พรรคทหารไม่ง่าย!! มุมมองจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้ที่กระโดดมาสู่สนามการเมือง

“มีคนหลายคนคิดเรื่องของการจัดตั้งพรรค (ทหาร) แต่ผมในฐานะที่เป็นทหารด้วยและผ่านสนามการเมืองมาพอสมควร เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภาบอกได้เลยว่า “ไม่ง่าย” การที่ทหารจะจัดตั้งพรรคแล้วเข้าไปเล่นการเมืองต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ปัจจัยแรก คือเรื่องของ “คน” ที่จะเข้ามาสู่พรรคทหาร ผมยังมองไม่เห็น ปัจจัยที่สอง คือเรื่องของ “เงินทุน” ที่ต้องใช้ ผมก็มองไม่เห็นว่าทหารคนไหนที่มีพลังอำนาจทางการเงินหรือจัดการตรงนี้ได้ ปัจจัยสุดท้ายคือ “หลักการบริหาร” กิจการภายในสภาผู้แทนราษฎรเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ทหารเองมีประสบการณ์ในสภาน้อยมาก”

“ทุกวันนี้ที่ทหารดูแลสภา ที่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะว่าเป็นระบบของทหาร แต่พอเข้าไปสู่ระบบการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นเรื่องที่ ไหนจะมีทั้งฝ่ายค้าน ไหนจะมีขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย งบประมาณต่างๆ ทุกเรื่องยากและซับซ้อนมาก ฉะนั้น การตั้งพรรคทหารเพื่อเสนอตัวเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ความรู้สึกส่วนตัวของผมคือเป็นงานยาก”

นี่คือมุมมองของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) อดีตรองนายกฯ อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อดีต ส.ส.พรรคมาตุภูมิ ที่เคยตัดสินใจกระโดดลงสู่สนามการเมืองเต็มตัวมาแล้ว

ภาพ พล.อ.สนธิ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

พล.อ.สนธิเล่าว่า ความจริงแล้วไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง แต่มีที่มาเกิดจากสมัยเป็นทหาร ได้ลงไปทำงานในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2547 อยากจะแก้ปัญหาภาคใต้ แต่แก้ไม่ได้ ซึ่งมองเห็นเลยว่าส่วนบนทั้งกองทัพ-นักการเมืองเป็นส่วนที่ทำให้แก้ไม่ได้

พอเข้ามาดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. จะเข้าไปแก้ก็แก้ไม่ได้เพราะฝ่ายการเมือง

เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นต้องเป็นนักการเมือง แต่พอเป็นนักการเมืองแล้ว ก็แก้ไม่ได้อีก ฉะนั้น เจตนารมณ์เดิมต้องการเป็นนักการเมืองเพราะต้องการแก้ปัญหาภาคใต้ แต่ปรากฏว่าก็ไม่สามารถแก้ได้ ที่ผ่านมาจึงถือว่า “การเมืองเป็นบทเรียนของชีวิตแล้วกัน”

: ท่าที “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ตั้ง-ไม่ตั้งพรรคทหาร

จากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการตอบคำถามสื่อมวลชน ว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งพรรคทหารนั้น ผมมองว่าเป็นกุศโลบายของทั้งสองคน ซึ่งในใจผมมีความรู้สึกว่าถ้าตั้งขึ้นมาเมื่อไหร่เหนื่อยมาก แล้วยังมีอีกหลายปัญหาตามมามากมาย

ส่วนผลโพลที่สนับสนุน คสช. นั้น มันขึ้นอยู่กับว่าไปสำรวจที่ไหนอย่างไร?

