บทความพิเศษ : ครู-นักเรียน-ผู้ปกครอง การทูตที่ดีต้องมีตัวกลาง

สถานการณ์จำลองหนึ่ง : มีผู้ปกครองคนหนึ่งมาบ่นให้ผมฟังว่าการบ้านของเด็กสมัยนี้ทำไมมันยากจัง?

สถานการณ์จำลองสอง : มีนักเรียนคนหนึ่งมาเล่าให้ผมฟังว่าสาเหตุที่ตนเลือกเรียนนิติศาสตร์เพราะครั้งหนึ่งเคยไม่ได้รับความยุติธรรมจากครูฝ่ายปกครองเรื่องทรงผม

สถานการณ์จำลองสาม : มีครูคนหนึ่งกำลังจะถูกนักเรียนฟ้องผู้ปกครอง & ตำรวจเรื่องริบมือถือตน

วันนี้เราจะมาร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้ง 3 สถานการณ์ด้วยหลักการทางทหารเรื่องการทูต

สมัยโบราณที่ยังรบราฆ่าฟันเพื่อแย่งชิงอำนาจความเป็นใหญ่ในแผ่นดินก่อนรวบรวมหัวเมืองน้อยใหญ่ให้เป็นประเทศ เรานิยมใช้ศึกสงครามเป็นตัวดำเนินการ

เวลาทำสงครามเรามักไม่อยากเสียเลือดเสียเนื้อ เพราะบางครั้งก่อนที่จะเกลียดกันเราเคยรักกันมาก่อน หรือเพียงเพราะเคยมีผลประโยชน์ร่วมกันมา ทุกคนจึงอยากจะจบลงที่ทุกฝ่ายแฮปปี้มีความสุข

หลักการประนีประนอมสงครามจึงใช้ทูตานุทูตเป็นตัวกลางเจรจา ทูตเก่งๆ ต้องรู้เรื่องราวของทั้งสองฝ่ายเพื่อไกล่เกลี่ยเหตุและผลเพื่อตนเองจะได้ไม่ต้องรบต้องตายหรือกลายเป็นเชลย

ทูตที่เก่งๆ ท่านหนึ่งในสามก๊กน่าจะเป็นเล่าปีเพราะเคยไปญาติดีกับซุนกวนให้ร่วมรบกับโจโฉ เพื่อหวังจะกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นไม่ให้ล่มสลาย แต่สุดท้ายก็กลับกลายเป็นอย่างที่เห็น

ผมตอบผู้ปกครองเด็กว่าการบ้านเด็กสมัยนี้ที่ว่ายาก เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วเพราะวิชาการมีการเปลี่ยนแปลง มีเรื่องราวการค้นพบใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ทุกวัน เด็กประถมสมัยเราที่เคยเรียนแค่เรื่องไก่กาอาราเร่เลยต้องมาเจอตรีโกณมิติสมัยนี้ เพราะจะได้มีวิวัฒนาการ ไม่งั้นเด็กจะไม่มีภูมิคุ้มกันทางวิชาการ

สิ่งที่น่าเป็นห่วงกลับเป็นเรื่องคุณธรรม-ศีลธรรมเสียมากกว่า

เพราะวิชาการเราสอนหลักการไปเพียงนิดเด็กก็เอาไปคิดต่อเองได้เพราะเด็กสมัยนี้มีตัวช่วยคืออากู๋ กูเกิล (Google : search engine) เป็นตัวช่วยในมือถือ ข้อมูลมหาศาลของมวลมนุษยชาติรวมไว้อยู่ในนั้น ถ้าใครเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษยิ่งสบายเพราะติดต่อสื่อสารกับใครๆ ได้ทั่วโลก

ผู้ปกครองควรไปกำกับเรื่องการเข้าถึงข้อมูลของเด็กมากกว่าเพราะว่าเด็กยังไม่มีวิจารณญาณ

