ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : กลับสู่ประชาธิปไตย – ยุทธศาสตร์เดียวที่ต้องทำของประชาธิปัตย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ไม่มีใครรู้ว่าคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดอย่างไรกับการชุมนุมเพื่อต่อต้านอำนาจทหารที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 5 พฤษภาคม

แต่ในบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองในปัจจุบัน คุณอภิสิทธิ์เป็นคนที่ควรพูดอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ที่สุด

เพราะเป็นคนเดียวที่มีประสบการณ์คล้ายมวลชนที่แสดงความกล้าหาญในวันนั้นออกมา

ในการต่อต้านนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในปี 2535 คุณอภิสิทธิ์เป็นหนึ่งในคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ขึ้นเวทีค้านการสืบทอดอำนาจทหารร่วมกับคุณชวน หลีกภัย, คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์, คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ฯลฯ จนความรังเกียจเผด็จการในวันนั้นน่าจะทำให้คุณอภิสิทธิ์มีความเห็นต่อผู้ต้านอำนาจทหารวันนี้อย่างมีนัยยะสำคัญ 

อย่างไรก็ดี คุณอภิสิทธิ์ไม่เคยพูดอะไรถึงประชาชนที่ธรรมศาสตร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับไม่เคยปกป้องคนอยากเลือกตั้งหลังปี 2557 จนท่าทีของคุณอภิสิทธิ์เรื่องนี้ไม่ต่างจากคุณอนุทิน ชาญวีรกูล, คุณไพบูลย์ นิติตะวัน, คุณวราวุธ ศิลปอาชา, คุณมาร์ค พิตบูล ฯลฯ ต่อให้คุณอภิสิทธิ์จะคิดและวางตัวเองให้ต่างจากคนเหล่านี้แค่ไหนก็ตาม

นอกจากบทบาทต้านเผด็จการในอดีตจะไม่ช่วยให้คุณอภิสิทธิ์พูดเรื่องพลเรือนผู้ต่อสู้คณะเผด็จการในปัจจุบัน ความเป็นหัวหน้าพรรคคนเดียวที่เคยเป็นนายกฯ ยังไม่ทำให้คุณอภิสิทธิ์ปกป้องคนอยากเลือกตั้งอีก ทรัพยากรของคุณอภิสิทธิ์ในฐานะปัจเจกและองค์กรจึงไม่ถูกใช้เพื่อคนที่ต่อต้านรัฐบาลทหารแม้แต่นิดเดียว

ในการชุมนุมของประชาชนวันที่ 21 และ 22 พฤษภาคม คุณอภิสิทธิ์ก็คงไม่พูดอะไรเหมือนกัน

ไม่เคยมีคำแถลงจากคุณอภิสิทธิ์ว่าการเพิกเฉยแบบนี้เกิดเพราะอะไร แต่ท่าทีนี้ประหลาดเมื่อคำนึงว่าพรรคเพิ่งประกาศสร้างเสรีประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด ความเฉยชาเช่นนี้ย้อนแย้งคำพูดคุณไอติมว่าจะปรับพรรคไปสู่ยุคใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน และขัดแย้งกับคุณอภิสิทธิ์ที่รับรองว่าพรรคยึดมั่นแนวทางคุณไอติมจริงๆ

เป็นไปได้อย่างไรที่พรรคการเมืองจะผลักดันยุทธศาสตร์เรื่องเสรีประชาธิปไตยได้สำเร็จภายใต้ยุทธวิธีที่ไม่สนับสนุนหรือไม่สนใจมวลชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย?

เมื่อเปรียบเทียบกับสามพรรคใหญ่ของประเทศด้วยกัน ประชาธิปัตย์คือพรรคที่ความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์สร้างความเสียหายมากที่สุด

ชัยชนะของเพื่อไทยในการเลือกตั้งตลอดยี่สิบปีชี้ว่าพรรคไม่มีปัญหานี้แน่

ส่วนภูมิใจไทยเน้นเป็นพรรคอันดับสามจนแค่มีคุณเนวินเป็นที่มั่นก็คือยุทธศาสตร์ที่เพียงพอ

โดยพื้นฐานแล้วประชาธิปัตย์คือพรรคระดับชาติของประเทศไทย แต่ในเงื่อนไขที่พรรคไม่มีนโยบายหรือผู้นำซึ่งมวลชนรักอย่างเพื่อไทย รวมทั้งไม่มีนายทุนใหญ่เป็นหัวหน้าแบบภูมิใจไทย การมียุทธศาสตร์ที่ชนะใจประชาชนย่อมสำคัญต่อพรรคเพื่อไม่ให้พรรคลดสถานะเป็นพรรคท้องถิ่นนิยมของคนบ้านเดียวกัน

ในสถานการณ์การเมืองแบบปกติ การชูธงเสรีประชาธิปไตยอาจมีน้ำหนักพอจะสร้างความนิยมจากประชาชนจนแปรเป็นคะแนนเสียงในวันเลือกตั้ง

แต่ในสถานการณ์แบบที่ประเทศไทยเป็นอยู่ตอนนี้ เสรีประชาธิปไตยคือยาหมดอายุที่อ่อนแอเกินกว่าจะกำจัดโรคร้ายที่คุกคามประชาธิปไตยไทยในปัจจุบัน

หากอธิบายอาการของโรคที่กัดกร่อนประชาธิปไตยยุคนี้แบบง่ายๆ คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะเป็นผู้นำเผด็จการที่อยู่ยาวที่สุดหลังประชาชนขับไล่จอมพลทรราชปี 2516, รัฐธรรมนูญทหารชนะประชามติ, ช่องข่าวและเพจที่ผู้ติดตามสูงสุดอยู่ฝ่ายรัฐประหาร, รัฐบาลอยู่ได้แม้แก้ปัญหาเศรษฐกิจและคอร์รัปชั่นล้มเหลว ฯลฯ

พูดให้สั้นที่สุด สังคมไทยกำลังเผชิญสภาวะที่โครงสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยถูกทำลาย (Democratic Deconsolidation) จนเกิดระบบนิเวศน์การเมืองแบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตยสามข้อ กล่าวคือ

หนึ่ง การพังทลายของระบบคุณค่าแบบประชาธิปไตย

สอง ความผูกพันที่ประชาชนมีต่อสถาบันพรรคการเมืองถูกทำลาย

สาม ขบวนการต่อต้านประชาธิปไตยเติบโตและมีมวลชนในระดับที่เป็นจริง

ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารของคุณประยุทธ์ในวันที่ 22 พฤษภาคม สังคมไทยมีสัญญาณแห่งการทำลายระบบประชาธิปไตยเยอะไปหมด ตัวอย่างเช่น สภาผู้แทนฯ ออกกฎหมายไม่ได้, การเสนอแก้กฎหมายอย่าง 112 ถูกสร้างกระแสว่ามีความผิด หรือฝ่ายค้านตีรวนรัฐบาลจนภาพลักษณ์ประชาธิปไตยรัฐสภาล่มจม

เพื่อให้เห็นภาพว่าสัญญาณทำลายประชาธิปไตยคืออะไร สองปีก่อนรัฐประหารคือปีทองของข่าวประเภท “เสียบบัตรแทนกัน”, ส.ส.ประชาธิปัตย์ล้อมประธานสภาผู้แทนฯ กลางสภา, ป.ป.ช. สอบสวน ส.ส.เพื่อไทยที่แก้รัฐธรรมนูญเรื่องวุฒิสมาชิก หรือนายกฯ จากการเลือกตั้งถูกถอดถอนเพราะย้ายข้าราชการประจำ

มองอย่างผิวเผิน ทั้งหมดนี้คือเกมการเมืองเพื่อต่อต้านพรรคเพื่อไทย

แต่ในระยะยาวแล้วกระบวนการเหล่านี้ผลิตซ้ำวาทกรรมว่าประชาธิปไตยเท่ากับการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย, ความวุ่นวาย, การใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ

ซึ่งในที่สุดก็ทำลายความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาทั้งหมด ไม่ว่าจะโดยพรรคการเมืองใด

ในกรณีองค์ประกอบสำคัญของระบบรัฐสภาอย่างพรรคการเมือง สิบกว่าปีก่อนรัฐประหารคือยุคทองของการโจมตีว่าพรรคเป็นที่รวมของนักลากตั้งซื้อเสียงจนคำว่า “ผู้แทนราษฎร” ไม่มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไป

คิดต่อยอดขึ้นไปอีกนิด สภาพเช่นนี้ย่อมมีส่วนให้ความผูกพันของประชาชนต่อพรรคการเมืองเปลี่ยนไปแน่ๆ เพราะคนที่เป็นสมาชิกพรรคอาจลังเลใจที่จะเป็นสมาชิกอีกในเวลาที่สังคมมีมุมมองต่อพรรคการเมืองเป็นแบบนี้ ส่วนคนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ในบรรยากาศทางการเมืองแบบนี้ก็คงมีน้อยลงโดยปริยาย

