15 ปี ‘3 ป.’ 7 ปี ‘คสช.’ ยึดกองทัพ-รัฐบาล-พรรคการเมือง จับตา ‘บิ๊กตู่-บิ๊กแดง’ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า กลางดงแคนดิเดตนายกฯ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

15 ปี ‘3 ป.’ 7 ปี ‘คสช.’

ยึดกองทัพ-รัฐบาล-พรรคการเมือง

จับตา ‘บิ๊กตู่-บิ๊กแดง’ ณ ตึกไทยคู่ฟ้า

กลางดงแคนดิเดตนายกฯ

 

พี่น้อง 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” ไม่ใช่อยู่มาแค่ 7 ปี ที่นับจากวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 เท่านั้น

แต่ทว่า ได้หยั่งรากแก้วแห่งอำนาจในกองทัพ จนแข็งแกร่งตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนทำให้สามารถยึดอำนาจรัฐใน 8 ปีต่อมาได้สำเร็จ

บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา พี่รอง สายบุ๋น ในแผงอำนาจ 3 ป. เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกำลังปฏิวัติในเวลานั้น ยอมหักหลัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ซึ่งเป็นเพื่อนเตรียมทหาร 10 ด้วยการร่วมมือกับบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ร่วมการรัฐประหาร

อันเป็นที่มาของการกำเนิดเตรียมทหาร 10/1 ที่เลือกทำเพื่อชาติ มากกว่าเพื่อทักษิณ แม้ว่าอดีตนายกฯ ทักษิณจะเป็นคนเลือกมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ก็ตาม

แถมในเวลานั้น พล.อ.อนุพงษ์มีบิ๊กเปย พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 รุ่นพี่ ตท.7 เป็นคู่แข่งชิง ผบ.ทบ. ที่ก็ร่วมเป็นแกนนำรัฐประหารในสายกลุ่มพันธมิตรฯ ด้วย

โดยทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.อ.สะพรั่ง ได้ขึ้น 5 เสือ ทบ. เป็น ผช.ผบ.ทบ.หลังรัฐประหาร ทั้งคู่ขึ้นมาชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ.กันแบบเข้มข้น

แต่ที่สุด พล.อ.อนุพงษ์ก็ได้เป็น ผบ.ทบ. ที่เชื่อกันในเวลานั้นว่า บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ มีส่วนสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง อย่างน้อยก็เป็นเพื่อน ตท.6 ของ พล.อ.สนธิ แม้จะแข่งขันไว้เชิงกันมาตลอดก็ตาม

โดยมีการดึง พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นตามมาติดๆ ตั้งแต่ดึงจากรองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คุมขุมกำลังปฏิวัติแทน และขึ้นเป็นเสธ.ทบ. และรอง ผบ.ทบ. จนขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ต่อจาก พล.อ.อนุพงษ์พอดีแบบฉลุย เพราะมี พล.อ.ประวิตรเข้ามาเป็น รมว.กลาโหม

หลังวีรกรรม พี่น้อง 3 ป.ช่วยตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค ที่สนิทสนมกับ 3 ป. เป็นผู้จัดการรัฐบาล หลังการต่อรองที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ใน ร.1 รอ.ของ พล.อ.ประวิตร

แผงอำนาจ 3 ป.เบ่งบานเต็มที่ในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ แม้จะเจอม็อบเสื้อแดงในปี 2552-2553 แต่กองทัพภายใต้การนำของ 3 ป. ก็ยังฝ่าวิกฤตการเมืองนองเลือด ที่มีคนเสื้อแดงตาย 99 ศพมาได้

แม้ต่อมาพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เข้ามาเป็นรัฐบาล มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ แต่ก็ไม่มีการเด้ง พล.อ.ประยุทธ์พ้นเก้าอี้ ผบ.ทบ. แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มคนเสื้อแดง นปช.ที่สูญเสีย และเพื่อปิดโอกาสรัฐประหาร

แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศในเวลานั้น เปลี่ยนแผนให้นายกฯ หญิง น้องสาวใช้แผนการญาติดี สร้างมิตรเอาใจกองทัพ

ไม่เพียงแค่ไม่ย้าย ไม่แตะต้อง พล.อ.ประยุทธ์ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังสร้างความสนิทสนม และเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านกองทัพ จนตกเป็น “คู่จิ้น” ในเวลานั้น จนทั้ง 2 พี่น้องชินวัตรคิดว่าเอาอยู่ คุมกองทัพได้

แม้ว่าในเวลานั้น บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เพื่อน ตท.10 ของอดีตนายกฯ ทักษิณ จะมีทีท่าแข็งกร้าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จนมีกระแสข่าวย้าย พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็น ผบ.ทหารสูงสุด เพราะต้องการกำราบ ไม่ให้คิดปฏิวัติ

แต่ที่สุด คนที่โดนเด้งคือ พล.อ.อ.สุกำพลเสียเอง พ้นเก้าอี้ รมว.กลาโหม โดยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ควบ รมว.กลาโหมหญิงคนแรกเอง

ท่ามกลางกระแสข่าวสะพัดในเวลานั้นว่า เป็นเพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่ปรึกษา เสมือนเป็น รมว.กลาโหมเงา

ที่สุดแล้ว พล.อ.อ.สุกำพลก็คาดการณ์ถูก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ก่อการรัฐประหาร หลังจากที่นายสุเทพก่อม็อบในนาม กปปส.ประท้วงยึดถนนยาวนาน และเกิดการปะทะกับม็อบเสื้อแดง มีการใช้อาวุธสงครามต่อกัน จนกลายเป็นข้ออ้างให้ พล.อ.ประยุทธ์ก่อรัฐประหาร

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาเรืองอำนาจที่สุดของพี่น้อง 3 ป. ทหารเสือราชินี และครองอำนาจยาวนาน ไม่ใช่แค่ในกองทัพ แต่รวมทั้งอำนาจรัฐด้วย ทั้ง 5 ปีในยุค คสช. และหลังการเลือกตั้งอีกเป็นปีที่ 2 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่มี 250 ส.ว. ที่หัวหน้า คสช.แต่งตั้งมา และมีอำนาจเลือกนายกฯ ได้

โดยมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐขึ้นมารองรับการสืบทอดอำนาจ หนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยการดูด ดึง บีบอดีต ส.ส.จากพรรคต่างๆ มารวมไว้ที่พรรคพลังประชารัฐ

แม้จะไม่ได้จำนวน ส.ส.มากที่สุด แต่พี่น้อง 3 ป.ก็สามารถทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ยอมมาร่วมรัฐบาล หลังจากที่นายอภิสิทธิ์หัวหน้าพรรคลาออก สังเวยความพ่ายแพ้การเลือกตั้ง หลังประกาศไม่ร่วมรัฐบาล ไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ที่มีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นผู้มีบารมีนอกพรรค ก็ยอมร่วมรัฐบาลอีกครั้ง หลังจากที่เคยย้ายข้าง มายอมตั้งรัฐบาลในค่ายทหารกับพี่น้อง 3 ป.มาแล้วครั้งหนึ่ง

อีกทั่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รู้ดีว่า ถ้าพรรคภูมิใจไทยไม่ร่วมรัฐบาลจะโดนอะไรบ้าง “ศพคงไม่สวย แล้วไม่รู้ว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน” ยิ่งหากยอมร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย และยอมเป็นนายกฯ อาจจะโดนคดีอะไรอีก เพราะเคยเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พรรคไทยรักไทย ที่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมืองมา 5 ปีเต็มมาแล้ว และตอนรัฐประหาร คสช.ก็โดนเรียกตัวปรับทัศนคติ

และยังได้เก้าอี้ รมว.คมนาคม ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาฯ พรรค และน้องชายนายเนวินด้วย ส่วนนายอนุทินเองก็ได้เป็น รมว.สาธารณสุข มาผลักดันเรื่องกัญชาตามที่ต้องการ

