โวหารท่านผู้นำประยุทธ์ จันทร์โอชา : คำพูดสาธารณะกับภาวะฝืดเคืองโวหาร

 

“ประโยคคำสั่งในเครื่องแบบประโยคคำถาม” โวหารท่านผู้นำประยุทธ์ จันทร์โอชา (4)

ย้อนอ่าน ตอน (3)  

คำพูดสาธารณะกับภาวะฝืดเคืองโวหาร

โวหารประเภทอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความจัดเจนแพรวพราวในการใช้ภาษาหรือวาทศิลป์นั้นพบประปรายในคำพูดสาธารณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เช่น โวหาร “อุปลักษณ์” (Metaphor) พบเพียง 3 ตัวบท โวหาร “อุปมา” (Simile) “นามนัย” (Metonymy) และ “สัมพจนัย” (Synecdoche) รวมถึงอติพจน์ (Hyperbole) และ “ปฏิรูปพจน์” (Allussion) พบเพียงอย่างละ 1 ตัวบทเท่านั้น

อุปลักษณ์ (Metaphor) คือการเปรียบสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง มักมีคำเชื่อมแสดงให้เห็นการเปรียบเทียบ ได้แก่ คำว่า “เป็น” หรือ “คือ” หรือ “เท่า” หรืออาจไม่ปรากฏคำเชื่อมแสดงการเปรียบเทียบก็ได้ มักเป็นการนำลักษณะทางนามธรรมของสิ่งหนึ่งมาเปรียบเทียบกับอีกสิ่งหนึ่งเพื่อให้เห็นภาพของสิ่งที่ถูกนำมาเปรียบชัดเจนขึ้น

พบการใช้โวหารอุปลักษณ์ในคำพูดสาธารณะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น 3 ตัวบท

เริ่มจากการกล่าวในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมชี้แจงเชิงอบรมเหล่า สนช. ปิดท้ายการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ วาระแรก ขั้นรับหลักการ เมื่อ 18 สิงหาคม 2557

“สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือหาปัญหาและวิธีแก้ปัญหา กำหนดแนวทางแก้ปัญหาตามโรดแม็ป และส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแก้ปัญหาต่อไป คสช. ไม่ใช่เทวดาที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ สนช. ทุกคนที่เสนอแนะต้องช่วยกันทำให้ได้ ไม่ใช่ว่าโยนปัญหาให้ผมคนเดียว วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว ใครมีปัญหาอะไรหรือไม่ หรือใครไม่เห็นชอบอย่างไรก็ต้องช่วยกัน” (ไทยรัฐออนไลน์. 5 มกราคม 2558 : ออนไลน์)

คำกล่าวนี้ใช้การเปรียบเทียบแบบอุปลักษณ์ เพราะเป็นการนำลักษณะร่วมทางนามธรรมของ “เทวดา” มาเปรียบกับ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” หรือ “คสช.”

แต่เป็นการเปรียบในเชิงปฏิเสธ คือเปรียบว่า “คสช. ไม่ใช่เทวดา” หรือ “ไม่ได้เป็นเทวดา”

ลักษณะร่วมทางนามธรรมที่นำมาเปรียบเทียบคืออรรถลักษณ์ (Seme) ของ “ความเป็นเทวดา” ซึ่งประกอบด้วยความเป็นผู้วิเศษหรือผู้มีอิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์ สามารถทำในสิ่งที่คนธรรมดาทำไม่ได้

การยกเอาเทวดามาเปรียบเทียบสามารถตีความได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการสื่อว่ามีแต่เทวดาเท่านั้นที่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดของสังคมไทยได้

ความหมายตรงคือ คสช. ไม่ได้เก่งหรือมีความสามารถเท่าเทวดา จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้

ความหมายแฝงคือ ลำพัง คสช. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้

เหตุที่แก้ไขไม่ได้ไม่ใช่เพราะ คสช. ไม่เก่งหรือไร้ความสามารถ แต่เป็นเพราะปัญหาต่างๆ นั้นยากเกินขีดความสามารถของมนุษย์ปกติธรรมดา ไม่ว่ามนุษย์กลุ่มไหน ชาติไหน อัจฉริยะเพียงไหน ก็แก้ไขไม่ได้ มีแต่เทวดาเท่านั้นที่แก้ได้

