รายงานพิเศษ : เบื้องหลัง ประติมากรรมนูนต่ำ แห่งดอยไตแลง

ทุกวันชาติไทใหญ่ ซึ่งตรงกับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ บนดอยไตแลงจะมีงานทุกปี โดยเฉพาะการเดินสวนสนาม

นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ภายในอาคารหอประชุม ซึ่งผู้นำกองทัพ ตลอดจนแขกวีไอพีรวมตัวกันอยู่ ด้านหลังไม่ได้เป็นเพียงผนังว่างเปล่าเหมือนปีที่ผ่านๆ มา

เพราะมีประติมากรรมนูนต่ำสองชิ้นติดตั้งเด่นสง่า

โดยผลงานนี้เป็นฝีมือของประติมากรชาวไทย

กิตติพงษ์ สุริยทองชื่น

ก่อนหน้านี้ กิตติพงษ์ สุริยทองชื่น มีโอกาสปั้นทั้งพระพุทธรูป ช้างพระนเรศวร ตลอดจนทำฐานราก และแท่นรองเพื่อใช้สำหรับติดตั้งอนุสาวรีย์ “เจ้าเสือข่านฟ้า” และ “เจ้ากอนเจิง” สองวีรบุรุษของชาวไทใหญ่ ส่วนด้านหลังทำภาพนูนต่ำเรื่องราวทหารไทใหญ่กำลังต่อสู้ และเรื่องราววัฒนธรรมประเพณี

“เลือกบริเวณที่ใช้สวนสนามเหมือนตอนออกทีวีนั่นแหละ เหมาะจะสร้างประติมากรรม เวลาถ่ายรูปวันชาติแล้วจะสวยงาม เจ้ายอดศึกท่านก็ชอบ” กิตติพงษ์เล่าถึงงานที่ทำและติดตั้ง

งานสำคัญ (ในที่นี้นำเสนอเพียงชิ้นเดียวจากจำนวนสองชิ้น) ต้องหาข้อมูลกันอย่างรอบด้าน เพื่อให้สอดรับกับสถานที่ติดตั้งงานความยาวประมาณ 20 เมตร ส่วนหน้าตาของชิ้นงานนั้น ได้ผ่านความคิดกันมาไม่น้อย แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาความลงตัวไม่ได้

“สุดท้ายเจ้ายอดศึกบอกว่า ตัดปัญหา เอารูปนี้แล้วกัน รูปในประวัติศาสตร์อยู่ในหนังสือ ผมเลยออกแบบได้”

หนังสือที่ว่าเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มบาง เข้าเล่มแบบมุงหลังคา พิมพ์ขาวดำ ข้างในเป็นตัวอักษรไต มีรูปประกอบเป็นภาพบุคคล และเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ซึ่งกิตติพงษ์ได้นำมาจัดวางใหม่ ปรับรายละเอียดให้เหมาะกับความเป็นงานนูนต่ำ โดยคงข้อมูลบุคคลและประวัติศาสตร์ไว้ตามเดิม

“เคารพภาพรวมทั้งหมด ต้องเสียสละ ฉลาดหลักแหลม มีความรักชาติ อดทนอย่างสูง จะเอาความรู้สึกทั้งหมดไปใส่ตรงไหน ก็คือดวงตา แล้วจะมองแบบไหน มองได้หลายอย่าง ต้องขยาย”

งานนี้จึงไม่ใช่การปั้นให้เหมือนรูปต้นแบบเท่านั้น เพราะต้องให้ได้ความรู้สึกแท้จริงออกมา โดยตั้งใจให้ชาวไทใหญ่บนดอยไตแลงเกิดความรักชาติ ระลึกในบุญคุณของ “เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ” ผู้ก่อตั้งกองกำลังทหารรัฐฉาน

