มุกดา สุวรรณชาติ / เส้นทางสู่อำนาจ : วิถีแห่งรัฐประหาร

มุกดา สุวรรณชาติ

รัฐประหาร 2490
: จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ก่อนจะทำความเข้าใจต่อเส้นทางสู่อำนาจโดยผ่านวิถีแห่งรัฐประหาร มีความจำเป็นต้องเริ่มต้นโดยการศึกษารัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 อย่างเป็นพิเศษ

เนื่องจากมีผลสะเทือนอันมีลักษณะแบ่งยุคแบ่งสมัยในทางการเมืองที่สำคัญ

นั่นก็คือ เป็นรัฐประหารซึ่งตัดยุคและปิดม่านของ “คณะราษฎร” ที่เริ่มต้นครองอำนาจตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2475 ลงไปโดยพื้นฐาน แม้ว่าภายหลังรัฐประหาร นายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเคยเป็นสมาชิก “คณะราษฎร” และเคยเป็นนายกรัฐมนตรีในยุคที่ “คณะราษฎร” จะยังมีบทบาท แต่ก็ด้วยองค์ประกอบใหม่ที่เกิดขึ้นจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

เช่นเดียวกับ แม้ว่านับแต่เดือนเมษายน 2491 เป็นต้นมา อำนาจทางการเมืองจะตกอยู่กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นสมาชิกผู้ก่อการระดับ D1 ที่ริเริ่มและเข้าร่วมมากับ “คณะราษฎร” มาตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส

แต่ก็ด้วยองค์ประกอบและเนื้อหาทางการเมืองที่แปรเปลี่ยนไปแล้วเป็นอย่างมาก

แปรเปลี่ยนไปจากองค์ประกอบเมื่อครั้ง พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนธันวาคม 2481

ยิ่งกว่านั้น สมาชิกคนสำคัญระดับ D1 อีกคนหนึ่งของ “คณะราษฎร” อย่างนายปรีดี พนมยงค์ ยังตกเป็นเป้าแห่งการโค่นล้มและไล่ล่า ทำลายล้าง ถึงขั้นมุ่งร้ายหมายชีวิตจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490

รัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 ทาง 1 จึงเป็นรูปธรรมแห่งแม่น้ำแยกสาย ไผ่แยกกอ และอีกทาง 1 เป็นการจบสิ้นของยุคแห่ง “คณะราษฎร” ในทางการเมือง

 

ปรีดี พนมยงค์
แปลก พิบูลสงคราม

จําเป็นต้องยอมรับว่า สถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ในด้าน 1 ส่งผลให้อำนาจทางการเมืองและอำนาจทางการทหารของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถดถอยลงเป็นลำดับ

ถดถอยเพราะทิศทางแห่งการเป็นเผด็จการ

ถดถอยเพราะทิศทางอันเป็นฝ่ายเดียวกับ “อักษะ” และถูกบีบจากจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นให้ประกาศสงครามกับ “สัมพันธมิตร”

ขณะเดียวกัน ด้าน 1 อำนาจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นหัวหน้าสายพลเรือนใน “คณะราษฎร” ก็เติบใหญ่มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ เพราะยึดกุมทิศทางอันเป็นตัวแทนแห่งระบอบประชาธิปไตย ประสานเข้ากับทิศทางอันเป็นตัวแทนแห่งกลุ่มผู้รักชาติที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “อักษะ”

หากแต่ได้จัดตั้ง “ขบวนการเสรีไทย” ขึ้นเพื่อต่อสู้ กู้ชาติจากการยึดครองของจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น

บนทิศทางแห่งความเป็นประชาธิปไตย บนทิศทางแห่งความคิดรักชาติ พิทักษ์ปิตุภูมิ ทำให้กลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ สามารถสร้างแนวร่วมประชาชาติ ประชาธิปไตย ขึ้นได้อย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งนายควง อภัยวงศ์ หรือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ก็เป็นส่วนหนึ่งภายในแนวร่วมอันทรงความหมายนี้

โดยพื้นฐานคือ แนวร่วมซึ่งอยู่ในทิศทางและแนวทางตรงกันข้ามกับของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะนั้นอย่างสิ้นเชิง

การรุกทางการเมืองของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ไม่เพียงแต่ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องอำลาจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากที่สุดแม้กระทั่งตำแหน่งทางทหารที่เคยยึดครองอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2481 ก็ถูกลิดรอน

กลายเป็นนายทหารนอกราชการไป

ยิ่งเมื่อผลสะเทือนจาก “ขบวนการเสรีไทย” ทำให้คำประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนมกราคม 2485 กลายเป็นโมฆะ ความหมายก็คือ ประเทศไทยไม่ตกอยู่ในสถานะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม

ยิ่งทำให้เกียรติภูมิของ “ขบวนการเสรีไทย” และนายปรีดี พนมยงค์ ทะยานขึ้นสูงเด่นนับแต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2488 เป็นต้นมา