การยกเทวดามาเปรียบเทียบเชิงอุปลักษณ์ในตัวบทนี้เป็นการแก้ตัวหรือปัดความผิดให้พ้นตัวอยู่ในที ไม่ใช่ความผิดของ คสช. ปัญหาต่างหากที่ผิด เพราะมันเรียกร้องทักษะความสามารถระดับเทวดา ซึ่งเกินขีดความเป็นมนุษย์ธรรมดา การไม่มีความสามารถในระดับดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องผิดเลยแม้แต่น้อย

นอกจากอรรถลักษณ์ความเป็นเทวดาที่ประกอบด้วยความมีอิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์แล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ยังอ้างอรรถลักษณ์ความเป็นเทวดาที่ประกอบด้วยความเป็นเจ้า ความอยู่เหนือผู้อื่น ความเป็นบุคคลที่ผู้อื่นต้องคอยเอาอกเอาใจ คอยรับใช้ และมีอำนาจสิทธิขาด ผู้ใดจะแตะต้องหรือล่วงละเมิดมิได้ มาใช้ในตัวบทที่กล่าวในการเปิดกิจกรรม “เส้นทางปฏิรูปประเทศไทย” ณ สโมสรกองทัพบก (วิภาวดี) เมื่อ 9 สิงหาคม 2557

“สมัยนี้เลี้ยงลูกเป็นเทวดา ให้เรียนอย่างเดียว วันหยุดเรียนพิเศษ เด็กเรียนหนังสือมีแต่ชีต ไม่มีตำรา แล้วคุรุสภาทำอะไรอยู่” (กรุงเทพธุรกิจ. 9 สิงหาคม 2557 : ออนไลน์)

คำกล่าวนี้มีความหมายในเชิงตำหนิการเลี้ยงดูบุตรของพ่อแม่ยุคปัจจุบันว่าเลี้ยงลูกให้เป็นเทวดา พ่อแม่ต้องคอยเอาอกเอาใจ อยากได้อะไรต้องได้ ให้เรียนหนังสืออย่างเดียว ไม่ต้องทำงานอะไร

นอกจากการใช้โวหารอุปลักษณ์เรื่องเทวดาในสองตัวบทที่กล่าวมาแล้ว พบโวหารอุปลักษณ์ในตัวบท “ผมดูหนังสือพิมพ์บางฉบับ บางเล่ม บางคอลัมน์ ท่านว่าผมปิดกั้น แต่ขอให้ไปดูที่ท่านเขียนได้ หนังสือพิมพ์ของท่านทั้งนั้น เขียนทำไม เรื่องไม่เป็นเรื่อง เรื่องขี้หมากาไก่ เขียนส่งเดชไปเรื่อย” (คมชัดลึก. 28 พฤศจิกายน 2557 : ออนไลน์)

เป็นการกล่าวตำหนิสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นสื่อของรัฐบาลเมื่อ 28 พฤศจิกายน 2557 โดยตอบโต้ว่าเหตุผลที่ต้องปิดกั้นสื่อนั้นเป็นเพราะสื่อนำเสนอแต่ “เรื่องไม่เป็นเรื่อง” อันหมายถึงเรื่องที่ไร้สาระ ไร้ความสำคัญ ไม่จำเป็นต้องนำเสนอสู่สาธารณะ โดยนำ “ขี้หมากาไก่” มาเปรียบเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่องเหล่านั้น

อรรถลักษณ์ของ “ความเป็นขี้หมากาไก่” ที่ พล.อ.ประยุทธ์นำมาเปรียบเทียบคือความไม่มีค่า ไม่มีความสำคัญ ไม่ควรค่าแก่ใส่ใจ

อุปมา (Simile) คือการนำสิ่งที่มีลักษณะบางประการร่วมกันมาเปรียบเทียบว่า “เหมือนกัน” ลักษณะบางประการที่นำมาเปรียบเทียบนั้นมักเป็นลักษณะเชิงรูปธรรมหรือลักษณะทางกายภาพ มีคำบ่งชี้ให้เห็นการเปรียบเทียบ เช่น เหมือน เสมือน ราวกับ ดุจ ดั่ง คล้าย ละม้าย เฉก เช่น ปาน ประหนึ่ง ฯลฯ