ทั้งหมดคือโจทย์ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวทาง

“คอนเซ็ปต์คือยกย่องคนต้นคิด ผมถามเจ้ายอดศึกว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่เจ้าน้อยยศอะไร อยากใส่ยศมั้ยเพื่อให้เกียรติ ท่านว่าไม่เป็นไร เราทหารป่า การเริ่มต้นอยู่ในป่า ต้องการให้รู้สึกว่านักสู้ของจริงไม่มียศก็สู้ได้ เจ้ายอดศึกคิดมุมนี้ ก็โอเค แต่ว่าผมเปลี่ยนเสื้อนะ ที่เจ้าน้อยใส่เป็นเสื้อยืด แล้วที่สวมทับเป็นเสื้อธรรมดา ผมขออนุญาตใส่เสื้อเชิ้ตทหาร ปรากฏว่าท่านชอบ”

ผ่านไปเปลาะหนึ่ง แต่ก็ต้องพบกับปัญหาอีกจนได้ นั่นคือด้านซ้ายของชิ้นงานเป็นเหตุการณ์การดื่มน้ำสาบานของทหาร และการอบรมทหารใหม่ เพราะรูปต้นแบบในหนังสือไม่ชัดเจน นั่นทำให้กิตติพงษ์ต้องลงทุนแต่งชุดทหารทำท่าถือปืน ให้ทีมงานถ่ายภาพไว้ใช้เทียบตอนลงมือปั้นจริง

“เพื่อไม่ให้คลาดเคลื่อน ทำเหมือนเขาหมด ทหารในรูปไม่ชัด ต้องสร้างความชัดขึ้นมา เป็นแบบเอง จะได้แอ๊กชั่นที่เหมาะสม เรื่องเสื้อก็ด้วยในหนังสือรอยยับไม่ค่อยชัด แต่ถ้าอย่างนี้จะเห็นรอยยับชัด”

รอยยับตามจุดต่างๆ ตามเนื้อผ้า สำคัญอย่างมากสำหรับงานประติมากรรมนูนต่ำ ต่อกรณีนี้กิตติพงษ์ยังเสริมในอีกประเด็นที่มักถูกละเลยไปพร้อมๆ กัน นั่นคือการปั้นต้องปั้นแบบเปลือยก่อน แล้วถึงจะใส่เสื้อผ้าตามทีหลัง

“เวลาปั้นเสื้อผ้าสวมทับจะเห็นร่องรอย อย่างเช่น มีหน้าอกอยู่ข้างใน แต่ถ้าปั้นแบบใส่เสื้อผ้าไปพร้อมกันเลย ปั้นไปแล้วบางจุดจะดูยุบ ดูไม่สวย ดูไม่งาม”

ประติมากรรมนูนต่ำชิ้นนี้ จะแบ่งเป็นสามชิ้นย่อยตอนหล่อไฟเบอร์กลาส เพื่อสะดวกในการขนไปติดตั้งบนดอยไตแลง โดยด้านขวาของชิ้นงาน เป็นส่วนที่มีอักษรไตต้องเขียนลงไป ซึ่งผู้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้คือสมคิด หนุ่มใหญ่ชาวไทใหญ่ หนึ่งในทีมงานของโรงปั้น

“เนื้อหาพูดถึงบรรดาผู้รวบรวมคนหนุ่ม เพื่อไปสู้ศึกกับพม่า ทำนองว่าจะปลดแอก ก็เลยจะเขียนทับลงไปบนตัวคน เป็นการระลึกถึงคนในอดีตที่ร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ ล้มตายไปด้วยความรักชาติ”

ทั้งหมดเป็นเนื้อความโดยรวม ซึ่งคัดมาจากหนังสือเล่มเดิม กิตติพงษ์ไตร่ตรองแล้วว่า น่าจะลงตัวที่สุดหากมองไปยังวันเวลาของอนาคต โดยจินตนาการว่าอีกหลายสิบปีข้างหน้า เมื่อคนรุ่นใหม่บนดอยไตแลงได้อ่าน ย่อมรู้ประวัติศาสตร์ชนชาติตนเอง