 

อำนาจเสรีไทย
ปรีดี พนมยงค์

การดำรงอยู่ของ “ขบวนการเสรีไทย” และการดำรงอยู่ของอำนาจทางการเมืองกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์เป็นการดำรงอยู่สั้นเป็นอย่างมาก

หมายถึงการเป็น “แนวร่วม” ระหว่างกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มนายควง อภัยวงศ์

การดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ระหว่างกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มของนายควง อภัยวงศ์ มีขึ้นไม่ยาวนานนักนับแต่เดือนกรกฎาคม 2487 เป็นต้นมา

นั่นก็โดยนายควง อภัยวงศ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2487

นั่นก็โดยนายทวี บุณยเกตุ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2488 เป็นเวลาเพียง 17 วัน

นั่นก็โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2488

กระนั้นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2489 อันส่งผลให้นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหนที่ 2 น้ำผึ้งพระจันทร์ระหว่างกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มนายควง อภัยวงศ์ ก็เริ่มขมและขมมากยิ่งขึ้น

พลันที่รัฐบาลแพ้มติสภาผู้แทนราษฎรในญัตติเรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขันซึ่งเสนอโดยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน และคณะ

นายควง อภัยวงศ์ ก็ยื่นใบลาออกจากนายกรัฐมนตรี

จากนั้นรัฐสภาก็ลงมติเลือกนายปรีดี พนมยงค์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2489

และเมื่อประสบเข้ากับผลสะเทือนจากสถานการณ์ในกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 นายปรีดี พนมยงค์ ก็กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แล้วตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็ตกเป็นของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อันเป็นบุคคลในกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์

จากเดือนมีนาคม 2489 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2490 การสัประยุทธ์ทางการเมืองดำเนินไประหว่างกลุ่มของนายปรีดี พนมยงค์ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กับกลุ่มของนายควง อภัยวงศ์ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

ขณะที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซุ่มอยู่ที่ลำลูกกาและซอยชิดลม

น่าสนใจก็ตรงที่ได้มีการเคลื่อนไหวทางการทหารอย่างเงียบๆ โดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกประจำการซึ่งอพยพครอบครัวไปเป็นชาวสวนอยู่ที่ ต.บางขนาก อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา โดยต่อสายไปยังทหาร ตำรวจและพลเรือน

นี่คือ “หวอด” อันนำไปสู่การก่อรูปขึ้นของคณะรัฐประหารซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2490

 

เส้นสน กลใน
รัฐประหาร 2490

หากศึกษาจากบันทึกของจอมพลผิน ชุณหะวัณ ประสานกับวิทยานิพนธ์เรื่องรัฐประหาร 2490 ของนายสุชิน ตันติกุล ประสานกับข้อเขียนทางประวัติศาสตร์การเมืองของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ผ่านนามปากกา “แมลงหวี่” ภายหลังการรัฐประหาร

คล้ายกับว่า ไม่มีความเกี่ยวพันระหว่างคณะรัฐประหารที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างคณะรัฐประหารกับบรรดาแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์

แม้ว่า “เป้าหมาย” อันถือว่าเป็น “ศัตรูร่วม” ในทางการเมืองจะอยู่ที่รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็ตาม

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการโค่นล้มโดยวิธีการทาง “การเมือง”

ปมเงื่อนอยู่ตรงที่คณะรัฐประหารต้องการโค่นล้มโดยวิธีการทาง “การทหาร”

ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในเดือนพฤษภาคม 2490 และเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเสียงผ่านทางวิทยุ

แม้ว่าผลจะลงเอยด้วยการที่รัฐบาลยังคงได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเสียง 86 ต่อ 55 โดยมีการงดออกเสียง 16

แต่ความนิยมของรัฐบาลในหมู่ประชาชนก็ไม่ดีขึ้น

สัมผัสได้จากคำกล่าวของ พล.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ในที่ประชุมพิเศษ ณ ทำเนียบท่าช้าง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2490 ที่ว่า

“ถ้ารัฐบาลยังกระทำตัวเลวอยู่เช่นนี้เมื่อเกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารขึ้นมาในขณะนี้ผมคิดว่าจะไม่ปราบปราม เพราะไม่ต้องการเอาทหารไทยไปฆ่าทหารไทยด้วยกันเอง ไม่ต้องการให้คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเองโดยที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลชั่วเช่นนี้”

กระทั่งในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 การยึดอำนาจของคณะรัฐประหารจึงได้เกิดขึ้นและประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

น่าสนใจก็ตรงที่แม้จะมี พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าคณะ

แต่ในวันที่ทำรัฐประหารได้สำเร็จก็มีการประกาศแต่งตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

และเพียง 2 วันหลังรัฐประหาร นายควง อภัยวงศ์ ก็ยอมรับเป็นนายกรัฐมนตรี