เช่น “เธอสวยเหมือนนางฟ้า” คุณลักษณะร่วมของ “เธอ” และ “นางฟ้า” ที่นำมาเปรียบเทียบว่าเหมือนกันคือ “สวย” เป็นคุณลักษณ์เชิงกายภาพ

คำพูดสาธารณะของ พล.อ.ประยุทธ์ พบโวหารเปรียบเทียบแบบอุปมาเพียงตัวบทเดียวคือคำกล่าวให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 19 มีนาคม 2558 หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายโครงการรับจำนำข้าว

“ดอกที่เหี่ยวๆ ต้องเด็ดทิ้งไปบ้าง ต้นไม้เราต้องดูมันทุกวัน ดอกมันเก่าแล้วอย่าไปสนใจ” (ข่าวสด. 19 มีนาคม 2558 : ออนไลน์)

ประโยค “ดอกที่เหี่ยวๆ ต้องเด็ดทิ้งไปบ้าง” ใช้โวหารเปรียบเทียบ 2 ส่วน คือ “ดอกที่เหี่ยวๆ” และ “เด็ดทิ้ง” ทั้ง 2 ส่วนเป็นการเปรียบเทียบแบบอุปมา

คือการนำ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี มาเปรียบเทียบว่าเหมือนกับ “ดอกไม้ที่เหี่ยวๆ” ตัวตั้งคือยิ่งลักษณ์ ตัวเปรียบคือดอกไม้ที่เหี่ยวๆ

ปกติสังคมไทยใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ (Symbol) แทน “ผู้หญิง”

แต่การนำ “ดอกไม้” มาวางไว้ในคำกล่าวนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ มีคำวิเศษณ์ “ที่เหี่ยวๆ” ตามมาขยายดอกไม้ด้วย

ทำให้ลักษณะร่วมที่นำมาเปรียบเทียบกัน เปลี่ยนจากลักษณะทางนามธรรมของดอกไม้และผู้หญิง (อรรถลักษณ์ [Seme] ของ “ความเป็นดอกไม้” คือสวยงาม อ่อนหวาน มีกลิ่นหอม บอบบาง ควรแก่การทะนุถนอม)

มาเป็นลักษณะทางรูปธรรม คือ “เหี่ยวๆ” หมายถึงดอกไม้ที่โรยราแล้ว ไม่มีความสดชื่นสวยงามแล้ว และไม่มีคุณค่าใดๆ อีกแล้ว

เปรียบเหมือน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนเก่า ร่วงหล่นจากอำนาจไปแล้ว ไม่มีความหมายหรือคุณค่าใดๆ อีกแล้ว

การเปรียบเทียบดังกล่าวจึงเป็นการเปรียบเทียบแบบอุปมา ขณะที่ประโยค “ต้องเด็ดทิ้งไปบ้าง” ทำหน้าที่ขยายความประโยคแรกให้มีความหมายชัดเจนขึ้น คือดอกไม้เหี่ยวแล้ว ไม่มีความหมายแล้ว ต้องเด็ดทิ้งไปได้แล้ว

เปรียบเหมือนยิ่งลักษณ์ที่เก่าแล้ว ไม่มีความหมายแล้ว ต้องทิ้งไปได้แล้ว อย่าให้ความสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบยิ่งลักษณ์เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวๆ แล้ว วิธีการกำจัดดอกไม้จึงต้องทำโดยการ “เด็ด” อย่าปล่อยทิ้งคาต้น เพราะรังแต่จะรกรุงรัง ไม่สวยงาม

ประโยคที่สอง “ดอกมันเก่าแล้ว” ก็เช่นเดียวกัน เป็นการอุปมาขยายความ “ดอกที่เหี่ยวๆ” เพื่ออธิบายเพิ่มว่า “ที่เหี่ยวๆ” นั้นมีความหมายเช่นเดียวกับ “เก่า”

การใช้คำว่า “เก่า” มาขยายดอกไม้นี้ช่วยเน้นความหมายของคำว่า “เหี่ยว” ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ผู้รับสารสามารถตีความได้ว่า สิ่งที่ “เหี่ยว” นั้นไม่ได้หมายถึง “เหี่ยว” อันเป็นความหมายตามตัวอักษร

แต่หมายถึง “เก่า” และสิ่งที่เก่านั้นไม่ใช่ดอกไม้ แต่หมายถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร