วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ ช้อปปิ้งมอลล์ : ผู้ร้ายของสเตรนเจอร์ธิงส์ (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ช้อปปิ้งมอลล์

: ผู้ร้ายของสเตรนเจอร์ธิงส์ (1)

 

สเตรนเจอร์ธิงส์หรือ Stranger Things ซีซั่นที่ 3 ของเน็ตฟลิกซ์ เป็นการผจญภัยของเด็กห้าคนคือ ไมค์, ดัสติน, ลูคัส, วิล และอีเลฟเว่น (หรือแอล) ในเมืองฮอกกินส์ รัฐอินเดียนา ซึ่งซีซั่นที่แล้วจบลงด้วยการปิดประตูมิติในห้องแล็บของรัฐบาล

แต่เราก็เห็นแล้วว่าเดโมกอร์กอนหรือปีศาจตัวแหยะนั้นรอการกลับมาอีกครั้ง

หนังซีซั่นนี้จะพาเรากลับไปยังโลกยุค 1980 และเน้นที่เรื่องความรักอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคู่ของซูซี่เพื่อนร่วมค่ายของดัสตินที่ไม่มีใครเชื่อ

หรือคู่ของโจกับแนนซี่ (พี่ชายวิลและพี่สาวของไมค์) ที่ต้องการนำข่าวสัตว์ประหลาดลงหนังสือพิมพ์ฮอกกินส์โพสต์ที่ตัวเองฝึกงาน หรือคู่นายอำเภอฮอปเปอร์กับจอยซ์ (แม่ของวิล) หรือคู่ของสตีฟกับโรบิน รวมทั้งคู่ของไมค์กับแอล ซึ่งกำลังเรียนรู้เรื่องลึกลับของความเป็นมนุษย์ไปพร้อมๆ กับความมหัศจรรย์ของวัยรุ่น

ในแง่ที่ให้อารมณ์ “อาลัยอดีต” หรือ nostalgia จากที่เคยดูเหมือนซับเบิบในยุค 1950 มากกว่า หนังจะมีบรรยากาศของยุค 1980 มากขึ้น เช่น การเปิดตัวของนิวโค้ก เสื้อฮาวายของแม็กนั่ม พี.ไอ. รถปินโตของจอยซ์ เพลง Material Girl (ของมาดอนน่า) ฟีบี้ เคตส์ และหนังดังอย่าง Back to the Future ฯลฯ

แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าหรือช้อปปิ้งมอลล์ซึ่งรุ่งเรืองในยุคนั้น โดยใช้ชื่อว่าสตาร์คอร์ตมอลล์ เรื่องจะดำเนินไปในทำนองที่ว่ามีคนร้ายใช้มอลล์นี้เป็นฉากบังหน้าแต่ที่จริง เพื่อค้นคว้าเกี่ยวกับ Upside-Down และเปิดประตูมิติหรือเพาะพันธุ์สัตว์ร้ายขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

มอลล์ในซับเบิบจึงเป็นเหมือนปีศาจที่เริ่มครอบงำผู้คนให้ตกเป็นทาสทีละคนๆ และถือเป็นตัวละครตัวสำคัญของสเตรนเจอร์ธิงส์ได้

 

ช้อปปิ้งมอลล์คือการรวมเอาร้านขายของและร้านอาหารที่เคยกระจายกันอยู่ในเขตเมืองมาอยู่ด้วยกันอย่างเป็นระบบในตึกเดียว แถมยังมีที่จอดรถและติดแอร์คอนดิชั่นทั้งตึกด้วย

มอลล์ชั้นดีจะมีตั้งแต่โรงหนังหลายโรงไปจนถึงมิวเซียมและสวนสัตว์

ที่สำคัญ ในมอลล์จะมีการออกแบบให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนสถานที่ท่องเที่ยว

การเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งล้วนสะดวกสบาย ซึ่งก็แน่นอน เมื่อรู้สึกเป็นนักช้อปปิ้งผสมนักท่องเที่ยว ทุกคนย่อมอยากจะจับจ่ายมากเป็นพิเศษ

สตาร์คอร์ตถูกใช้ทั้งในแง่ดราม่าและคอนเซ็ปต์

ในแง่แรก มอลล์เป็นที่ซึ่งเรื่องรักของทุกคนดำเนินไป เช่น ของแอลและเด็กวัยรุ่นคนอื่นๆ ที่กำลังหัดช้อปปิ้งขณะคลอด้วยเพลง Material Girl รวมทั้งของสตีฟและโรบินที่เป็นพนักงานตักไอติมร้านเดียวกัน นอกจากนั้น ยังเป็นที่ซึ่งโรงหนังแบบมัลติเพล็กซ์และเครื่องดื่มอย่างนิวโค้กได้มีบทบาท

ในแง่ที่สอง ขณะที่วัฒนธรรมบริโภคนิยมกำลังรุ่งเรืองในยุคประธานาธิบดีเรแกน มอลล์เป็นที่ซึ่งวัยรุ่นต้องไป เพราะมีร้านค้ามากมาย ทุกคนสามารถซื้อของดีราคาถูกอย่างสะดวกสบายและได้พบปะกัน

ที่สำคัญ แม้จะเป็นการซื้อสิ่งที่ถูกเลือกมาแล้วก็ตาม ช้อปปิ้งมอลล์กลายเป็นที่ที่วัยรุ่นเข้าไปเพื่อซื้อ “อัตลักษณ์” ของตนเอง

มอลล์เป็นสถานที่สาธารณะ อันได้แก่ ลูกค้าที่มาเดินกันขวักไขว่ พนักงานขายของ รวมทั้งยามรักษาการณ์มากมาย นอกจากนั้น ยังเป็นสถานที่ปิด อันได้แก่ มีทางเข้า-ออกและเวลาเปิด-ปิดที่แน่นอน ทั้งหมดนี้ทำให้ถูกมองโดยผู้ปกครองที่เป็นห่วงบุตร-หลานของตนว่ามีความปลอดภัยและมีการสอดส่องหรือจ้องมองได้พอสมควร

สำหรับเด็กวัยรุ่นยุคนั้น ช้อปปิ้งมอลล์เป็นที่เดียวที่พ่อ-แม่อนุญาตให้ไปมั่วสุมกันได้

 

แต่ในขณะที่เด็กวัยรุ่นดีใจที่ได้มั่วสุมกัน ชาวเมืองคนอื่นๆ ไม่ชอบ บางคนถึงกับยกขบวนไปประท้วงที่หน้าศาลากลางของเมือง ในฉากต้นเรื่อง นายกเทศมนตรีเมืองฮอกกินส์ได้รับคำร้องจากเจ้าของร้านค้าในเมืองว่าห้างใหญ่กำลังแย่งลูกค้าไปจากร้านเล็กๆ ตอนท้ายของหนังจะเปิดเผยว่า นายกรับเงินจากพวกโซเวียตรัสเซีย

ชาวต่างชาติอาจจะไม่ได้ให้ทุนสร้างมอลล์ แต่ที่จริงบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกาบางแห่งของยุคนั้น มีพฤติกรรมคล้ายการโกงของนายกเทศมนตรี คือ มีการลดภาษี และสร้างระบบถนนและสาธารณูปโภคเพื่อรับใช้มอลล์

มองข้ามผู้ร้ายหรือพวกโซเวียตไป การคุกคามของห้างนั้นมีจริงและซับซ้อนกว่าใน Stranger Things มาก มอลล์คือการหลีกหนีความพินาศของเมืองใหญ่ในอดีตซึ่งผูกติดกับการเหยียดด้านสีผิว ช้อปปิ้งมอลล์ในซับเบิบจึงเป็นการปฏิรูปเมืองและนโยบายที่ดูเหมือนจะก้าวหน้ากว่า