สมคิดตีเส้นลงบนชิ้นงาน แล้วบรรจงคัดลอกอักษรไตจากต้นแบบ แต่ผ่านไประยะหนึ่งปัญหาที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น นั่นคือหางตัวอักษรบรรทัดบนทับกับตัวอักษรบรรทัดล่าง แม้จะอ่านได้อย่างไม่เสียความหมาย แต่คนเขียนไม่วายร้อนใจเรื่องความสวยงาม จนกิตติพงษ์ต้องอธิบายให้เห็นภาพไปพร้อมกัน

“ใช้วิธีขยับเอา ไม่จำเป็นต้องไปตรงเป๊ะเหมือนพิมพ์ ให้ดูว่าเป็นการเขียนจากมือคน อารมณ์ที่เกิดมาจากลายมือน่าจะเป็นธรรมชาติกว่า เหมาะกว่ากับงานปั้น”

กลับมาที่ด้านซ้ายของชิ้นงาน เรื่องราวการดื่มน้ำสาบานของทหารใหม่ เกิดความเข้าใจผิดเรื่องชนิดปืนที่ใช้ในยุคนั้น เป็นอีกปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะทีมงานเข้าใจผิดว่าเป็นปืนเอชเค เลยปั้นขึ้นโครงผิดทุกกระบอก ทั้งที่ความจริงต้องเป็นปืนเอเค (อาก้า)

“เอาให้เป๊ะไปเลยว่าสัดส่วนเท่าไร ต้องหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตด้วย แล้วดูจากในหนังสงครามว่าท่าจับเป็นอย่างไร เอามาประมวล ต้องเผื่อองศาของมนุษย์ คลิกไปทีละเฟรมดูจนกว่าจะลงตัว”

และเพื่อให้ทีมงานเห็นภาพจริงไปพร้อมๆ กัน กิตติพงษ์ได้นำแผ่นโฟมมาวัดขนาด ใช้ฟุตเหล็กทาบ ลากเส้นด้วยปากกาเมจิก จนได้ปืนโฟมต้นแบบที่จับต้องได้ สำหรับเอาไว้สอบขนาดและความยาวในเบื้องต้น

“งานนี้ไม่ใช่เปลี่ยนจากปืนชนิดหนึ่งไปเป็นปืนอีกชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงขนาด สัดส่วน รวมทั้งส่วนที่ต้องจมหายไปในรอยยับของเนื้อผ้าบริเวณซอกไหล่อีกด้วย”

ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการเก็บละเอียด โดยหลักๆ อยู่ช่วงกลางชิ้นงาน ซึ่งเป็นรูปครึ่งตัวของเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ แต่พิกัดที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ ชนิดไม่ยอมให้ผ่านไปแม้แต่เส้นเดียว ได้แก่เส้นผมยาวประบ่าของผู้ก่อตั้งกองกำลังทหารรัฐฉาน

“รูปถ่ายต้นแบบเบลอมาก ต้องเดากลับไปกลับมา แต่ถ้าเดาไม่ได้ ทำให้สวยไปเลย เส้นผมจะพลิ้วเป็นอิสระเหมือนมีลมพัดผ่าน อิสระทางวิญญาณคือเพื่อชาติ เริ่มปรับให้ดูนุ่ม มีระยะลึกระยะตื้น เป็นลักษณะของการมีชีวิต อันนี้เป็นนามธรรม สร้างรูปธรรมขึ้นมาเพื่อสื่อถึงนามธรรม สร้างรูปเพื่อบอกนาม”

แม้บางรายละเอียดอาจต้องเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงที่อ้างอิงได้ ทั้งยังปรึกษาเจ้ายอดศึกเป็นระยะๆ อย่างกรณีการพลิ้วไหวของเส้นผม เกิดจากบนดอยไตแลงลมพัดแรงมาก จึงเติมเต็มเข้าไปเพื่อกลบความไม่สมบูรณ์ของภาพต้นแบบ

“ถ้าคิดแบบว่ารูปถ่ายมาอย่างไรก็ตามนั้นเลย มันก็ได้ แต่ผมทำงานจะคิดพวกนี้ อยู่บนดอยมีแดด มีลม มีฝน นักสู้ต้องเจอทั้งหมดอย่างเป็นความลำบาก ถ้าทำซื่อๆ ทื่อๆ ก็เป็นแค่นักลอกแบบ ฉะนั้น เท่ากับไม่ได้รู้สึกอย่างเข้าใจในความเป็นนักสู้ ไม่ได้เข้าไปอยู่ในหัวใจของเขา”

นอกจากนี้ ข้อมูลยังช่วยให้ความรู้สึกที่ใส่ลงไปในชิ้นงานมีความน่าเชื่อถือ อย่างการจินตนาการไปถึงความคิดของคนเป็นผู้นำ ก็อิงอยู่กับสภาพภูมิประเทศบนดอยสูง ถนนหนทางทุรกันดาร ฤดูฝนสุดลำเค็ญต้องเดินเท้าลำเลียงเสบียงขึ้นไปเลี้ยงชีวิตคนนับร้อย ซึ่งทั้งหมดนี้คือเรื่องจริงแม้ในปัจจุบัน

“เส้นผมถึงซ้อนไปซ้อนมา ถ้ามองเป็นเรื่องอิสระก็อิสระ ถ้ามองเป็นเรื่องยุ่งเหยิงก็ยุ่งเหยิง ถ้ามองว่าสวยงามก็สวยงาม มองได้หลายมิติ ไม่เช่นนั้นก็จบแค่รูปเหมือน ทำแล้วงานต้องตราตรึงคนดู ยิ่งดูยิ่งงาม นั่นเพราะรหัสต่างๆ ใส่ไปอย่างนี้”

เรียกได้ว่าเป็นการเก็บละเอียดความคิดผ่านชิ้นงาน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา กิตติพงษ์เล่าต่อในอีกด้านหนึ่งว่า ควรต้องระมัดระวังอยู่เหมือนกัน เพราะบางกรณีเมื่อใส่ไปแล้วอาจเป็นผลกระทบได้ รวมทั้งการถูกมองด้วยเจตนาลบจากคนบางกลุ่มว่า นี่คือการโชว์ภูมิรู้

“เรื่องนี้ต้องระวัง แต่ก็ไม่ว่ากัน เพราะในแนวทางสร้างงานผมจะเพิ่มในส่วนที่ตัวเองเข้าใจ ไม่ได้คิดไปเอง แต่เกิดจากการประมวลทั้งหมด”

ขั้นตอนการเก็บละเอียดจึงต้องใช้ชุดความคิด ทั้งแบบแยกส่วนและแบบองค์รวมไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่าหมายถึงเวลาและความวิริยะต้องสัมพันธ์กัน เพื่อให้ทุกตารางฟุตบนชิ้นงานถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน

“ยิ่งใกล้เสร็จจะใช้เวลาพิจารณานานขึ้น มองไปแล้วก็จะมาคิดว่าพื้นที่หนึ่งตารางฟุต ต้องสัมพันธ์กับพื้นที่ทั้งหมดเกือบสิบตารางเมตร ถึงต้องมีการถอยหน้าถอยหลังแล้วก็ดู เพราะมันไม่ใช่ว่าทำเพียงหน้าคนเพียงอย่างเดียว แต่คือชิ้นงานรวมทั้งหมด”

เมื่อปั้นชิ้นงานด้วยดินเหนียวเสร็จเรียบร้อย ต่อไปคือขั้นตอนการทำพิมพ์ ก่อนจะหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส เตรียมพร้อมสำหรับนำไปติดตั้งยังอาคารหอประชุม เพื่อให้เสร็จก่อนวันชาติไทใหญ่ที่จะมาถึง

ทั้งหมดนี้ คือเบื้องหลังการสร้างงานประติมากรรมนูนต่ำแห่งดอยไตแลง ผ่านแนวคิดของประติมากร ตลอดจนปัญหาอุปสรรค และการแก้ไขจนชิ้นงานสำเร็จลุล่วง กระทั่งถูกสื่อแขนงต่างๆ นำเสนอผ่านงานวันชาติไทใหญ่ นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา