ศิลปินกับจุดยืนทางการเมือง แสดงออกอย่างไร แค่ไหนดี?

 

ศิลปิน นักร้อง ดารา คนดัง บุคคลสาธารณะ ควรแสดงจุดยืนทางการเมืองหรือไม่?

หรือแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหน?

เป็นประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นข้อถกเถียงมาตลอด และยังไม่มีคำตอบที่เป็นข้อสรุปแบบเอกฉันท์

ในช่วงเดือนสองเดือนมานี้มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่ศิลปินนักดนตรีในระดับอินเตอร์ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง หนึ่งคือ แสดงจุดยืนต่อต้าน โดนัลด์ ทรัมป์

และอีกประเด็นก็ยังเกี่ยวกับทรัมป์คือประเด็นที่ทรัมป์ประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

ไม่ว่าศิลปินแสดงจุดยืนในประเด็นไหน ล้วนนำมาสู่ความเห็นโต้แย้งด้วยวาทกรรมสุดคลาสสิคว่า “ศิลปินไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง”

การเรียกร้องให้ศิลปินคว่ำบาตรทางวัฒนธรรมอิสราเอล มีมาอย่างต่อเนื่องในวงการเพลง ร้อนแรงมากน้อยตามแต่สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในแต่ละช่วง ซึ่งมาร้อนขึ้นอีกในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่สหรัฐอเมริการับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

หลังจากนั้น ลอร์ด (Lorde) นักร้องสาวชาวนิวซีแลนด์เจ้าของเพลง Royals ที่โด่งดังทั่วโลกเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งมีกำหนดการแสดงคอนเสิร์ตในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอลในเดือนมิถุนายน 2561 ได้ประกาศยกเลิกคอนเสิร์ตในเทลอาวีฟ หลังจากแฟนเพลงของเธอส่งจดหมายทักท้วงว่าการไปแสดงคอนเสิร์ตในอิสราเอลเหมือนเป็นการสนับสนุนสิ่งที่อิสราเอลทำกับปาเลสไตน์

การตัดสินใจของลอร์ดมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

คอลัมนิสต์คนหนึ่งเขียนบทความถึงเธอว่า ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์นั้นซับซ้อน การคว่ำบาตรอิสราเอลเป็นการตัดสินใจที่ผิด

เธอกำลังเลือกข้างแบบเหมารวมคนทั้งหมด ซึ่งคนในอิสราเอลที่ซื้อบัตรคอนเสิร์ตของเธอก็ล้วนเป็นแฟนเพลงตัวจริงของเธอไม่น้อยกว่าคนชาติอื่น

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 เรดิโอเฮด (Radiohead) วงดนตรีชื่อดังจากอังกฤษก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ที่พวกเขาจะไปแสดงคอนเสิร์ตในอิสราเอล แต่กรณีนั้นเรดิโอเฮดไม่ได้ยกเลิกคอนเสิร์ต และ ธอม ยอร์ก (Thom Yorke) นักร้องนำของวงเรดิโอเฮด ก็ออกมาตอบโต้คำวิจารณ์ด้วยเหตุผลอีกด้านหนึ่งที่น่าเปิดใจฟังเช่นกัน

Thom Yorke of Radiohead performs on the Pyramid Stage at the Glastonbury Festival of Music and Performing Arts on Worthy Farm near the village of Pilton in Somerset, South West England, on June 23, 2017. / AFP PHOTO / Oli SCARFF / AFP PHOTO / Oli SCARFF

“การแสดงคอนเสิร์ตในประเทศไหน ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับรัฐบาลของประเทศนั้น” เขาบอกก่อนจะอธิบายต่อว่า “เราเคยเล่นคอนเสิร์ตที่อิสราเอลเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว ผ่านเวลา ผ่านการผลัดเปลี่ยนมาหลายรัฐบาล…ผมไม่ได้เห็นด้วยกับเนทันยาฮูมากไปกว่าทรัมป์ แต่เราก็ยังเล่นคอนเสิร์ตในอเมริกา ดนตรี ศิลปะ การศึกษา มันไม่มีพรมแดน มันไม่ใช่แค่ตึกรามสิ่งปลูกสร้าง มันเกี่ยวกับการเปิดใจให้กว้าง การแบ่งปันของมวลมนุษยชาติ บทสนทนาและเสรีภาพในการแสดงออก”

ถ้าตีความในมุมมองของ ธอม ยอร์ก ไม่ว่าศิลปินจะมีความคิดทางการเมืองอย่างไร ก็ควรแยกแยะ เพราะหากเอาจุดยืนทางการเมืองมาเป็นเหตุผลในการแสดงหรือไม่แสดงคอนเสิร์ต จะเป็นการสร้างกำแพงปิดกั้นคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งไม่ให้เข้าถึงดนตรี

