นงนุช สิงหเดชะ/’ธำรงวินัย’ ไม่ ‘ธำรงชีวิต’

นงนุช สิงหเดชะ

‘ธำรงวินัย’ ไม่ ‘ธำรงชีวิต’

ในที่สุดทางกองทัพก็ออกมาแถลงผลสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของ นตท.ภัคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 โดยเป็นไปตามที่หลายคนคาด ก็คือออกมาในทำนองว่าเมยเสียชีวิตเองเนื่องจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไม่ได้มีใครเป็นสาเหตุทำให้เมยเสียชีวิต ถือเป็นการสรุปที่ไม่โปร่งใสและค้างคาใจสังคมและครอบครัว
ยิ่งเมื่อพูดว่าวันที่ 17 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันเสียชีวิตนั้นไม่มีใครสั่งให้เมย “ธำรงวินัย” หรือที่เรียกว่าการ “ซ่อม” อันเป็นวิธีลงโทษนักเรียนเตรียมทหารที่นักเรียนบังคับบัญชา (นักเรียนรุ่นพี่) นำมาใช้กับรุ่นน้องที่เห็นว่าวินัยยังไม่ดี แล้วไปสรุปว่าเมยไม่ได้เสียชีวิตเพราะถูกซ่อมนั้น ยิ่งทำให้ยอมรับไม่ได้ เพราะวันที่ 17 ตุลาคมนั้น น้องเมยเข้ารักษาตัวในห้องพยาบาลแล้ว ใครจะมาสั่งซ่อมได้ ถ้ายังสั่งซ่อมอีกแสดงว่าคนคนนั้นไม่ใช่คน
แต่กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องที่เมยถูกซ่อมในวันที่ 15 และ 16 ตุลาคม สองวันติดกันทั้งที่สภาพร่างกายของเมยไม่ไหวแล้ว
โดยวันที่ 15 ตุลาคม ถูกซ่อมในห้องเซาน่าช่วงหลังเที่ยงคืน โดยนำไปออกกำลังกายในห้องเซาน่าขนาด 8 คูณ 8 เมตร ซึ่งทราบกันดีว่าห้องเซาน่านั้นอากาศจะมีน้อย ลำพังเพียงแค่นั่งเฉยๆ ไม่ออกกำลัง ก็จะร้อนมากจนเหงื่อท่วมตัวอยู่แล้ว หากอยู่ในนั้นนานเกินไปเส้นเลือดจะขยายตัวมากเกินไป อาจทำให้หมดสติได้
การใช้เซาน่าที่ปลอดภัยจึงไม่ควรเกิน 8-10 นาที นอกจากนั้นมีข้อห้ามว่าถ้าป่วยก็ห้ามเข้าเซาน่า
ทางกองทัพอ้างว่าเมื่อ นตท.เมยและนักเรียนอีก 2 คน แจ้งว่าป่วยก็ได้แยกทั้ง 3 คนออกมาจากห้องเซาน่าแล้วสั่งลงโทษด้วยการให้ยันแขนไว้กับพื้นกว่าหนึ่งชั่วโมง
พอมาวันที่ 16 ตุลาคม นตท.เมยถูกสั่งซ่อมอีกที่โรงอาหารด้วยการวิ่ง 100 เมตร กระโดดกบ 20 เมตร แต่รุ่นพี่ยังไม่พอใจ สั่งให้ทำท่าพุ่งหลังอีก 2 นาที จนในที่สุด นตท.เมยฟุบลงไป มีอาการหายใจถี่เร็ว จนต้องนำตัวไปรักษา
สุดท้ายก็เสียชีวิตลงในวันที่ 17 ตุลาคม

การสรุปของกองทัพที่อ้างว่าวันที่เสียชีวิต ไม่มีใครไปทำร้ายหรือซ่อม นตท.เมย แสดงถึงความอ่อนด้อยด้านตรรกะ
พูดออกมาได้หน้าตาเฉย เพราะเหมือนกับเราพูดว่าคนที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ได้เกิดจากยุงกัด เพราะวันที่เสียชีวิตนั้นไม่มียุงกัด (หลังถูกยุงกัด เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวระยะหนึ่ง บางครั้งผู้ป่วยรู้ตัวช้าก็ไปรักษาไม่ทัน)
หรือเมื่อมีคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตเพราะเลือดคั่งในสมองเนื่องจากหกล้มฟาดพื้นแล้วไปสรุปว่า ไม่ได้ตายเพราะหัวฟาดพื้น เพราะวันที่ตาย คนนั้นไม่ได้ล้มหัวฟาดพื้น (แต่ล้มเมื่อ 3-4 วันก่อนหน้านี้)
กรณี นตท.เมย ก็เช่นกัน หากสืบเรื่องราวย้อนไปก็จะพบว่าถูกซ่อมต่อเนื่องนานนับเดือน จนอาจทำให้ร่างกายเสียหายบอบช้ำและอ่อนล้าสะสม จนในที่สุดหัวใจก็ล้มเหลวเฉียบพลัน
เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านั้นเดือนสิงหาคม นตท.เมยถูกนักเรียนรุ่นพี่สั่งทำโทษในท่าที่ทางโรงเรียนห้ามใช้ นั่นคือท่าหัวปักพื้นที่เป็นเหล็กจนศีรษะเป็นแผลและหยุดหายใจไปชั่วขณะ เพียงเพราะรุ่นพี่คนนั้นไม่พอใจที่ นตท.เมยใช้ทางเดินที่ห้ามนักเรียนใหม่เดิน แต่ นตท.เมยไม่ได้ใหม่แล้วมีแหวนรุ่นแล้ว จึงเดินได้
และอันที่จริงทางเดินที่ว่านี้ทางโรงเรียนไม่ได้เป็นคนกำหนด แต่นักเรียนรุ่นพี่บ้าอำนาจกำหนดขึ้นมาเอง
ตามความเห็นของแพทย์ ท่าหัวปักพื้นค่อนข้างอันตราย เพราะหากอยู่ในท่านั้นนานๆ เลือดจะลงไปคั่งที่หัว ความดันโลหิตสูง ทำให้หมดสติได้