สถานการณ์จำลองสองผมบอกนักศึกษานิติศาสตร์ปีที่สองคนนั้นไปว่า สักวันหนึ่งเมื่อเธอเรียนจบ มีงานทำและประสบความสําเร็จในชีวิตเธอจะคิดถึงครูฝ่ายปกครองคนนั้นในวันข้างหน้าเพราะว่าครูเป็นแรงบันดาลใจให้เธอได้เรียนมาทางนี้

แฟ้มภาพนิสิต-นักศึกษา

จริงอยู่ทรงผมอาจไม่เกี่ยวกับการเรียนแต่เพื่อระเบียบเพื่อวินัยที่วัยเธอยังไม่มี ในห้องเรียนหนึ่ง ครูที่ดีสนใจเด็กอยู่สองคนในห้องคือคนที่เรียนเก่งที่สุดกับคนที่แย่ที่มีปัญหาที่สุด

ในแง่หนึ่งครูที่กำราบเด็กได้ประวัติเคยเป็นหัวโจกสมัยเรียนมาก่อนเสมอเพราะรู้ทันเด็ก ทำนองเด็กยิ่งดื้อครูยิ่งต้องเก่ง เหมือนกับที่ครูเอาเด็กดื้อเด็กซนมาสถาปนาตนเป็นหัวหน้าห้องเพราะต้องการสอนภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ

ครูที่หวังดีกับเด็กเท่านั้นที่จะไปยุ่งไปสอน เพราะเด็กไม่ใช่ลูกไม่ใช่หลานตน ส่วนเด็กที่เหลือขอจริงๆ ในโรงเรียน ลองสังเกตดูดีๆ ว่าครูจะเพิกเฉย จะไม่ยุ่งไม่แตะเลยสักอย่าง จะอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ทำนองลงพรหมทัณฑ์รอวันบัวจะบานถึงแม้จะนานหน่อย แต่ครูก็คอยได้

นายฉันนะคนสนิทเจ้าชายสิทธัตถะ ครั้นบวชเป็นพระยังถือตนว่าเป็นคนสำคัญ พระพุทธองค์ให้บรรดาสาวกลงพรหมทัณฑ์เธอโดยไม่ต้องไปสั่ง ไม่ต้องไปสอน ไม่สนทนาพาทีด้วยทุกตอนทุกครา สุดท้ายท่านก็กลับมาพิจารณาตนจนหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์

เพียงแค่ครูเชื่อมั่นว่าบัวทุกเหล่านั้นบานได้

ส่วนสถานการณ์สุดท้ายแค่ครูคืนมือถือเด็กไปเรื่องก็จบ แต่เพื่อนครูบอกว่าต้องการจะสอนเด็ก แล้วเรื่อง win-win situation ชนะทั้งสองฝ่ายไม่มีคนแพ้ต้องทำอย่างไร? เด็กถึงจะเข้าใจครู ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์โลกที่เป็นสังคมก้มหน้าและโรคอุบัติใหม่คือโรคขาดมือถือไม่ได้ของคนยุคใหม่ยุคนี้

ครูต้องให้เวลาเด็กยกมือถือขึ้นมาหาข้อมูลระหว่างเรียน ระหว่างสอนบ้าง

และมีบางช่วงบางตอนที่เก็บมันไว้ใต้ลิ้นชัก เพื่อให้เด็กได้กลายเป็นนักแบ่งเวลา รู้กาละและเทศะ

กำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนในห้องเรียนว่าถ้ามีเสียงโทรศัพท์อาจารย์จะหยุดสอน

หากมีเรื่องด่วนให้รับสายได้แต่นอกห้องเรียนเพราะอาจจะรบกวนเพื่อนในชั้น

อาจารย์บางท่านอาจไม่สะดวกใจที่จะให้นักเรียนใช้มือถืออัดเสียงถ่ายภาพตอนบรรยายก็คุยกันไว้ให้ชัดเจน เท่านี้ก็จะไม่เป็นปัญหา

ส่วนจะแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมให้เด็กเลิกเล่นเกม ผู้ใหญ่ต้องเลิกเล่นหวยก่อน!!!