อีกเรื่องหนึ่งคือการแอนตี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งก็มีอยู่เรื่อยๆ เมื่อต้นเดือนธันวาคม ทอม โมเรลโล (Tom Morello) มือกีตาร์วงเรจ อเกนสต์ เดอะแมชชีน (Rage Against The Machine) และโปรเฟตส์ออฟเรจ (Prophets of Rage) ศิลปินที่ทำเพลงเนื้อหาเชิงการเมืองและมักแสดงความเห็นทางการเมือง ก็ได้โพสต์รูปตัวเองสวมเสื้อยืดที่มีข้อความว่า “แม่ครับ ผมควรไว้วางใจรัฐบาลไหม?” พร้อมกับกีตาร์ที่มีข้อความเขียนว่า “FUCK TRUMP”

จากนั้นก็มีคนไปคอมเมนต์ว่า “อีกหนึ่งนักดนตรีผู้ประสบความสำเร็จที่หันมาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองไปแล้ว”

ตีความก็ประมาณว่าเป็นนักดนตรีก็ทำเพลงเล่นดนตรีไปเถอะ อย่ายุ่งเรื่องการเมืองให้มากนัก ซึ่งทอมและศิลปินอีกหลายคนเคยเจอถ้อยคำประมาณนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

หลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ ทอม โมเรลโล ก็เอาคอมเมนต์นั้นมาตอบและโพสต์ลงอินสตาแกรมอีกครั้งว่า “ไม่จำเป็นต้องจบเกียรตินิยมรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดก็สามารถรู้ได้ถึงความผิดจรรยาบรรณและไร้มนุษยธรรมในการทำงานของผู้บริหารชุดนี้ แต่พอดีผมจบเกียรตินิยมรัฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ดมาซะด้วย ฉะนั้น ผมสามารถยืนยันเรื่องนี้กับคุณได้นะ”

หลังปีใหม่มาก็มีอีกประเด็นร้อนฉ่า กรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตตอบโต้ผู้นำเกาหลีเหนือว่า ตนเองก็มีปุ่มสั่งการนิวเคลียร์เหมือนกัน แถมใหญ่กว่า ทรงพลังกว่า และใช้งานได้จริงด้วย

บิลลี โจ อาร์มสตรอง (Billie Joe Armstrong) นักร้องนำวงกรีนเดย์ (Green Day) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และชวนประชาชนร่วมกันเรียกร้องให้ปลดทรัมป์ออกจากตำแหน่ง โดยเขาแคปภาพจากทวิตเตอร์ของทรัมป์มาโพสต์ในอินสตาแกรมพร้อมข้อความว่า

“นี่ไม่ใช่เรื่องตลก นี่คือประธานาธิบดีของพวกเราที่ทำตัวเหมือนคนบ้าลุ่มหลงมัวเมาในอำนาจ ขู่จะฆ่าคนหิวโหยผู้ไร้เดียงสาด้วยการทำสงครามนิวเคลียร์ The 25th Amendment จำเป็นต้องมีการบังคับใช้ ผู้ชายคนนี้ป่วยและไม่เหมาะสำหรับการทำงาน ผมไม่สนใจว่าคุณเป็นเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม เราต้องหยุดเรื่องนี้ โปรดแชร์ #impeachtrump” (The 25th Amendment – บทแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญครั้งที่ 25 มาตรา 4 ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้)

เพียง 24 ชั่วโมงมีคนเข้าไปแสดงความเห็นในโพสต์นี้มากถึง 1.5 หมื่นคอมเมนต์

มีชายหนุ่มคนหนึ่งแสดงความเห็นว่า “หุบปากซะ คุณควรจะเป็นพังก์ เป็นนักแต่งเพลง คุณมีเสรีภาพที่จะพูดอะไรที่คุณต้องการ แต่มันเป็นการนำเรื่องการเมืองขึ้นมาบนโต๊ะอาหาร คุณทำให้ผมกังวล ผมเป็นแฟนเพลงที่ดีของคุณนะ แต่นรกเถอะ เดฟ โกรห์ล สามารถขึ้นมาอยู่ในจุดนี้แทนคุณได้ง่ายๆ”

แล้ว บิลลี โจ ก็ตอบกลับไปว่า “เหมือนที่ผมเคยพูดไปแล้ว ถ้าคุณมีปัญหากับอะไรที่ผมเชื่อ ก็ไปไกลๆ ป.ล.เดฟ โกรห์ล ก็คิดว่าคุณปัญญาอ่อนเหมือนกัน”