บางทีชี้วัดได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่สามารถบอกได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจกับความจริงสวนทางกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าผลสำรวจไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันได้

ประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะชอบทหารก็อยากจะหนุนให้อยู่ต่อ แต่อย่าลืมว่าอีกส่วนก็ไม่ชอบและอยากให้เปลี่ยนรัฐบาล

นี่คือธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยที่มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา

อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนมากจะเป็นตัวกำหนด ผลการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับ คสช. มาก เขามีโอกาสได้จัดตั้งรัฐบาล จะไปว่าเขาก็ไม่ได้เพราะเป็นความต้องการของประชาชน

แต่ถ้าผลงานที่ คสช. ทำมาตลอด 3 ปีกว่า ประชาชนไม่เอาด้วยเขาไม่เลือก ฉะนั้น ต้องรอดูผลเสียงส่วนมาก

: สูตรรวมเสียงพรรคเล็ก-กลาง หนุน คสช. เป็นรัฐบาล

วิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ถ้ามองจากกรอบการเมือง จะเห็นว่าฝ่ายที่ไม่เอาแน่ๆ ก็คือพรรคเพื่อไทย จะอยู่ขั้วตรงข้าม แต่ว่า “พรรคอื่น” อาจจะรวมตัวกัน มันเป็นธรรมชาติของการเมืองที่น่าจะเกิดขึ้นได้ แล้วก็เป็นหนทางปฏิบัติในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้น ถ้า คสช. อยากจะเป็นรัฐบาล ผมคิดว่าวิธีนี้ง่ายที่สุด หากสามารถรวบรวมเสียงของพรรคเล็กพรรคขนาดกลางๆ ก็เป็นสิทธิ์ของเขา และน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการจัดตั้งพรรคทหาร ผมคิดว่าอย่างนั้น

: ถ้า คสช. กระโดดมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว แต่ยังมีกองทัพหนุน-ดาบพิเศษจะเหมาะสมหรือไม่

ถ้าเข้ามาเป็นนักการเมืองแล้ว ข้าราชการคือผู้ใต้บังคับบัญชาของนักการเมือง ถ้ายังมีอำนาจไปคุมกองทัพ มันไม่เป็นประชาธิปไตยแล้ว และจากนั้นไปก็จะวุ่นวาย พรรคฝ่ายค้านจะเริ่มไม่เห็นด้วย สามารถปลุกระดมคน พลันจะเกิดแต่ความรุนแรงและความขัดแย้งทวีขึ้นไป ผมคิดว่าไม่น่าจะมีทางเป็นเช่นนั้นได้

ฉะนั้น หาก คสช. เปลี่ยนโหมดเข้ามาสู่ความเป็นรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง “เขาจะต้องตั้งสติใหม่” ว่าตอนนี้เขาจะต้องเข้ามาบริหารประเทศตามระบบ ให้ผู้คนมีความรักความสามัคคี มีความเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำ ไม่ใช่ว่าพอเป็นรัฐบาลแล้วยังปล่อยให้เกิดความขัดแย้ง

: มาถึงวันนี้ “ผลของการปฏิรูป” ยังมองเห็นไม่ชัดนัก?

ผมเองเป็นคนนอก แต่ก็มองว่า ประการแรก ปัญหาความขัดแย้งยังไม่ได้รับการแก้ไข มันยังคงอยู่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Road Map ของรัฐบาลที่ยังไม่ได้ทำให้สำเร็จ ประการที่สอง ที่ยังไม่แก้ไข ที่เห็นชัดเจนคือเรื่องการคอร์รัปชั่น ประการที่สาม คือความยุติธรรม 3 เรื่องนี้เป็นองค์ประกอบในการนำไปสู่การสร้างสังคม แต่ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ยกตัวอย่างเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ คสช. ต้องขจัดให้ได้ทุกเม็ด นั่นคือปัญหาคอร์รัปชั่น ว่าจะทำอย่างไรให้ ส.ส. ที่พอเข้ามาในสภาแล้ว ไม่สามารถไปแสวงหาผลประโยชน์ได้

ถ้าทำได้จริง เราจะมีนักการเมืองที่ดีที่เสียสละมีอุดมการณ์ทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองแล้วก็แก้เรื่องอื่นๆ ได้

: คิดว่า 2561 มีเลือกตั้งหรือไม่?

