กรองกระแส สัญญาณกองหนุน เริ่มสำแดง รูปธรรม อำนาจ ท้าทายต่อ ‘คสช.’

กรองกระแส

สัญญาณกองหนุน

เริ่มสำแดง รูปธรรม อำนาจ

ท้าทายต่อ ‘คสช.’

หลังจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ส่ง ส.ค.ส. ว่าด้วย “กองหนุน” ต่อหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อหน้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ณ บ้านสี่เสาเทเวศร์ สภาพการณ์ในทางการเมืองก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
ไม่ว่าจะตีความด้าน “บวก” จาก คสช.
ไม่ว่าจะตีความด้าน “ลบ” จากพรรคประชาธิปัตย์
แต่แจ่มชัดเป็นอย่างยิ่งว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้ดำรงอยู่ในสถานะอันเป็น “กองหนุน” เหมือนก่อนและหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อีกแล้ว
ตรงนี้แหละที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์แปรเปลี่ยนตามไปด้วย
ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์จากการยื่นตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ปรากฏการณ์จากการตั้งข้อสังเกตต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ที่อาจจะมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นสถานีปลายทาง
ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนไม่เพียงแต่ระหว่าง คสช. กับ “กองหนุน” หากแต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนภายใน “แม่น้ำ 5 สาย”
ภาวะแยกและแตกตัวเริ่มปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

องค์ประกอบ คสช.
“แม่น้ำ 5 สาย”

การประกอบส่วนขึ้นของ คสช. ก็เป็นเช่นเดียวกับการประกอบส่วนขึ้นขององค์กรขนาดใหญ่ในทางการเมือง นั่นก็คือ ไม่ได้มาจากส่วนเดียว
หากแต่ผสมผสานพันธมิตรในแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน
การทำความเข้าใจต่อการก่อรูปขึ้นของ กปปส. ตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคม 2556 กระทั่งประกาศตนเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” พร้อมกับมาตรการชัตดาวน์ กทม. ชัตดาวน์การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จะทำให้เข้าใจต่อองค์ประกอบภายในของ คสช. มากยิ่งขึ้น
เมื่อมองไปยัง คสช. เราอาจมองเห็นแต่ภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ภาพของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
กระทั่งมองข้ามภาพ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
กระทั่งมองข้ามภาพนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ภาพนายวิษณุ เครืองาม ภาพนายพรเพชร วิชิตชลชัย กระทั่งภาพนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
ยิ่งมองผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยิ่งเห็นชัด
ยิ่งมองผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อันพัฒนามาเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ยิ่งเห็นชัด
เห็นชัดถึง “ทหารหลัก” เห็นถึง “ทหารกองหนุน”

ส.ค.ส. กองหนุน
ส.ค.ส. “เปรม”

เมื่อผ่านจากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนธันวาคม 2560 เหลืออีกไม่กี่เดือน เดือนพฤษภาคม 2561 ก็จะมาถึง การมอบ ส.ค.ส. ว่าด้วย “กองหนุน” จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงมิได้เป็นการพูดในแบบโวหารพาไป
เพราะนั่นมิใช่ “ท่วงทำนอง” ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ตรงกันข้าม เมื่อยืนยันด้วยการขยายว่า “กองหนุน” เริ่มน้อยลง ประสานเข้ากับ “กองหนุน” แทบไม่เหลืออยู่แล้ว
จึงเท่ากับเป็นการส่ง “สัญญาณ” และเป็น “การเตือน”
อย่าได้แปลกใจหากจะมีการเคลื่อนไหวตามมาตั้งข้อสังเกตในเรื่องคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 ประสานเข้ากับข้อสังเกตในเรื่อง พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช. ที่แตกต่างไปจาก พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. และรวมถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
เมื่อนำเอารายละเอียดของ ป.ป.ช. ไปผนวกเข้ากับกรณีการดึงเรื่องนาฬิกาหรูที่ทะลุ 20 เรือนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปอีกยิ่งมีความเด่นชัด
เด่นชัดถึงเป้าหมายแท้จริงแห่งการเคลื่อนไหวของ “กองหนุน”
ยิ่งผ่านไปยิ่งมีความเด่นชัดว่า ทุกการเคลื่อนไหวล้วนสะท้อนความขัดแย้งภายใน คสช. สะท้อนความขัดแย้งระหว่าง คสช.กับ “กองหนุน”

สัญญาณเตือน
การสืบทอดอำนาจ

ไม่ว่าการสืบทอดอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจร ไม่ว่าการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ไม่ว่าการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
ล้วนดำเนินการภายหลังการรัฐประหาร
จอมพลถนอม กิตติขจร ได้รับบทเรียนอย่างไรเห็นในเดือนตุลาคม 2516 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้รับบทเรียนอย่างไรเห็นในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้รับบทเรียนอย่างไรเห็นในเดือนพฤษภาคม 2535
บทเรียนจากจอมพลถนอม กิตติขจร บทเรียนจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ บทเรียนจาก พล.อ.สุจินดา คราประยูร ล้วนสัมพันธ์อยู่กับการสืบทอดอำนาจ
เพราะในที่สุดแล้วเมื่อ “กองหนุน” ไม่ยินยอม อำนาจนั้นก็พังครืน