โพสต์นี้ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงความเห็นกันอย่างดุเดือด มีทั้งความเห็นที่บอกว่าการเรียกร้องแบบนี้ไม่ถูกต้อง หลายความเห็นบอกว่าศิลปินไม่ควรยุ่งเรื่องการเมืองมากเกินไป หลายคนสนับสนุนบอกว่าบิลลีเป็นศิลปิน แต่ก็เป็นพลเมืองสหรัฐคนหนึ่งที่สามารถพูดอะไรได้เหมือนคนอื่น

บางคนบอกว่าเรื่องแบบนี้แหละที่ควรเอาขึ้นมาคุยกันบนโต๊ะอาหาร

ในเมืองไทยเราไม่มีประเด็นนี้ให้ถกเถียงมากนัก เพราะในสถานการณ์ทั่วไปศิลปินไทยไม่ค่อยแสดงความเห็นทางการเมือง ช่วงที่มีการชุมนุมใหญ่ๆ เท่านั้นที่ศิลปิน ดารา ออกมาร่วมชุมนุมแสดงจุดยืนทางการเมือง แต่ก็ไม่ค่อยปรากฏวาทกรรม “ศิลปินไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง” จะมีก็แต่กระแสต่อต้านจากประชาชนฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนว่าศิลปินในเมืองไทยถูกเรียกร้องให้แสดงจุดยืนทางการเมืองด้วยซ้ำ โดยเฉพาะศิลปินแนวเพื่อชีวิต หรือศิลปินที่ทำงานเนื้อหาสะท้อนสังคม-การเมือง ซึ่งถูกคาดหวังว่าควรออกมาร่วมต่อสู้กับประชาชนให้เหมือนที่แสดงออกในงาน

ถามมุมมองของศิลปินจาก ขจรเดช พรมรักษา หรือ กบ มือกลองวงบิ๊กแอส ซึ่งอีกบทบาทหนึ่งเขาคือนักแต่งเพลงที่อยู่เบื้องหลังเพลงดังของบิ๊กแอส, บอดี้สแลม และอีกหลายศิลปิน

กบบอกว่า “ศิลปินก็ไม่ต่างจากประชาชนทั่วไป ทุกคนมีหน้าที่ มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเสมอ รัฐธรรมนูญกำหนดแล้วว่าแสดงออกได้แค่ไหน แต่ในฐานะที่เป็นกระบอกเสียง เป็นคนสาธารณะ การแสดงความคิดเห็นมันดังกว่าคนทั่วไป มันต้องผ่านการไตร่ตรองรอบคอบมากกว่าปกติ เพราะการพูดของเรามันผ่านไมโครโฟน มันดังมาก ฉะนั้น มันมีทั้งผลดีผลเสียกลับมา การแสดงออกมันดีเสมอ แต่ในมุมมองของผม การแสดงออกต้องไม่ยั่วยุให้เกลียดกัน การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันมันดีมาก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความปรองดอง ความเข้าใจ”

ส่วนประเด็นที่แสดงจุดยืนทางการเมืองถึงขั้นไม่ไปแสดงคอนเสิร์ตในบางพื้นที่ อย่างที่มีการเรียกร้องให้ศิลปินไม่ไปอิสราเอล สมมุติว่าวงบิ๊กแอสถูกเรียกร้องให้ตัดสินใจเรื่องแบบนั้น กบบอกว่า

“ย้อนกลับไปที่คำตอบแรกคือ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไร ไม่มีใครไปกีดกันใครได้ จะไปเล่นคอนเสิร์ตหรือไม่ คำว่าศิลปินไม่เกี่ยวแล้ว อยู่ที่เจ้าตัวอยากไปหรือเปล่า ผมว่าต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราเชื่อแบบไหน เชื่อเรื่องอะไรอยู่ แล้วทำตามความเชื่อของเรา อยู่ที่เราเชื่อหรือไม่ และก่อนที่จะเชื่อ เรามีความรู้มากพอหรือเปล่า ก่อนที่จะเชื่อเราควรรู้เยอะๆ ผมเห็นคนมากมายที่รู้ไม่ครบแล้วเชื่อ เสนอความเชื่อออกไปแล้วอีกสิบปีก็มาคร่ำครวญว่าไม่น่าเลย ใครจะตัดสินใจยังไง มันอยู่ที่คน ผมไม่สามารถไปตัดสินใคร แต่ถ้าถามผม คิดว่าควรต้องรอบด้านก่อน”

ศิลปิน นักร้อง ดารา คนดัง บุคคลสาธารณะ แสดงจุดยืนทางการเมืองได้มากน้อยแค่ไหนดี? คงไม่มีใครให้คำตอบกับใคร เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความคิด วิจารณญาณ และเหตุผลประกอบการตัดสินใจของแต่ละคน