และยังส่งผลมาจนตอนนี้ ที่พรรคภูมิใจและพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล แต่เลือกที่จะอดทนต่อไปจนกว่าจะพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

แม้รัฐบาลของพี่น้อง 3 ป.จะเจอวิกฤตโควิดที่มาหนักที่สุดในระลอกสาม เมษายน 2564 จนทำให้มีผู้ป่วยสะสมกว่าแสนคน และเสียชีวิตเกิน 800 คนแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ต่อได้ แม้มีเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก แต่ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับ

แม้คราวนี้จะมีทั้งพรรคฝ่ายค้าน และตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. และกลุ่มคนไทยไม่ทน ของนายนิติธร ล้ำเหลือ อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ก็ตาม แต่ก็ไม่มีพลังมากพอ

แม้จะพยายามสะกิดให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยถอนตัว เลิกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม แต่ทั้ง 2 พรรคนี้ก็ยังคงอดทนร่วมรัฐบาลต่อไป

รวมถึงการไปสะกิด ผบ.เหล่าทัพ ให้เลิกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการลาออกจากการเป็น ส.ว.ก็ตาม แต่กองทัพก็ยังนิ่ง

ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงถูกมองว่า ได้ไฟเขียวให้เป็นนายกรัฐมนครีต่อไป ก็จะรอดพ้นจากคดีต่างๆ ทั้งมวลชนที่ตัดสินโดยองค์กรอิสระใดๆ ทั้งคดีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ ทั้งคดีพักอาศัยอยู่บ้านหลวงใน ร.1 รอ. ที่ทาง ทบ.จ่ายค่าน้ำค่าไฟให้

แม้แต่ พล.อ.ประวิตรที่ก็รอด ป.ป.ช.ชี้ว่าไม่ผิด ใส่นาฬิกาหรูยืมเพื่อน และไม่ต้องแจงในบัญชีทรัพย์สิน

อีกทั้งพรรคพลังประชารัฐก็รอดคดีจัดโต๊ะจีนระดมทุนได้ ไม่ผิด ไม่โดนยุบพรรค ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ และรองหัวหน้าพรรค และเส้นเลือดใหญ่ของพรรค รอดศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ไม่ขาดคุณสมบัติ รมต. และ ส.ส. แม้จะเคยต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดที่ออสเตรเลีย

เรียกได้ว่า ทุกอย่างเอื้ออำนวย และเป็นใจ เป็นตัวช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ไปจนกว่าจะมีผู้ที่เหมาะสมปรากฏตัวออกมา

โดยที่มีกองทัพเป็นแบ๊กอัพ คอยเป็นตัวช่วยอยู่ เพราะถึงอย่างไร ผบ.เหล่าทัพ และแม่ทัพนายกองที่คุมกำลังทั้งหลาย ก็ล้วนเป็นนายทหารรุ่นน้อง รร.เตรียมทหาร และ รร.นายร้อย จปร. ที่พี่น้อง 3 ป.สนับสนุนผลักดันขึ้นมาทั้งสิ้น

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ตัองกลัวการถูกรัฐประหาร แม้ ผบ.เหล่าทัพชุดนี้จะห่างรุ่นกับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นสิบรุ่นก็ตาม

ด้วยเพราะรู้กันดีว่า การรัฐประหารในยุคสมัยปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ ผบ.ทบ.ไม่สามารถสั่งใช้กำลังรบใน ทบ.ได้หมดด้วยตนเองเพียงลำพัง เพราะหน่วยกำลังรบ ทบ.ล้วนไปขึ้นตรงกับเหล่าทหารคอแดง

อีกทั้งยังมีบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. เป็นน้องรักที่คอยเป็นผู้ประสานงาน

โดย พล.อ.อภิรัชต์เพิ่งมาพบปะหารือและรับประทานข้าวกลางวันกับ พล.อ.ประยุทธ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และถือเป็นครั้งแรกที่มาทำเนียบฯ แบบส่วนตัว หลังเกษียณจาก ผบ.ทบ.

แต่ปกติแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อภิรัชต์ มีประเพณีรับประทานข้าวด้วยกันเดือนละครั้ง แต่คุยโทรศัพท์และไลน์กันตลอด เพื่ออัพเดตสถานการณ์กันและกัน

พล.อ.อภิรัชต์ก็ยังคงถูกมองว่า อาจมีบทบาทในการดูแลประเทศและสถาบันต่อไป แม้ว่าเขาจะไปเป็นรองราขเลขาธิการแล้วก็ตาม

ไม่แค่นั้น พล.อ.อภิรัชต์จะเป็นผู้ประสานระหว่าง ผบ.เหล่าทัพ กับ พล.อ.ประยุทธ์ อีกแรง และอัพเดตเรื่องราวของ ผบ.เหล่าทัพแต่ละคนให้ พล.อ.ประยุทธ์รับรู้ในทางลึกต่างๆ

โดยเฉพาะกับบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ที่ถูกจับตามอง หลังจากที่ผ่านมา มักไม่ค่อยได้มาร่วมประชุมสภากลาโหมกับ พล.อ.ประยุทธ์หลายครั้ง เพราะติดภารกิจ

แต่ในการประชุมสภากลาโหมผ่านระบบออนไลน์ล่าสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ร่วมด้วยก็ตาม

พล.อ.อภิรัชต์เองแม้จะพ้นจาก ผบ.ทบ.ไปแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ แต่สายใยความเป็นพี่น้องยังคงอยู่ และยังคงติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ

พล.อ.อภิรัชต์ยังคงมานั่งทำงานและพบปะบุคคลต่างๆ ที่ห้องรับรองใน พล.1 รอ. ซึ่งเป็นหน่วยใน ฉก.ทม.รอ.904 ที่ใกล้พระราชวังดุสิต

ไม่แค่นั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังคงต้องเช็กข่าว อัพเดตสถานการณ์ต่างๆ เพราะยังคงออกรอบตีกอล์ฟทุกวันเสาร์หรืออาทิตย์ กับเพื่อน ตท.12 ที่เป็น ส.ว. ทั้งบิ๊กฉัตร พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรองนายกฯ และบิ๊กยอด พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ อดีต ผบ.นปอ. และบิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ และองคมนตรี

แม้จะมั่นใจในกองหนุนและตัวช่วย แต่ พล.อประยุทธ์ก็ยังต้องคอยเช็กข่าวและความเคลื่อนไหวต่างๆ จากแหล่งข่าวของตนเอง เพื่อประเมินสถานการณ์

โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสข่าวลือรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ออกมาเป็นระยะๆ ทั้งนายอานันท์ ปันยารชุน ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ นายศุภชัย พานิชภักดิ์ นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค

ส่วนบิ๊กพลังงาน ที่มีข่าวว่า อาจถูกทาบมาเล่นการเมือง เป็นทายาท 3 ป.นั้น ไม่ใช่เรื่องจริง และเจ้าตัวก็ไม่คิดที่จะเล่นการเมือง และไม่ต้องการมีชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ กับการเมือง หรือตำแหน่ง รมต.ใดๆ ต้องการที่จะทำธุรกิจเท่านั้น จึงไม่อยากให้ดึงเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ

ดังนั้น จึงยังไม่มีใครที่โดดเด่นมากพอที่จะมาเป็นนายกฯ แทนในห้วงเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงยังคงต้องทำหน้าที่และรักษาเก้าอี้ให้มั่นคงที่สุด จนกว่าจะมีสัญญาณ หรือสิ่งบอกเหตุให้พักผ่อน หรือเปลี่ยนตัว

ภารกิจในการทำให้เก้าอี้นายกฯ แข็งแกร่ง รัฐบาลเข้มแข็งให้นานที่สุด จึงเป็นของ พล.อ.ประวิตรพี่ใหญ่ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่จะต้องคอยประคบประหงม ต่อรองให้พรรคร่วมรัฐบาลเกาะแน่นกันต่อไป โดยมี ร.อ.ธรรมนัสช่วยประสาน เจรจาต่อรองอีกแรง

โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐเอง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทางการเมือง และวิกฤตศรัทธาจากการแก้ปัญหาโควิด จึงทำให้ พล.อ.ประวิตรยิ่งต้องกวดขันเรื่องในพรรคให้มากขึ้น

โดยกำหนดให้วันศุกร์เป็นวันที่พบปะแกนนำพรรค ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อพูดคุยสอบถาม หารือเรื่องต่างๆ โดยมี อ.แหม่ม นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และเหรัญญิกพรรค เป็นเสมือนเลขาฯ ส่วนตัวของหัวหน้าป้อม ที่คอยจัดคิวและประสานงาน

โดยมีสมาชิกกลุ่ม “5 รมว.” ที่จับขั้วกับกลุ่ม 3 มิตร 3 รมต. ทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ

มีนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส มาเพิ่มด้วย ที่เข้ามาหา พล.อ.ประวิตรบ่อยครั้งขึ้น เพื่อหวังบาลานซ์ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส ที่มีนางนฤมลเป็นกำลังหลัก ที่อยู่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรด้วย

เพราะกำลังชิงเก้าอี้เลขาธิการพรรคกันอยู่ ระหว่างนายสมศักดิ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส หรือแม้แต่นายอนุชา ที่ก็ยังอยากเป็นเลขาธิการพรรคต่อ

จนคาดกันว่า เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค มาเป็น ร.อ.ธรรมนัส ก็จะทำให้พรรคพลังประชารัฐใกล้แตก เพราะกลุ่มสามมิตรจะแยกออกมาตั้งพรรคใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

 

ฝ่ายพี่น้อง 3 ป.จึงต้องเตรียมรับมือและเตรียมพลังในการดูด ส.ส.จากพรรคอื่นมาอยู่พรรคพลังประชารัฐเพิ่มขึ้น รวมทั้งการตั้ง 2 พรรคใหม่คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ ของแรมโบ้ เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตแกนนำเสื้อแดง ที่ย้ายข้างหลังรัฐประหาร มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ และมาเป็น ผช.รมต.ประจำนายกฯ ได้ใกล้ชิด ทำงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แรมโบ้จะเป็นเลขาธิการพรรค และทาบทามอดีตรัฐมนตรีมาเป็นหัวหน้าพรรค

รวมถึงพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ปลัดฉิ่ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดมหาดไทย ที่ใกล้ชิด พล.อ.อนุพงษ์ เตรียมก่อตั้งหลังเกษียณกันยายนนี้ โดยมีข่าวสะพัดว่านายฉัตรชัยจะเป็นเลขาฯ พรรค และหาตัวหัวหน้าพรรคที่มีบารมี เพื่อรวบรวมอดีต ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน และ ส.ส.งูเห่าเข้ามาอยู่ และพร้อมร่วมรัฐบาลกับ พปชร.

เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ต้องการจะครองอำนาจให้ยาวนานที่สุด พล.อ.ประวิตรก็ต้องทำให้พรรคพลังประชารัฐแข็งแกร่ง กลมเกลียว และมีทุนรอนในการดำเนินการทางการเมืองต่อไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด หรือใช้งานใครก็ตาม

เพราะ 15 ปีของพี่น้อง 3 ป. จากวันที่สวมเครื่องแบบทหาร จนมาเป็นนักการเมืองเต็มตัวเช่นในวันนี้ ถือว่าเป็นแผงอำนาจที่ครองอำนาจได้ยาวนานที่สุด และ พล.อ.ประยุทธ์ก็กำลังจะสร้างประวัติศาสตร์การเป็นนายกฯ ยาวนานที่สุดในอีกไม่ช้า

จนกว่าจะมี ‘สัญญาณ’ เปลี่ยนแปลง