รายงานพิเศษ : “จาตุรนต์” ยืนยัน ไม่ร่วม “นายกฯ คนนอก” ผิดไปจากนี้ คือการพังทลายของเพื่อไทย

แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศและยืนยันชัดเจนว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งได้ในเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่หากประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้ว กลับพบมีความเป็นไปได้สูงที่การเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไป

ดังจะเห็นจากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งได้ขยายเวลาการดำเนินการด้านธุรการของพรรคการเมืองออกไป

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) “นายจาตุรนต์ ฉายแสง” ผู้ซึ่งถูก ศสช. ฟ้องฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมฯ จากการเขียนบทความลงสื่อออนไลน์ และผิดมาตรา 116 “ยั่วยุปลุกปั่น” จากการปาฐกถาที่สมาคมนักข่าวต่างประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มองความเคลื่อนไหวของ คสช. อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

พร้อมได้อธิบายเหตุที่ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ว่า เริ่มจากกลุ่มคนที่ไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ไม่เชื่อว่าประชาชนจะสามารถกำหนดอะไรได้ นำไปสู่ข้อเสนอให้ปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง จนเมื่อ คสช.เข้ามา และเลือกที่จะวางระบบใหม่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญแบบลงรายละเอียด พร้อมกับวางตัวองค์กรอิสระ กำหนดยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปยาวถึง 20 ปี

แต่แม้จะอ้างเข้ามาเพื่อปฏิรูป ทว่า 3 ปีที่ผ่านมา คสช.ไม่สามารถยกตัวอย่างผลงานด้านปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมได้เลย

ถามแย้งนายจาตุรนต์ว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าก่อนรัฐประหารประชาชนก็เบื่อหน่ายนักการเมืองเช่นกัน

นายจาตุรนต์ตอบว่า แน่นอนนักการเมืองมีปัญหาในตัวเอง แต่ปัญหาของนักการเมืองสามารถแก้ไขได้ด้วยระบบ เพราะรัฐธรรมนูญมีกลไกในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่แล้ว

ซึ่งหากทุกอย่างเดินไปตามกลไก เราจะไม่มีทางเป็นแบบนี้ เพราะทุกอย่างจะได้ข้อยุติ แต่รัฐประหารคือการแทรกแซงกระบวนการ ที่ไม่เปิดโอกาสให้กลไกได้พิสูจน์ข้อเท็จจริง

“ถามว่าการที่พรรคเพื่อไทยเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอยนั้น มีปัญหาไหม ผมว่ามีปัญหาและเห็นว่าเป็นความผิดพลาดอย่างมาก แต่ระบบปกติสามารถจัดการได้ เพราะถึงอย่างไรกฎหมายฉบับนี้ก็ไม่ผ่านสภา แต่ปัญหาคือคนไม่ใช่แค่ไม่ต้องการกฎหมายนี้ แต่ยังไม่ต้องการระบอบประชาธิปไตย จึงต้องล้มมัน ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา คนที่ไม่เชื่อในประชาธิปไตยได้ใช้โอกาสนี้โจมตีนักการเมืองอยู่ฝ่ายเดียว และได้ผลค่อนข้างมาก ทำให้ทัศนคติของชาวบ้านต่อนักการเมืองเสียหายมากที่สุดในรอบ 10 ปี”

“เช่น พล.อ.ประยุทธ์ ฝาก 4 คำถาม 6 คำถาม นั่นคือความพยายามลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา พร้อมหาเสียงสนับสนุนเพื่อครองอำนาจต่อไป เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตย ไม่เชื่อเรื่องการเลือกตั้งอยู่แล้ว โดยพยายามบอกว่ารัฐบาลเลือกตั้งไม่ได้สนใจการแก้ไขปัญหาประเทศในระยะยาว และไม่อาจบริหารประเทศให้สงบ มีแต่ความวุ่นวายรุนแรง จึงต้องให้รัฐบาลทหารบริหารงานต่อไป เพื่อปฏิรูปประเทศ”

“สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือเลย ดังจะเห็นว่า 3 ปีมานี้ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่แนวความคิดแบบนี้ก็ถูกโฆษณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนคนคล้อยตาม”

