ถึงเวลาต้องปรับ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน : โดย ดร.กมล รอดคล้าย

การจัดการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ซับซ้อน มีผลกระทบสูงต่อผู้คนจำนวนมาก ในการปฏิรูปหรือ พัฒนาการศึกษามักจะมีข้อเสนอแนะ และแนวทางการแก้ปัญหาที่หลากหลาย มีการนำแนวคิดหรือกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศมานำเสนอ หลายเรื่องถูกนำมากำหนดเป็นนโยบาย หรือเป็นโครงการโดยฝ่ายบริหารในแต่ละยุค

สิ่งที่นำมาเป็นนโยบายส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดเป็นเรื่องที่ดี แต่สาเหตุที่คุณภาพการศึกษายังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง อาจจะเพราะเกิดจากการดำเนินการที่ไม่ต่อเนื่อง จัดกิจกรรมเป็นชิ้นๆ ขาดพลังร่วมจากครู บุคลากรทางการศึกษาและทุกภาคส่วน และอาจเป็นเพราะไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ได้ว่าเรื่องใดควรทำก่อนหรือทำหลัง

ในการพัฒนาการศึกษา โดยทั่วไปจะคำนึงถึงประเด็นการพัฒนา 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ด้านการผลิตและพัฒนาครู ด้านการบริหารจัดการ และด้านระบบงบประมาณและทรัพยากรทางการศึกษา

ซึ่งผู้เขียนขอเสนอว่า สิ่งที่ต้องนำมาปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องแรก คือ การปรับหลักสูตร เพราะหลักสูตรเป็นเรื่องที่สนองต่อเป้าหมายของการศึกษา กระทบนักเรียนโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการปรับปรุงหลักสูตร จะส่งผลให้มีการปรับปรุงตำราและสื่อการสอน ปรับวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และปรับปรุงการวัด และประเมินผลด้วย จึงกล่าวได้ว่านี่คือกิจกรรมหลักของกระบวนการจัดการศึกษา ที่ส่งผลต่อนักเรียนโดยตรง

ความจริงแล้วในทุกระดับก็มีการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง เช่น หลักสูตรการจัดการศึกษาระบบทวิวุฒิ (Dual Degree) ในระดับอาชีวศึกษา หรือหลักสูตรที่เน้นฐานสมรรถนะในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดงานและการพัฒนาประเทศของระดับอุดมศึกษา แต่ระดับที่ต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วน ควรเริ่มที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน

ซึ่งในแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ก็ได้ระบุเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องให้สถานศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน จัดการศึกษาตามหลักสูตรที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2551 โดยมีการกำหนดกรอบโครงสร้างเวลาเรียน 3 ระดับ คือ ประถมศึกษา ให้มีเวลาเรียนทั้งหมด ไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมงต่อปี มัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 1,200 ชั่วโมงต่อปี และมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี ไม่น้อยกว่า 3,600 ชั่วโมง ประกอบด้วย 8 กลุ่มสาระ คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานพื้นฐานและเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และรายวิชาหรือกิจกรรมที่สถานศึกษาจัดเพิ่มเติมตามความพร้อมและจุดเน้นของแต่ละสถานศึกษาอีกด้วย

โดยภาพรวมแม้หลักสูตรจะมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ แต่ผู้สอนก็ยังคุ้นชินกับการเน้นสาระการเรียนรู้เป็นรายวิชา (Subject) และเมื่อใช้มายาวนานกว่า 10 ปี ก็พบว่ายังไม่สามารถสร้างผลผลิต คือ เด็กที่มีคุณภาพตามที่ต้องการได้ โดยเฉพาะเมื่อเป้าหมายของการเรียนรู้คือสร้างคนในศตวรรษที่ 21 ที่มีสมรรถนะ 3Rs 8Cs จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงสภาพของหลักสูตร กระบวนการใช้ และปัญหาที่เกิดขึ้นว่าควรมีประเด็นแก้ไขหรือพัฒนาในเรื่องใด โดยในระหว่างนี้ก็ได้มีการปรับหลักสูตรย่อยหลายครั้ง ทั้งเพิ่มเติม ปรับลดหลักสูตร เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน แต่เมื่อเป็นการสั่งการจากส่วนกลาง และการพัฒนาไม่สิ้นสุดวงรอบของการใช้หลักสูตร จึงยังไม่เห็นภาพความสำเร็จ

ในสมัยรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีการคิดและเตรียมการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ ถึงขั้นกำหนดโครงสร้างหลักสูตรและกลุ่มสาระการเรียนรู้ไว้แล้ว แต่โดยสถานการณ์ทางการเมืองทำให้เรื่องนี้หยุดชะงักลง

ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ควรจะนำเรื่องนี้มาพิจารณาอย่างจริงจัง และเริ่มปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกครั้ง โดยอาจเน้นใน 3 เรื่องคือ

