(S)election : ปฏิวัติ 2549 จุดเปลี่ยนชีวิต “ชยิกา” หลาน “ทักษิณ” จาก “นักธุรกิจ” เบนเข็มสู่ “นักการเมือง”

แม้ไม่ได้นามสกุล “ชินวัตร” แต่ “ชยิกา วงศ์นภาจันทร์” ก็เกี่ยวพันกับนายกรัฐมนตรีนามสกุล “ชินวัตร” ถึง 2 คน

2 คนนั้นคือ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”

“ชยิกา” เป็นลูกสาวคนโตของ “เยาวเรศ ชินวัตร” น้องสาวของ “ทักษิณ” เธอจึงมีศักดิ์เป็นหลานแท้ๆ ของอดีตนายกฯ คู่พี่-น้อง

แต่ด้วยความที่ “เยาวเรศ ชินวัตร” ไม่ได้ข้องแวะกับการเมือง ทำให้ “ชยิกา” ในตระกูล “วงศ์นภาจันทร์” กลายเป็น “นักการเมือง” คนเดียวของบ้านที่เข้ามาทำงานให้กับพรรคเพื่อไทย จนถึงพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ 2554 ในวันที่โซเชียลมีเดียเริ่มคืบคลานเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย “ชยิกา” รับหน้าที่ดูแลสื่อออนไลน์ให้กับ “ยิ่งลักษณ์” หลังการเลือกตั้งยังเป็นทีมงานเบื้องหลังให้ “น้า” ของเธอ

ในคราวเลือกตั้งปี 2562 เพื่อไทย “แตกหน่อ” ออกเป็น ทษช. “ชยิกา” ข้ามฝั่งมารับตำแหน่ง “นายทะเบียนพรรค”

 

ย้อนกลับไป 12 ปีที่แล้ว ตอนที่ยังเป็นนักธุรกิจไฟแรง เป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชินวัตร โฮม จำกัด ดูแลโครงการ “ดาหลาบุรี” อสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวที่ภูเก็ต “ชยิกา” ไม่มีความคิดที่จะเป็นนักการเมือง…ไม่เคยมีอยู่ในสมอง แล้วอะไรคือ “จุดเปลี่ยน” ในชีวิตของเธอ?

“ก่อนหน้านั้นไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง มัวแต่ทำธุรกิจ มีคนไปดูดวงแล้วบอกว่าจะเป็นนักการเมืองคนเดียวในบ้าน ยังบอกว่าไม่เชื่อเลย เพราะไม่เคยคิด” เธอเล่า

“ปรากฏว่าเกิดรัฐประหารปี 2549 ทำให้รู้สึกว่า ขนาดเราไม่อยู่ในการเมืองยังได้รับผลกระทบขนาดนี้ กระทบกับธุรกิจมาก ความเชื่อมั่นของลูกค้าก็ไปด้วยกับสถานการณ์การเมือง ลูกค้าจองบ้านไว้แล้ว พอรัฐประหารเขายกเลิก เปลี่ยนใจ”

“เวลาจะกู้เงินทำธุรกิจอะไร เขาไม่ให้บ้านนี้กู้ ยิ่งใครที่เป็นคนใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร เขาไม่ให้ คนไม่รู้ว่าเป็นความจริง แต่เราบอกว่าเป็นความจริง”

“รัฐประหารครั้งแรก เราก็รู้ว่าครอบครัวต้องโลว์โปรไฟล์ น้องอยู่ข้างนอกต้องรีบกลับเข้าบ้าน ส่วนตัวก็ตกใจมาก ไม่เข้าใจว่าคืออะไร”

“ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 วันนี้คงไม่มาทำงานการเมือง ถ้าไม่ใช่วันนั้นเราไม่เข้ามา” เธอย้ำด้วยเสียงหนักแน่น

“เพราะรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม เพราะจะทำอะไรกันขนาดนั้น ตอนนั้นยังไม่มีลูก ยังไม่มีแฟน ยังโสด อายุ 24 กำลังเอ๊าะ ผ่านมาถึงวันนี้มีลูกแล้ว ยังไม่จบเลย”

“และพอเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้น สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ เพื่อนเรา คนที่อยู่ในสังคมเดียวกันต้องมาโกรธเรา เพราะเข้าใจอะไรเราผิด มีข่าวว่าเสื้อแดงทำอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ได้อยู่ในม็อบ แต่เราโดนโกรธด้วย ทำให้คนที่เรารักรอบๆ ตัวเราแตกความคิดกัน ทำให้เป็นรอยร้าวลึกลงไปในใจเรา และฝังใจเรา”

นี่คือจุดเปลี่ยนจาก “สนามธุรกิจ” มาสู่ “สนามการเมือง” ของ “ชยิกา”…

 

หลังจากธุรกิจถูกผลกระทบจากรัฐประหาร 2549 เข้าอย่างจัง เธอเข้าสู่อาณาจักรชินคอร์ปของ “ลุงทักษิณ” ก่อนขยับมาทำงานการเมืองให้ “น้ายิ่งลักษณ์”

“ตอนอยู่ AIS ทำ CRM วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ซึ่งยังสัมพันธ์กับการทำ mobile payment เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีใครใช้เลย”

“พอได้เข้ามาทำงานกับท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็ได้เห็นว่าสิ่งที่เขาทำงานได้เป็นประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ ปี 2554 ได้เข้าไปทำโซเชียลมีเดียและฝ่ายต่างประเทศ รวมถึงฝ่ายนโยบายของพรรคเพื่อไทย ได้ไปเป็นผู้ช่วยเลขาฯ ในการร่างคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีส่วนตั้งแต่ในวงประชุม มีการรับฟังจาก ส.ส. จนถึงวันที่แถลงนโยบาย เราได้เห็นว่า นโยบายที่แถลงต่อสภาได้รับการขับเคลื่อนออกไปสู่ชาวบ้าน”

“วันที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปเจอชาวบ้าน โครงการที่เราช่วยประกอบไปถึงชาวบ้าน เราเห็นว่าได้ผลดีกับเขา เราก็รู้สึกดี แม้ว่าความรู้ที่เรามี แม้ไม่ใช่เก่งที่สุด เป็นนักวิชาการด๊อกเตอร์ แต่การที่เราทำงานก็ช่วยทำงานตรงนี้ให้ดีขึ้น”

 

เมื่อมาอยู่ ทษช. ที่มีสโลแกนว่า “โลกก้าวไกล ไทยต้องก้าวทัน” ซึ่งเน้นเศรษฐกิจบวกเทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ เธอจึงย้อนความคิดใปในสมัยที่ทำ mobile payment ให้กับ AIS เมื่อ 1 ทศวรรษก่อน

“ไม่คิดว่าจะกลายมาเป็นความรู้ของเราที่จะมาทำที่ ทษช.ในวันนี้”

“ชยิกา” เชื่อว่า สุดท้ายแล้ว “การเมือง” กับ “ธุรกิจ” เป็นของคู่กัน “แยกกันไม่ออก”

“ถ้าให้กลับไปทำธุรกิจ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้…ทำได้ แค่รู้สึกว่าไม่อยู่ในสภาพซื้อง่ายขายคล่อง เงินไม่ flow ถ้าเรารู้สึกแบบนี้คนอื่นจะรู้สึกขนาดไหน”

“ส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักก็เพราะความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศ คนบอกว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความเชื่อ ค่านิยม เรื่องของนักสิทธิ แต่เราขอบอกว่าประชาธิปไตยเป็นกุญแจสำคัญไปสู่เศรษฐกิจที่ดีและซื้อง่ายขายคล่อง”

“เพราะเป็นรากฐานที่จะนำไปสู่ความไว้เนื้อเชื่อใจ กับความไว้วางใจกับต่างประเทศ เป็นระบบที่การันตีว่าประเทศจะมีหลักนิติรัฐ มีกฎหมายที่เอื้อให้คนสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม”

“ถ้าคนในประเทศเรายังไม่ได้รับความเท่าเทียมจากกฎหมายของประเทศเองเลย คำถามคือ คนต่างชาติจะรู้สึกว่าจะมาเที่ยวอยู่ที่นี่ ทำงาน ใช้ชีวิตอยู่ในบั้นปลายอย่างไร จะปลอดภัย ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทยเท่ากับคนไทยได้รับหรือเปล่า เขาก็ต้องตั้งคำถาม รวมถึงการทำธุรกิจ”

“วันนี้อยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน เราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก ถ้าไม่มีกำลังซื้อจากต่างประเทศเข้ามาเราก็แข่งกับคนอื่นไม่ได้ และคนพูดอีกว่าประชาธิปไตยไม่เห็นเกี่ยวกับฉันเลย แต่ในความเป็นจริงประชาธิปไตยเป็นเรื่องการันตีสิทธิขั้นพื้นฐาน”

“ถ้าประเทศไหนมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ประเทศนั้นมีชีวิตดีขึ้นแน่นอน จะได้รับการศึกษาเท่าเทียมกัน จะสามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ คือคุณภาพชีวิต ชีวิตประจำวันของเราทุกคน”

 

“ชยิกา” เผยมุมมอง “ประชาธิปไตย” ที่เก๊ตมากขึ้น ตั้งแต่พลิกจาก “นักธุรกิจ” มาเป็น “นักการเมือง”

“วันนี้ประเทศเราควรเป็นประชาธิปไตย เพราะเผด็จการไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจ บางครั้งคนคิดว่า เลือกเผด็จการคนหนึ่งขึ้นมาปกครองประเทศแล้วทำให้ประเทศมีเศรษฐกิจดีได้ ก็สามารถเดินหน้าได้ แต่จริงๆ ไม่ใช่”

“เรื่องนี้เป็นกุญแจสำคัญ นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเกาะเรา ใส่ชุดบิกินีจนเกิดเหตุการณ์น่าเสียใจขึ้น แล้วเขาจะมั่นใจได้อย่างไร กฎหมายไทยจะคุ้มครองเขา แล้วเขาก็มาดูว่าคนไทยยังไม่คุ้มครองจะเหลืออะไรกับฉัน มัน effect ไปหมด คนที่ซื้อของเราเหลือแค่กลุ่มจีนที่ชอบทาโลชั่นหนาๆ แต่พอเกิดเหตุเรือล่มยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้ คนก็หายแล้ว”

“มุมมองนี้เพิ่งมาเข้าใจตอนที่เป็นนักการเมือง”