วยปรับปรุงแผงโซลาร์เซลล์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว แต่การที่ไม่มีแสงแดดติดต่อกันหลายวัน เรื่องพลังงานจึงต้องใช้อย่างประหยัด

สายฝนและระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มระดับขึ้นมาก เสียงน้ำไหลดังฟังชัดเจนจากในหน่วย ทั้งๆ ที่ลำห้วยอยู่ห่างออกไปเกือบ 500 เมตร ผมต้องปรับแผน การเข้าไปรออยู่ในซุ้มบังไพรเฉอะแฉะเกินไป อีกทั้งตำแหน่งที่คาดว่าจะมีตัวอะไรเดินตามด่านมาข้ามลำห้วยก็ไม่น่าจะมี เพราะระดับน้ำสูงและไหลแรง ความเปียกชื้นไม่น่าจะเหมาะกับความบอบบางของกล้องและเลนส์ด้วย

ผมใช้เวลาตลอดวันอยู่ใกล้ๆ หน่วยพิทักษ์ป่า กระนั้นผมก็พบกับกระทิงฝูงหนึ่งเข้ามากินน้ำในโป่งอันเป็น “โป่งเทียม” ที่ ศุภกิจ หัวหน้าหน่วยเอาเกลือไปใส่ไว้

ห่างจากโป่ง 200 เมตรมีหอดูสัตว์ ความสูงระดับยอดไม้ช่วยให้การดูนกเป็นไปอย่างเพลิดเพลิน

นกกินปลีคอแดงตัวหนึ่งทำท่าเป็นเจ้าของไม้พุ่มซึ่งกำลังออกดอกสีแดงอ่อนๆ ตัวมันเองอยู่ในช่วงกำลังผลัดขนสีจึงดูจืดๆ แต่อีกตัวอยู่ในช่วงขนสมบูรณ์ ขนสีแดงบริเวณคอสดใสจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะสวยสดได้เพียงนี้ เจ้าตัวสวยโผล่เข้ามาได้เดี๋ยวเดียวก็จะถูกเจ้าตัวที่แสดงความเป็นเจ้าของไล่ไป

ความว่องไวของนกกินปลีช่วยฝึกฝนงานใช้กล้องได้ดี ตาแนบช่องมองภาพ มือกดชัตเตอร์ แพนกล้องตามความว่องไวของนก นี่คล้ายกับผมย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาเริ่มต้น

อยู่บนหอดูสัตว์ซึ่งกันฝนได้ดี กว้างขวาง ลุกขึ้นเดินไป-มาได้สะดวก ผมนึกถึงซุ้มบังไพรแคบๆ อันชื้นแฉะ ผมเริ่มต้นมาเช่นนั้น หลายครั้งที่นั่งกับพื้นเอียงๆ บนพื้นไม่มีเก้าอี้ ยุง แมลง สัตว์เลื้อยคลานคือเพื่อนร่วมซุ้ม ฝนตกก็คลุมด้วยฟลายชีต หรือผ้ายาง นั่งจับเจ่า เท้าเปียกแฉะอยู่ในรองเท้า

ขณะอยู่ในซุ้มบังไพรผมไม่อาจถอดรองเท้า เพราะมีประสบการณ์ครั้งที่ออกจากซุ้มวิ่งตามเสือดาวตัวหนึ่งที่วิ่งไล่ลิงแสม ครั้งนั้นผมได้รูปเสือดาวคาบลิง พร้อมๆ กับเท้าที่เป็นแผลหลายแผลจากการวิ่งไปบนกอหนาม อีกทั้งพลบค่ำเมื่อกลับถึงแคมป์ ถอดรองเท้าเปียกโชกออก เท้าซีดๆ ผมพบว่า ในเวลาเช่นนั้นมีเพียงแค่รองเท้าแตะ ชีวิตก็มีความสุขแล้ว

ในช่วงเวลาเริ่มต้น ความชื้นแฉะ สายฝนหรือกระแสน้ำในลำห้วยเอ่อล้นเหล่านี้ไม่ใช่อุปสรรค ทำงานมานาน มีประสบการณ์มากขึ้นเรารู้ว่าควรทำเช่นไร กระนั้นก็เถอะ หลายครั้งที่ผมคิดว่า “ความไม่รู้” นั่นแหละทำให้ได้งานบางชิ้น

จะปุ๊ เพื่อนผู้เฒ่าชาวมูเซอดำบอกให้ผมลงไปอยู่ตรงชะง่อนหินข้างล่าง ตรงนั้นน่าจะถ่ายรูปกวางผาได้ดี วิธีที่จะลงไปจากสันดอยที่ชันเกือบ 90 องศา คือเอาเชือกเส้นเล็กๆ ของจะปุ๊ ผูกเอวไว้ ไต่ลงไปโดยมีจะปุ๊ดึงอยู่ข้างบน ผมเชื่อเขา เอาเชือกผูกเอวไต่ลงไป เมื่อบอกจะปุ๊ว่า “จับดีๆ นะ” และเขายิ้มกว้างตอบว่า “จับดีสิเราเป็นเพื่อนกันนะ”

ถ้าเป็นทุกวันนี้ผมคงลงไปที่เดิม แต่ด้วยอุปกรณ์ปีนเขาที่ดี ปลอดภัย ผมลงไปที่เดิมได้

แต่ไม่แน่ใจว่าจะพบหรือเห็นอะไรหรือไม่

ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ผม “ใส่ใจ” กับรองเท้า นอกจากใช้ใส่ทำงานในชีวิตประจำวันหรือไปที่ใหนๆ ผมใช้คู่เดิมจนกระทั่งพัง ซ่อมแซมไม่ได้ไปทีละคู่

ผมมีบทเรียนที่จะไม่ถอดรองเท้าเวลาอยู่ในซุ้มบังไพรอีกนั่นแหละ หากผมไม่ออกจากซุ้มบังไพรด้วยเท้าเปล่า วิ่งตามเสือดาวไปคงไม่ได้งานที่ดีและอาจเป็นครั้งเดียวที่มีโอกาสได้อยู่ในช่วงเวลาอย่างนั้น

อาจไม่แปลกอะไร เริ่มต้นใหม่ๆ “ตีน” มักมาก่อนหัวใจหรือสมอง

บางบ่ายบนหอดูสัตว์ แสงแดดลอดผ่านความมัวซัวของเมฆมาได้บ้าง ผมวางรองเท้าให้ตรงแดด ตรงหูรองเท้าข้างขวามีรอยแหว่งเพราะไฟไหม้ ตลอดหลายปีของการทำงานในป่า ผมใช้รองเท้ามาหลายคู่ คู่ที่เสียจนซ่อมแซมไม่ได้ ผมยังเก็บไว้

เมื่อมองรองเท้าผมนึกถึงงานชิ้นหนึ่งของ “หนึ่ง” วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เขาเขียนไว้ว่า

“ควรถอดรองเท้าเดินเหยียบกรวดทรายบ้างเพื่อให้เท้าแข็งแรง เพราะอาจมีผลไปถึงหัวใจ”

ผมเชื่อเช่นเดียวกับหนึ่ง เชื่อว่า “ตีนกับหัวใจ” คือเรื่องเดียวกันและควรรักษามันให้ดี