1.ต้องเป็นหลักสูตรที่เน้นสมรรถนะ (Competency) ของผู้เรียนโดยเฉพาะสมรรถนะการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องเลิกใช้ กลุ่มสาระที่แข็งตัว มีการสอนทุกวิชา โดยใช้เวลาเท่าๆ กัน และทุกฝ่ายพยายามเติมสาระที่ตนเองชื่นชอบลงไปส่งผลให้เด็กต้องเรียนมาก แต่สมรรถนะไม่เป็นอย่างที่หวัง เช่น เรียนภาษาอังกฤษ 12 ปี แต่สื่อสารไม่ได้ อาจต้องนำระบบ CEFR ซึ่งเป็นการสอนและใช้ภาษาของกลุ่มยุโรป เข้ามาใช้การสอนภาษาที่เน้นการสื่อสาร (Communication) แทนการเรียนที่เน้นไวยากรณ์ การสอนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ โดยใช้ STEM ศึกษา การนำเอาตัวอย่างดีๆ ของนวัตกรรมการเรียนการสอนที่มีมาประยุกต์ใช้ในทุกวิชา เป็นต้น แล้วไปวัดเป้าหมายสุดท้าย คือ สมรรถนะผู้เรียน ซึ่งจะตอบคุณภาพของการศึกษาในที่สุด

2.ให้หลักสูตรเป็นเรื่องของการกำหนดวัตถุประสงค์ (Objective) ของการเรียนรู้ เน้นกระบวนการ (Process) มากกว่าเน้นเนื้อหาสาระ (Content) เหมือนในอดีต ซึ่งไม่สามารถปรับลดเนื้อหาหรือเวลาเรียนได้ ทั้งที่ในปัจจุบันอาจเรียนรู้นอกห้องเรียน ผ่านกิจกรรม การเรียนแบบบูรณาการหรือผ่านสื่อที่หลายหลายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรอบของการเรียนรู้ที่อาจต้องกว้างกว่าเดิม เช่น ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโลก หรือภูมิภาคอาเซียน การนำเอาแนวคิด ASEAN Curriculum Sourcebook ที่ประชาชาติอาเซียนร่วมกันจัดทำขึ้นโดยหวังจะให้คนรุ่นใหม่มีความรู้เกี่ยวกับอาเซียน คำนึงถึงอัตลักษณ์ และความหลากหลาย เชื่อมโยงโลกและท้องถิ่น ความเสมอภาคและยุติธรรม และการร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากนี้การกำหนดเวลาหรือชั่วโมงเรียนก็อาจต้องมีความหลากหลายมากกว่าเดิม ดังเช่นบางประเทศในยุโรป ช่วงที่ยังเป็นเด็กประถมต้นอาจเน้นบางกลุ่มสาระ และมาเพิ่มขึ้นในบางกลุ่มสาระเมื่อเด็กโตขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยเรียนเท่ากันทุกวิชาในทุกระดับชั้น ทำให้ความรู้ในบางสาระขาดหายไป บางสาระก็มากจนเกินควร ไม่สามารถปรับไปเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นกับชีวิตได้

3.มีการพัฒนาครบกระบวนการ ตั้งแต่การวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของการใช้หลักสูตรปี 2551 การจัดทำมาตรฐานการศึกษาชาติและคุณลักษณะของเด็กไทยในอนาคต การจัดทำวัตถุประสงค์ การกำหนดกลุ่มสาระการเรียนรู้ การจัดโครงสร้างหลักสูตร ชั่วโมงเรียน
จากนั้นต้องเข้าสู่กระบวนการ จัดทำคู่มือ และตำรา สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย แม้ในปัจจุบันอาจหาข้อมูลหรือความรู้ได้จากโลกของสื่อโซเชียลมีเดีย แต่เนื้อหาหลักในบางสาระก็จำเป็นต้องจัดทำขึ้น โดยเฉพาะวิชาพื้นฐาน เพื่อการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น วิชาที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ สังคม ความรักชาติ ศาสนา เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อจากนั้นจะต้องมีการอบรมพัฒนาครู เพื่อจัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตรใหม่ มีการนำร่องในบางสถานศึกษา ก่อนแก้ไขและประกาศใช้ทั้งประเทศ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้อาจใช้เวลา 1-2 ปี

เรื่องสุดท้ายที่สำคัญยิ่งในการปรับปรุงหลักสูตร คือต้องปรับกระบวนการวัดและประเมินผล ให้สะท้อนผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนอย่างแท้จริง ไม่เน้นวัดผลแบบท่องจำ หรือสอบแบบปรนัย เพียงเท่านั้น แต่ต้องมีวิธีการวัดที่หลากหลาย สะท้อนคุณลักษณะผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด

วันนี้การศึกษาไทยมาถึงจุดที่เราต้องเลือกให้ถูกว่าเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องใดมากที่สุด ที่ส่งผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนและคุณภาพการศึกษา ทุกเรื่องที่มีการปฏิรูปหรือฝ่ายบริหารกำหนดเป็นนโยบาย และดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่หากจะเลือกเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดมาทำ และส่งผลต่อระบบการศึกษาทั้งหมด การปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุด และต้องเป็นการปรับปรุงที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ สมรรถนะผู้เรียนและกระบวนการเรียนรู้มากกว่าเน้นที่สาระ รวมทั้งต้องมีกระบวนการพัฒนาตำรา สื่อ และวิธีการเรียนการสอน ต้องมีการปรับกระบวนการวัดและประเมินผลใหม่ ให้สอดคล้องกัน

ทั้งหมดนี้ต้องทำอย่างจริงจัง ด้วยความร่วมมือจากครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้เกี่ยวข้อง กำหนดช่วงเวลา การทำงานที่ชัดเจน มีความต่อเนื่องจนเห็นผลสำเร็จ และที่สำคัญต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้