จากเหตุการณ์คราวนั้นนักเรียนรุ่นพี่ถูกปลดออกจากการเป็นนักเรียนบังคับบัญชาและตัดแต้ม 30 แต้ม ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุนี้หรือไม่ ทำให้ นตท.เมยถูกรุ่นพี่หมั่นไส้จนทำให้ถูกรังแกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งเสียชีวิต โดยหลังวันที่ 23 สิงหาคมเป็นต้นมา นตท.เมยแทบจะอยู่ในห้องพยาบาลเกือบตลอด เมื่อถูกบิดาถาม นตท.เมยก็ไม่ได้พูดอะไรมากว่าโดนอะไรมาบ้าง บอกว่าเป็นความลับราชการ อีกทั้งคงเกรงจะถูกหาว่าเป็นคนขี้ฟ้อง อ่อนแอ
ทางกองทัพพยายามพูดตัดตอนว่า นตท.เมยเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน แต่พยายามเลี่ยงที่จะพูดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน พยายามเบี่ยงประเด็นว่าการถูกซ่อมไม่ใช่สาเหตุ พยายามโยนว่าผู้ตายมีเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
แต่อย่าลืมว่าภาวะร่างกายที่บอบช้ำเหนื่อยล้าสะสมและไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ (จากการถูกซ่อม) และเกิดความเครียดต่อเนื่องเพราะถูกกลั่นแกล้งรังแก ก็เป็นสาเหตุหัวใจล้มเหลวได้เช่นกัน
ตัวอย่างเช่น นักข่าวหญิงของเอ็นเอชเค ที่หัวใจวายเสียชีวิตเพราะทำงานหนักล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลานาน จนเป็นข่าวครึกโครมในญี่ปุ่นมาแล้ว
ส่วนบรรดาพยานที่ทางกองทัพอ้างว่าได้สอบปากคำนั้น เชื่อถือได้แค่ไหน โดยเฉพาะนักเรียนชั้นปี 1 ที่เห็นเหตุการณ์จะกล้าพูดความจริงทั้งหมดหรือไม่ เพราะอาจจะกลัวรุ่นพี่ตัวแสบบ้าอำนาจกลั่นแกล้งจนเรียนไม่จบก็ได้หากพูดความจริง
และคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเหล่านี้ก็คงพยายามสลัดความผิดให้พ้นตัวเอง เนื่องจากอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ เพราะคนตายไปแล้วลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองไม่ได้

ทางกองทัพพูดเองว่า ระบบการธำรงวินัยของโรงเรียนเตรียมทหารยังมีมาตรฐานดีอยู่ แต่ความผิดพลาดจากปัญหาบุคคล โดยท่าหัวปักพื้นนั้นเป็นท่าห้ามนำมาใช้ในการธำรงวินัย แต่ยังมีการฝ่าฝืนอยู่ แล้วก็อ้างว่าได้ลงโทษรุ่นพี่ที่ฝ่าฝืนแล้วด้วยการตัดแต้ม แล้วก็อ้างอีกว่าเป็นการลงโทษที่รุนแรงแล้ว
แน่ใจหรือว่าลงโทษผู้ฝ่าฝืนแค่นั้นเพียงพอแล้ว เพราะเชื่อได้แน่ว่าการกระทำของรุ่นพี่คนนั้นที่สั่งให้ นตท.เมยเอาหัวปักพื้นคือจุดเริ่มแรกที่ทำให้ร่างกายและระบบการทำงานภายในของ นตท. เมยเสียหายอย่างหนัก และอาจเป็นเหตุให้ร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ
นักเรียนรุ่นพี่กลุ่มนั้นสมควรถูกดำเนินคดีอาญา ส่วนนายทหารปกครองที่มีหน้าที่ดูแลก็ควรพิจารณาตัวเองด้วยฐานปล่อยปละละเลยและไม่อบรมนักเรียนรุ่นพี่ให้มีจิตสำนึกเคารพชีวิตมนุษย์ ไม่เห็นคนอื่นเป็นทาสรองรับอารมณ์ส่วนตัว
ถ้าจะให้ดีรุ่นพี่แบบนั้นอย่าให้เรียนจบไปเป็นทหารเลย เพราะจบไปแล้วก็จะบ้าอำนาจไปทำให้คนอื่นตายอีก และถ้ายังปล่อยให้มีคนแบบนี้อยู่ในโรงเรียนอีก ก็คงมีนักเรียนตายไปอีกเยอะ ก่อนจะทันได้ออกไปรับใช้ชาติ
ผู้บริหารทุกคนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนนี้สมควรไป “ซ่อมจิตสำนึก” และทัศนคติทั้งของตัวเองและของนักเรียนรุ่นพี่ให้รู้จักเคารพชีวิตคนอื่นก่อนดีไหม
เข้าใจตรงกันก่อนดีไหมว่า “ธำรงชีวิต” สำคัญกว่า “ธำรงวินัย” เพราะโรงเรียนยังไม่ใช่สนามรบ ไม่มีใครเป็นศัตรูให้คุณฆ่า
คนไหนที่เขาเรียนไม่ไหว หรือคุณสมบัติไม่ถึง ก็ปล่อยให้เขามีชีวิตรอดออกไปเพื่อไปประกอบอาชีพอื่นรับใช้ชาติดีกว่า