เผลอๆ ปรากฏการณ์ที่ทุกพรรคตอนนี้มีคนมายืนยืนความเป็นสมาชิกต่ำจนน่าอัปยศก็อาจเป็นผลจากการที่พรรคการเมืองถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีด้วยเหมือนกัน

แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงการรัฐประหาร 2549 และ 2557 ก็จำเป็นต้องพูดถึงพันธมิตรฯ และ กปปส. ซึ่งแม้ทุกวันนี้จะเป็นจำเลยสังคมในแง่ต่างๆ แต่การเกิดกองกำลังที่พร้อมจะล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งขั้นยึดสนามบินยึดกรุงเทพฯ ได้นั้นก็ชี้ว่าฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยมีมวลชนสุดโต่งที่เหนียวแน่นมาตลอดสิบกว่าปี

ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งเย้ยหยันว่าพันธมิตรฯ และ กปปส. เป็นแค่นั่งร้านให้ระบบเผด็จการ การเกิดพรรคอย่างคุณไพบูลย์หรือพลังดูดที่ชูนโยบายสืบทอดอำนาจตรงๆ คือสัญญาณว่าฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยกำลังยกระดับมวลชนเป็นพรรคเพื่อใช้การเลือกตั้งฟอกเผด็จการทหารเป็นสถาบันการเมือง

ไม่ว่าประชาชนจะเลือกคนจากพรรคพลังดูดหรือคุณไพบูลย์เข้าสภาแค่ไหน การตั้งพรรคสืบทอดอำนาจทหารย่อมสะท้อนว่าระบบรัฐประหารแข็งแกร่งจนพัฒนาเป็นทางเลือกในระบบการเมืองได้แล้ว

การเมืองแบบนี้เป็นอันตรายต่อความเป็นปึกแผ่นของระบบประชาธิปไตยแน่ๆ ถึงแม้ความสำเร็จจะไม่ชัดเจนก็ตาม

การที่ประชาธิปัตย์เลือกชูธงเสรีประชาธิปไตยนั้นน่าชื่นชมกว่าการต้านประชาธิปไตย แต่ภายใต้สภาวะที่โครงสร้างพื้นฐานของประชาธิปไตยถูกทำลายจากระดับสถาบันถึงความรู้สึกนึกคิด ข้อเสนอนี้เบาหวิวจนไม่มีทางที่คนซึ่งอยู่ใต้วาทกรรมปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจะลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์เพื่อเสรีประชาธิปไตย

หากประชาธิปัตย์พอใจกับแนวทางเสรีประชาธิปไตยฉบับคุณไอติม ประชาธิปัตย์จะถดถอยจนกลายเป็นพรรคระดับภาคหรืออาจถึงขั้นถูกครอบงำโดยกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยทั้งในและนอกพรรคในบั้นปลาย

เพื่อจะคงสถานะความเป็นพรรคระดับชาติไว้ต่อไป ประชาธิปัตย์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเผชิญหน้า

กับฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยตรงไปตรงมา ความกล้าวิจารณ์ปัญหาใจกลางของประเทศอย่างเผด็จการทหารเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ใช่โจมตีคนอยู่นอกประเทศซ้ำซากราวกับพรรคเป็นกองกำลังพลเรือนของ คสช.

หัวใจสู่ความสำเร็จของพรรคการเมืองคือความเชื่อมโยงกับประชาชนผู้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย การเพิกเฉยต่อการสร้างความเป็นปึกแผ่นของประชาธิปไตยจะทำให้พรรคขาลอยจากคนส่วนใหญ่ในประเทศ ผลก็คือพรรคไม่มีทางได้คะแนนเสียงจากคนที่ต้องการเห็นประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย

ภายใต้ประเทศไทยแบบที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เสรีประชาธิปไตยคือยุทธศาสตร์แห่งความเพ้อฝันซึ่งต้องการเอาใจคนเบื่อประชาธิปไตยให้ลงคะแนนให้ประชาธิปัตย์ แต่คนที่คิดยุทธศาสตร์นี้รอบคอบน้อยไปนิดจนลืมคิดเรื่องง่ายๆ ว่าทำไมคนที่ไม่ศรัทธาในประชาธิปไตยต้องเสียเวลาไปเลือกผู้แทนจากพรรคการเมือง?

ถึงที่สุดแล้ว ชัยชนะของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่มีทางเกิดโดยไม่พูดถึงปัญหาใจกลางของประเทศหรือตกขบวนผลักดันประเทศสู่ประชาธิปไตย

ประชาธิปัตย์จึงไม่มีวันประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากไม่เกี่ยวข้องเลยกับการฟื้นฟูประชาธิปไตยนอกห้องแถลงข่าวของพรรคการเมือง