ผมมองย้อนกลับไป คสช. คงเหนื่อย-ลำบากมากๆ จนมาถึงวันนี้ ผมคิดว่าเขาพยายามที่อยากจะให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด (มองแบบเผินๆ) วันนี้ผมคิดว่านายกฯ คงเหนื่อย เห็นหน้าท่านในทีวีหรือเจอตัวจริง ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้มีความสุขแบบผม น้องๆ หลายคนที่อยู่ในสภาคงไม่ได้มีความสุข หลายคนที่ได้มีโอกาสคุยกันทางโทรศัพท์ บอกผมว่าวันนี้พอถอดหัวโขนแล้วมีความสุข ผมจึงเชื่อว่าวันนี้ คสช. ต้องการเช่นนั้นและอยากให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด

: ลงหลังเสือ-ถอดหัวโขนอย่างไรให้เป็นสุข?

ถ้าลงหลังเสือลงแล้วประชาชนเห็นดีเห็นงามด้วย ผมว่ายังไงก็สบาย แต่ถ้าลงแล้วยังมีอะไรที่ติดใจประชาชนอยู่ จะเหนื่อย เมื่อเข้ามาบริหารประเทศแล้วไม่ควรมีชนักติดหลัง ต้องระมัดระวังเรื่องนี้ เพราะว่าแต่ละคนที่อยู่ในอำนาจ ล้วนอายุ 60 กว่าด้วยกันทั้งนั้น ถ้าถามว่าถ้าจากนี้ไปไม่มีความสุข แล้วจะไปมีความสุขในช่วงไหนของชีวิต รับราชการมากันคนละ 40 กว่าปีก็เหนื่อยมาทั้งชีวิตแล้ว แล้วยังมารับภาระอีก เกษียณไปก็ยังไม่มีความสุข ผมว่า คงจะลำบากถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิต

: มีอะไรถ้าบอกกับ “น้องๆ” ได้อยากพูดอะไร?

ผมอยากให้เร่งเรื่องของการปฏิบัติตามโรดแม็ปที่วางไว้ให้สำเร็จโดยเฉพาะ 3 เรื่องที่พูดไป ความรักสามัคคีของคนในชาติ ถ้าไม่แก้วันนี้ผมมองไม่เห็นว่าอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วมันจะแก้ได้ / เรื่องการคอร์รัปชั่น ถ้าไม่ทำยุคนี้ มันจะย้อนกลับไปมีผลต่อเรื่องเศรษฐกิจและสังคม สิ่งสุดท้ายคือ ความยุติธรรม เป็นเรื่องใหญ่มากอีกอันหนึ่งที่ต้องเร่งแก้ ฉะนั้น ทุกปัญหาถ้าไม่แก้ไขวันนี้ สิ่งเหล่านี้จะกลับย้อนมาสู่ คสช. เองในวันข้างหน้า

ส่วนระบบต่างๆ ที่วางไว้จากแม่น้ำห้าสายก็ดี หรือกรอบกติกาต่างๆ ต้องเข้าใจว่า “นักการเมืองก็คือนักการเมือง” จำไว้เลยว่าสิ่งที่ คสช. วางเอาไว้เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อวันหนึ่งไปเจออิทธิฤทธิ์ของนักการเมือง คุณจะรู้ว่าสิ่งที่คุณคิดไว้มันไม่ง่ายอย่างที่คิด

: รัฐประหารจะยังคงอยู่คู่สังคมไทยหรือไม่?

ปัญหาของการรัฐประหารเราต้องจำประเด็นไว้ มีหลายบทเรียนจากทั้งโลก การรัฐประหารจะทำไม่ได้และเด็ดขาด 100% ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ถามว่าคราวที่แล้วประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับ กปปส.? จึงมีส่วนสนับสนุนให้การทำงานของ คสช. สามารถดำเนินไปได้

อีกประการหนึ่งคือขึ้นอยู่กับ “นักการเมือง” ถ้ายังมีพฤติกรรมอะไรแปลกๆ วันหนึ่งประชาชนอาจจะร่วมมือกับทหารอีกก็เป็นได้