ปัญหาเรื่องครู-นักเรียน-ผู้ปกครองเป็นไม้เบื่อไม้เมาที่เราต้องเข้าใจ เทียบกันได้กับฝักฝ่ายทั้งสามก๊ก

“แผ่นดินจีนกว้างใหญ่ ถ้าแบ่งปันกันได้ก็เท่าเทียม”

เล่าปี่เชื้อพระวงศ์ผู้อ่อนน้อมไหว้ชนทุกชั้น ผู้เป็นปราชญ์ได้บอกเอาไว้

เมื่อมองภาพระบบการศึกษาในโรงเรียนออก ก็มองภาพประเทศออกว่าก็มี 3 พวกคือ ประชาชน-รัฐบาลและนักการเมืองซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เมื่อมองภาพประเทศออกก็เข้าใจโลกว่าประกอบด้วยประเทศ-สงครามและนักการทูต ปัจจุบันใครที่ทำสงครามด้วยการรบราฆ่าฟันถือเป็นการสงครามแบบเก่าเต่าล้านปี เพราะ

สงครามสมัยนี้ยิ่งทวีความรุนแรง ไม่ใช่สงครามนิวเคลียร์ แต่เป็นสงครามวัฒนธรรม สงครามทางปัญญา สงครามที่เข่นฆ่าอัตลักษณ์คนในชาติ อาศัยเครื่องมืออันน้อยนิดที่พิชิตเข้าถึงตัวคือโทรศัพท์มือถือ

เก็บดาบเก็บปืนให้คนรุ่นใหม่ยืนดูเฉพาะในพิพิธภัณฑ์ แล้วมาร่วมสร้างสรรค์นักการทูต พูดและโพสต์ในสิ่งที่ควรชวนสร้างสรรค์ พึงใช้มันอย่างถูกวิธี มีปัญหาอย่าเพียงบ่น ให้ช่วยกันแก้แม้ไม่ใช่ปัญหาตน เท่านี้สาธุชนก็ร่วมยินดี

ผมเคยถามนักศึกษาปริญญาโทคนหนึ่งว่าธงชาติไทยมีกี่สี?

แล้วนักศึกษาคนนั้นตอบไม่ได้ ตอบผิดเพราะดันตอบว่ามีแค่ 3 สีคือแดง-ขาว-น้ำเงิน

นักเรียนแย้งคำตอบผมที่ตอบว่าทำไมอาจารย์เฉลยว่ามี 5 สี แล้วอีกสองสีที่อาจารย์ว่าคือสีอะไร?

ผมค่อยๆ เจรจาว่าความให้เธอลองสังเกตดูดีๆ ถึงปรัชญาที่เธออาจจะได้จากธงชาติไทยที่เธอเคยเห็น ที่ครูว่าธงชาติไทยมีด้วยกัน 5 สีคือสีแดงบน สีแดงล่าง สีขาวบน สีขาวล่าง และสีน้ำเงินตรงกลางรวมห้าสี มีนัยยะที่บรรพบุรุษผู้มีไมตรีชี้ทางสว่างประเทศให้ สีแดงคือชาติ สีขาวศาสนา อาจแบ่งเป็นสองพรรคสองพวก สองฝักสองฝ่ายแต่ไหนแต่ไรมา น้ำเงินหมายว่าพระมหากษัตริย์ไทยคือศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ พระองค์คือนักการทูตตัวกลางผู้ปรองดองสงครามเหนือ-ใต้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพราะสถาบันกษัตริย์ดอกหรือที่รวมไทยให้เป็นชาติ?

นี่แหละยุทธวิธีอันชาญฉลาดของนักการทูตไทย