นายจาตุรนต์บอกว่า สิ่งที่ประเทศต้องการไม่ใช่การปกครองด้วยระบบอะไรก็ได้ บ้านเมืองจะถอยหลังหรือไม่ก็ได้ ขอแค่มีความสงบเรียบร้อย เพราะความสงบอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนของประชาชน การที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน การไม่สามารถแสดงความคิดเห็น การยอมรับจากต่างประเทศ ฯลฯ”

“ที่ประเทศไทยต้องล้มลุกคลุกคลานไม่เดินหน้านั้น เป็นเพราะเรายังไม่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่เข้มแข็งพอ ส่งผลให้ประเทศต้องปกครองแบบไม่ใช่ประชาธิปไตยเป็นส่วนใหญ่ เพราะความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้รับการปลูกฝังให้มีความมั่นคง”

พูดถึงการเดินสายลงพื้นที่พบประชาชนของ “บิ๊กตู่” และคณะ นายจาตุรนต์ชี้ว่า การลงพื้นที่เพื่อพบชาวบ้านหรือประชุม ครม.สัญจร นับเป็นเรื่องดีที่จะได้รับฟังปัญหาโดยตรง

“แต่หากการลงพื้นที่นั้น เป็นไปเพื่อสร้างคะแนนความนิยม สร้างฐานอำนาจทางการเมืองให้ตัวเอง นับว่าเป็นเรื่องผิด แม้แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ควรทำ”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล คสช. กำลังทำสิ่งเหล่านั้น คือเดินสายเตรียมสร้างความนิยมให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. กลับมามีอำนาจอีกครั้ง

“นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการครองอำนาจ โดยแผนการเริ่มเปิดเผยออกมาทีละเรื่องจนเห็นได้ชัดแล้ว โจทย์ใหญ่ของ คสช. คือทำอย่างไรจึงจะอยู่ได้นานและกลับมามีอำนาจอีกครั้ง โดย คสช. ทำไว้แล้วในการเขียนรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดให้มีคณะกรรมการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งชัดเจนว่าพรรคการเมืองจะอ่อนแอ”

“วันนี้เราเห็นว่ามีการเตรียมพรรคการเมืองใหม่ไว้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ซึ่งพรรคใหม่นี้ยังขาดศักยภาพ ดังนั้น จึงออกมาตรา 44 ให้พรรคการเมืองใหม่โตได้เร็ว”

“สิ่งที่ คสช. ต้องการคือให้พรรคการเมืองเดิมรวมกันไม่ติด จากนั้นจะมีเสียงเกินครึ่งไปสนับสนุนคนนอกจาก คสช. เป็นนายกฯ”

“วันนี้การเมืองไทยอยู่ในช่วงวิกฤตและย้อนแย้งในตัวมันเอง เพราะ คสช. ไม่อาจปล่อยให้เลือกตั้งได้ จนกว่าจะแน่ใจว่าจะได้กลับสู่อำนาจ ทั้งที่ประชาชนอยากเลือกตั้ง”

“เวลานี้จึงกลายเป็นว่าออกกฎหมายลูกแล้วแก้ไข พร้อมกันนี้ยังทำลายพรรคการเมืองเพื่อดึงคนไปอยู่ด้วย เมื่อ คสช. ไม่แน่ใจ การเลือกตั้งก็จะยืดออกไป ส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาต่างๆ ที่ คสช. แก้ไขไม่ได้ คสช. เองต้องการอยู่ยาว แต่ความนิยมกลับลดลงจนอยู่ยาก”

นายจาตุรนต์เล่าว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้มีวิเคราะห์มาโดยตลอดว่า ในแต่ละช่วงเวลา พล.อ.ประยุทธ์กับพวกกำลังจะทำอะไร ซึ่งแน่นอนมีความพยายามทำให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงน้อยที่สุด ป้องกันอุปสรรคการเข้ามาของนายกฯ คนนอก โดยพรรคเพื่อไทยพยายามรับมือต่อการทำลายล้าง ด้วยการยืนในจุดที่พรรคมีความเข้มแข็ง เช่น เป็นพรรคที่ยอมรับของประชาชน ว่าสามารถสร้างนโยบายตรงกับความต้องการ แล้วนำมาสู่การปฏิบัติได้

ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นพรรคการเมืองที่ยืนยันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย พร้อมทำหน้าที่ไม่ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จะต้องทำหน้าที่ให้ดี เพราะบทบาทของพรรคการเมืองนับจากนี้ นอกจากการเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านแล้ว ยังต้องมีความมุ่งมั่นทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยให้ได้ นี่ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของนักการเมือง

“หลังจากนี้พรรคเพื่อไทยจะพูดชัดว่าไม่สนับสนุน ไม่ร่วมกับ คสช. เป็นรัฐบาล เชื่อว่าต่อไปเราจะประกาศอย่างชัดเจน ว่าเราจะไม่ร่วมกับนายกฯ คนนอก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้าผิดไปจากนี้ หมายความว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นการพังทลายของพรรค”

ถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลังรัฐประหารจนถึงวันนี้ พวกเขาได้รับบทเรียนหรือยังได้ประโยชน์อยู่ นายจาตุรนต์ตอบว่า สิ่งแรกที่ คสช. ต้องการคือทำให้พรรคเพื่อไทยอ่อนแอหมดโอกาสจัดตั้งรัฐบาล แต่สักพักกลับกลายเป็นว่า ทำให้พรรคการเมืองทั้งหมดอ่อนแอไปด้วย ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงได้รับผลกระทบด้วย แต่บวกลบคูณหารแล้ว เสียมากกว่าได้หรือไม่ ต้องถามพรรคประชาธิปัตย์เอง เพราะวันนี้คิดว่าประชาธิปัตย์ได้รับความสูญเสียไปด้วย แต่คนสูญเสียมากที่สุดคือคนทั้งประเทศ

“อย่างเช่น มาตรา 44 แก้ไข พ.ร.ป.พรรค ล่าสุด แน่นอนส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป เพราะเป็นการยืดเวลาให้ช้าออกไป ซึ่งเมื่อ พ.ร.ป. 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ แทนที่จะเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ก็กลายเป็นว่าพรรคการเมืองยังไม่พร้อม นี่ยังไม่นับระหว่างทาง อาจจะมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญ หรือแก้กฎหมายอีก ไม่มีใครรู้ วันนี้โอกาสที่การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปมีสูงแล้ว และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้นถูกทำให้มีความหมายน้อยมาก”

“เวลานี้พรรคการเมืองถูกจำกัดอย่างมาก สิ่งที่ยังทำได้คือการแสดงความคิดเห็น เชื่อว่าการแสดงความเห็นที่มีพลังยังเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นหรือเรื่องที่จะนำเสนอ และสถานการณ์หลังจากนี้จะมีเรื่องสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน จึงขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองออกมาแสดงบทบาทเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน รักษาความถูกต้อง เชื่อว่าพรรคการเมืองมีศักยภาพนี้แง่นี้”

นายจาตุรนต์มั่นใจแม้ปี 2561 นี้สถานการณ์ทางการเมืองจะเข้มข้นขึ้น แต่ยังไม่ใช่ความเข้มข้นแบบบรรยากาศก่อนการเลือกตั้ง ที่มีการหาเสียง นำเสนอนโยบาย ฯลฯ เพราะส่วนใหญ่ของปี 2561 ยังไม่ใช่เวลาเตรียมการเลือกตั้ง ทว่ายังอยู่ในความขัดแย้งจากการเตรียมการให้ คสช. เพื่อกลับมามีอำนาจ และความลำบากในการดำรงอยู่ของ คสช. เอง

“ในความขัดแย้งนี้จะมีคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยที่ คสช. หวังครองอำนาจยาวๆ ขณะที่ประชาชนจะเรียกร้องให้ คสช. แก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งความเดือดร้อนและปัญหาคอร์รัปชั่น ถ้าแก้ไขไม่ได้ คสช. จะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหล่านี้คนไทยจะติดตามอย่างระทึกใจ”

นายจาตุรนต์กล่าวทิ้งท้าย